กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี

"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว เตือนผู้สมัครแจกแต๊ะเอียตรุษจีนเสี่ยงผิด กม. ไม่ฟันธง  "ทักษิณ" ช่วยหาเสียงชูนโยบาย รบ.เกินอำนาจ  อบจ.ผิดหรือไม่ อ้างต้องดูทีละกรณี แย้มคดียุบพรรคเพื่อไทยรอสอบผู้เกี่ยวข้อง "แพทองธาร" ย้ำหาเสียง อบจ.ยึดตาม กม. "พท." ผวา! เสียงเตือน กกต.ปม "ทักษิณ” ผู้ช่วยหาเสียง เล็งปรับรูปแบบพร้อมขอ "หัวหน้าอิ๊งค์" คุยกับพ่อ "ปชน." ขนแกนนำช่วยผู้สมัครหาเสียง "กสม." ตบปาก "แม้ว" เหยียดเชื้อชาติ หวั่นถูกขยายความรุนแรง "นิพิฏฐ์" ใช้คดีทักษิณฟ้องลูกความ พิสูจน์ป่วยทิพย์ชั้น 14

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วันที่ 10 มกราคม 2568 นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงความพร้อมการจัดการเลือกตั้งนายกและสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในวันที่ 1 ก.พ.นี้ว่า ขณะนี้บัตรเลือกตั้งได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในระหว่างการดำเนินการจัดส่งไปยัง อบจ.ต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด จัดรถไปขนบัตรที่โรงพิมพ์ โดยกระบวนการก็จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปกับรถขนบัตร รวมถึงมีการนำจีพีเอสไปติดที่รถ ทำให้ทราบว่ารถคันนั้นได้เดินทางไปถึงไหนแล้ว เมื่อบัตรถูกส่งถึงไปยัง อบจ. ก็จะเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อบจ. ที่จะนำไปเก็บไว้ในห้องปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่คอยดูแล พร้อมกับมีกล้องวงจรปิดติดตามตลอด 24 ชั่วโมง

นายอิทธิพรกล่าวว่า ในช่วงเทศกาลตรุษจีน สิ่งที่ควรทำหรือไม่ควรทำนั้นผู้สมัครได้รับการบรรยายอย่าชัดเจนจาก กกต.จังหวัดผ่านโครงการเลือกตั้งเชิงสมานฉันท์ โดยเฉพาะเรื่องเงินแต๊ะเอียที่เป็นประเพณีนั้น หากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรจะหลีกเลี่ยง เพราะเสี่ยงในการถูกมองว่าเป็นการให้เงิน ซึ่งเคยเกิดขึ้นหลายกรณี

เมื่อถามว่า ผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงควรหาเสียงเฉพาะสิ่งที่ อบจ.ทำได้เท่านั้นใช่หรือไม่ ประธาน กกต.กล่าวว่า การที่ผู้สมัครจะเสนอนโยบายที่ตนเองจะเข้าไปปฏิบัติหากได้รับเลือกว่าจะทำงานด้านอะไรบ้าง เพราะอำนาจหน้าที่ของ อบจ.ก็มีระบุไว้ในกฎหมายชัดเจน การหาเสียงก็ควรจะมุ่งเน้นในกรอบตรงนั้น จะพูดเลยไปบ้างส่วนตัวมองว่าก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร

"ผู้ช่วยหาเสียงพูดในนโยบายที่ผู้สมัครประสงค์จะนำไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้ง ซึ่งแน่นอนต้องหาเสียงในนโยบายที่ผู้สมัครเขานำเสนอด้วย เพราะไม่เช่นนั้นถ้าไปหาเสียงแล้วไม่พูดถึงนโยบายที่จะไปทำในจังหวัดนั้นๆ มันก็ไม่ใช่การหาเสียง และจะกระทบต่อการที่จะไม่ได้คะแนนด้วย เช่นไปพูดถึงเรื่องอื่น โดยไม่พูดว่าจะไปทำอะไร ในบริบทที่เป็นงานของตัวเองคะแนนก็อาจจะไม่ค่อยได้" ประธาน กกต.กล่าว

ซักว่า กรณีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไปปราศรัยพูดถึงภาพใหญ่ของนโยบายรัฐบาล และหลังจากนั้นรัฐบาลก็รับลูก สามารถทำได้หรือไม่ในเวทีของท้องถิ่น ประธาน กกต.กล่าวว่า การพูดถึงนโยบายโดยบุคคลใดก็ตามที่เป็นปัญหาเลือกตั้งท้องถิ่นกับการหาเสียงตั้งท้องถิ่นมันเป็นสิ่งที่เกี่ยวพันกันได้ แต่จะถึงขั้นผิดหรือไม่ จะให้ตอบตอนนี้คงไม่ได้ เพราะจะสับสนและไขว้เขว ฉะนั้นผู้สมัคร ผู้ช่วยหาเสียงก็ต้องมีบทบาทหน้าที่ของตัวเองในการที่จะทำอะไรก็ได้ให้มั่นใจว่าทำไปแล้วไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย

กกต.ปัดชี้ 'ทักษิณ' หาเสียงผิดกม.

"อย่าลืมว่ามีมาตรา 23 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วย กกต. ที่กำหนดว่า พรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายเลือกตั้งหรือพรรคการเมือง สามารถสอบถามมายัง กกต.ได้ ซึ่ง กกต.มีหน้าที่ต้องตอบภายใน 30 วัน ซึ่งก็เป็นอีกช่องทางหนึ่ง แต่ผมก็เชื่อว่าผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงนั้นตระหนักดีว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะตัวอย่างก็มีทำวินิจฉัยที่เรามีว่าหากเป็นอย่างไร ที่เข้าข่ายหลอกลวงเสนอว่าจะให้ ฉะนั้นถือว่าการที่จะพูดอะไรบางอย่างมันอาจจะไม่ตรงประเด็นร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ถ้ามันเชื่อมโยงกันได้ อย่าเพิ่งไปรีบตัดสินว่ามันถูกหรือผิด เราต้องดูพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงเป็นกรณี" ประธาน กกต.กล่าว

ถามอีกว่า กรณีที่นายทักษิณปราศรัยว่าจะลดค่าไฟจาก 4 บาทให้เหลือ 3 บาทกว่า น่าจะไม่ใช่อำนาจของ อบจ.ที่จะสามารถทำได้ นายอิทธิพรกล่าวว่า ท้องถิ่นเท่าที่ตนจำได้ก็มีหน้าที่ในการให้บริการและทำนุบำรุงสาธารณูปโภค ซึ่งอันนี้ก็คือสาธารณูปโภค มีหน้าที่อย่างนั้น อย่างไรก็ตามจะให้ไปตอบตอนนี้คงไม่ได้ เพราะเป็นความเห็น อย่าลืมว่าคณะกรรมการ กกต.มี 7 คน ฉะนั้นจุดเชื่อมโยงตรงไหนที่ว่าเป็นการพูดถึงนโยบายของตัวเองโดยแท้ ไม่เกี่ยวกับการหาเสียง หรือเข้าข่ายหาเสียงหลอกลวง มันยังตอบจริงๆ ไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่พูดกันต้องมาดู

"ก่อนหน้านี้ผมก็พูดไปแล้วว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ มันมีเส้นแบ่งอยู่เสมอ ต้องนำข้อเท็จจริงมาประกอบ แต่ถ้าเป็นไปได้ในเรื่องของการหาเสียงเลือกตั้งท้องถิ่น ก็ควรมุ่งเน้นที่นโยบาย ที่ผู้สมัครผู้นำมุ่งเน้นการดำเนินการเมื่อได้รับเลือกตั้ง ถ้ามันเกินขอบเขตอะไรไปแล้วมีคนร้อง ก็ต้องเอาเรื่องทั้งหมดมาดู" นายอิทธิพรกล่าว

ถามว่า กกต.ควรต้องทำหนังสือเตือนหรือไม่  ประธาน กกต.กล่าวว่า คงไม่ต้องทำถึงขนาดนั้น เพราะผู้สมัครรู้ดีอยู่แล้วว่าตัวเองต้องทำอะไรบ้าง เพราะเมื่อรับสมัครเสร็จแล้วก็จะมีการประชุมเชิงสมานฉันท์แจ้งให้ทราบอยู่แล้ว ฉะนั้นผู้สมัครจะบอกว่าตัวเองไม่ทราบคงไม่ได้ ผู้สมัครและพรรคการเมืองมีหน้าที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย ขณะเดียวกันพรรคการเมืองก็ต้องดูแลสมาชิกให้ปฏิบัติไปตามกฎหมาย มันก็จะไม่เกิดปัญหาความก้ำกึ่งอะไรแบบนี้ก็จะเป็นประเด็นขึ้นมา แล้วถ้ามาให้ กกต.พิจารณา ผู้สมัครเมื่อแต่งตั้งผู้ช่วยหาเสียงแล้ว ทั้งผู้สมัครและผู้ช่วยหาเสียงต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองพูดไป ผู้สมัครก็ต้องรู้ว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายอย่างไร ผู้ช่วยหาเสียงก็ต้องรู้ว่าผู้สมัครของตัวเองมีนโยบายอย่างไร และหาเสียงช่วยสนับสนุนในประเด็นที่เป็นอำนาจหน้าที่ในกรอบที่กฎหมายกำหนด

พอถามว่า มีการร้องเรียนนายทักษิณเรื่องการหาเสียงมาบ้างหรือยัง ประธาน กกต.กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำร้องเกี่ยวกับการหาเสียงของนายทักษิณเข้ามา

ต่อข้อถามว่า ขณะนี้ กกต.ได้จับตาจังหวัดไหนเป็นพิเศษหรือไม่ นายอิทธิพรกล่าวว่า ทุกจังหวัด ผอ.กกต.ทำงานเรื่องของการเลือกตั้งอย่างเข้มข้นตั้งแต่ปี 2561 ตระหนักในสถานการณ์ของจังหวัดตัวเอง อาจมีบางจังหวะที่จะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษให้การแข่งขันเป็นไปตามกฎกติกา อย่างจังหวัดปราจีนบุรี ทีมสอบสวนของ กกต.ก็จะลงพื้นที่ 2 สัปดาห์ก่อนวันเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการแข่งขันจะอยู่ในกรอบกติกา ส่วนจังหวัดอื่นก็มีการพูดคุยกับผู้บังคับการตำรวจภูธรเป็นประจำอยู่แล้ว

นายอิทธิพรยังกล่าวถึงคำร้องยุบ 6 พรรคการเมืองว่า ในส่วนคำร้องของพรรคเพื่อไทย มีคำร้อง 3-4 คำร้อง ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน เท่าที่ทราบได้เชิญผู้ร้องมาให้ถ้อยคำแล้ว และออกหนังสือเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถ้อยคำด้วยเช่นกัน ส่วนกระบวนการจะแล้วเสร็จเมื่อไหร่ไม่แน่ใจ แต่จะทำให้เร็วที่สุด เพราะเป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจและมีแนวคิดเสมอว่าอย่าทำให้เกิดความล่าช้า ยกเว้นกระบวนการที่ต้องรับฟังคนหลายคน เพราะต้องเปิดโอกาสให้เขาได้แก้ข้อกล่าวหา

"เมื่อรวบรวมพยานหลักฐานได้แล้ว ทางคณะกรรมการฯ จะส่งให้เลขาธิการ กกต.พิจารณา ซึ่งเลขาธิการก็จะเปิดโอกาสให้อนุกรรมการฝ่ายกฎหมายได้ออกความเห็นด้วย ก่อนจะวินิจฉัยว่าเรื่องดังกล่าวมีพยานหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ ก่อนจะส่งเรื่องให้ กกต.พิจารณา ถ้า กกต.เห็นด้วยก็จะส่งไปที่ศาล" นายอิทธิพรกล่าว

ถามถึงเกณฑ์ที่จะตีความว่าเป็นการครอบงำพรรค จะต้องเข้าไปมีบทบาทหรือแค่รัฐบาลตอบสนองในสิ่งที่พูด นายอิทธิพรกล่าวว่า ต้องดูนิยามและความหมายก่อนว่าอะไรคือการครอบงำ และต้องนำข้อเท็จจริงและภาพรวมทั้งหมดมาประกอบกัน การกระทำ 1-2 การกระทำจะเอามาวินิจฉัยในครั้งเดียวไม่ได้ ต้องดูข้อเท็จจริง

พท.ผวา! สะกิด 'อิ๊งค์' คุยพ่อ

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีประธาน กกต.ระบุการปราศรัยหาเสียงนายก อบจ.ของนายทักษิณมีความสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายว่า นายทักษิณไม่ได้ดำรงตำแหน่งอะไร แต่ไปในฐานะผู้ช่วยหาเสียง และนโยบายของพรรค พท.กับรัฐบาลก็มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกันอยู่แล้ว ในส่วนของตนนั้น หากจะลงพื้นที่ช่วยหาเสียงอย่างไรก็ต้องทำตามกฎหมาย เอาให้ถูกกฎหมายทุกอย่าง

นายสรวงศ์ เทียนทอง รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ในฐานะเลขาธิการพรรค พท. กล่าวว่า พรรคต้องมาดูสิ่งที่ กกต.ระบุการปราศรัยหาเสียง อบจ.ของนายทักษิณก้ำกึ่งผิดข้อกฎหมายอะไร และต้องกำชับไปยังผู้ช่วยหาเสียงทุกคนในเรื่องการพูดนโยบายต่างๆ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกัน แต่เรื่องนี้ น.ส.แพทองธารรับทราบแล้วและคุยกันอยู่

ถามว่า จะกระทบอะไรกับพรรค พท.หรือไม่ เช่น อาจจะมีคนไปร้องแล้วทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ นายสรวงศ์กล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของแต่ละคน หากเห็นว่าเป็นเช่นนั้น เขามีสิทธิ์ร้องก็ร้อง เดี๋ยวกกต.คงตัดสินออกมาเอง แต่เบื้องต้นถ้าสามารถเตือนกันได้เดี๋ยวจะมีการพูดคุยกัน

ซักว่าพรรคจะต้องเปลี่ยนรูปแบบของการหาเสียงหรือไม่ นายสรวงศ์กล่าวว่า หาก กกต.มองว่าสุ่มเสี่ยง ก็ต้องปรับเปลี่ยน ซึ่งในส่วนของนายทักษิณ อาจจะให้ น.ส.แพทองธารไปพูดคุยด้วย  แต่ก็ไม่มีอะไร น.ส.แพทองธารรับทราบ และมีการพูดคุยกันเบื้องต้นแล้ว

ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. กล่าวถึงการลงพื้นที่ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของนายทักษิณว่า การเป็นผู้ช่วยหาเสียงของนายทักษิณ ทั้งที่ จ.อุดรธานีและอุบลราชธานี ผู้สมัครนายก อบจ.ของพรรคสามารถคว้าชัยชนะได้ 100% ทุกสนาม รวมทั้งเมื่อวันที่ 5 ม.ค.ที่ผ่านมาได้ไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงให้นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครนายก อบจ. เชียงราย ก็ได้รับการตอบรับอย่างอบอุ่น

ทั้งนี้ กำหนดการในเดือน ม.ค. นายทักษิณจะลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในวันที่ 18-20 ม.ค. ที่จังหวัดนครพนม บึงกาฬ หนองคาย และมหาสารคาม จากนั้นวันที่ 24-25 ม.ค.2568 จะเดินทางไปยังจังหวัดศรีสะเกษ

ในเวลา 18.00 น. ที่โรงแรมอัศวิน แกรนด์  คอนเวนชั่น นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล (ก.ก.) เดินทางมาร่วมพิธีฉลองมงคลสมรสระหว่างนายธนาธร โล่ห์สุนทร สส.ลำปาง เขต 2 พรรคเพื่อไทย (พท.) บุตรชายนายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีต สส.ลำปาง พรรค พท. กับ น.ส.รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สส.ลำปาง เขต 4 พรรคประชาชน (ปชน.) โดยมีบรรดารัฐมนตรี สส.จากพรรค พท.และพรรค ปชน.เดินทางมาร่วมงานอย่างคึกคัก

ทันทีที่นายทักษิณมาถึง ได้มีรัฐมนตรี สส. อดีต สส.ของพรรค พท. มารอต้อนรับบริเวณด้านหน้าทางเข้า โดยนายทักษิณให้สัมภาษณ์ถึงการมาออกงานคู่กับนายพิธาว่า ดีๆ เดี๋ยวก็ได้เจอกันบ้าง ไม่ได้เจอกันเลย

ผู้สื่อข่าวจึงถามย้ำว่า ก่อนหน้านี้ไปเป็นผู้ช่วยหาเสียงในหลายจังหวัดในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน แต่ก็ไม่ได้เจอกันเลย นายทักษิณกล่าวว่า ก็ไม่ได้เจอกันเลย เดี๋ยวจะนั่งคุยกัน สำหรับประเด็นในการพูดคุยก็มี ส่วนจะได้มีการพูดคุยเรื่องการหาเสียงนายก อบจ.หรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า คงไม่ได้คุยกันเรื่องการเมือง แต่คุยเรื่องบ้านเมือง

นายพิธากล่าวเรื่องนี้ว่า ก็คงจะได้คุยในเรื่องของการเมืองหรือบรรยากาศทางการเมืองโลกทั่วไป แต่หากจะพูดถึงเรื่องการเมืองจริงจัง สภาคงเหมาะสมกว่า เพราะตนเองและนายชัยธวัช ตุลาธน อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลก็ถูกตัดสิทธิ์แล้ว คนที่น่าจะคุยด้วยน่าจะเป็นนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน กับ น.ส.แพทองธารมากกว่า

เมื่อถามว่า ในอนาคตพรรคการเมืองจะมีโอกาสในการดองกันบ้างหรือไม่ นายพิธากล่าวว่า คนละเรื่องกัน ความรักก็ส่วนความรัก การเมืองก็ส่วนการเมือง ต้องให้เกียรติคู่บ่าวสาว คงไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสมในการคุยอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเมือง เรื่องของการเมือง เรามีนายกฯ  และผู้นำฝ่ายค้านอยู่ และมีสภาที่จะเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะพูดเรื่องการเมืองกัน ตนเองและนายทักษิณคงไม่มีเรื่องอะไรที่ต้องคุยกันเป็นพิเศษ อยากให้ทุกคนโฟกัสกับคู่บ่าวสาวมากกว่าตนเองและนายทักษิณ

ด้านพรรคประชาชน (ปชน.) แกนนำของพรรคต่างเดินสายช่วยผู้สมัครนายก อบจ.หาเสียงอย่างต่อเนื่อง โดย น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรค ปชน. ลงพื้นที่ จ.มุกดาหาร ในฐานะผู้ช่วยหาเสียงเลือกตั้งนายกและสมาชิกสภา อบจ.มุกดาหาร ให้นายสุพจน์ สุอริยพงษ์ ผู้สมัครนายก อบจ.มุกดาหาร ทั้งการเดินทางไปปราศรัยในพื้นที่อำเภอหนองสูงและอำเภอนิคมคำสร้อย

น.ส.ศิริกัญญากล่าวว่า ในการลงพื้นที่ จ.มุกดาหารครั้งนี้ เพื่อมาช่วยหาเสียงให้นายสุพจน์พร้อมทีมผู้สมัคร ส.อบจ.มุกดาหารให้ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.

เช่นเดียวกับที่ จ.ตราด ในวันที่ 11 ม.ค. นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคปชน. จะเดินทางมาหาเสียงช่วยนายชลธี นุ่มหนู ผู้สมัครนายก อบจ. ที่ศูนย์ราชการุณย์ เขาล้าน ต.แหลมกลัด อ.เมืองฯ จ.ตราด ที่จะมีการจัดงานวันเด็กขึ้นในช่วงเช้า รวมทั้งเวลา 17.00-19.00 น. นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ปชน. จะเดินทางมาปราศรัยหาเสียงที่ท่าน้ำท่าเรือจ้าง ต.วังกระแจะ อ.เมืองฯ จ.ตราด และหลังจากจบแล้วจะเดินทางมาที่ถนนหลักเมืองในเขตเทศบาลเมืองตราด

กสม.ซัดแม้วจ้อเหยียดเชื้อชาติ

วันเดียวกัน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงผลการประชุม กสม.ประจำสัปดาห์ว่า จากกรณีการปราศรัยของนายทักษิณในลักษณะเหยียดเชื้อชาติและสีผิวของคนแอฟริกันนั้น กสม.มีความห่วงกังวลต่อการกระทำดังกล่าว อันเป็นการลดทอนคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกลุ่มชนอื่น ซึ่งขัดต่อหลักการสำคัญของอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนทุกฉบับ โดยเฉพาะอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (CERD) ที่ประเทศไทยเป็นภาคีและรัฐบาลมีพันธกรณีต้องปฏิบัติตาม

"การปราศรัยดังกล่าวแม้จะเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่เมื่อคำนึงถึงสถานะทางสังคมของผู้พูด ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญทางการเมืองและมีอิทธิพลต่อสังคม การสื่อสารอันเป็นการเหยียดและด้อยค่ากลุ่มชาติพันธุ์อื่น จึงเป็นการกระทำที่ไม่สมควรยิ่ง เพราะพื้นฐานความคิดที่ว่าคนเชื้อชาติหนึ่งเชื้อชาติใดเหนือกว่าชนเชื้อชาติอื่น อาจนำไปสู่การเลือกปฏิบัติระหว่างมนุษย์และเป็นอุปสรรคสำคัญต่อความสัมพันธ์และสันติภาพระหว่างชาติ ดังจะเห็นได้จากบทเรียนในอดีตของมนุษยชาติ ซึ่งการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว และเผ่าพันธุ์ ได้ก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และนำมาซึ่งความสูญเสียครั้งใหญ่มาแล้วหลายครั้ง อันเป็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้" นายวสันต์กล่าว

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ   กระทรวงการต่างประเทศ แถลงว่า เมื่อวันที่ 1 ม.ค. ไทยเริ่มดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) วาระปี ค.ศ.2025-2027 อย่างเป็นทางการ โดยไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรี ด้วยคะแนนเสียง 177 เสียง ซึ่งสูงสุดในกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิก

ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีต สส.พัทลุง โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ "ป่วยทิพย์หรือป่วยจริงต้องจบ!" เนื้อโดยสรุประบุว่า กลางๆ เดือนนี้ต้องลงจากเทือกเขาบรรทัดขึ้น กทม. นำผู้ต้องหาไปศาล คดีที่คุณทักษิณ ชินวัตร แจ้งความผู้ต้องหาคนหนึ่งในข้อหาหมิ่นประมาท กรณีชั้น 14 รพ.ตำรวจ ที่ผู้ต้องหารายนี้กล่าวว่าคุณทักษิณป่วยทิพย์ มิได้ป่วยจริง

"อัยการมีคำสั่งฟ้องผู้ต้องหาแล้ว ความจริงเรื่องนี้ผมก็อยากให้อัยการฟ้องตั้งนานแล้ว การป่วยทิพย์หรือป่วยจริงนี่มันต้องอาศัยเวชระเบียนของ รพ.ตำรวจมาพิสูจน์" นายนิพิฏฐ์กล่าว

 ช่วงท้ายนายนิพิฏฐ์กล่าวว่า "ผมฉายหนังตัวอย่างให้ดูล่วงหน้าเลยว่า จะขอหมายเรียกอธิบดีกรมราชทัณฑ์, แพทย์-พยาบาล ที่รักษาคุณทักษิณมาเบิกความหมดทุกคน ถ้าไม่มาผมขอออกหมายจับหมด คดีนี้บอกข้อสอบล่วงหน้าให้ทนายความคุณทักษิณทราบเลยว่าจะสู้คดีแบบนี้แหละ เปิดถ้วยให้แทงเลย แทงให้ถูกก็แล้วกัน มาดูกันว่าเรื่องชั้น 14 รพ.ตำรวจ ระหว่างผมกับ ป.ป.ช. ใครจะเข้าเส้นชัยก่อนกัน".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง