2สัปดาห์ส่ง‘จ่าเอ็ม’กลับ เชื่อมีผู้ร่วมขบวนการอีก

นายกฯ สั่งทบทวนมาตรการป้องกันก่ออาชญากรรมในไทย ย้ำต้องยึด กม.คุมเข้มแนวชายแดน "ทวี" ขออย่าวิเคราะห์เหตุยิงอดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชาไปก่อน รอสอบปากคำ  "จ่าเอ็ม" ก่อน "ตำรวจ" เผยทางการกัมพูชาดำเนินคดีจ่าเอ็มเข้าเมืองผิด กม. คาดใช้เวลา 2 สัปดาห์ส่งตัวกลับไทย เชื่อมีผู้ร่วมขบวนการอีก "แอมเนสตี้ฯ" จี้ไทยดำเนินการโปร่งใส อย่าปกปิดข้อมูล

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2568 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเฝ้าระวังการใช้ประเทศไทยมาก่อปัญหาอาชญากรรม หลังมีการลอบสังหารนายลิม กิมยา อดีตสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านสัญชาติกัมพูชา-ฝรั่งเศสในประเทศไทย และการหลอกนักแสดงชาวจีนไปประเทศเพื่อนบ้านว่า เรื่องนี้ให้ความสำคัญมากอยู่แล้ว และต้องดูในเรื่องของกฎหมายด้วย ต้องให้มาดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะบางทีหลายเรื่องมีกฎหมายอยู่แล้ว แต่ไม่ได้เน้นย้ำ ดังนั้นจึงต้องเน้นย้ำให้ประชาชนรับทราบด้วย

ถามว่า ต้องทบทวนมาตรการอื่นๆ รวมถึงบริเวณแนวชายแดนด้วยหรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ต้องทบทวนด้วย

ขณะที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่กัมพูชาจับกุมนายเอกลักษณ์ แพน้อย หรือเอ็ม กองเรืออดีตทหารเรือ ผู้ต้องหาคดียิงอดีต สส.ฝ่ายค้านของกัมพูชาที่ประเทศกัมพูชาว่า ทางกัมพูชาจะส่งตัวกลับให้ประเทศไทยสอบสวนให้มีความกระจ่างชัด เพราะหากไม่ชัด จะทำให้ไปตีความว่าการที่คนไทยสังหารคนกัมพูชาในประเทศไทยจะเกิดความรู้สึกเป็นเรื่องการเมืองได้

"สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องสืบสวนสอบสวนให้ไปถึงว่าต้นตอของผู้บงการและจ้างวานให้ฆ่า เพราะถ้าไม่ชัด จะเป็นประเด็นที่ถูกโยงไปเรื่องการเมือง ทราบว่าทางกัมพูชาเห็นว่ามีความตระหนักเกรงจะทำให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงส่งตัวกลับมาให้สอบสวน" พ.ต.อ.ทวีกล่าว

เมื่อถามถึงเรื่องที่เกิดขึ้นให้น้ำหนักเรื่องการเมืองเกี่ยวกับเกาะกูดหรือไม่ เพราะผู้เสียชีวิตเป็นนักเคลื่อนไหวที่คัดค้านเรื่องนี้ รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ทุกอย่างอยู่ที่การสอบสวน อย่าไปวิจารณ์หรือวิเคราะห์ สิ่งที่ดีก็คือถ้ากัมพูชาประสานที่จะส่งตัวกลับมาไทย แสดงว่าเขาก็อยากให้เรื่องนี้ได้รับความกระจ่างชัดว่าสาเหตุที่แท้จริงเป็นอะไร และคาดว่าจะใช้เวลาไม่นานสำหรับการส่งตัวกลับมาประเทศไทย และควรจะทำให้เร็วด้วยซ้ำ อาจจะภายใน 1-2 วันนี้

"หลังจากส่งตัวกลับมาไทย ตำรวจก็จะควบคุมตัว ซึ่งตอนนี้มี พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย เมื่อนำตัวผู้ต้องหากลับมาแล้วต้องดูสิทธิและนำตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวน ซึ่งผู้ถูกจับจะพูดหรือไม่พูดเป็นสิทธิส่วนตัว แต่เราจะต้องมีข้อมูลมากกว่านั้น ซึ่งเชื่อว่าตำรวจมีข้อมูลที่มากอยู่แล้วว่าใครเป็นคนสั่งการ ใครชี้เป้า มีใครเกี่ยวข้องบ้าง" รมว.ยุติธรรมกล่าว

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผู้บังคับการสืบสวนสอบสวน บช.น. กล่าวว่า ขณะนี้จ่าเอ็มอยู่ในขั้นตอนทางกฎหมายของทางการกัมพูชา เนื่องจากเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จึงต้องดำเนินคดีที่กัมพูชาก่อน แต่รอง ผบ.ตร.และผบช.น.ได้ทำหนังสือทางการทูตเพื่อขอให้ส่งตัวคนร้ายมาดำเนินคดีต่อที่ไทยแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน

พล.ต.ต.ธีรเดชกล่าวว่า ในส่วนของอาวุธปืนได้เรียกตำรวจที่รับจำนำปืนของจ่าเอ็มมาสอบปากคำแล้ว เบื้องต้นยอมรับว่ารับจำนำปืนไว้จริง แต่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุลอบสังหารที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับโชเฟอร์แท็กซี่สีเขียวเหลือง ก็ได้เชิญมาสอบปากคำแล้วเช่นกัน ยืนยันว่าไม่รู้จักกันมาก่อน และไม่เกี่ยวข้องกับคดี คนร้ายเพียงมาว่าจ้างให้ไปส่งเท่านั้น แต่ทั้งนี้รายละเอียดคดีนี้คงต้องรอการสอบปากคำจ่าเอ็มอย่างละเอียดอีกครั้ง

"เราจะติดตามจับกุมผู้ร่วมขบวนการหรือช่วยเหลือให้การสนับสนุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะคนชี้เป้า ที่มีหลักฐานชัดเจนว่าเข้ามาพร้อมกับผู้เสียชีวิต และมีพิรุธเพราะบริเวณจุดเกิดเหตุมีการเดินวนดูลาดเลาหลายครั้ง รวมถึงหลังเกิดเหตุได้หลบหนีออกนอกประเทศผ่านทางสนามบินสุวรรณภูมิทันที เพราะเชื่อว่ายังมีผู้ร่วมขบวนการสัญชาติเดียวกันอีก โดยตำรวจขอเวลาทำงานสักระยะ และตอนนี้ได้ออกหมายจับไทยแล้ว ขั้นตอนต่อไปอยู่ระหว่างประสานตำรวจสากล ขอออกหมายแดงเพื่อติดตามตัวนำผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่ในต่างประเทศมาดำเนินคดี ส่วนผู้ร่วมขบวนการคนอื่นๆ ไม่สามารถเปิดเผยได้ เพราะเกรงว่าคนร้ายจะไหวตัวทัน" ผบก.สส.บช.น.ระบุ

ที่ สน.ชนะสงคราม พ.ต.อ.สนอง แสงมณี ผกก.สน.ชนะสงคราม กล่าวว่า พ.ต.ท.ภัชชภณ สุประดิษฐ์ สว. (สอบสวน) สน.ชนะสงคราม ได้นำพยานหลักฐานเสนอศาลอาญา รัชดาฯ ซึ่งศาลอนุมัติออกหมายจับนายคิมริน พิช ชาวกัมพูชา ที่ 104/2568 ลงวันที่ 8 ม.ค.68  ข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน นายคิมริน  พิช เป็นคนชี้เป้าให้จ่าเอ็มยิงนายลิมเสียชีวิต

ต่อมาเวลา 11.20 น. ภรรยานายลิม กิมยา  พร้อมลุงชาวกัมพูชาและผู้ติดตามอีก 2 คน รวม 4 คน เดินทางมาที่ สน.ชนะสงคราม เข้าพบ พ.ต.อ.สนอง เพื่อสอบปากคำในคดีดังกล่าว

มีรายงานว่า ภายหลังเกิดเหตุยิงนายลิม เจ้าหน้าที่ได้นำภรรยานายลิมไปไว้ที่เซฟเฮาส์แห่งหนึ่งเพื่อความปลอดภัย รอให้เหตุการณ์คลี่คลายสักระยะหนึ่งถึงจะนำภรรยาผู้ตายมาสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารและการติดต่อรับศพ ประกอบเอกสารรับรองจากสถานทูตราชอาณาจักรกัมพูชาหรือสถานทูตฝรั่งเศสด้วย โดยต้องขึ้นอยู่กับว่าภรรยาผู้ตายจะนำศพสามีไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนาที่ประเทศอะไร

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวไปสอบถามเจ้าหน้าที่ รพ.วชิระ ที่ผ่าชันสูตรศพเมื่อช่วงสายวันเดียวกันนี้ แจ้งว่ายังไม่มีญาติผู้ตายหรือตัวแทนมาติดต่อรับศพแต่อย่างใด

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "หยามน้ำหน้า" ระบุว่า คดีลอบสังหารยิงอดีตนักการเมืองเพื่อนบ้านกลางกรุง ไม่ใช่คดีอาชญากรรมธรรมดา แต่นี่มันอุกอาจมาก มันต้องมีใบสั่งฆ่า จะสั่งโดยใครไม่สำคัญ แต่ต้องไม่เกิดเหตุในไทย อดีต สส.ฝ่ายค้านเพื่อนบ้านทำอะไรขัดใจใคร รุนแรงหนักหนามากจนห้ามอยู่ร่วมโลก ใบสั่งฆ่าเช่นนี้อุกอาจมาก ยิงกลางกรุง  อย่าเป่าคดีเป็นอาชญากรรม

ฝ่ายความมั่นคงต้องลงมาดู ทำความจริงให้กระจ่าง บ้านเราต้องไม่ใช่ทุ่งสังหาร อยากฆ่าใครก็เมืองไทยนี่แหละดี มันหยามน้ำหน้ากันมากเกินไป

วันเดียวกัน เคท ชูเอตเซ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคของแอมเนสตี้  อินเตอร์เนชั่นแนล แสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวว่า การเสียชีวิตของนายลิม กิมยา ถือเป็นเหตุการณ์ที่น่าหวาดหวั่น โดยเฉพาะเมื่อมองในบริบทที่เขาเป็นนักการเมืองฝ่ายค้านซึ่งเคยวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลกัมพูชา

 “นี่เป็นการสังหารโดยมิชอบด้วยกฎหมาย แม้ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าการเสียชีวิตของนายลิม กิมยา อดีต สส.พรรคฝ่ายค้าน เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมืองในกัมพูชาโดยตรงหรือไม่ แต่การสังหารนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ที่ทางการกัมพูชายังคงมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง โดยใช้วิธีปิดกั้นและคุกคามเสียงของพรรคฝ่ายค้านทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงในประเทศไทย” 

แอมเนสตี้ฯ ขอให้ทางการไทยดำเนินการสืบสวนสอบสวนเหตุการณ์นี้อย่างเร่งด่วน โปร่งใส รอบด้าน และเป็นกลาง เพื่อเปิดเผยข้อเท็จจริง และนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีที่เป็นธรรม โดยต้องไม่ใช้โทษประหารชีวิต ทั้งยังเน้นย้ำให้รัฐบาลไทยเคารพพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงการรับรองความปลอดภัยของบุคคลทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชา โดยเหตุการณ์ครั้งนี้สะท้อนความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาค และเน้นย้ำว่าความยุติธรรมและความโปร่งใสในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างความเชื่อมั่นในระบบกฎหมายและการคุ้มครองสิทธิของทุกคน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตา! 'นายกฯอิ๊งค์' หัวโต๊ะ ก.ตร. เคาะโผ 'นายพลเล็ก' 140 ตำแหน่ง 'นรต.45' ผงาด

จับตา 'นายกฯอิ๊งค์' นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. ถกโผแต่งตั้งนายพล ระดับ 'รองผบช.-ผบก.' กว่า 140 ตำแหน่ง คาด 'บิ๊กเต่า' โยกจาก บช.ก. นั่งรองผบช.น. 'นรต.45' ผงาดผู้การกองปราบ มือขวาผบช.ไซเบอร์ ขึ้น ผบก.สอท.4