สภายื้ออีกเดือนถกแก้รธน.

วิป 3 ฝ่ายเคาะประชุมรัฐสภา 13-14   ก.พ. ถกแก้รัฐธรรมนูญ ด้าน “วันนอร์” ปัดตอบได้ฉบับใหม่ในสภาชุดนี้ ขณะที่ สว.เล่นแง่อ้างสุ่มเสี่ยงคำวินิจฉัยศาล ขอเวลาพิจารณารอบคอบ  เปิดร่าง รธน.ฉบับเพื่อไทย ตั้งกฎเข้มห้ามแตะหมวด 1-2 โละเสียง สว. 1 ใน 3 แก้ รธน.ทิ้ง ขีดเส้นยกร่างภายใน 180 วัน

เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ในการประชุมวิป 3 ฝ่าย โดยมีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เป็นประธานการประชุม และมีนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล, นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน และนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. ในฐานะเลขาฯ วิปวุฒิสภา โดยมีวาระกำหนดวันประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งใช้เวลาประชุมประมาณ 1.30 ชั่วโมง

จากนั้นเวลา 11.30 น. นายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า จากเดิมที่มีการกำหนดว่าจะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม จำนวน 17 ฉบับ ในวันที่ 14-15 ม.ค.นั้น แต่เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าการแก้ไขทั้งฉบับต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบหลายด้าน จึงขอนำไปพิจารณาก่อน รวมถึงพรรคเพื่อไทยจะมีการยื่นร่างเข้ามาเพิ่มอีก และยังไม่ทราบว่าจะมีพรรคอื่นหรือภาคประชาชนเสนอเข้ามาด้วยหรือไม่ ฉะนั้นจึงขอเวลา และจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมในมาตรา 256 และหมวด 15 (1) ในวันที่ 13-14 ก.พ. ซึ่งเมื่อมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับเสร็จแล้ว การทำประชามติก็สามารถไปใช้ร่างที่สภายืนยัน หรือร่างที่วุฒิสภาแสดงความคิดเห็นไปทำประชามติได้ หากเป็นเช่นนั้นจะทำประชามติ 2 ครั้ง ซึ่งไม่ได้ขัดแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญหรือที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ และในวันที่ 14 ม.ค. จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการแก้ไขข้อบังคับการประชุมร่วม

ทั้งนี้ ที่มีการเลื่อนออกไป 1 เดือนนั้น เนื่องจากในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายพิจารณาร่วมกันแล้วว่า แม้เราพิจารณาเสร็จเร็ว แต่ก็ต้องรอกฎหมายประชามติอยู่ดี หากนับแล้วขณะนี้เรามีเวลาเหลือกว่า 100 วัน ฉะนั้นจึงคิดว่าต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ ซึ่งก็ไม่ช้าเกินไป ย้ำว่าอย่างไรก็ต้องรอ เพราะอยากให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยดี  ทุกฝ่ายร่วมกันรับผิดชอบ

เมื่อถามว่า หวังว่าจะได้เห็นรัฐธรรมนูญใหม่ในรัฐสภาชุดนี้หรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ยังไม่สามารถจะพูดได้ว่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ เพราะขั้นตอนขึ้นอยู่กับการประชุมร่วมรัฐสภาทั้ง 2 ครั้ง ครั้งแรกคือรับหลักการ และครั้งที่ 2 คือร่างที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะไปร่างอีกครั้ง รวมถึงประชาชนจะต้องออกเสียงประชามติอีก 2 ครั้ง ฉะนั้นจึงเป็นความหวังว่าน่าจะได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หน้าตาเป็นอย่างไรยังพูดไม่ได้

นายวิสุทธิ์กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องเลื่อนเวลาออกไป 1 เดือน เนื่องจากรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องสำคัญ และมีผลกระทบต่อประชาชนทั้งประเทศ​ เพื่อให้เกิดความรอบคอบ ทาง สว.ก็ยืนยันว่าต้องมีการนำไปพิจารณา แต่การที่จะไปกำหนดระยะเวลาสั้นๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะหลายคนก็มีภารกิจหลายอย่าง ฉะนั้นเรื่องนี้ถือเป็นความร่วมมือที่ดีของทั้ง 3 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม นายชูศักดิ์ ศิรินิล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าให้แต่ละพรรคร่วมที่คิดจะยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ไปเตรียมการ แต่เราไม่สามารถตอบได้ว่าพรรคอื่นจะยื่นหรือไม่ ซึ่งเราต้องให้โอกาสเขาด้วย ส่วนที่มีการมองว่าเป็นนโยบายของรัฐบาล แต่รัฐบาลไม่ยื่นร่างแก้ไขเข้ามานั้น รัฐบาลประกอบด้วยหลายพรรค แต่ที่คุยกันมาหลายพรรคยังไม่พร้อม แต่หากพรรคใดจะเสนอเราก็ยินดี เพราะเป็นการทำงานร่วมกัน

ขณะที่นายปกรณ์วุฒิกล่าวว่า ฝ่ายค้านมองว่าการเลื่อนออกไป 1 เดือนอาจจะช้าเกินไป ตอนแรกเราขอให้เลื่อนออกไปเพียง 2 สัปดาห์ เพราะอยากให้มีการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการให้มากที่สุด ซึ่งเป็นชั้นที่สำคัญ จึงอยากให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบ แต่เมื่อทางวุฒิสภาอยากมีเวลาพิจารณาเพิ่มเติม เราจึงหาตรงกลาง ฉะนั้นจึงคิดว่าการเลื่อนออกไปก็ไม่ได้กระทบกับกรอบพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประชามติมากนัก แม้จะเห็นไม่ตรงกัน แต่อยากให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น

ด้านนายวุฒิชาติกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศ และจากการที่ได้คุยนอกรอบกับพรรคเพื่อไทย ก็บอกว่าจะมีการยื่นร่างประกบเข้ามา ตนจึงบอกว่าวุฒิสภาต้องใช้เวลาในการศึกษา และทุกคนมีเอกสิทธิ์ในการที่จะพูด รวมถึงมุมมองแตกต่างกัน จึงได้ขอความกรุณาจากฝ่ายค้านและรัฐบาล และเราก็สามารถหากรอบระยะเวลาที่ลงตัวกันได้ ส่วนประเด็นที่จะมีการแก้ไขมาตรา 256 และให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมายกร่าง หากจะถามว่าส่วนใหญ่ สว.เห็นด้วยหรือไม่นั้น ก็ต้องตอบว่าส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย เพราะค่อนข้างสุ่มเสี่ยงกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา จึงขอระยะเวลาในการศึกษา

เมื่อถามว่า หากไม่มีความชัดเจนก็จะไม่โหวตให้ใช่หรือไม่ นายวุฒิชาติกล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์ของ สว. เพราะมีทั้งกลุ่มที่สนับสนุนและกลุ่มที่ไม่สนับสนุน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) ซึ่งแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรคเพื่อไทยนั้น มีสาระสำคัญดังนี้  เสนอแก้ไขมาตรา 256 เกี่ยวกับหลักเกณฑ์แก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยตัดหลักเกณฑ์การลงมติในวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม ที่ต้องใช้เสียง สว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 และเสียงของ สส.ฝ่ายค้านไม่น้อยกว่า 20% ออก

นอกจากนี้ ยังได้ตัดมาตรา 256 (8) เฉพาะส่วนคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ อำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ จะต้องทำประชามติก่อนการทูลเกล้าฯ  ถวายออกด้วย และยังคงการให้ทำประชามติใน 3 กรณีคือ แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับพรรคเพื่อไทยได้เพิ่มหมวดใหม่ขึ้น ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จำนวน 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และกำหนดข้อห้ามของบุคคลที่จะสมัครเป็น ส.ส.ร.ไว้ว่า ห้ามเป็นข้าราชการการเมือง สส. สว. รัฐมนตรี และยังได้นำลักษณะต้องห้ามของ สส.มาบังคับใช้ด้วย ทั้งนี้ กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดเลือกตั้ง ส.ส.ร.ภายใน 60 วัน เมื่อเลือกตั้งเสร็จให้ กกต.รับรองภายใน 15 วัน

สำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญกำหนดให้ ส.ส.ร. ตั้งกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ​ จำนวน  47 คน แบ่งเป็น ส.ส.ร.แต่งตั้ง 24 คน โดยกำหนดคุณสมบัติคือ ต้องเชี่ยวชาญกฎหมายมหาชน รัฐศาสตร์ มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน และการร่างรัฐธรรมนูญ และอีกจำนวน 23 คน ให้ ส.ส.ร.แต่งตั้งจากการเสนอชื่อโดยสภา 12 คน สว. 5 คน และคณะรัฐมนตรี 6 คน พร้อมกับกำหนดระยะเวลายกร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นต้องส่งให้รัฐสภาเห็นชอบภายใน 30 วัน เมื่อรัฐสภาเห็นชอบแล้วให้นำไปจัดการออกเสียงประชามติ

นอกจากนั้นแล้วยังให้สิทธิรัฐสภามีอำนาจเสนอความเห็นเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ ส.ส.ร.ดำเนินการได้ด้วย ซึ่งกำหนดเป็นบทบังคับ ให้ ส.ส.ร.แก้ไขภายใน 30 วัน พร้อมกับให้ลงมติยืนยันด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของ ส.ส.ร.ที่มี  จากนั้นจึงส่งให้ กกต.ทำประชามติ แต่หาก ส.ส.ร.ลงมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นตกไป และให้อำนาจ ส.ส.ร.ชุดเดิมยกร่างใหม่ภายใน 90 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย กำหนดเป็นข้อห้ามที่ชัดเจนว่า  “การจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้” พร้อมให้อำนาจรัฐสภาวินิจฉัยว่า หากมีการจัดทำเนื้อหาที่เป็นข้อห้ามดังกล่าว ให้ถือว่าร่างรัฐธรรมนูญตกไป และให้ ส.ส.ร.ต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง