‘สว.พันธุ์ใหม่’หนุนแก้รธน.ฉบับส้ม

"อนุทิน" ย้ำจุดยืนตลอดกาลแก้  รธน.ไม่แตะหมวด 1-2 ท่าที สส.ภูมิใจไทยไม่เกี่ยว สว. "ไอติม" พร้อมพูดคุยทุกฝ่ายทำความเข้าใจร่างฉบับ "พรรคประชาชน" ยกเคสร่าง "เพื่อไทย" ปี 63 ได้รับเสียงหนุนจาก สว.คสช.ผ่าน  พร้อมเรียกร้อง พท.-ครม.ยื่นร่างมาประกบ "สว.พันธุ์ใหม่" หนุนร่าง ปชน.ลดอำนาจ สว. มั่นใจแก้ รธน.ทั้งฉบับเปลี่ยนรูปแบบการปกครองไม่ได้  เหตุมี ม.255 ล็อกไว้

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่่ 7 มกราคม    นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  (ภท.) ให้สัมภาษณ์ถึงสัญญาณการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนพรรค ภท. ว่าตนนั้นยังไม่ได้ศึกษา แต่พรรค ภท.มีบุคลากรศึกษาเรื่องนี้อยู่ ซึ่งจุดยืนตลอดกาลคือไม่แก้ หมวด 1 และหมวด 2 เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์

เมื่อถามว่า ขณะนี้ สว.หลายคนส่งสัญญาณจะไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ นายอนุทินกล่าวว่า  เรื่องนี้มีขั้นตอนอยู่แล้ว และ สส.ก็ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับ สว.ได้ เราก็ต้องดูท่าทีทุกอย่าง แต่ทั้งหลายทั้งปวงโดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ  ต้องใช้เสียง สว.จำนวน 1 ใน 3 ซึ่งต้องติดตามว่าท่าทีของเขาเป็นอย่างไร ซึ่ง สส.ภท.ก็จะทำตามหน้าที่ของเรา

ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่มีการพูดถึงกันว่า เป็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่พรรค ปชน.เสนอเข้าไปที่มีเนื้อหาสาระสำคัญอยู่ 2 เรื่องคือ 1.การเพิ่มหมวด 15/1 ที่ให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 2.การแก้ไขเกี่ยวกับเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งมาถึงวันนี้เราก็รอดูว่าจะมีร่างอื่นยื่นเข้ามาประกบหรือไม่ เพราะมีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนเห็นต่างในเชิงรายละเอียดอยู่บ้าง ซึ่งร่างที่คิดว่าจะมีการยื่นประกบเข้ามาคือร่างของพรรคเพื่อไทย (พท.) และคาดหวังว่าร่างดังกล่าวจะไม่ต่างไปจากร่างที่พรรค พท.เคยยื่นเมื่อปี 2567

นายพริษฐ์กล่าวว่า ส่วนอีกร่างที่ตนยังไม่มีเห็นว่าจะมีการสื่อสารออกมา แต่คิดว่าควรจะมีการยื่นเข้ามาประกบคือร่างของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเรื่องการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นนโยบายที่รัฐบาลได้เคยประกาศต่อรัฐสภาและสัญญากับประชาชนแล้ว เหตุใด ครม.จึงไม่ยื่นร่างประกบเข้ามา

"จากการฟังสมาชิกรัฐสภาบางส่วน และแสดงอาการคัดค้านต่อร่างของพรรค ปชน. ก็เป็นการหยิบยกเอามาเพียงรายละเอียดปลีกย่อยที่ค่อนข้างชวนให้น่าสงสัยเช่นกัน แต่ไม่ควรเป็นเหตุที่จะทำให้เราไม่สามารถเดินหน้าในการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้"

นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่มีการหยิบยกขึ้นมาเพื่อที่จะบอกว่าไม่เห็นด้วยกับร่างของพรรค ปชน. คือการที่เราจะไปแก้มาตรา 256 ที่ไปตัดเงื่อนไข 1 ใน 3 ของเสียง สว.ออก และหากย้อนไปในสภาชุดที่แล้ว พรรค พท.ก็เคยยื่นร่างแก้ไขมาตรา 256 ตัดเงื่อนไข 1 ใน 3 ของ สว.ออก รัฐสภาขณะนั้นก็โหวตเห็นชอบในหลักการ และมี สว.ชุดที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประมาณกว่า 100  คนโหวตเห็นชอบ เช่นเดียวกับ สส.รัฐบาลในขณะนั้น จึงตั้งข้อสังเกตว่า ร่างที่เคยได้รับการเห็นชอบในปี 63 แต่ตอนนี้เปลี่ยนมาเป็น สว.ชุดใหม่ ทำไมจึงมองว่าการตัดเงื่อนไข 1 ใน 3 ของ สว.ออก ไม่เป็นเหตุเป็นผล ตกลงแล้ว สว.ชุดนี้จะเป็นปฏิปักษ์ต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากกว่าชุดที่แล้วหรือไม่

สส.พรรค ปชน.กล่าวอีกว่า ส่วนจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ในวันไหนนั้น จากที่มีการพูดคุยกับวิป 4 ฝ่าย เราได้มีการพูดคุยกันเบื้องต้นว่า หากร่างเกี่ยวกับ ส.ส.ร.หรือมาตรา 256 บรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมเราจะหยิบร่างดังกล่าวมาเป็นร่างหลักในการพูดคุยกัน ในวันที่มีการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 14-15  ม.ค.นี้ และคิดว่าในการประชุมวิป 3  ฝ่ายวันที่ 8 ม.ค. ก็น่าจะเห็นตรงกับที่เคยตกลงกันไว้

ถามว่า กังวลหรือไม่ว่าร่างของ ปชน.อาจจะไม่ผ่าน นายพริษฐ์กล่าวว่า หวังว่าทุกฝ่ายจะพิจารณาร่างกฎหมายจากประโยชน์ส่วนรวม และระบบการเมืองที่เราคิดว่าจะตอบโจทย์ประเทศไทย ไม่ใช่มากังวลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวจะไปลดอำนาจหรือไม่ ซึ่งตนยินดีที่จะไปพูดคุยกับทุกฝ่ายเพื่อทำความเข้าใจในรายละเอียดของร่างพรรค ปชน. 

ขณะที่กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่ นำโดย น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว., นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว., นายนรเศรษฐ์ ปรัชญากร สว. แถลงจุดยืนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดย น.ส.นันทนากล่าวว่า   กลุ่ม สว.พันธุ์ใหม่เราได้มีมติร่วมกัน พร้อมแสดงจุดยืนว่าเราสนับสนุนร่างฉบับของพรรคประชาชน เรายินดีจะลดอำนาจของ สว.ในการลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ จากฉบับปัจจุบันที่ให้ใช้ สว. 1 ใน 3 ซึ่งเรามองว่า สว.ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง กระบวนการที่ได้มาไม่อาจจะเรียกได้ว่าเป็นตัวแทนของประชาชนทั้งประเทศได้

น.ส.นันทนากล่าวว่า ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของ ส.ส.ร.เราสนับสนุนให้มีผู้แทนที่มาร่างรัฐธรรมนูญจากประชาชนโดยตรง คือการเลือกตั้ง 100 เปอร์เซ็นต์ และถ้าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ควรจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปแก้ไขรูปของรัฐ ระบอบการปกครอง

 “แต่ที่แก้ทั้งฉบับเพื่อให้ที่มาของรัฐธรรมนูญมาจากประชาชนอย่างแท้จริง และบทบัญญัติทั้งหมดสอดคล้องกันทั้งฉบับ ไม่ใช่เป็นการแก้หมวดใดหมวดหนึ่ง แล้วละเว้นหมวดใดหมวดหนึ่ง  เพราะสุดท้ายแล้วเท่ากับมรดกของเผด็จการยังอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าเราไม่ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ” น.ส.นันทนากล่าว

ด้านนายเทวฤทธิ์กล่าวเสริมว่า เข้าใจว่าประเด็นนี้อาจจะมีการหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อกังวล หรือบางครั้งอาจจะถูกลากไปเป็นเกมการเมือง ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้หมายความว่าจะมีการแก้ไขหมวด 1 และ 2 แต่เป็นการย้ำว่าเป็นการสถาปนารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และที่สำคัญก็เคยมีการแก้ไขในรัฐธรรมนูญหลายฉบับ เป็นการแก้ถ้อยคำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในหลายมาตรา ซึ่งคนที่แก้มากที่สุดคือนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ตนแปลกใจว่าทำไมไม่ไปถามนายมีชัยกันบ้าง

นายเทวฤทธิ์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีการกำกับไว้ในมาตรา 255 ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะไปแก้ในรูปแบบการปกครองหรือรูปแบบของรัฐไม่ได้ อีกทั้งกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญก็ต้องผ่านการทำประชามติอย่างน้อย 2 ครั้ง หมายความว่าหากมีการแก้แล้วกระทบต่อรูปแบบของรัฐ เชื่อว่าหากประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยคงโหวตไม่รับ

"เรามีกฎหมายล็อกไว้อยู่แล้ว ในร่างของพรรคประชาชนก็ล็อกว่า มาตรา 255 ว่าจะไม่แก้รูปแบบการปกครอง จึงไม่แน่ใจว่าที่กังวลนั้นเขากังวลจริงๆ หรือกังวลเป็นเงื่อนไขทางการเมือง” นายเทวฤทธิ์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง