สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก ไม่จำเป็นต้องดูรายประเด็น โยน "วิสุทธิ์" ตัดสินใจประชุมร่วมฯ 14-15 ม.ค. ขณะที่ สว.ส่งสัญญาณเบรก ปชน. เจอด่านหินศาล รธน.ยิ่งทำให้ล่าช้า มองรอ 180 วันได้ ไม่ทำให้แตกหักกันระหว่าง 2 สภา ทิ้งทุ่นไม่ต้องกลัวไม่ทันเลือกตั้งปี 70 กังขารัฐบาลลูกสาวทักษิณอยู่พ้นปี 68 หรือไม่ "รทสช." เตือนเส้นทางอันตราย ดันทุรังไปเสี่ยงถูกฟ้อง 157 กราวรูดถอดถอนทั้งยวง 

เมื่อวันจันทร์ เวลา 10.00 น. นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมมาตรา 256 ที่เตรียมจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมที่เพิ่มหมวดว่าด้วยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาตรา 15/1 ซึ่งเป็นร่างที่เราเคยนำเสนอไว้แล้วแต่ไม่ได้รับการบรรจุ จึงได้มีการนำมาเสนอใหม่

เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรค พท.ในการโหวตร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าจะรับหลักการร่างของพรรค พท.อย่างเดียวหรือของพรรคประชาชน (ปชน.) ด้วย เนื่องจากอาจจะมีการพิจารณาทั้งหมด 18 ร่าง นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ตนไม่แน่ใจว่าจะมีการพิจารณา 18 ร่าง ซึ่งเคยพูดหลายครั้งแล้วว่าร่างที่มีอยู่นั้นส่วนใหญ่เป็นร่างรายประเด็น มีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรค ปชน.และพรรค พท.ที่จะมีการนำเสนอด้วย แต่พรรค พท.ต้องขออนุมัติจากที่ประชุมของพรรค พท.ก่อนในวันที่ 7 ธ.ค.

 “หากจะมีการพิจารณาไล่ไปทุกฉบับจะทำให้เกิดความสับสน เพราะหากคิดจะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้มี ส.ส.ร.มายกร่าง ก็ควรจะเน้นไปที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มี ส.ส.ร.เป็นหลัก ซึ่งหากในส่วนนี้ประสบความสำเร็จก็ไม่จำเป็นต้องไปพิจารณารายประเด็นอะไร เนื่องจากสามารถให้ ส.ส.ร.ไปจัดทำได้ จะเป็นประโยชน์มากกว่า และเข้าใจว่าวิป 3 ฝ่ายคงได้คุยกัน ซึ่งท่าทีของเราควรมุ่งไปที่การมี ส.ส.ร.คงจะดีกว่า มีประโยชน์มากกว่า” นายชูศักดิ์ระบุ

เมื่อถามต่อว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่ในการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนัดนี้ อาจจะมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาแค่ 2 ร่างก่อน นายชูศักดิ์ กล่าวว่า แล้วแต่วิปสามฝ่ายจะไปคุยกัน แต่ที่พูดไปนั้นเป็นเพียงแค่ความเห็นของตน ซึ่งเป็นเหตุเป็นผลว่าในเมื่อจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และให้มี ส.ส.ร.แล้ว จะพิจารณารายประเด็นทำไม

เมื่อถามว่า มีเสียงหวั่นว่าพรรค พท.จะไม่รับร่างของพรรค ปชน. นายชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นเพียงแค่เสียง เราจะไปพูดถึงขนาดนั้นไม่ได้ รอให้มีการพิจารณาในรัฐสภาก่อน แล้วให้ว่ากันไปตามกระบวนการ ส่วนจะมีการประชุมวิปสามฝ่ายวันไหนนั้นต้องถามนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานวิปรัฐบาล ตนมองว่าหากจะมีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติม มาตรา 256 แล้วควรจะเปิดโอกาสให้พรรคอื่นร่วมเสนอด้วย แต่จะทันการพิจารณาวันที่ 14-15 ม.ค.ที่มีการกำหนดมาคร่าวๆ หรือไม่นั้นไม่ทราบ หากเขาเสนอมาก็ว่ากันไป แต่ถ้าเขาไม่เสนอมาก็จะมีเพียงแค่ 2 ร่าง ส่วนจะพิจารณาในวันที่ 14-15 ม.ค.หรือไม่ ต้องให้นายวิสุทธิ์เป็นคนตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร

เมื่อถามว่า นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. ตั้งข้อสังเกตว่าพรรค พท.จะกลับลำในบางประเด็น จะทำให้เป็นความขัดแย้งที่คุยกันไม่ได้หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เข้าใจนายพริษฐ์ที่ต้องการแก้ไขทั้งฉบับ แต่ก็ถูกมองว่ามีความขัดแย้งในบางประเด็น เช่น หมวด 1 หมวด 2 ที่เป็นความขัดแย้งมานานแล้ว ซึ่งเป็นในจุดยืนที่เห็นไม่ตรงกัน และทางเขาก็ยังรักษาจุดยืนของเขา ส่วนเราก็รักษาจุดยืนของเรา เช่นรัฐธรรมนูญ 2550 มีความพยายามจะแก้และตั้งกรรมการร่วมกัน แต่ข้อขัดแย้งนี้ทำให้ไม่มีการร่วมลงชื่อด้วย ก็เคยมีมาแล้ว ฉะนั้น ถือเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเป็นจุดยืนของแต่ละพรรค ไม่ขอวิจารณ์ว่าใครถูกใครผิด

ที่รัฐสภา นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ยังไม่ได้พูดคุย ซึ่งเราจะไปกำหนดว่า 14-15 ม.ค.ไม่ได้ อย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ เราต้องเคารพเสียงของ สว.ที่จะมาปรึกษาหารือ เสียงของวุฒิสภาก็สำคัญว่ามีความเห็นอย่างไรในเรื่องนี้ เราต้องพึ่งเขาเกือบ 70 เสียงที่โหวตให้ ขอให้ได้หารือร่วมกันในที่ประชุมวิป 3 ฝ่าย วันที่ 8 ม.ค. ก่อน

 “ไม่ใช่พูดจะแก้เอาเท่ๆ ต้องอย่างโน้นอย่างนี้ แต่แก้ไม่ได้ ไม่มีประโยชน์อะไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยมีเจตนาเพราะเราได้สัญญาประชาคมไว้ว่า จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เป็นประชาธิปไตย แต่มีแค่หมวด 1 และ 2 ที่เราจะไม่แตะต้อง ทางพรรคชัดเจน ส่วนที่เหลือก็ให้เป็นหน้าที่ของ ส.ส.ร. ถ้าเสนอแล้วสามารถพิจารณาร่วมกันได้และตั้งกรรมาธิการก็ไปว่ากัน เรามีความตั้งใจว่าถ้าแก้ก็ต้องแก้ได้จริง ประสานกันทุกฝ่ายถึงสำเร็จ หากไปตั้งธงว่าทุกคนต้องปฏิบัติตามมันจะล้มไม่เป็นท่า" นายวิสุทธิ์กล่าว

ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรคและสส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า หากพรรค ปชน.ดันทุรังอาจเป็นการสุ่มเสี่ยงของผู้เสนอร่างและสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมพิจารณา เนื่องจากไม่มีการจัดทำประชามติก่อนเสนอทูลเกล้าฯ ถวาย ทำให้อาจถูกร้องเอาผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 รวมทั้งเกี่ยวโยงปัญหาสมาชิกรัฐสภาฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมร้ายแรง

 “และอาจถูกส่งให้ ป.ป.ช.ถอดถอนด้วย เชื่อว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบทั้งสองสภา ไม่เอาด้วยกับกฎหมายที่สุ่มเสี่ยงแบบนี้แน่นอน ที่สำคัญพรรคร่วมรัฐบาลย้ำจุดยืนเดิมชัดเจนมาตลอดว่าแก้รัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องไม่แตะหมวด 1-2” นายธนกรระบุ

นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ให้สัมภาษณ์ว่า สว.เสียงข้างมากคงมีแนวทางของเขา เราอยู่ใน สว.เสียงข้างน้อย เขาจึงไม่ได้ส่งสัญญาณอะไรมา แต่สิ่งที่กังวลคือ หากประธานสภาฯ บรรจุการแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ อาจมีคนไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ซึ่งอาจจะทำให้ล่าช้าไปอีก กลัวจะมีคนไปร้องศาลรัฐธรรมนูญ

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สว. ระบุว่า จากที่ได้รับฟังเสียง สว.ส่วนใหญ่ก็เห็นคล้ายกับตนเอง คือไม่ควรแตะต้องหมวด 1 และหมวด 2 ไม่ว่าพรรคใดจะเสนอก็ตาม  เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ควรรีบร้อน เพราะการกระทำอะไรที่รีบร้อนอาจจะส่งผลเสีย พร้อมมองว่าหากรอครบ 180 วัน แล้วสภาผู้แทนราษฎรยืนยันมติเดิม จะไม่ทำให้แตกหักกันระหว่าง 2 สภา

 “เพราะส่วนตัวก็เห็นชอบกับการทำประชามติด้วยหลักเกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว แต่มองว่าเรื่องกรอบเวลาไม่ควรเอาคำว่ากลัวจะแก้รัฐธรรมนูญไม่ทันการเลือกตั้งปี 2570 เป็นหลัก เพราะรัฐบาลนี้จะอยู่พ้นปี 2568 หรือไม่ก็ยังไม่ทราบ” นพ.เปรมศักดิ์ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง