"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม ลั่นหักพร้าด้วยเข่าไม่มีทางสำเร็จ ย้ำจุดยืนไม่เอาร่างแบบสุดโต่ง รอออกมติพรรคอังคารนี้ ปธ.วิปรัฐบาลเชื่อสุดท้ายไม่พ้นคนยื่นศาล รธน. อดีต สว.ยกคำวินิจฉัยในอดีตขู่ระวังถูกสอยร่วงยกสภา หากดันทุรังแก้ก่อนทำประชามติ
เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2568 นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในที่ประชุมรัฐสภาช่วงกลางเดือน ม.ค.นี้ว่า พรรคเพื่อไทยเตรียมขอมติจากที่ประชุม สส.ของพรรควันที่ 7 ม.ค.นี้ก่อน ว่าจะเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายกฎหมายของพรรคจัดทำไว้เสนอประกบกับร่างของพรรคประชาชนหรือไม่ โดยในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย ยึดสาระสำคัญคือ จะไม่แตะหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ รวมถึงมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจทุกมาตรา อีกทั้งต้องไม่แก้ไขในประเด็นที่อาจจะสร้างความแตกแยก ขัดแย้งในสังคม รวมถึงต้องคำนึงถึงประโยชน์ประชาชน และทำให้ประเทศเดินหน้าผาสุก
“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยมีความแตกต่างกับพรรคประชาชน ซึ่งเรายึดหลักการคือไม่กระทบกับคนส่วนใหญ่ รวมถึงไม่กระทบกับจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นรายละเอียดแบบสุดโต่งไม่ต้องการให้เกิดขึ้น หากคิดว่าจะเอาแบบนั้น เชื่อว่าจะมีความขัดแย้ง สังคมแบ่งเป็นสองฝ่าย จะมีการชุมนุม ดังนั้นในการทำตามสัญญาประชาคมเรื่องแก้รัฐธรรมนูญต้องทำให้เป็นประโยชน์กับประชาชน ไม่ใช่ยึดแต่เรื่องการเมืองเหนือสิ่งอื่น หรือยึดแต่ผลแพ้และชนะ” นายวิสุทธิ์กล่าว
ประธานวิปรัฐบาลกล่าวด้วยว่า ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทางพรรคเพื่อไทยประเมินว่าต้องมีผู้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญแน่นอน มองว่าเป็นเรื่องดี เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญได้ชี้ขาดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเดินหน้าได้
เมื่อถามถึงข้อเรียกร้องของพรรคประชาชนที่ต้องการให้นำร่างแก้ไขมาตรา 256 และเพิ่มหมวดสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาพิจารณา นายวิสุทธิ์กล่าวว่า ยังไม่สามารถสรุปได้แบบนั้น เพราะต้องหารือกับทุกฝ่าย ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลและ สว.ด้วย เพราะการทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติกัน และหารือกันอย่างรอบคอบ เพื่อให้เป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย อีกทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องพึ่ง สว.ด้วย ดังนั้นจะฟันธงให้เป็นแบบที่ต้องการไม่ได้ ต้องหารือร่วมกัน
เมื่อถามว่า ขณะนี้มีเสียง สว.สะท้อนว่าหากแก้ไขเพื่อประโยชน์ฝ่ายการเมืองจะไม่เอาด้วย เกรงว่าการแก้รัฐธรรมนูญจะไปไม่รอดหรือไม่ ประธานวิปรัฐบาลกล่าวว่า ต้องหารือกัน ในประเด็นที่เสนอแก้ไขต่างๆ ต้องให้พรรคร่วมรัฐบาลและฝ่ายที่เกี่ยวข้องพิจารณาด้วย ซึ่งของพรรคเพื่อไทยนั้น จะเสนอรายละเอียดให้พรรคร่วมพิจารณาหลังจากที่ สส.มีการลงมติแล้วในวันที่ 7 ม.ค.นี้ เบื้องต้นนั้นเนื้อหาจะไม่ลิดรอนสิทธิของ สว.
“การจะเปลี่ยนแปลงต้องมีเวลาเริ่มต้นและปรับปรุงหลายปี การจะหักพร้าด้วยเข่านั้นไม่สำเร็จ จะหักทันทีทำไม่ได้ในประเทศนี้ ดังนั้นการจะไปสู่ยุคเปลี่ยนผ่านต้องมีระยะเวลา ทั้งนี้ต้องให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสามัคคี ไม่ใช่นำเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญมาสร้างความขัดแย้งให้บ้านเมือง” นายวิสุทธิ์กล่าว
ด้านนายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความพร้อมเอกสารคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และร่างแก้ไข รธน. ‘พรรคประชาชน’ เลือกตั้ง ส.ส.ร. 200 คน จัดทำ ‘รัฐธรรมนูญฉบับใหม่’ โดยระบุว่า “อ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญให้ดี ต้องทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าเห็นด้วยหรือไม่ ก่อนคิดล้มรัฐธรรมนูญแล้วร่างใหม่ ระวังถูกสอยร่วงยกสภา”
ทั้งนี้ ในเอกสารข่าวศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
ขณะเดียวกัน ยังมีการขีดเส้นใจความสำคัญ ในหนังสือคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจึงต้องอยู่ในเงื่อนไขที่มีความผูกพันกับรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ยึดโยงกับหลักการพื้นฐาน และให้เหมาะสมและสอดคล้องกับมติมหาชน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 หมวด 15 เพียงบัญญัติให้สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้เท่านั้น ไม่มีบทญัญญัติให้จัดทำขึ้นใหม่ทั้งฉบับ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15/1 ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่มีผู้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้ หากรัฐสภาต้องการจัดทำรัฐธธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องจัดให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญออกเสียงประชามติเสียก่อนว่า สมควรมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วย จึงดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป เมื่อเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติว่าเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการให้ประชาชนพิจารณาเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย เมื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงนำประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป อันเป็นกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญตามครรลองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่า ประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง” เอกสารข่าวระบุ
นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีต สว. แชร์โพสต์ข้อความเก่าเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2564 สมัยยังเป็น สว. เรื่อง ตีความคำวินิจฉัยย่อศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมข้อความเพิ่มเติมระบุว่า จะแก้รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้แล้วว่าทำได้ แต่จะต้องจัดให้มีประชามติสอบถามประชาชนเสียก่อนว่า ประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับหรือไม่เสียก่อนในฐานะที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvior Constituant) ผมเคยเขียนและพูดเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2564 เมื่อมีคำวินิจฉัยย่อปรากฏออกมา ภายหลังเมื่อมีคำวินิจฉัยกลางออกมา ก็มิได้มีการเปลี่ยนแปลงในสารัตถะสำคัญ โดยเฉพาะไม่ได้มีการกล่าวอะไรเพิ่มเติมในประเด็นที่ 3 ที่ผมเขียนไว้
“ผมจึงมีความเห็นคงเดิมจนทุกวันนี้ จึงขอบันทึกไว้อีกครั้งว่า จะเสนอแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพิ่มเติมหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะต้องจัดให้มีประชามติสอบถามประชาชนก่อน สุดแท้แต่จะพิจารณากัน”
นายคำนูณระบุว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องผ่านการทำประชามติ 3 ครั้ง (1) ก่อนเริ่มดำเนินการเสนอหรือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว (2) หลังร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวผ่านวาระ 3 และ (3) หลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ ตามความเห็นที่ลำดับมา ผมจึงเห็นว่าการดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้เกิดกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่ผ่านมาในวาระ 1 และ 2 ไม่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงยังไม่ควรลงมติวาระที่ 3 ตามที่กำหนดไว้ก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำวินิจฉัย หากเดินหน้าลงมติวาระ 3 จะเสี่ยงต่อการจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญได้ โดยเชื่อว่าจะมีบุคคลภายนอกยื่นคำร้องต่อศาลอีกแน่ โดยใช้ช่องทางตามมาตรา 49 อีกครั้ง และครั้งใหม่นี้ข้อเท็จจริงจะแตกต่างออกไปจากครั้งก่อนที่ศาลยกคำร้องไปแล้ว เพราะเป็นการกระทำที่ศาลมีคำวินิจฉัยวางหลักเกณฑ์การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ไว้แล้ว
"นอกจากนั้น สส.และ สว.ยังสามารถเข้าชื่อกันยื่นคำร้องต่อศาลตาม 256 (9) ได้ว่าการลงมติวาระที่ 3 ขัดมาตรา 255 เพราะรัฐสภาไม่มีอำนาจหน้าที่ในกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หากยังไม่ได้รับอนุญาตจากประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ ส่วนจะดำเนินการต่อไปอย่างไรในรายละเอียด เป็นเรื่องที่รัฐสภาจะต้องปรึกษาหารือกัน รัฐสภาจะต้องเร่งดำเนินการผ่านร่างกฎหมายประชามติโดยเร็ว หวังว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญจะเผยแพร่ออกมาโดยเร็ว และตอบคำถามได้ครบถ้วนกระบวนความ".
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
10วันปีใหม่เมาขับ7พันคดี ขับรถเร็วตายบนถนนพุ่ง
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
‘อ้วน’สั่งทบทวน หนทางดับไฟใต้ พูดคุยให้ถูกคน
ยังไร้แววเมียนมาปล่อย 4 คนไทย "ภูมิธรรม" ย้ำต้องรอจบกระบวนการ
ดักคอล้วงภาษีอุ้มค่าไฟ ‘ดีอี’เร่งกาสิโนขึ้นบนดิน
"ภูมิธรรม" ขำข่าวปรับ ครม.เขี่ย รทสช. บอกอย่าฟังคนปล่อยข่าว
สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.
แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก
รุมตบปากพ่อนายกฯ สว.จี้ขอโทษเหยียดสีผิว/อดีตกกต.แนะอบรมมารยาทหาเสียง
รัฐมนตรีเพื่อไทยดาหน้าป้องนายใหญ่ บอกหาเสียง อบจ.เชียงรายปกติ
เพื่อแม้วประสานเสียง 'ทักษิณ' ปราศรัยเดือดเชียงราย ทำได้ไม่ขัดระเบียบ กกต.
'วิสุทธิ์' ป้อง 'ทักษิณ' ปราศรัยเดือดเชียงราย อ้างไปแล้วไม่พูดหาเสียงจะไปทำไม 'ชูศักดิ์' เสริมอีกแรง ตามระเบียบจะพูดอะไรก็ได้ แจ้ง กกต. เรียบร้อย