"ประยุทธ์" การันตี 3 ป.ยังรักกันเหนียวแน่น เตือนอย่าทำตัวเป็นบ่างช่างยุให้แตกแยก “วิษณุ” ชี้ช่อง พปชร.ทบทวนมติได้ตราบใดยังไม่ส่งเรื่องถึง กกต. “เอกราช” ลั่นยังมั่นคงกับ “ธรรมนัส” เชื่อข่าวปล่อยดิสเครดิตทำลายก๊วน 21 ส.ส. “พรชัย” ประกาศแยกตัวเพื่อทำงานอิสระ แต่ยังร่วมรัฐบาลภายใต้ปีกบิ๊กป้อม “นิโรธ” รับวิกฤตเสียงในสภา แต่เชื่อ 2 กฎหมายลูกผ่านฉลุย “วิษณุ” เผยรัฐบาลพร้อมเปิดวิสามัญเดือน เม.ย.ให้
เมื่อวันจันทร์ที่ 24 มกราคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กระทรวงกลาโหมมอบหมาย กรณี พล.อ.ประยุทธ์ร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) สบายใจขึ้นหรือไม่ และอยากให้ยืนยันอีกครั้งว่า 3 ป.ไม่แตก ไม่ขัดแย้งกัน ว่านายกฯ ชี้แจงว่าไม่ได้มีปัญหาใด อย่ายุยงแตกแยกบิดเบือนในสื่อหลายช่องทาง ต้องช่วยกันทำงานให้ได้
ด้าน พล.อ.ประวิตรให้สัมภาษณ์ภายหลังลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งซ่อม เขต 9 กทม. ที่ถามว่าได้คุยกับนายกฯ หลังเกิดปัญหาแล้วหรือยัง ว่า "คุยกันตลอด คุยทุกวัน"
ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ความสัมพันธ์ยังแน่นปึ้กใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรย้อนถามว่า "จะเป็นอะไร" เมื่อถามย้ำยังรับมือได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า “ไม่เห็นจะต้องรับมือเลย ก็พรรคผมทั้งนั้น”
เมื่อถามว่าจะต้องทบทวนมติพรรคที่ขับ 21 ส.ส.หรือไม่ พล.อ.ประวิตรไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว ก่อนจะขึ้นรถเดินทางกลับทันที
ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงมติพรรค พปชร.มีมติขับ 21 ส.ส.พ้นจากพรรค แต่มีหนึ่งในผู้ถูกขับขอให้พรรคทบทวนมติจะทำได้หรือไม่ว่า ไม่ทราบ ไม่รู้ว่ามีเงื่อนไขหรือแง่มุมอะไร อาจพูดไม่ครบ หรือผู้สื่อข่าวอาจได้ข่าวมาไม่ครบ หรือเขาไปพูดกันไม่ครบหรือไม่ ไม่ทราบเรื่อง แต่กรรมการบริหารพรรคสามารถประชุมใหม่ได้ จนกว่าจะมีการยื่นเรื่องไปที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ขณะที่ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรค พปชร.ปฏิเสธข่าวการตั้งพรรคการเมืองใหม่ว่า ไม่ทราบเรื่องและไม่แสดงความเห็น โดยย้ำว่ายังสังกัดอยู่พรรค พปชร.
ส่วนนายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ใน 21 ส.ส.ที่ถูกพรรค พปชร.มีมติขับออก ที่มีกระแสข่าวว่าจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ข่าวที่ออกมานั้นมาจากฝ่ายตรงข้ามที่ปล่อยข่าวเพื่อดิสเครดิต ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และทำให้กลุ่ม ส.ส.ที่ถูกขับพ้นพรรคนั้นแตกแยก ซึ่งรู้แล้วว่าเป็นใคร ส่วนสาเหตุที่พุ่งเป้ามายังตนเอง เพราะเป็น 2 ใน 21 คนที่ยังไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกพรรคเศรษฐกิจไทย เนื่องจากจะขอรอดูความชัดเจนการรับรองมติขับพ้นสมาชิกพรรคของ กกต. โดยเฉพาะความชัดเจนกรณีนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ที่ได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตรให้ทบทวนมติดังกล่าว ซึ่งยังมีเวลาเพราะจะครบกำหนด 30 วันในช่วงวันที่ 18-19 ก.พ.นี้
"ยืนยันว่า ส.ส.ทั้ง 21 คนจะยังอยู่กับ ร.อ.ธรรมนัส ผมไม่มีทางไปไหน เพราะเป็นเพื่อนกับ ร.อ.ธรรมนัส แต่เวลานี้ที่ยังไม่เคลื่อนไหวกัน เพราะต้องรอดูความชัดเจนในส่วนของพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ต้องเตรียมตัวทั้งเรื่องของการกำหนดนโยบายและบุคลากรที่จะเข้ามาบริหารพรรค และเรื่องนี้ได้คุยกับ ร.อ.ธรรมนัสเรียบร้อยแล้ว ไม่มีอะไร" นายเอกราชกล่าวและย้ำว่า การเมืองต้องดูกันยาวๆ กะพริบตาไม่ได้ แต่ยังคงยืนยันว่ากลุ่ม ส.ส.ขอนแก่นและ ส.ส.อีสานยังคงเหนียวแน่นและลงพื้นที่ทำงานกันทุกวัน
ขณะเดียวกัน บริเวณบ้านเกาะลาว ต.คลองคะเชนทร์ อ.เมืองพิจิตร มีแกนนำชาวบ้านและกองเชียร์เกือบ 1 พันคนมารวมตัวกันเพื่อให้กำลังใจนายพรชัย อินทร์สุข ส.ส.พิจิตร หนึ่งใน 21 ส.ส.ที่ถูกพรรค พปชร.ขับออก โดยชาวบ้านต่างชูป้ายขอให้นายพรชัยสู้ๆ รวมถึงมีข้อความว่าแม้จะอยู่พรรคไหนก็จะสนับสนุนไม่มีเสื่อมถอย จากนั้นชาวบ้านต่างนำดอกไม้พวงมาลัยดอกดาวเรืองมามอบให้เป็นกำลังใจ ส.ส.พรชัย
ย้ำออกแต่ยังร่วมรัฐบาล
นายพรชัยได้กล่าวชี้แจงชาวบ้านว่า การย้ายพรรคครั้งนี้จะทำให้มีอิสระในการทำงานมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าพรรคเศรษฐกิจไทยก็จะยังคงเป็นพรรคร่วมรัฐบาลภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร ซึ่งจะมี ร.อ.ธรรมนัสเป็นหัวหน้าทีมและนายท้าย คอยคัดหางเสือให้นาวาลำนี้ขับเคลื่อนต่อไป รวมทั้งได้ชี้แจงชาวบ้านว่าการย้ายพรรคไม่กระทบกับการทำหน้าที่ ส.ส.และการพัฒนาจังหวัดพิจิตรแต่อย่างใด
ส่วนนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรค พปชร.ได้เข้ายื่นหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากได้รับการร้องขอให้ชะลอเรื่องการตรวจสอบเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์จะครบ 8 ปี ทำให้รู้สึกไม่อิสระ โดยมีเจ้าหน้าที่ของพรรครับหนังสือที่พรรค พปชร.
ส่วนนายนิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงปัญหาภายในพรรคที่อาจส่งผลกระทบต่อเสียงของรัฐบาลในสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นวิกฤต เพราะปกติเสียงรัฐบาลเกินกึ่งไม่เท่าไร ประมาณกว่า 20 เสียง เมื่อมีสมาชิกแยกออกไป 21 เสียงก็จะทำให้มีปัญหา แต่คิดว่า ร.อ.ธรรมนัสจะออกไปอยู่พรรคใหม่ ก็ยังคงสนับสนุนรัฐบาลต่อ เพราะเห็นมีการแถลงข่าวเช่นนั้น และ ร.อ.ธรรมนัสก็ได้ยืนยันกับตนเองว่ายังเป็นพี่น้องร่วมทำงานกันเหมือนเดิม ยังพูดคุยกันได้เหมือนเดิม
“ธรรมชาติเวลาการประชุม ส.ส.บางครั้งมีการลาป่วยบ้าง ติดภารกิจบ้าง ผมกังวลและคิดว่าเสียงรัฐบาลในสภาตอนนี้วิกฤต แต่พรรคร่วมรัฐบาลก็เตรียมพร้อมคิดว่าน่าจะผ่านอุปสรรคได้" นายนิโรธระบุ
เมื่อถามว่าจะรับมือวิกฤตนี้อย่างไร โดยเฉพาะกฎหมายลูกที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภา นายนิโรธกล่าวว่า คิดว่าฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะร่วมมือกันในเรื่องดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นกฎหมายสำคัญ เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในการเลือกตั้ง เชื่อว่า ส.ส.จะช่วยกันให้ผ่านไปด้วยดี ประเด็นนี้คิดว่าไม่น่ามีปัญหา
นายนิโรธยังกล่าวถึงกรณีนายสมศักดิ์ขอให้ พปชร.ทบทวนมติขับออกจากพรรคว่า เท่าที่ทราบนายสมศักดิ์ได้ยื่นคำร้องเข้ามาปกติแล้ว ซึ่งถ้าอุทธรณ์พรรคก็ต้องรับพิจารณา ส่วนผลจะเป็นประการใดก็อีกเรื่อง โดยฝ่ายกฎหมายของพรรคจะรับเรื่องและหัวหน้าพรรคจะเรียกประชุม กก.บห.พรรคพิจารณา ซึ่งผลการขับ ส.ส.ออกจากพรรคยังไม่ได้แจ้ง กกต. ซึ่งการทบทวนมติขับไล่คงทบทวนเฉพาะบุคคลที่อุทธรณ์ ซึ่งยังมีเวลาอีกกว่าสัปดาห์ที่จะแจ้งต่อ กกต. เพราะตามกฎหมายกำหนดให้ส่งเรื่องภายใน 15 วัน
เมื่อถามว่า คิดว่าสึนามิในพรรค พปชร.จะมีอีกหรือไม่ นายนิโรธกล่าวว่า สึนามิไม่ได้มาบ่อยๆ นานๆ มาที ส่วนจะมีอาฟเตอร์ช็อกหรือไม่นั้น คิดว่าไม่น่ามี เพราะยังมีกฎหมายสำคัญที่จะเข้าสภาอีก โดยเฉพาะกฎหมายลูกซึ่งเชื่อว่าน่าจะเสร็จเรียบร้อย ขอสภาอย่าล่มกันบ่อยเลย
ถามว่า มีกลิ่นยุบสภาหลังกฎหมายลูกเสร็จหรือไม่ นายนิโรธตอบว่า จมูกไม่ค่อยได้กลิ่น คิดว่ายังไม่มี
ด้านนายวิษณุกล่าวถึงการนำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง 2 ฉบับ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ยังไม่มีการนำเข้าที่ประชุม ครม. และไม่จำเป็นต้องให้ ครม.พิจารณาแล้ว เนื่องจากสอบถามคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้วได้ความว่า ตรวจสอบเสร็จเรียบร้อยทั้ง 2 ฉบับ ซึ่ง กกต.ต้องนำไปรับฟังความคิดเห็นอีก 15 วัน โดยครบกำหนดวันที่ 2 ก.พ. จากนั้นก็ไม่ต้องนำเข้า ครม.แล้ว และสามารถส่งให้วิปก่อนที่จะส่งไปยังสภาได้ทันที โดยประมาณว่าจะเข้าสภาได้เดือน ก.พ. ซึ่งจะพร้อมกับฉบับของ ส.ส.ที่นายกฯ เซ็นรับรองและส่งไป
รัฐบาลพร้อมเปิดวิสามัญ
นายวิษณุยอมรับว่า จะทำให้การพิจารณากฎหมายลูกทั้งสองฉบับล่าช้าไปเพียงไม่กี่วันเท่านั้น เพราะถึงอย่างไรสภาปิดสมัยประชุมในวันที่ 28 ก.พ.ก็ยังไม่เสร็จอยู่ดีไม่ว่าจะเร็วหรือช้าอย่างไร ระหว่างนั้นตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ให้พิจารณาได้ และหากไม่แล้วเสร็จในช่วงสมัยประชุม เมื่อแจ้งมายังรัฐบาลก็พร้อมเปิดสมัยวิสามัญให้ ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร รัฐบาลมีอำนาจเปิดให้ได้อยู่แล้ว 2-3 วันเท่าที่ต้องการ เพื่อพิจารณากฎหมายดังกล่าวในวาระ 2 และ 3 ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้ดำเนินการกฎหมายดังกล่าวภายใน 180 วัน หรือ 6 เดือน ซึ่งจะเป็นเมื่อใดก็แล้วแต่สภาพิจารณา
“กว่าจะเปิดสมัยประชุมอีกครั้งเดือน พ.ค. แต่เพื่อไม่ให้เสียเวลาก็ขอเปิดสมัยวิสามัญได้ โดยบอกมาที่รัฐบาลได้ว่าจะขอเปิดเพื่อพิจารณาในวาระสองและสาม รัฐบาลก็จะเปิดให้ ซึ่งอาจเปิดประมาณเดือน เม.ย. ซึ่งไม่ใช่การยื้อ อุตส่าห์เปิดให้เพื่อจะไม่ยื้อ แต่ถ้าขอมาแล้วไม่เปิดนี่แหละยื้อ แต่ทีนี้ต้องให้เขาขอมาว่าเสร็จแล้วขอเปิด เพราะถ้าอยู่ดีๆ ไปเปิดแล้วไม่มีร่างเข้ามาหรือไม่เสร็จก็ไม่รู้จะเปิดทำไม เดี๋ยวไม่มีใครมาประชุมสภาล้มอีก" นายวิษณุกล่าว
นายธนกรกล่าวประเด็นนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์รับทราบเรื่องการพิจารณากฎหมายลูก 2 ฉบับแล้ว โดยนายกฯ ขอให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนร่วมกันผลักดันกฎหมายที่มีความสำคัญ ซึ่งรัฐบาลตั้งใจให้กฎหมายของไทยเป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่จะเกิดขึ้น ทั้งนี้นายกฯ ขอให้ทุกกระทรวงเตรียมความพร้อมชี้แจง รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงต้องช่วยชี้แจงเองด้วย
“นายกฯ ย้ำว่า วันนี้การทำงานของรัฐบาลไม่มีคำว่าพรรค มีแต่พรรคร่วมรัฐบาลเพียงอย่างเดียว และเพียงหนึ่งเดียว” นายธนกรกล่าว
นพ.สุกิจ อัถโถปกรณ์ ที่ปรึกษาประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลฯ ติดโควิด-19 อาจทำให้ ส.ส.พรรค พปชร.ต้องกักตัวและอาจส่งผลต่อการประชุมสภาในวันที่ 26 ม.ค.ว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งงดประชุมสภาจากนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่วนการประชุมจะล่มหรือไม่นั้นไม่สามารถตอบได้ เพราะไม่ได้อยู่ที่โควิดเพียงอย่างเดียว
ส่วนนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงคะแนนตามมาตรา 152 ว่า ฝ่ายค้านเห็นว่าประเทศมีปัญหา ทุกฝ่ายจำเป็นต้องให้คำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางให้รัฐบาลนำไปดำเนินการเพื่อประโยชน์ของประชาชน รัฐบาลอย่าออกอาการร้อนตัวตีตนไปก่อนไข้ อยากให้ฟังเสียก่อน การอภิปรายครั้งนี้ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นถึงปัญหารวม ทั้งมองว่ารัฐบาลไปไม่ไหวแล้วต้องออกมาช่วยกัน แนะแนวทางในการแก้ไขสิ่งที่เกิดขึ้น
“อย่ามองว่าเป็นการหลอกด่ารัฐบาล แต่ฝ่ายค้านจะจี้ไปที่ปัญหาเศรษฐกิจ ปากท้องประชาชน เพราะประเทศเผชิญวิกฤตข้าวยากหมากแพงอย่างแท้จริง ทุกอย่างแพงหมด เหตุจากรัฐบาลไร้น้ำยาควบคุมราคาสินค้า นอกจากนี้จะอภิปรายถึงปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่ พล.อ.ประยุทธ์ละเลยที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น แม้แต่ ส.ว.ยังยอมรับว่าทุจริตสูงขึ้น อย่างกรณีถุงมือยาง 2,000 ล้านบาทที่ฝ่ายค้านเคยอภิปราย รวมทั้งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ก็ยอมรับกลางสภาว่าไม่รู้จะตามเงินนี้อย่างไร แต่ พล.อ.ประยุทธ์กลับไม่สนใจที่จะตามเงินของประชาชน เพราะเกรงจะกระทบกับเสถียรภาพของรัฐบาล” นายประเสริฐกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่งฟ้อง16บอส ‘แซม-มิน’รอด สคบ.ฟันไอคอน
อัยการคดีพิเศษสั่งฟ้อง "บอสพอล-บอสกันต์" กับพวกรวม 17 คน 5 ข้อหาหนัก
สภายื้ออีกเดือนถกแก้รธน.
วิป 3 ฝ่ายเคาะประชุมรัฐสภา 13-14 ก.พ. ถกแก้รัฐธรรมนูญ ด้าน “วันนอร์” ปัดตอบได้ฉบับใหม่ในสภาชุดนี้
ล้วงรายได้โปะ ค่าไฟ3.70บาท เอกชนบี้ทำจริง
“พิชัย” รับลูก “ทักษิณ” เร่งศึกษาหาช่องลดค่าไฟเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย
‘สมรังสี’กล่าวหา‘ฮุนเซน’ จับจ่าเอ็มยิงอดีตสส.เขมร
ตำรวจออกหมายจับ "จ่าเอ็ม" อดีตนาวิกโยธิน สังหาร "ลิม กิมยา" อดีต สส.ฝ่ายค้านกัมพูชา ผบช.น.ระบุมีการวางแผนชี้เป้า
ทักษิณกํ้ากึ่งผิดกม. หาเสียงนโยบายรัฐ‘กกต.’คิกออฟเลือกตั้งอบจ.
"นายกฯ อิ๊งค์" ลงพื้นที่ภูเก็ต 9 ม.ค. ประชุมทุกฝ่ายร่วมดึงศักยภาพท่องเที่ยว
'แพทองธาร' ขนคณะลงพื้นที่ภูเก็ตตัดริบบิ้นเปิดงานพิธีแสดงเรือนานาชาติ!
'นายกฯ' ลงพื้นที่ภูเก็ตพรุ่งนี้ ขอแก้ไขปัญหาให้ครบทุกวงจร เพิ่มศักยภาพทุกมิติทั้งท่องเที่ยว ยกเป็นต้นแบบทำให้ได้ทุกจังหวัด