พท.รอเคาะแก้ไขรธน. ติง2สภาขัดแย้งร้าวลึก

“ชูศักดิ์” เผย 7 ม.ค. พรรคเพื่อไทยจะหารือว่าจะว่ายตามน้ำชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประกบพรรคประชาชนหรือไม่ ยันสภามีอำนาจพิจารณารื้อมาตรา 256 “นิกร” ย้ำตอกลิ่มความขัดแย้ง 2 สภาหนักข้อแน่ เปิดร่างฉบับ ปชน. หั่นทิ้งอำนาจสภาสูงแก้ รธน. ซ้ำร้ายเปิดช่องรื้อหมวด 2 และองค์กรอิสระโดยไม่ต้องทำประชามติ “วันนอร์” ชี้นักการเมืองไม่ใช่อาชญากร โทษยุบพรรคตัดสิทธิหนักเกินไปควรแก้ไข

เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2568 นายชูศักดิ์ ศิรินิล  รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะใช้อำนาจสั่งบรรจุร่างแก้ไขมาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคประชาชน (ปชน.) จากเดิมที่จะไม่บรรจุ เพราะกลัวขัดต่อคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ แต่ความเห็นของฝ่ายกฎหมายสภาเปลี่ยนแปลงไป และได้ประสานไปยังแต่ละพรรคการเมืองว่าจะเสนอร่างประกบด้วยหรือไม่ ซึ่งส่วนพรรคเพื่อไทย (พท.) เคยเสนอไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้บรรจุ ซึ่งพรรคจะประชุมกันในวันที่ 7 ม.ค.นี้ ว่าจะเสนอร่างที่มีอยู่แล้วหรือไม่ โดยสาระสำคัญของร่างพรรค พท. คือการแก้มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน ตามจังหวัดและจำนวนประชากร

เมื่อถามว่า มีคนออกมาท้วงว่าหากไม่ทำประชามติ 3 ครั้งจะผิดกฎหมาย นายชูศักดิ์กล่าวว่า ยังมีความเห็นแตกต่างกันอยู่ แต่ถ้าบรรจุไปแล้ว และหากมีคนขอให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ก็ถือเป็นเรื่องดี จะได้วินิจฉัยไปเลยว่าสรุปแล้วจะเป็น 2 หรือ 3 ครั้ง โดยหากทำประชามติ 2 ครั้ง มีโอกาสที่การแก้รัฐธรรมนูญจะเสร็จทันรัฐบาลนี้ เพราะย่นเวลาจากที่รอ 180 วัน

เมื่อถามถึงกรณีนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ระบุว่าการแก้มาตรา 256  เลยโดยไม่ทำประชามติก่อน เสี่ยงถูกร้องกฎหมายอาญามาตรา 157 นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราทำตามอำนาจหน้าที่ของสภา ไม่ต้องวิตกกังวล ที่ผ่านมาเราคิดเรื่องนี้กันมาก แต่ลืมไปว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของสภา เราก็ทำโดยสุจริตไม่ต้องกลัวอะไร ใครจะร้องก็ว่ากันไป

เมื่อถามถึงความคืบหน้าร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรค พท. นายชูศักดิ์กล่าวว่า มีการพิจารณาว่าจะยื่นประกบกันหรือไม่ ซึ่งเชื่อว่าเรื่องนี้จะพิจารณาในช่วงปลายสมัยประชุม ซึ่งในส่วนของพรรค พท.ได้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมเสร็จแล้ว แต่ให้รอดูสถานการณ์ก่อนว่าจะยื่นตอนไหน แต่ยืนยันว่าร่างของพรรคไม่มีนิรโทษกรรม มาตรา 112

ขณะที่ นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการยกร่างกฎหมายนิรโทษกรรมของพรรคเพื่อไทย ว่ายังไม่เห็น จะวิพากษ์วิจารณ์อะไรไปคงไม่ดี แต่คณะทำงานมีแต่คนเก่งๆ ทั้งนั้น เชื่อว่าคงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร

ด้านนายนิกร กล่าวถึงกรณีสภาเตรียมพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และหมวด 15/1 ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชน. เป็นผู้เสนอ ว่าเป็นความพยายามที่เอาใจช่วย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างที่คิด เพราะมีอุปสรรคและปัญหาทางนิติศาสตร์ อาจมีสมาชิกรัฐสภาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ทําได้หรือไม่ แต่ถ้าไม่มีการยื่นศาลก็อาจมีปัญหาเหมือนปี 2563 ที่สมาชิกรัฐสภามีความกังวลในการลงคะแนนสนับสนุนร่างแก้ไขมาตรา 256 เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากไม่มีการทำประชามติก่อน และเสี่ยงถูกร้องกฎหมายอาญา มาตรา 157 และผิดมาตรฐานจริยธรรม นำไปสู่การถอดถอนได้

เชื่อ 2 สภาขัดแย้งร้าวลึก

นายนิกรกล่าวต่อว่า การพิจารณาในวาระ 1  โอกาสผ่านยากมาก แต่ถ้าผ่านไปได้ การตั้งกรรมาธิการในวาระ 2 ก็ยากพอกัน เพราะเนื้อในร่างแก้ไขของพรรค ปชน.ไปหักอํานาจของวุฒิสภา เน้นสภาผู้แทนราษฎรมากเกินไป นอกจากนี้ยังไปถอด (8) ออกหมด ทําให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวด 1 และหมวด 2 รวมถึงอำนาจขององค์กรอิสระ รัฐสภา และคณะรัฐมนตรีไม่ต้องทำประชามติ ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเปลี่ยนหลักการสำคัญ เชื่อว่าจะมีแรงต่อต้านค่อนข้างมาก และจะมีปัญหาในวาระ 3 แน่นอน

 “การพิจารณาร่างแก้ไขมาตรา 256 จะทําให้เกิดความขัดแย้งที่รุนแรงระหว่างสองสภา อภิปรายปะทะกันหนัก ดังนั้น ต้องระวังผลกระทบที่จะตามมาให้มาก หากไม่ได้อะไรขึ้นมา มีแต่จะเกิดบาดแผลความขัดแย้งที่ลึกลงไปอีก” นายนิกรระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายพริษฐ์ได้นำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 ยื่นต่อนายวันมูหะมัดนอร์เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.2567 และประธานรัฐสภาเตรียมนัดประชุมวิป 3 ฝ่ายหารือถึงการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเตรียมวาระพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่  8 ม.ค.นั้น ล่าสุด สำนักงานเลขาธิการสภาได้เผยแพร่เอกสารร่างแก้ไขดังกล่าวแล้ว

โดยสาระสำคัญระบุในเหตุผลว่า รัฐธรรมนูญปัจจุบันมีปัญหาเรื่องความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เพราะเชื่อมโยงกับคณะรัฐประหาร  ถูกรับรองโดยกระบวนการประชามติที่ไม่เสรีและเป็นธรรม รวมถึงมีบทบัญญัติหลายประการที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย จึงสมควรแก้ไข  โดยสาระที่แก้ไขสำคัญ ได้แก่ แก้ไขมาตรา 256 ว่าด้วยหลักเกณฑ์การออกเสียงรับหลักการวาระแรก และเสียงเห็นชอบในวาระสาม ที่กำหนดให้ใช้เสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ โดยตัดเงื่อนไขที่ต้องใช้เสียงเห็นร่วมด้วยของ สว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ออกไป และแทนที่ด้วยเสียงเห็นชอบจาก สส.ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 แทน

นอกจากนั้น ได้ตัดเงื่อนไขของการนำไปออกเสียงประชามติก่อนการทูลเกล้าฯ  ถวาย ในมาตรา 256 (8) ในกรณีเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ เรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจศาลหรือองค์กรอิสระ เรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติหน้าที่หรืออำนาจได้ รวมถึงได้แก้ไขความในมาตรา 256 (9) ที่กำหนดสิทธิให้ สส. สว. หรือสมาชิกทั้ง 2 สภารวมกันเข้าชื่อเพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ชี้ว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นขัดต่อมาตรา 255 หรือมีลักษณะตาม (8) เดิมใช้เกณฑ์เสียงไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 แต่ได้ปรับลดเหลือ 1 ใน 5

ขณะที่ หมวด 15/1 ซึ่งเพิ่มใหม่ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น กำหนดให้มี ส.ส.ร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยกติกาบัตร 2 ใบ แบ่งเป็นเลือกแบบเขต 100 คน และเลือกแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ขณะที่คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส.ร. อาทิ อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี มีสัญชาติไทย ส่วนลักษณะต้องห้ามลงสมัครนั้น กำหนดไว้ 13 ข้อ โดยได้นำบทบัญญัติการห้ามลงสมัคร สส.มาบังคับใช้ ยกเว้นข้อห้ามที่ระบุว่า  อยู่ระหว่างต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ระหว่างระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน และเพิ่มเติมคือ ห้ามข้าราชการการเมืองลงสมัคร รวมถึงเป็น สส. สว. รัฐมนตรี สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่นด้วย

สำหรับการทำงานของ ส.ส.ร.นั้น ยังกำหนดให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกำหนดเวลาให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน นับจากวันประชุมนัดแรก ส่วน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ได้เสนอให้มี 45 คน มาจากการแต่งตั้งบุคคลที่เป็น ส.ส.ร. 2 ใน 3 หรือ 30 คน และ กมธ.อื่นประมาณ 15 คน โดยสามารถตั้งจาก ส.ส.ร.หรือไม่เป็นก็ได้ ส่วนขั้นตอนการเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น พรรค ปชน.กำหนดไว้ว่าต้องให้เสนอต่อรัฐสภาเพื่อให้อภิปรายแสดงความคิดเห็นโดยไม่มีการลงมติ ภายใน 7 วัน เมื่อเสร็จสิ้นให้ กกต.นำไปออกเสียงประชามติภายในเวลา 90-120 วัน พร้อมกำหนดการตั้งคำถามประชามติด้วยว่าต้องชัดเจน เข้าใจง่าย ไม่ชี้นำ และเป็นกลางต่อทุกฝ่าย

วันนอร์ไม่เห็นด้วยยุบพรรค

สำหรับกรณีผลประชามติเห็นชอบด้วยให้ประธาน ส.ส.ร.นำขึ้นทูลเกล้าฯ  ถวาย แต่หากประชามติไม่เห็นชอบให้ถือว่าตกไป รวมทั้งยังได้กำหนดเพิ่มเติมด้วยว่า ภายในเวลา 5 ปี ที่สมาชิกภาพ ส.ส.ร.สิ้นสุด ห้ามดำรงตำแหน่ง นายกฯ  รัฐมนตรี สส. สว. สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ และอัยการสูงสุด

วันเดียวกัน นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวถึงสถานการณ์การเมืองปี 2568 มีโอกาสเกิดคดีความที่นำมาสู่การยุบพรรคการเมืองและตัดสิทธิ สส.ว่า ขึ้นอยู่กับองค์กรที่มีหน้าที่วินิจฉัย ไม่อยากมองในแง่ร้ายอย่างเดียวว่าทุกคดีจะจบที่การยุบพรรคหรือตัดสิทธินักการเมือง แต่มองว่ากฎหมายที่เป็นอยู่ในขณะนี้อาจรุนแรงมากไป ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรากำลังทำอยู่นี้ อาจช่วยแก้ไขสิ่งเหล่านี้ไปได้ ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าต้องไม่มีกฎหมายบังคับ แต่โทษยุบพรรคหรือตัดสิทธิตลอดชีวิตค่อนข้างรุนแรงเกินไป เพราะนักการเมืองไม่ใช่อาชญากร

 “นักการเมืองไม่ใช่อาชญากร เขาใช้สติปัญญา อาจตรงบ้างไม่ตรงบ้าง ถ้าเราคิดว่านักการเมืองไม่ใช่อาชญากร โทษจึงควรสมควรกับความผิด ไม่ใช่ตัดสิทธิ 10 ปี 20 ปี ตลอดชีวิต หรือยุบพรรค พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ควรจะยุบ หากยุบพรรคแล้วไปสร้างใหม่ พรรคการเมืองก็จะอ่อนแอตลอด”

ส่วนนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรค ปชน. กล่าวถึงความคืบหน้าในคดีจริยธรรมของ 44 สส.อดีตพรรคก้าวไกล ว่าทีมกฎหมายได้เตรียมการไว้อย่างดี และไม่อยากให้มองเฉพาะคดี 44 สส.อย่างเดียวเท่านั้น แต่เป็นคดีที่อาจส่งผลกระทบกับสุขภาพทางการเมืองและระบบการเมืองของประเทศในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมาเคยเกิดประเด็นเรื่องอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระไม่เหมาะสม ที่ส่งผลกระทบถึงพรรคเพื่อไทย อย่างเช่นกรณีนายเศรษฐา ทวีสิน ต้องหลุดออกจากตำแหน่ง

 “จุดยืนของพรรคประชาชนมองว่าไม่ได้ต้องการผลักดันแก้ไขในเรื่องนี้เพื่อคนใดคนหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นการแก้ที่ตัวระบบ เพื่อทำให้ตำแหน่งขององค์กรอิสระเป็นไปตามสากลมากขึ้น” นายณัฐพงษ์กล่าว และว่า  เชื่อมั่นเพื่อนๆ ในพรรคที่กำลังทำหน้าที่อยู่ในตอนนี้ หากใครต้องถูกตัดสิทธิในอนาคตก็ยังเชื่อว่าพรรคเดินหน้าต่อได้ตราบใดที่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนในประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไม่กลัวทุนผูกขาด! ‘พีระพันธ์ุ’ ลุยลดราคาพลังงานซัดขบวนการใส่ร้าย

“พีระพันธุ์” สุดทน โพสต์ร่ายผลงานปี 2567 พร้อมยกแผนปี 2568 โชว์ บอกทำงานสายตัวแทบขาดแต่ถูกกลุ่มเสียประโยชน์ปั้นข่าวใส่ร้าย เสี้ยมพรรคเพื่อไทย-นายกฯ

แม้วเดินสายโชว์บารมี อิ๊งค์ปราศรัยนครพนม

"ทักษิณ" ลุยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ. จ่อขึ้นเวทีเชียงราย 3 เวที "เทิง-เชียงของ-แม่จัน" ปราศรัยช่วย "สลักจฤฎดิ์-เมียยงยุทธ" ก่อนเดินสายลำปาง-นครพนม-บึงกาฬ-หนองคาย-มหาสารคาม-ศรีสะเกษ

‘แพทองธาร’ เข้าพบ ‘สุรยุทธ์’

นายกฯ เผย สมเด็จพระสังฆราชประทานพรให้แข็งแรง ดูแลบ้านเมืองให้สงบ พร้อมเข้าขอพรปีใหม่ประธานองคมนตรี สักการะพระแก้วมรกต-ศาลหลักเมือง

นายกฯรวยหมื่นล้าน อิ๊งค์แจงบัญชีทรัพย์สิน ใช้จ่ายส่วนตัวปีละ45ล.

“ป.ป.ช.” เปิดทรัพย์สิน “นายกฯ อิ๊งค์” รวยมโหฬารกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท แบกหนี้กู้เงินญาติพี่น้อง 4.4 พันล้าน สะสมนาฬิกา 75 เรือน มูลค่า 162 ล้านบาท มีกระเป๋า 217 ใบ