สวนดุสิตโพลจัดอันดับ "หมูเด้ง" เหตุการณ์แห่งปี "อิ๊งค์" ที่สุดนักการเมืองหญิง ขณะที่ซูเปอร์โพลเปิดผลสำรวจ! 10 อันดับ ยอดฮิต-ยอดแย่ ยกโหนกระแสมาแรง ประชาชนยี้คอนเทนต์ขยะ แนะรัฐคุมคุณภาพเนื้อหาในโซเชียล
เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ที่สุดแห่งปี 2567” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 14,246 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) สำรวจระหว่างวันที่ 13-27 ธ.ค. 2567 พบว่า เหตุการณ์ที่สุดแห่งปี 2567 คือ หมูเด้งซึ่งโด่งดังทั่วโลก ร้อยละ 26.43, คดีดิไอคอน ร้อยละ 24.54 และยุบพรรคก้าวไกล ร้อยละ 17.95
นักร้องเพลงไทยสากลชายที่สุดแห่งปี คือ เจฟ ซาเตอร์ ร้อยละ 30.65 ฝ่ายหญิง คือ ปาล์มมี่ ร้อยละ 28.38 นักร้องลูกทุ่งชายที่สุดแห่งปี คือ ก้อง ห้วยไร่ (ปีที่ 4 ติดต่อกัน) ร้อยละ 40.58 ฝ่ายหญิง คือ ลำไย ไหทองคำ ร้อยละ 34.74
ดาราชายที่สุดแห่งปี คือ ต่อ ธนภพ ร้อยละ 30.41 ฝ่ายหญิง คือ ใบเฟิร์น พิมพ์ชนก ร้อยละ 29.22 นักกีฬาชายที่สุดแห่งปี คือ วิว กุลวุฒิ ร้อยละ 44.35 ฝ่ายหญิง คือ น้องเทนนิส พาณิภัค (ปีที่ 4 ติดต่อกัน) ร้อยละ 46.22
นักการเมืองชายที่สุดแห่งปี คือ นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้าน และหัวหน้าพรรคประชาชน ร้อยละ 35.89 ฝ่ายหญิง คือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร้อยละ 36.77 นักการศึกษาที่สุดแห่งปี 2567 คือ ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ร้อยละ 31.13 ด้านผู้ทรงอิทธิพลของไทยแห่งปี คือ กรรชัย กำเนิดพลอย ร้อยละ 40.69 และความหวังในปีหน้า 2568 คือ คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ร้อยละ 30.15
น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ผลสำรวจที่สุดแห่งปี “น้องหมูเด้ง” เป็นปรากฏการณ์ที่ครองใจทั้งไทยและต่างชาติ สะท้อนความนิยมที่ตอบโจทย์ความเครียดสะสมจากข่าวหนักหน่วงตลอดปี เช่น การยุบพรรคก้าวไกลและคดีดิไอคอน คนไทยจึงหันมาหาความสุขจากบันเทิง ตั้งแต่น้องหมูเด้ง ละคร ซีรีส์ เพลง ไปจนถึงการเชียร์กีฬา ขณะเดียวกันบุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปีอย่างกรรชัย กำเนิดพลอย สะท้อนพลังของคนในวงการสื่อที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม โดยความหวังปีหน้าคนไทยยังคงมองไปที่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นสำคัญ
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทร ปัจฉิมม์ คณบดีโรงเรียนกฎหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต อธิบายว่า จากผลสำรวจพบว่าเหตุการณ์ที่สุดแห่งปีคือ “หมูเด้ง” จากสวนสัตว์เปิดเขาเขียวประเทศไทยนั้น มีจำนวนการโพสต์หมูเด้งสูงถึงกว่า 7.5 ล้านโพสต์ เป็นอีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ ในขณะที่คดีดิไอคอนก็ได้รับความสนใจอย่างมาก เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าปฏิบัติการจับกุมศิลปิน ดารา นักร้อง นักแสดงหลายคนที่กระทำผิดกฎหมาย
รองศาสตราจารย์ ดร.ธนภัทรกล่าวอีกว่า ผลสำรวจสะท้อนถึงความชื่นชอบของประชาชนที่มีต่อนักร้อง นักแสดง และนักกีฬาหลายๆ คนอีกด้วย ทั้งนี้ สำหรับที่สุดแห่งปีของนักการเมือง คือ นายณัฐพงษ์ และ น.ส.แพทองธาร ที่สุดแห่งปีเหล่านี้ถือเป็นความสนใจและความชื่นชอบของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง ที่สะท้อนการรับรู้ถึงบทบาทหน้าที่ของบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ในรูปแบบหลากหลายช่องทาง
ด้าน ดร.ชาญวิชย์ อริยาวรนันต์ รักษาการผู้อำนวยการ สำนักวิจัยซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง อะไรยอดฮิตยอดแย่แห่งปี 2567 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ ดำเนินโครงการทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) รวมจำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ทางสถิติทั้งสิ้น จำนวนทั้งสิ้น 1,105 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 29-30 ธันวาคม 2567
จากการสำรวจพบว่า 10 อันดับยอดฮิตแห่งปี 2567 ได้แก่ 1.รายการโหนกระแส ได้ร้อยละ 82.7% 2.นักกีฬาทีมชาติไทย วอลเลย์บอลหญิงและฟุตบอลทีมชาติไทย ได้ร้อยละ 81.5% 3.เทคโนโลยีโซเชียลมีเดีย ได้ร้อยละ 80.3%
4.ท่องเที่ยวสายมูและไหว้พระ ได้ร้อยละ 77.2% 5.กาแฟไทยและชาไทย ได้ร้อยละ 74.1% 6.ขนมไทย เช่น ลอดช่อง, ทับทิมกรอบ, บัวลอย, ขนมครก, ข้าวเหนียวมะม่วง ได้ร้อยละ 69.3%
7.ท่องเที่ยวชุมชนและท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ได้ร้อยละ 68.1% 8.ออกกำลังกายและไลฟ์สไตล์สุขภาพ ได้ร้อยละ 65.5% 9.แฟชั่นและความงาม ได้ร้อยละ 58.1% และ 10.ซีรีส์เกาหลี ได้ร้อยละ 50.2%
ดร.ชาญวิชย์กล่าวต่อว่า ส่วน 10 อันดับยอดแย่แห่งปี 2567 ได้แก่ 1.คอนเทนต์ขยะในโซเชียลมีเดียและคดีแบงค์ เลสเตอร์ ร้อยละ 73.6% 2.ปัญหาเศรษฐกิจและปากท้องของประชาชน ร้อยละ 71.8% 3.สื่อเป็นพิษและความรุนแรงในสื่อ ร้อยละ 70.4%
4.ปัญหายาเสพติด ร้อยละ 68.9% 5.ปัญหาฝุ่น PM2.5 ร้อยละ 64.2% 6.ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 63.7% 7.ทุจริตคอร์รัปชัน ร้อยละ 60.3% 8.ภัยพิบัติธรรมชาติ เช่นน้ำท่วมและหมอกควัน ร้อยละ 58.4% 9.ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการเลือกปฏิบัติ ร้อยละ 57.3% และ 10.ความขัดแย้งทางการเมือง ร้อยละ 48.9%
การสำรวจผลโพลเรื่อง “อะไรยอดฮิตยอดแย่แห่งปี 2567” จากสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เปิดเผยถึงสิ่งที่ได้รับความสนใจและถูกใจ รวมถึงสิ่งที่ถูกตำหนิจากประชาชนไทยในปีนี้อย่างชัดเจน ผ่านกระบวนการวิเคราะห์ทางสถิติที่ละเอียดอ่อน และการสำรวจความคิดเห็นจากกลุ่มตัวอย่างมากมายทั่วประเทศ ในช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยความตื่นตัวและความท้าทาย สะท้อนให้เห็นความต่างของประเทศไทยในสายตาคนไทย ทั้งในด้านที่ส่องแสงแห่งความสำเร็จความสุขของประชาชน และในด้านที่ซุกซ่อนเงามืดแห่งความล้มเหลว
ดร.ชาญวิชย์กล่าวอีกว่า ข้อเสนอแนะภาพรวม คือ 1.การควบคุมคุณภาพเนื้อหาสื่อโซเชียลมีเดีย จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานควบคุมคุณภาพเนื้อหาในโซเชียลมีเดีย รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ในหมู่ผู้ใช้งานเกี่ยวกับผลกระทบของคอนเทนต์ขยะ 2.การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษา การเพิ่มการเข้าถึงการศึกษาคุณภาพสูงให้แก่เยาวชนในทุกพื้นที่ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญหน้ากับการแข่งขันและความท้าทายในอนาคต
สำหรับข้อเสนอแนะต่ออะไรที่ยอดฮิตที่สำคัญบางประการ คือ 1.การส่งเสริมกิจกรรมวัฒนธรรมไทย เนื่องจากขนมไทยและกาแฟไทยมีความนิยมสูง (74.1% และ 69.3%) ควรส่งเสริมการตลาดและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมไทย รวมทั้งจัดงานเทศกาลหรือการอบรม เพื่อสืบทอดและเผยแพร่ภูมิปัญญาไทยไปยังเวทีโลก 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่องเที่ยว การท่องเที่ยวชุมชนและเชิงอนุรักษ์ได้รับความนิยม (68.1%) รัฐควรลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การพัฒนาการเข้าถึง การส่งเสริมการตลาดออนไลน์ และการรับรองมาตรฐานความปลอดภัย
ส่วนข้อเสนอแนะต่ออะไรที่ยอดแย่แห่งปี 2567 คือ 1.การควบคุมคุณภาพสื่อ คอนเทนต์ขยะในโซเชียลมีเดียมีผู้ไม่พอใจมากถึง 73.6% ควรมีการตั้งมาตรฐานและกฎระเบียบ เพื่อควบคุมคุณภาพเนื้อหาในโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้สื่ออย่างมีจริยธรรมและตระหนักถึงผลกระทบ
2.การส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและการสนับสนุนธุรกิจ เศรษฐกิจที่ตกต่ำส่งผลกระทบต่อประชาชนมาก (71.8%) รัฐบาลควรจัดหาแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก และส่งเสริมนโยบายที่เอื้อต่อการเริ่มต้น และการดำเนินธุรกิจในประเทศ
3.การเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการภาวะวิกฤตสิ่งแวดล้อม ปัญหาฝุ่น PM2.5 ทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจมาก (64.2%) ควรเสริมสร้างนโยบายและมาตรการในการจัดการมลพิษทางอากาศอย่างเข้มงวด พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด
ดร.ชาญวิชย์กล่าวตอนท้ายว่า การนำข้อเสนอแนะเหล่านี้ไปปฏิบัติจะช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนในสังคมไทย และทำให้ประเทศไทยก้าวผ่านความท้าทายที่มีอยู่ไปสู่อนาคตที่สดใสและสงบสุขมั่นคง ดังนั้น การพัฒนาชุมชนและพัฒนาเมืองสังคมไทยในทิศทางที่ดีขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อสร้างประเทศไทยที่แข็งแรงและยั่งยืนต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แพทองธาร’ เข้าพบ ‘สุรยุทธ์’
นายกฯ เผย สมเด็จพระสังฆราชประทานพรให้แข็งแรง ดูแลบ้านเมืองให้สงบ พร้อมเข้าขอพรปีใหม่ประธานองคมนตรี สักการะพระแก้วมรกต-ศาลหลักเมือง
นายกฯรวยหมื่นล้าน อิ๊งค์แจงบัญชีทรัพย์สิน ใช้จ่ายส่วนตัวปีละ45ล.
“ป.ป.ช.” เปิดทรัพย์สิน “นายกฯ อิ๊งค์” รวยมโหฬารกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท แบกหนี้กู้เงินญาติพี่น้อง 4.4 พันล้าน สะสมนาฬิกา 75 เรือน มูลค่า 162 ล้านบาท มีกระเป๋า 217 ใบ
7 วันอันตรายดุ สังเวย321ชีวิต สุราษฎร์แชมป์
7 วันอันตรายตายสะสมแล้ว 321 ราย ขับรถเร็วครองแชมป์อุบัติเหตุ “สุราษฎร์ฯ” กวาดทริปเปิลทั้งยอดอุบัติเหตุ-ตาย-เจ็บ “บขส.” เผยยอดผู้ใช้บริการ 9 วันกว่า 1.2 ล้านราย
บึ้มรับปีมะเส็ง ตร.เจ็บ 6 นาย
บึ้มรับปีมะเส็ง คนร้ายซุกบึ้มหน้าโรงเรียนบ้านกะลาพอที่สายบุรี ทำตำรวจ 6 นาย พ่วงเด็ก 3 ขวบบาดเจ็บ “ผบช.ภ.9” วิทยุด่วนสั่งเฝ้าระวังเข้ม
‘พ่อ-ลูก’ แห่ช่วยหาเสียง หลายพื้นที่สอย ‘ผู้สมัคร’
“แพทองธาร” ลุยช่วยหาเสียง อบจ.นครพนม 12 ม.ค.นี้ ส่วนพ่อนายกฯ ลงซ้ำ 18 ม.ค.นี้ “อนุทิน” ไม่หวั่น ขอแค่ส่งใจช่วยเครือข่ายสีน้ำเงินรักษาเก้าอี้ภาคอีสาน
พิชัยปธ.งบ69 เน้นศก.เติบโต การเงินเข้มแข็ง
มอบแต่ต้นปี “แพทองธาร” ให้ “พิชัย” นั่งหัวโต๊ะแทนประชุมกรอบงบประมาณปี