บ่นเรือดำนํ้า‘เนื้อไม่ได้กิน’

"ภูมิธรรม" ขอยืดเวลา 6 เดือน รอคำตอบเยอรมนีขายตรงเครื่องยนต์ให้ไทย พร้อมรอดู “ปากีสถาน” ใช้เรือดำน้ำแล้วเป็นอย่างไร บ่นอุบเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แย้มรื้อมติ ครม.เดิมรออนุมัติซื้อ 3 ลำ ขณะที่ ทอ.เดินหน้าทำข้อตกลงไทย-สวีเดนซื้อกริพเพน ส่ง ครม.อนุมัติแบบต้นปีหน้า

 เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าในการตัดสินใจเลือกเครื่องยนต์จีนมาติดตั้งในเรือดำน้ำ S26T ที่ไทยจัดซื้อจากจีนว่า มีการเชียร์ให้มีผลออกมาโดยเร็วเพราะโครงการนี้ค้างมานานแล้ว แต่ตนยังไม่เซ็นเพราะยังไม่เห็นอะไรเลย ใครทำไว้ก็ไม่รู้ แต่ตนต้องมาเซ็นต้องมารับผิดชอบ หากมีผลเสียเกิดขึ้นมาคนที่รับผิดชอบเต็มๆ คนแรกคือ พล.ร.อ.จิรพล ว่องวิทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และคนรับผิดชอบสุดท้ายคือตน ดังนั้นต้องขอศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ชัด

  “ผมได้บอกกับกองทัพเรือและเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยไปว่า ผมเป็นคนไม่ชอบทำอะไรที่ค้างนาน และไม่ปล่อยให้ยืดเยื้อหรือดึงเวลา ตอนแรกผมตั้งใจว่าจะให้เสร็จภายในเดือน ธ.ค. 67 แต่ก็ทำไม่ได้เพราะหลังจากมาดูแล้ว การเปลี่ยนตัวเครื่องยนต์เป็นสาระสำคัญ ซึ่งต้องคุยกันให้จบ ถามว่ากองทัพเรือทำทุกอย่างครบหรือยัง กองทัพเรือก็พยายามชี้แจง จึงอยากให้มีการพิสูจน์ทราบว่ามีปัญหาหรือไม่” 

 นายภูมิธรรมกล่าวว่า ตนได้เชิญทูตทหารของเยอรมนีมาพูดคุย โดยได้ถามไปว่าเหตุใดถึงได้แซงก์ชันประเทศจีนด้วยระบบของนาโต ซึ่งที่จริงแล้วได้มีการซื้อขายกัน จึงได้กำหนดสเปกของทางเยอรมนี แต่พอมีการบอยคอตจากต่างประเทศ ทางเยอรมนีจึงต้องบอยคอตไปด้วย จึงถามไปว่าถ้าคุณไม่ขายให้ประเทศจีน ขายให้ประเทศไทยได้หรือไม่ แล้วเราไปหาคนติดตั้งเครื่องยนต์เอง ไม่ต้องให้จีนติดตั้ง เพื่อให้ได้ของที่ตรงสเปกมากขึ้น เรื่องนี้นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เคยพูดคุยกันไว้บ้างแล้ว ทางทูตเยอรมนีก็แจ้งว่ายังไม่เคยไปพูดคุยกันในเรื่องนี้กับทางเยอรมนี แต่รับปากว่าจะไปพูดคุยให้ ก็ไม่แน่ใจว่าสิ่งที่รัฐบาลตัดสินใจไปแล้วจะแก้ไขได้หรือไม่ การเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนเครื่องยนต์เรือดำน้ำไม่ใช่สาระสำคัญ สาระสำคัญคือยืนยันจุดยืนที่จะทำ

  “ผมจะขอทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะขายเครื่องยนต์นี้ให้ประเทศไทยหรือไม่ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ให้ผู้ช่วยทูตทหารได้กลับไปคุยกับรัฐบาลเยอรมนี และก็มารอฟังคำตอบอย่างเป็นทางการ อย่างน้อยตัวนี้จะเป็นเครื่องวัด ไม่ใช่บอกว่าให้ผมเซ็นก็ต้องเซ็นเลย ผมพยายามหาทางออก เพราะมีคำจากผู้ต่อต้านการซื้อว่าเรือลำนี้ไม่เคยลงน้ำเลย และอาจทำให้มีความกลัวที่จะเสียชีวิตในการลงเรือดำน้ำลำนี้ แต่เรือดำน้ำรุ่นนี้ทางจีนได้ขายและใช้เครื่องยนต์เดียวกับที่จีนเสนอให้ไทย ขายให้ปากีสถานจำนวน 8 ลำแล้ว ผมจึงได้คุยกับทางเอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย ขอให้นำเรือดำน้ำรุ่นนี้ลงดำเร็วๆ แล้วประเมินผลด้วยหลักสากล และขอให้ผมรับรู้ด้วยได้หรือไม่ ถ้าลงน้ำและใช้ไปแล้ว 3-4 เดือน เรือดำน้ำรุ่นนี้ไม่มีปัญหาอะไร ก็จะสามารถตอบได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ถึงแม้จะเป็นสาระสำคัญของสัญญา ก็สามารถทดแทนได้ และมีประสิทธิภาพใกล้เคียงกัน ถ้าได้คำตอบตนก็จะได้มีอะไรไปบอกเพื่อลงนามได้" นายภูมิธรรมกล่าว

 นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้าสิ่งเหล่านี้มันเคลียร์เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราตัดสินใจยอมรับ เพราะเรือดำน้ำทำไปแล้ว 80% อู่จอดเรือก็ทำไปแล้ว กำลังพลกองเรือดำน้ำก็ได้ส่งไปเรียนและได้ตั้งหน่วยขึ้นมาแล้ว เงินทั้งหมดที่จ่ายไปถ้าทิ้งไปก็ไม่มีเงินมาคืน เท่ากับทิ้งเงิน 8,000 ล้านบาทไป ราคาเรือดำน้ำ 13,000 ล้านบาท เหลืออีก 20% จ่ายเงินก็จะได้ของมา ถ้าไม่เอาก็ทิ้งไป จึงต้องกลับมาดูว่ามันคุ้มค่าหรือไม่ ตนก็ตอบไปว่า ตนนั้นเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง มาถึงก็มาจับแก้ปัญหา ถ้าจำเป็นก็จะกลับมาดูว่าไม่ซื้อทั้ง 3 ลำได้หรือไม่ เราต้องมาเคลียร์กระบวนการนี้ใหม่

ผู้สื่อข่าวถามว่า โครงการเรือดำน้ำจะจบในรัฐบาลนี้เลยหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า 6 เดือนก็จบแล้ว มั่นใจว่าจะตัดสินใจได้ ส่วนจะเรียบร้อยหรือไม่สังคมก็ต้องช่วยตรวจสอบ ตนจะไม่ทิ้งไว้ ถ้าทิ้งไว้ก็จะช้าอยู่อย่างนี้ จะเอาหรือไม่เอา จะตัดสินใจหรือไม่ตัดสินใจต้องหาคำตอบมา

ขณะที่ พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) กล่าวถึงความคืบหน้าภายหลัง ทอ.คัดเลือกแบบเครื่องบินขับไล่โจมตีทดแทนเป็น Gripen  E/F จากบริษัท SAABประเทศสวีเดนว่า ขณะนี้ทางไทยและสวีเดนได้ตั้งชุด Special task force กับทางสวีเดน ดูในรายละเอียดหลังจากสภาสวีเดนได้อนุมัติให้เจรจาแล้ว ในข้อตกลงที่จะต้องทำให้ครบถ้วน รวมทั้งในส่วนของการตอบแทนคืนทางเศรษฐกิจ (Offset Policy) ทั้งที่ไดเรกต์และอินไดเรกต์ โดยในส่วนของอินไดเรกต์ก็ได้มีการพูดคุยกันในส่วนของคณะกรรมการเตรียมการแล้ว โดยใช้ พล.อ.อ.คิดควร สดับ ผช.ผบ.ทอ.ฝ่ายกิจการพิเศษดูแลอยู่ โดยไดเรกต์ให้กรมยุทธการทหารอากาศดูแล หลังจากคุยกันจบก็จะจัดทำเป็นร่างข้อตกลงร่วมกัน อาจต้องใช้เวลาตรวจสอบอีกเล็กน้อย และจะมีการแถลงเป็นข้อสรุปในช่วงต้นปี เพื่อนำส่ง รมว.กลาโหมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ และนำเข้า ครม.เพื่อเห็นชอบในการกำหนดแบบ 

ส่วนที่มีการมองกันว่า การเมืองสหรัฐฯ อาจมีผลต่อการเปลี่ยนแบบเครื่องบินจากที่ ทอ.เลือกไว้นั้น พล.อ.อ.พันธ์ภักดีกล่าวว่า เราทำสิ่งที่ถูกต้องที่สุด คุ้มค่าที่สุด และดีที่สุด อีกทั้งกระบวนการเริ่มมานานแล้ว และตอนนี้ถึงขั้นตอนตรวจสอบเอกสาร เพราะเราคัดเลือกตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยทุกฝ่ายรับทราบการดำเนินการ เห็นขั้นตอนของ ทอ.ในการปฏิบัติมาตลอดตามหลักเกณฑ์.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง