ยังไม่พ้นปีเก่าดับ143ศพ เชียงใหม่แชมป์คดีเมาขับ

เข้าสู่วันที่ 3 รณรงค์ขับขี่ปลอดภัย ตายพุ่งก่อนฉลองปีใหม่ 143 ศพ เจ็บระนาวเกือบพันคน ขณะที่ ขับรถเร็ว-เมาแล้วขับยังเป็นปัญหาหลัก เชียงใหม่เมาอื้อบนถนนโดนจับเกือบ 300 คดี ขณะที่ “ทวี” ขันนอตความปลอดภัย สั่งปรับแผนตั้งจุดตรวจเข้มพื้นที่จัดงานปีใหม่ ส่งผู้ถูกคุมความประพฤติทั่วประเทศหนุน จนท. ล้อมคอกเด็กเยาวชน เอาผิดผู้ขายแอลกอฮอล์ยันผู้ปกครอง รัฐบาลเตือนประกันไม่คุ้มครองหากชนแล้วเป่าเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

เมื่อวันจันทร์ เข้าสู่วันที่ 3 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) และความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 29 ธันวาคม 2567 โดยเกิดอุบัติเหตุ 280 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 269 คน ผู้เสียชีวิต 47 ราย

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 38.57 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.21 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 19.29 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.98 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 82.14 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.36 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 31.07

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16.01-17.00 น. ร้อยละ 7.14 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 22.47 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,778 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 50,882 คน โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (12 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่  ลพบุรีและสุราษฎร์ธานี (จังหวัดละ 10 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สกลนคร (4 ราย)

 สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (27-29 ธันวาคม 2567) เกิดอุบัติเหตุรวม 872 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 841 คน ผู้เสียชีวิตรวม 143 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 19 จังหวัด จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (35 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา (32 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (7 ราย)

ด้าน พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ  เปิดเผยข้อมูลสถานการณ์คดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 โดยวันที่ 29 ธ.ค.ซึ่งเป็นวันที่สามของ 10 วันอันตราย (ช่วงควบคุมเข้มระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 67 - 5 ม.ค. 68) มีคดีเข้าสู่กระบวนการคุมความประพฤติเพียง 78 คดี เป็นคดีขับรถขณะเมาสุรา 65 คดี และคดีขับเสพ 13 คดี เนื่องจากเป็นวันที่ศาลปิดทำการ

“โดยยอดสะสมรวม 3 วัน (27-29 ธ.ค. 67) มีคดีเข้าสู่งานคุมประพฤติ 1,763 คดี แบ่งเป็น ขับรถขณะเมาสุรา 1,664 คดี (94.38%), ขับเสพ 95 คดี (5.39%) และขับรถประมาท 4 คดี (0.23%) ซึ่ง จ.เชียงใหม่ มีคดีขับรถขณะเมาสุรามากที่สุด กว่า 288 คดี อันดับสอง จ.สมุทรปราการ 146 คดี และ จ.นนทบุรี 127 คดี” พ.ต.ต.สุริยาระบุ

วันเดียวกัน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2567 เปิดเผยว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงที่หมายแล้ว และเริ่มมีการจัดงานเฉลิมฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่กับครอบครัวและเพื่อนฝูง รวมถึงเฉลิมฉลองกันตามสถานที่จัดงานปีใหม่ ซึ่งอาจเพิ่มปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนจากการดื่มแล้วขับ จึงได้กำชับให้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและต่อเนื่อง "โดยให้ปรับแผนการตั้งจุดตรวจด่านตรวจในบริเวณที่มีการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และดำเนินการอย่างเข้มข้นในการเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงให้ควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี และการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณสถานที่จัดงาน" พ.ต.อ.ทวีระบุ

พ.ต.อ.ทวีระบุว่า นอกจากนี้ให้จังหวัดเข้มงวดเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ โดยเฉพาะกรณีผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปีที่ดื่มแล้วขับ ให้ขยายผลสอบสวนดำเนินคดีไปที่ต้นทาง ทั้งผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ผู้สนับสนุน และผู้ปกครองของผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี  และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบเกี่ยวกับผลของการกระทำผิด และหากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรให้ใช้บทลงโทษสูงสุดตามกฎหมาย เพื่อให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย ตลอดจนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและติดตามการกระทำผิดซ้ำ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติการกระทำผิดเกี่ยวกับการขับขี่รถขณะเมาสุรา หรือการกระทำที่อาจเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยทางถนน

พ.ต.อ.ทวีระบุว่า ทั้งนี้ในส่วนการดำเนินงานของกระทรวงยุติธรรม ได้บูรณาการกำลังร่วมกับเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครคุมประพฤติ และผู้ถูกคุมประพฤติคดีเมาแล้วขับและอื่นๆ กว่า 400,000 คนทั่วประเทศ สนับสนุนการปฏิบัติงานตามจุดบริการประชาชนทั่วประเทศ เน้นย้ำกรณีเด็กและเยาวชนเกิดอุบัติเหตุจากดื่มสุรา ต้องดำเนินคดีกับผู้จำหน่ายด้วย หรือยึดรถจักรยานยนต์หากเสี่ยงกระทำผิด พร้อมเน้นการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

“โดยเฉพาะผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน 4 ฐานความผิด โดยศาลจะมีคำสั่งคุมประพฤติ ประกอบด้วย การขับรถขณะเมาสุรา การขับรถโดยประมาท การขับรถซิ่ง และการขับเสพ โดยตั้งแต่วันที่ 27-29 ธันวาคม 2567 ได้ดำเนินคดีจำนวน 1,763 คดี และติดกำไล EM ผู้กระทำผิดฐานขับรถในขณะเมาสุราจำนวน 4 ราย” พ.ต.อ.ทวีระบุ

 ด้านนายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 กล่าวว่า ในวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ กระทรวงมหาดไทยจึงได้กำชับให้จังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายพลเรือน ตำรวจ  ทหาร และภาคประชาชน ดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์อุบัติเหตุ เพิ่มความเข้มข้นจัดตั้งจุดตรวจของด่านชุมชนในเส้นทางสายรอง เส้นทางเข้าออกชุมชนและหมู่บ้านเพื่อเข้าสู่ถนนสายหลัก

“โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง เพื่อเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่ให้ออกจากพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน ทั้งการดื่มแล้วขับ ขับรถเร็ว ไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย รถจักรยานยนต์ที่มีสภาพไม่ปลอดภัย การขับขี่ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้อื่น ตลอดจนคุมเข้มเส้นทางโดยรอบแหล่งท่องเที่ยว  สถานบันเทิง และสถานที่จัดงานเทศกาลปีใหม่ ให้สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ รวมถึงประชาสัมพันธ์มาตรการลดอุบัติเหตุทางถนน” นายเชษฐาระบุ

ที่ จ.นครศรีธรรมราช นายศรีธรรม ราชแก้ว รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ระบุว่า ได้ขอความร่วมมือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกัน โดยด่านชุมชนบริเวณถนนสายหลัก-สายรอง ขอให้เพิ่มความเข้มข้นสกัด ป้องปรามและตักเตือนกลุ่มเสี่ยงและบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับรถโดยสารสาธารณะ ขอให้กำกับดูแลพนักงานขับรถให้ขับขี่ด้วยความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด และผลัดเปลี่ยนพนักงานขับรถตามระยะทางหรือช่วงเวลาที่กำหนด ตรวจสภาพรถให้มีความพร้อม ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจส่งอาหาร เช่น ไรเดอร์ แกร็บ ขอให้ตรวจสอบใบขับขี่ การทำประกันภัยภาคบังคับและสมัครใจแก่พนักงานในสังกัดด้วย

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การเมาแล้วขับเป็นการกระทำที่ประมาทอย่างมาก บริษัทประกันภัยต่างๆ จะไม่คุ้มครองหากมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่จะมีการจ่ายไปที่คู่กรณีแทน และจะไปเพิ่มเบี้ยกับเจ้าของรถที่มีชื่อในกรมธรรม์แทน

“การเมาแล้วขับนับได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่เป็นอันตรายทั้งกับตัวเองและผู้อื่น และมีโทษตามกฎหมายที่มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการเมาแล้วขับ หากจำเป็นต้องขับรถกลับจริงๆ อาจจะต้องใช้บริการคนขับตามแอปพลิเคชัน ให้คนที่มีสติมาขับแทน หรือพักผ่อนให้สร่างเมาเสียก่อนจะดีกว่า การป้องกันปัญหาด้วยการไม่ดื่มก่อนขับรถคือสิ่งที่ดีที่สุด เพียงเลือกใช้บริการขนส่งสาธารณะหรือเรียกรถแท็กซี่ เท่านี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงได้" นายคารมกล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง