ธปท.จับตาแจกเงินเฟส2-3

“คลัง” ฟุ้งเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ย.โตต่อเนื่อง อานิสงส์ส่งออก-ท่องเที่ยวหนุนเต็มพิกัด   การบริโภคภาคเอกชนส่งสัญญาณดีจากแรงอัดฉีดโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐ “แบงก์ชาติ” ชี้วิจารณ์แจกเงินตามหลักการ ย้ำลงทุนดีกว่าโอนเฉยๆ แต่ยอมรับเฟสแรกกระตุ้นได้ดี ต้องรอจับตาเฟส 2-3   ต่อไป

เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2567 นายพรชัย ฐีระเวช   ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  แถลงถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยประจำเดือน พ.ย. 2567 ว่า เศรษฐกิจไทยยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยมูลค่าการส่งออกสินค้ารวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์อยู่ที่ 25,608.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 8.2% ขณะที่การท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยรวม 3.15 ล้านคน คิดเป็นอัตราการขยายตัวต่อเนื่องจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 19.5%  โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากจีน มาเลเซีย  อินเดีย เกาหลีใต้ และรัสเซีย สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน แต่การบริโภคหมวดสินค้าคงทนในหมวดยานยนต์ยังคงชะลอตัว

“ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน พ.ย.2567  ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 56.9 จากระดับ 56 ในเดือนก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยสนับสนุนจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ และการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่รายได้เกษตรกรที่แท้จริง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 8%”

สำหรับการลงทุนภาคเอกชน มีสัญญาณชะลอตัว โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 5.1 ปริมาณรถยนต์เชิงพาณิชย์จดทะเบียนใหม่ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 20.7% ส่วนภาคการเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 1.3% ตามการเพิ่มขึ้นในหมวดพืชผลสำคัญ อาทิ ข้าว และมันสำปะหลัง เป็นต้น ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 3.6% ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 91.4 จากระดับ 89.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากผู้ประกอบการเร่งผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายในช่วงเทศกาลส่งท้ายปี โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2567 ผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง

ด้านนางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย  (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจและการเงินเดือน พ.ย.2567 ชะลอลงจากเดือนก่อน โดยการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวลดลง 0.4% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ขยายตัวได้ 0.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการบริโภคที่เร่งไปในเดือนก่อนหน้าจากมาตรการโอนเงินภาครัฐ 10,000 บาทในกลุ่มเปราะบาง สอดคล้องกับกิจกรรมในภาคการค้า ด้านการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลงจากทั้งหมวดเครื่องจักรและอุปกรณ์ และหมวดก่อสร้าง ขณะที่การส่งออกในเดือน พ.ย. ขยายตัว 9.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหมวดยานยนต์เพิ่มขึ้นตามการส่งออกรถยนต์นั่งและรถกระบะไปออสเตรเลียและอาเซียน รวมถึงการส่งออกยางล้อไปยังสหรัฐ สำหรับหมวดสินค้าเกษตรแปรรูป เพิ่มขึ้นตามการส่งออกยางสังเคราะห์ไปจีนเป็นสำคัญ ด้านการท่องเที่ยวต่างชาติ พบว่า รายรับลดลงจากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ -2.3% โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้น มาอยู่ที่ 3.2 ล้านคน จากเดือนก่อนหน้าที่ 2.7 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นในหลายสัญชาติ โดยเฉพาะอินเดีย ญี่ปุ่น และจีน ขณะที่นักท่องเที่ยวมาเลเซียลดลงชั่วคราวจากผลของน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ของไทย

“ระยะข้างหน้าคาดว่าเศรษฐกิจไทยยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยว แต่ยังต้องติดตามความต่อเนื่องของภาคการส่งออก ขณะที่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในเดือน ธ.ค.ปรับลดลงจากภาคการผลิตเป็นสำคัญ ขณะที่การแข่งขันในประเทศที่รุนแรงมีสัดส่วนความกังวลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากต้นปี 2567 รวมทั้งยังต้องติดตามผลกระทบจากความไม่แน่นอนของแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ”  นางปราณีกล่าว

น.ส.ปราณียังกล่าวถึงการแสดงความเห็นของ ธปท.ที่มีต่อโครงการของรัฐบาลในการโอนเงิน 10,000 บาทให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในแต่ละเฟส ว่าเป็นการให้ความเห็นไปตามหลักการ เนื่องจากการใช้เงิน ย่อมมีต้นทุนค่าเสียโอกาสในการเลือกดำเนินการหรือไม่ดำเนินการ ซึ่งการให้ความเห็นดังกล่าว เป็นหลักการเปรียบเทียบกับการนำเงินไปใช้ในโครงการแต่ละประเภท เช่น ผลการศึกษาว่า ถ้านำเงินไปใช้จ่ายลงทุน หรือการอุปโภคภาครัฐ Multiplier ต่อเศรษฐกิจ จะมีเยอะกว่าการให้เงินโอนเป็นการพูดโดยหลักการทั่วไป

“ความห่วงกังวลของ ธปท.ในเรื่องภาระการคลังที่เพิ่มขึ้นนั้น เนื่องจากเห็นว่าทรัพยากรมีเหลือไม่มากนัก ดังนั้นหากจะนำเงินไปใช้ในส่วนที่เป็นประโยชน์ และนึกถึงความคุ้มค่า ก็จะช่วยเศรษฐกิจได้ค่อนข้างมาก โดยจากการศึกษาจากโครงการต่างๆ ในอดีต เราเปรียบเทียบประสิทธิผลการใช้เงิน 1 บาท อย่างไหนจะมีผลต่อการคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า ซึ่งจากผลศึกษาพบว่า การนำไปใช้ในการลงทุน การใช้จ่ายภาครัฐ จะมีผลคุ้มค่ามากกว่าที่เป็นเงินโอน” น.ส.ปราณีกล่าว

ผอ.อาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. ระบุอีกว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการโอนเงิน 10,000 บาท ให้ประชาชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายนั้น จะเห็นว่าการโอนเงินในเฟสแรก ที่ให้กลุ่มเปราะบางเมื่อปลายเดือน ก.ย. พบว่ามีผลช่วยกระตุ้นการบริโภคให้เพิ่มขึ้นในเดือน ต.ค. ดังนั้นคงต้องติดตามผลจากการโอนเงินในเฟสต่อไป ทั้งเฟส 2 ที่จะให้แก่ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และเฟส 3 ที่เป็นรูปแบบเงินดิจิทัล ว่าจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทย ที่จะช่วยกระตุ้นด้านการบริโภคและการผลิตได้มากน้อยอย่างไร

ด้านนายสรรเพชญ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า ปัญหาค่าครองชีพที่สูงขึ้นและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มมากขึ้น กำลังสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย รัฐบาลจำเป็นต้องแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา ไม่ใช่เพียงการให้คำสัญญาหรือถ้อยคำที่สวยหรู แต่ต้องปฏิบัติให้เกิดผลที่จับต้องได้ เพราะหลังจากที่มีการประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ก็สามารถขึ้นได้เพียง 2-3 จังหวัด และไม่สามารถขึ้นทั่วประเทศได้อย่างที่รัฐบาลเคยหาเสียงไว้ แต่เมื่อดูที่ราคาสินค้าต่าง ๆ ทั้งเรื่องอุปโภค บริโภค ได้ขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบ

นายสรรเพชญเน้นว่า รัฐบาลควรดำเนินมาตรการเร่งด่วน เช่น การสนับสนุนเงินช่วยเหลือเฉพาะหน้า การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และการกระตุ้นการจ้างงาน และการเสริมสร้างทักษะฝีมือแรงงานที่จำเป็น การส่งเสริมหลักสูตรที่ใช้เวลาเรียนน้อย แต่สามารถสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับประชาชนได้เพื่อให้ประชาชนสามารถฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งหากรัฐบาลสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริง จะไม่ใช่แค่คำพูด แต่จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจและความจริงใจในการยืนเคียงข้างประชาชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีความหวังและความเชื่อมั่นในรัฐบาลมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง