ฉายาสภาเหลี่ยม(จน)ชิน

ถึงคิวสื่อสภา ตั้งฉายา สส. "เหลี่ยม (จน) ชิน" จากการพลิกขั้วรัฐบาลเขี่ย พปชร.ออกด้วยสัญญาณจากนายใหญ่ ตระกูลชินยังหักเหลี่ยมระหว่าง พท.-ภท. สภาสูง “เนวิ (น) เกเตอร์” เครือข่ายสายตรงสีน้ำเงิน มีบ้านใหญ่บุรีรัมย์คอยชี้นำ “วันนอร์” รูทีนตีนตุ๊กแก หนีบเก้าอี้ตัวเองได้ดี ประธานวุฒิฯ “ล็อกมง” เด็กนายที่ล็อกมงให้ ส่วนผู้นำฝ่ายค้านฯ ได้ฉายา  “เท้งเต้ง” ขณะที่ “บิ๊กป้อม-ธิษะณา” คว้าคู่ "ดาวดับ" ไร้ดาวเด่น 3 ปีซ้อน 

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภาเผยแพร่ผลการตั้ง “ฉายาสภา” ซึ่งเป็นธรรมเนียมประจำทุกปี เพื่อสะท้อนความคิดเห็นการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ ทั้ง สส.และ สว.ตลอดปี 2567 ในฐานะที่ติดตามการทำหน้าที่ของ สส.และ สว.มาโดยตลอด ดังนี้

 “สภาผู้แทนราษฎร" ได้รับฉายา "เหลี่ยม (จน) ชิน" ปี 2567 เกิดการพลิกขั้วรัฐบาลเพื่อไทยอีกครั้ง ที่เขี่ยพรรคพลังประชารัฐออกจากพรรคร่วมรัฐบาล และดึงพรรคประชาธิปัตย์เสียบแทน  ซึ่งถือเป็นการพลิกขั้วทางการเมืองครั้งสำคัญ แต่ไม่ปรากฏสาเหตุแน่ชัดในการปรับพรรคพลังประชารัฐพ้นรัฐบาล มีเพียงสัญญาณจากนายใหญ่ตระกูลชินเท่านั้น และยังมีการหักเหลี่ยมกัน ระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคภูมิใจไทย ในการพิจารณาหลักเกณฑ์การประชามติแก้รัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นศึก “อีแอบ” บนเรือรัฐนาวา และยังมีอีกหลายเหลี่ยมที่เกิดขึ้นในสภา  ทั้ง พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหม หรือแม้แต่รายงานนิรโทษกรรม ที่เปลี่ยนใจตอนท้าย

"วุฒิสภา" ได้รับฉายา "เนวิ (น) เกเตอร์" กติกาการเลือกวุฒิสภาที่ซับซ้อนไม่หมู แต่กลายเป็น “กติกาหนูๆ” เห็นได้จากผลการลงมติอย่างสม่ำเสมอของ สว.ในเรื่องต่างๆ ที่จะเกาะกลุ่ม 150-160 เสียง ซึ่งถูกมองเป็นเครือข่ายสายตรงพรรคการเมืองสีน้ำเงิน สะท้อนให้เห็นว่า เบื้องหลังการลงมติ มีบ้านใหญ่บุรีรัมย์เป็น “เนวิเกเตอร์” ชี้นำอยู่เบื้องหลัง

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ได้รับฉายา "รูทีนตีนตุ๊กแก" นอกจากนายวันมูหะมัดนอร์ จะสามารถปฏิบัติหน้าที่งานรูทีนของตนเองได้เป็นอย่างดีแล้ว แต่ก็ยังสามารถหนีบเก้าอี้ของตัวเองได้ดียิ่งกว่า หลังกระแสข่าวการแลกเก้าอี้ประธานสภาฯ กับเก้าอี้รัฐมนตรี หรือกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยทวงคืนบัลลังก์สะพัด แต่นายวันมูหะมัดนอร์ก็ยังสามารถรับมือ หนีบเก้าอี้ตัวนี้ไว้ได้อย่างเหนียวแน่นหนึบ และใครก็ไม่สามารถเปลี่ยนตัวประธานสภาฯ ได้ เว้นแต่ตนปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้แล้ว

นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ได้รับฉายา "ล็อกมง" “ล็อกมงคล” มาตั้งแต่ไก่โห่ หลังมีกระแสข่าวค่ายน้ำเงินล็อก “มงคล” เป็นประธานวุฒิสภา และวุฒิสภายังเทคะแนนให้ “มงคล” ด้วยมติท่วมท้น 159 เสียง จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม หรือเป็นเด็กนายที่ล็อกมงมาแต่แรก เพราะประมุขสภาสูงที่ผ่านมามักมีโปรโฟล์ด้านกฎหมายแกร่งกล้า เนื่องจากต้องเป็นหัวเรือใหญ่ในการกรองกฎหมาย ทว่า “นายมงคล” กลับมาจากสายปกครอง ไม่ใช่สายนิติศาสตร์ ซึ่งหากขึ้นเวทีประกวดจริง คงค้านสายตาแฟนนางงาม

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านฯ  ได้รับฉายา “เท้งเต้ง” การทำงาน-พฤติกรรมของผู้นำฝ่ายค้านฯ ป้ายแดง ที่ถูกมองว่า ไม่โดดเด่นเท่าลูกพรรคหลายคน “ดูเคว้งเท้งเต้ง” ซ้ำยังเหมือนฝ่ายค้านพรรคเดียว แม้จะ “มีลุง” มาเสริมทัพ กลับไร้แนวร่วม เป็นฝ่ายค้านโดดเดี่ยวที่ไม่โดดเด่น จนถูกปรามาสสภาฯ ไร้ฝ่ายค้าน  ประกอบกับบทบาทหัวหน้าพรรคมือใหม่ ที่ขาดเสน่ห์ ไร้บารมีผู้นำ ถูกเทียบชั้นกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล หนำซ้ำป้ายหาเสียง อบจ.ยังมีแต่ภาพนายพิธา ซึ่งเป็นผู้ช่วยหาเสียงมากกว่ารูป “หัวหน้าเท้ง” ซะอีก จึงเป็น “เท้งเต้ง” ลอยไปลอยมา

'บิ๊กป้อม-ธิษะณา' 2 ดาวดับแห่งปี

"ดาวเด่น" ในปี 2567 นี้ สื่อมวลชนประจำรัฐสภาเห็นว่า "ไม่มีผู้ใดเหมาะสม" และโดดเด่นเพียงพอที่จะได้รับตำแหน่งนี้ ซึ่งเป็นปีที่ 3 แล้วที่ฝ่ายนิติบัญญัติขาดดาวเด่น

"ดาวดับ" ในปี 2567 มีผู้ได้รับตำแหน่งนี้ 2 คน ได้แก่ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ” และ “น.ส.ธิษะณา ชุณหะวัณ สส.กรุงเทพฯ พรรคประชาชน”

“พล.อ.ประวิตร” จากพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ มากบารมี หัวกระไดบ้านป่าไม่เคยแห้ง กลายเป็นหมดราศี เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ทั้งถูกร้องจริยธรรมโดดประชุม 84 ครั้ง จากนัดประชุม 95 ครั้ง มาเซ็นชื่อแล้วก็ชิ่ง สะท้อนการขาดความรับผิดชอบในหน้าที่พื้นฐานที่ต้องเข้าร่วมประชุม จึงเรียกได้ว่า ไม่ทำงานจนดับ หนำซ้ำยังถูกขับออกจากพรรคร่วมรัฐบาล

“น.ส.ธิษะณา” หลานปู่อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 17 ของไทย แม้พรรคประชาชนจะผลักดันการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ แต่กลับสวนทางกับผลงาน เพราะฟังการอภิปรายแล้วต้องอ้าปากค้าง ทั้งอ่านตัวเลขผิด และยังอินกับสิทธิเสรีภาพเกินเบอร์ ถึงขนาดให้รัฐบาลรับรองสิทธิชาวเมียนมาหนีสงคราม จนถูกโซเชียลหัวคะแนนออร์แกนิกของพรรค ทับถมเป็น #พรรคประชาชนพม่า  และถูกแซวว่า เป็น สส.ราชเทวี หรือหงสาวดีกันแน่? จึงสะท้อนว่า แม้พรรคจะสนับสนุนมาก แต่เจ้าตัวกลับดับโอกาสนั้นเอง

 “วาทะแห่งปี 2567" ได้แก่ "..ทำให้คนไทย มีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี.." โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวในการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 ถือเป็นคำมั่นสัญญาสำคัญที่นายกรัฐมนตรีได้ให้ไว้ต่อประชาชนผ่านสมาชิกรัฐสภา  ก็ยังคงเป็นที่ติดหู ติดปากประชาชน ตั้งแต่เวทีการหาเสียงของพรรคเพื่อไทย

 “เหตุการณ์แห่งปี 2567” ได้แก่ "พรรคเพื่อไทย" เทียบเชิญ "พรรคประชาธิปัตย์" เข้าร่วมรัฐบาล 28 สิงหาคม 2567 ที่รัฐสภา ถือเป็นการปิดตำนานความขัดแย้งยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ ระหว่าง 2 พรรคการเมืองใหญ่ที่ขับเคี่ยวทางการเมืองกันมาโดยตลอด ซ้ำยังกลืนอุดมการณ์พรรคที่ยึดถือมาเกือบ 80 ปี

คู่กัดแห่งปี ได้แก่ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 และ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย หลังมีข่าวกินแหนงแคลงใจกัน แม้จะอยู่พรรคเดียวกัน เพราะเมื่อ นพ.ชลน่านพ้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีกระแสข่าวพรรคเพื่อไทยเตรียมดันขึ้นตำแหน่งประธานสภาฯ แต่นายวันมูหะมัดนอร์กลับกอดเก้าอี้ไว้แน่น จึงต้องเล็งมาที่เก้าอี้นายพิเชษฐ์ และเป็นที่น่าสังเกตว่า ทุกครั้งที่นายพิเชษฐ์ทำหน้าที่ควบคุมการประชุม นพ.ชลน่านก็มักจะขึ้นมาอภิปรายและปะทะคารมกันบ่อยครั้ง (รายละเอียดหน้า 4)

'เท้งเต้ง' ลั่นซักฟอกไม่เบาแน่

ด้านนายมงคล สุระสัจจะ กล่าวถึงฉายา “ล็อกมง” ว่า รู้สึกขอบคุณนะที่น้องๆ ยังคิดถึงอยู่ ไม่ได้คิดอะไร น้องๆ หยอกเล่นมั่ง อะไรมั่ง ก็ถือว่าเราเป็นบุคคลสาธารณะครับ น้องๆ นึกถึงก็หยอกเย้าเล่น ถือเป็นสิ่งที่ดี ตนยังตั้งใจทำงานเหมือนเดิม เพราะการดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาเป็นบทบาทที่ตั้งใจ ก็จะตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ทำหน้าที่ในการประชุมให้ดีที่สุด เราต้องทำให้สภาแห่งนี้เป็นสภาที่เป็นของประชาชน เป็นของทุกคน

นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ กล่าวถึงฉายา 'เท้งเต้ง' ว่า พรรคประชาชนไม่เคยคิดว่าถูกให้โดดเดี่ยว เราพร้อมทำงานร่วมกับทุกพรรคในการเสนอกฎหมายที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เราพร้อมที่จะสนับสนุน ขณะเดียวกัน ก็ไม่ทิ้งเรื่องการตรวจสอบ ในต้นปี 2568 จะมีการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจตรวจสอบรัฐบาลอย่างเข้มข้นแน่นอน ยืนยันว่าที่ผ่านมามีทิศทางและมีผลงานที่ชัดเจน สำหรับความเป็นห่วงเรื่องกระแสนิยม ที่มีการเปรียบเทียบกับนายพิธา ไม่มีความเป็นห่วงแต่อย่างใด กระแสความนิยมมีขึ้นมีลงเป็นธรรมดา สนามเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะถึงในวันที่ 1 ก.พ.2568 จะเป็นอีกหนึ่งสนามที่พรรคประชาชนได้พิสูจน์ให้เห็น และไม่รู้สึกน้อยใจ ได้จิตกำลังใจเต็มที่ ส่วนการตรวจสอบหรือการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ไม่เบาแน่นอน ฝ่ายค้านทำงานสร้างสรรค์เชิงรุก มีข้อเสนอกฎหมายมากที่สุดในรัฐสภา ร่างกฎหมายอื่นที่มีประโยชน์ต่อประชาชน เราก็พร้อมที่จะโหวตให้

นายบัญญัติ บรรทัดฐาน สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงฉายา “เหลี่ยม (จน) ชิน" ว่า ตรงกับที่ตนวิเคราะห์แล้วว่ารัฐบาลนี้ก็อยู่ด้วยการช่วงชิงกันมาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว และเห็นคนที่ถูกตั้งก็ยอมรับกันหมด ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา คนเป็นนักการเมืองก็ต้องยอมรับว่าสื่อก็คือกระจกที่จะส่องตัวเราเอง ให้เรารู้ว่าคนอื่นเขามองเราอย่างไร ส่วนเหตุการณ์แห่งปี ที่พรรคเพื่อไทยเทียบเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาล เป็นเรื่องธรรมดา ใช่ว่าจะเห็นด้วยทั้งหมด แต่หลักของเราคือเมื่อเสียงข้างมากเขาคิดว่าจะไปร่วมรัฐบาล เพื่อที่จะสร้างผลงาน ได้ใช้อำนาจรัฐนั้นไปแก้ปัญหาประชาชน เขาก็อยากจะลองดูตรงนั้น ก็ว่ากันไป

เมื่อถามว่า เหตุการณ์แห่งปี ก็ไปพ้องกับฉายาของสื่อทำเนียบรัฐบาลที่ให้ว่า "ประชาธิเป๋"  นายบัญญัติกล่าวว่า ก็ไม่มีปัญหาอะไร เป็นการพูดเล่นกันไม่ใช่หรือ ว่าในยามที่สุขภาพยังไม่ดีก็เป๋กันอยู่บ้าง แต่สักพักก็คงแข็งแรงขึ้น ก็คงยืนตรงมากขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง