นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน เคาะ กพช.ขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม รับซื้อไม่เกิน 2 ปี ด้านสภาองค์กรผู้บริโภคขีดเส้นโละสัญญาทิ้ง อัดอย่าทำนาบนหลังคน ขูดรีดทำค่าไฟแพงเกินเหตุ 6.5 หมื่นล้านบาท ปชช.ต้องแบกสัญญาทาส 25 ปี
เมื่อวันพุธ การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เปิดเผยว่า ได้มีการพิจารณาขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า และการขยายอายุการเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 โดยที่ประชุมได้มีมติดังต่อไปนี้ 1.เห็นชอบการขยายมาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่ม โดยรับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และ/หรือผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) จากสัญญาเดิม และนอกเหนือจากกลุ่มสัญญาเดิม รับซื้อพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมจากผู้ผลิตไฟฟ้าที่มีโรงไฟฟ้าอยู่แล้ว ไม่มีการลงทุนใหม่ และมีความพร้อมในการจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือการไฟฟ้านครหลวง สามารถรองรับได้ โดยเป็นการรับซื้อไม่เกิน 2 ปี (สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2569) ในรูปแบบสัญญา Non-Firm ทั้งนี้ กำหนดเงื่อนไขให้สิทธิ์แก่การไฟฟ้าสามารถบอกเลิกสัญญาได้ หากพบข้อจำกัดด้านศักยภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Grid Capacity)
นายพีระพันธุ์ระบุว่า โดยมีอัตรารับซื้อไฟฟ้า ดังนี้ (1) กรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (ประเภทเชื้อเพลิงชีวมวล ก๊าซชีวภาพ และขยะ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 2.20 บาทต่อหน่วย (2) กรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า (2.1) ประเภทพลังงานแสงอาทิตย์ (แบบติดตั้งบนหลังคา แบบติดตั้งบนพื้นดิน แบบทุ่นลอยน้ำ) อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 1.00 บาทต่อหน่วย (2.2) ประเภทพลังงานลม อัตรารับซื้อไฟฟ้า เท่ากับ 0.50 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ อัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเพิ่มจากสัญญาเดิมจะมีอัตรารับซื้อไฟฟ้าไม่เกินกว่าอัตรารับซื้อไฟฟ้าในสัญญาเดิม และที่ประชุมมอบหมายให้ กกพ.พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
"ประโยชน์จากการขยายกรอบเวลาการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนส่วนเพิ่มนี้ นอกจากจะช่วยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแล้ว ยังเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้ และช่วยลดการนำเข้า Spot LNG ลดภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าอีกด้วย” นายพีระพันธุ์ระบุ
นายพีระพันธุ์กล่าวด้วยว่า 2.เห็นชอบการขยายเวลามาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ระยะสั้น 1 ปี จำนวน 20 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568 ในอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามโครงสร้างสัญญาปัจจุบัน และที่ประชุมมอบหมายให้ กฟผ.ดำเนินการจัดทำข้อตกลงเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรับซื้อไฟฟ้าโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติม ทั้งนี้ การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการเทินหินบุนเพิ่มเติมระยะสั้นนี้ ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบไฟฟ้า อีกทั้งยังสามารถลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศ และยังจะช่วยลดปริมาณการใช้ก๊าซธรรมชาติที่มีสถานการณ์ราคาผันผวนได้อีกด้วย
นายพีระพันธุ์ระบุด้วยว่า 3.เห็นชอบการขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมน้ำพอง ชุดที่ 1 และ 2 ระยะเวลา 1 ปี (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568) ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าน้ำพองถือเป็นโรงไฟฟ้าหลักในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูก การขยายอายุการเดินเครื่องของโรงไฟฟ้ายังเป็นการช่วยลดการนำเข้า Spot LNG ซึ่งเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศ ทั้งนี้ ที่ประชุมมอบหมายให้ กฟผ.และ กกพ. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 4.เห็นชอบแนวทาง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายเงินกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ.2568
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า นอกจากนี้ ตามที่ได้มีกระแสข่าวเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 ว่าสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in-Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567 นั้น ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยกับประชาชนเรื่องความถูกต้องของกระบวนการ และวิธีการดำเนินงานรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนดังกล่าว และเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและราชการ
"ที่ประชุมจึงได้มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565-2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่ กพช.ได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง" นายพีระพันธุ์กล่าว
นายพีระพันธุ์กล่าวว่า ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. และให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวได้ ทั้งนี้ มอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ กกพ. และ 3 การไฟฟ้าทราบมติ กพช.ต่อไป
ด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม สภาผู้บริโภค กล่าวว่า กำหนดลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในวันที่ 30 ธันวาคมนี้ ซึ่งมองว่าเป็นการดำเนินการที่รีบร้อนมากเกินไป เอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค วิธีการดังกล่าว เมื่อคำนวณแล้วจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจากโครงการนี้แพงกว่าที่ควรจะเป็น
"โดยตลอดอายุสัญญา 25 ปี และหากสมมุติว่ามีการขายไฟฟ้าจริงในปี 2568 จะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าจากโครงการนี้สูงถึง 65,504 ล้านบาท ทั้งๆ ที่นับวันเทคโนโลยีได้รับการพัฒนา ดังนั้นพลังงานจากแสงอาทิตย์จะมีต้นทุนต่ำลงทุกปี จึงเรียกร้องขอให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. สั่งการให้ยุติการทำสัญญาในวันที่ 30 ธ.ค. และอยากฝากว่า กรุณาอย่าทำนาบนหลังคาค่าไฟแพง ที่เป็นภาระของประชาชน" น.ส.รสนากล่าว
ที่รัฐสภา นายพีระพันธุ์ และนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ ร่วมแถลงข่าวกรณีปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป ซึ่งจะมีการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่สภาในช่วงบ่ายวันนี้ โดยระบุว่าจะทำร่างกฎหมายนี้ให้เสร็จ พร้อมยื่นร่างก่อนปีใหม่
"พรรครวมไทยสร้างชาติได้ยกร่างกฎหมายที่ไม่เคยมีในประเทศไทย คือเรื่องการสนับสนุนส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์เข้าสภา กฎหมายฉบับนี้จะทำให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานไฟฟ้าถูกลง และติดตั้งได้ง่ายขึ้น รวมถึงทำตามนโยบายรัฐบาล ประชาชนจะได้ประโยชน์เต็มที่ในการติดตั้งโซลาร์และลดค่าใช้จ่าย รวมไปถึงทำให้เกิดอาชีพใหม่และสร้างรายได้ ซึ่งจะมีการจัดอบรมให้ประชาชนที่สนใจจะประกอบอาชีพ เรื่องการติดตั้งโซลาร์รูฟทั้งประเทศ และเมื่อกฎหมายฉบับนี้ออกมา จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถลดภาระค่าใช้จ่ายเรื่องพลังงานไฟฟ้า และต้นทุนการผลิตก็จะลดลง จะสามารถทำให้ลดราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องได้" นายพีระพันธุ์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เจ้าคุณโซลาร์เซลล์' มองอีกด้าน! 'พีระพันธุ์-รทสช.' ยื่นร่างกม.ปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป
พระปัญญาวชิรโมลี (นพพร ธีรปญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดป่าศรีแสงธรรม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ผู้ก่อตั้งโรงเรียนศรีแสงธรรม หรือ โรงเรียนเสียดายแดด พระนักพัฒนาที่ได้นำความรู้จากการศึกษาโซลาร์เซลล์
กฤษฎีกาเอกฉันท์โต้งหมดสิทธิ์
กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ"
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
'พีระพันธุ์' นั่งหัวโต๊ะ กพช. สั่งชะลอรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,668 เมกะวัตต์
การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้รับมอบหมายจาก นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน