กฤษฎีกามติเอกฉันท์ "กิตติรัตน์" ขาดคุณสมบัติ หมดสิทธิ์นั่ง "ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ" คลังยังรอผลประชุม จ่อเดินหน้าสรรหาคนใหม่ "เผ่าภูมิ" แจงคลัง-ธปท.ต้องประสานดันเงินเฟ้อปี 68 ค่ากลางที่ 2% บี้คุมค่าบาท ยันไม่มีคิดล้วงทุนสำรองกระตุ้นเศรษฐกิจ
จากกรณีนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ระบุว่าวันที่ 25 ธ.ค. มีการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีการ่วม 3 คณะ คือ คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) และคณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ) เพื่อหาข้อสรุปกรณีสำนักงานเศรษฐกิจการคลังขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) โดยถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ คือ ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อยนั้น
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม เวลา 13.30 น. นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ข่าวดี กรรมการกฤษฎีกา 3 คณะ มติเอกฉันท์ นายกิตติรัตน์ขาดคุณสมบัตินั่งประธานบอร์ด ธปท. ต้องขอบคุณคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 3 ชุดช่วยสร้างบรรทัดฐานกฎหมาย มิให้นักการเมืองตะแบงตีความอีก ที่นายกิตติรัตน์ดำรงตำแหน่งอยู่ในรัฐบาลเศรษฐาจนถึงวันที่ 14 พ.ค.67 ตะแบงอ้างว่า ไม่ใช่คุณสมบัติที่ต้องห้าม ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย
แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกฤษฎีกายืนยันว่า มีมติเอกฉันท์ว่านายกิตติรัตน์ขาดคุณสมบัติ ไม่สามารถดำรงตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ซึ่งถือว่าเป็นตำแหน่งทางการเมือง
สำหรับรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของคณะต่างๆ นั้น ประกอบด้วย คณะที่ 1 (กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง) คือ 1.นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานรัฐสภา ประธานกรรมการ 2.นายอาษา เมฆสวรรค์ อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย 3.นายอารีย์ วงศ์อารยะ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย 4.นายปรีชา วัชราภัย อดีตเลขาธิการ ก.พ. 5.นายสุรชัย ภู่ประเสริฐ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 6.นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา 7.นายดิสทัต โหตระกิตย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 8.นายทศพร ศิริสัมพันธ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) 9.ม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์ อดีตรองประธานศาลฎีกา และ 10.นายกฤษฎา บุญราช อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย
คณะที่ 2 (กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน) ประกอบด้วย 1.นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ อดีตปลัดกระทรวงวัฒนธรรม 3.นายอัชพร จารุจินดา อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา 4.นางโฉมศรี อารยะศิริ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี 5.นายดิเรก อิงคนินันท์ อดีตประธานศาลฎีกา 6.ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อดีตอัยการสูงสุด 7.นายมนัส แจ่มเวหา อดีตอธิบดีกรมบัญชีกลาง 8.นายประพันธ์ นัยโกวิท อดีตรองอัยการสูงสุด 9.นางพงษ์สวาท นีละโยธิน อดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และ 10.นายนพดล เฮงเจริญ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด
คณะที่ 13 (กฎหมายเกี่ยวกัยการบรหารจัดการภาครัฐ) ประกอบด้วย 1.นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ประธานกรรมการ 2.นายสุเทพ เจตนาการณ์กุล อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา 3.พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด อดีตที่ปรึกษา (สบ 10) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 4.นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5.นายกำชัย จงจักรพันธ์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.นางเบญจวรรณ สร่างนิทร อดีตเลขาธิการ ก.พ. 7.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ อดีตประธานศาลฎีกา 8.พล.ร.อ.ปรีชาญ จามเจริญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ 9.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง อดีตจเรตำรวจแห่งชาติ และ 10.นายนัฑ ผาสุข อดีตเลขาธิการวุฒิสภา
คลังจ่อสรรหาคนใหม่
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยังไม่ได้รับรายงานผลการประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา เดี๋ยวคงได้ ขอรอดูก่อน
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า กระทรวงการคลังยังไม่ได้รับหนังสือตอบกลับอย่างเป็นทางการจากกฤษฎีกา ดังนั้นจึงยังไม่รู้ว่าคำตอบที่แท้จริงของประเด็นนี้เป็นอย่างไร เห็นตามสิ่งที่ออกตามหน้าสื่อต่างๆ เท่านั้น จึงให้คำตอบไม่ได้จริงๆ ส่วนคำตอบที่แท้จริงจะได้ต่อเมื่อกระทรวงการคลังได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากกฤษฎีกาเท่านั้น ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า กระทรวงการคลังต้องมีการเตรียมรายชื่อสำรองหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ อยากให้รอคำตอบจากกฤษฎีกาก่อนดีกว่า หลังจากนั้นจึงจะรู้ว่าควรจะเดินต่อไปอย่างไร และหากต้องมีการเสนอรายชื่อใหม่ต้องมานั่งคุยกันในหลายภาคส่วนว่าคุณสมบัติควรเป็นอย่างไร
นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ยังไม่ทราบว่าผลจะออกมาอย่างไร ซึ่งเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกามีความเห็นออกมาแล้ว จะต้องทำหนังสือตอบกลับมาที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง ขณะนี้กฤษฎีกายังไม่ตอบกลับมา อย่างไรก็ตาม การขอความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นเรื่องการดำรงตำแหน่ง “ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี” ถือเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ อันเนื่องมาจากนายกิตติรัตน์เคยดำรงตำแหน่งดังกล่าวในสมัยรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น จะทำให้เกิดเป็นบรรทัดฐานที่ชัดเจนสำหรับการเสนอชื่อผู้ที่จะมาเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนต่อๆ ไป ว่าจะต้องไม่เป็นบุคคลที่เคยมีตำแหน่งทางการเมือง เพราะก่อนหน้านี้ เข้าใจกันมาตลอดว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ได้ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง
ทั้งนี้ หากในท้ายสุดคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ความเห็นว่าตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งจะมีผลให้นายกิตติรัตน์ จะต้องขาดคุณสมบัติในการเป็นประธานบอร์ด ธปท. ตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ธปท.นั้น คณะกรรมการคัดเลือกประธานบอร์ด ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน ไม่ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายจากการคัดเลือกบุคคลดังกล่าว เพราะยังแค่อยู่ในขั้นตอนของการคัดเลือกบุคคล ซึ่งยังไปไม่ถึงขั้นตอนการโปรดเกล้าฯ หรือขั้นตอนการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ
“หากสถานการณ์ออกมาในแนวทางนี้ กระทรวงการคลังจะต้องเสนอรายชื่อบุคคลเข้าไปใหม่อีกครั้ง โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ ชุดที่นายสถิตย์เป็นประธาน จะยังต้องทำหน้าที่ในการคัดเลือกต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการ” ปลัดกระทรวงการคลังระบุ
อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ยังไม่มีประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนนายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระไปตั้งแต่เดือน ก.ย.2567 นั้น จะไม่มีผลกระทบต่อการประชุมบอร์ด ธปท.ให้ต้องสะดุดลง หรือไม่สามารถประชุมได้ เพราะใน พ.ร.บ.ธปท. ระบุให้รองประธานบอร์ด ธปท. ซึ่งหมายถึงผู้ว่าการ ธปท.โดยตำแหน่ง สามารถทำหน้าที่แทนได้ในระหว่างที่ยังไม่มีประธานบอร์ด ธปท.
จับมือดันเงินเฟ้อ
วันเดียวกัน นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการกำหนดเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน (กรอบเงินเฟ้อ) ปี 2568 โดยยังคงเป้าหมายเงินเฟ้อขยายตัวอยู่ในกรอบ 1-3% โดยได้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และ ธปท. ว่าจะต้องใช้กลไกในการดูแลเศรษฐกิจเพื่อช่วยทำให้เงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในค่ากลางที่ระดับ 2% ว่า เป็นเรื่องที่คลังและ ธปท. จะต้องช่วยกัน
ทั้งนี้ ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อนั้น นโยบายการคลังมีหน้าที่ดูว่าเศรษฐกิจฝืด หรือมีทิศทางเป็นอย่างไร และต้องเข้าไปกระตุ้นด้วยมาตรการทางการคลัง ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าภาคการคลังมีพื้นที่จำกัด ขณะที่มาตรการด้านการเงินต้องพิจารณาผ่านเรื่องอัตราดอกเบี้ย เพราะมีผลกระทบโดยตรงกับอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นทั้ง 2 ขาจึงต้องทำงานร่วมกัน จะเหยียบคันเร่งหรือเหยียบเบรกต้องพิจารณาร่วมกัน
“ที่ผ่านมาการประสานระหว่างนโยบายการเงินและการคลังดีขึ้น หลังจากที่เรามีการพูดคุยกันมากขึ้น มีการจูนภาพทางเศรษฐกิจให้ตรงกันมากขึ้น ทำให้มุมมองต่อเศรษฐกิจ และการมองความจำเป็นในการกระตุ้นเศรษฐกิจตรงกันมากขึ้น สะท้อนจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่ผ่านมา ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อนั้น การทำให้ค่ากลางขึ้นไปแตะที่ 2% น่าจะเป็นไปได้ เพราะยังเชื่อว่าปีหน้าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้น ก็จะทำให้อัตราเงินเฟ้อวิ่งขยับขึ้นมาพอสมควร ขณะที่มาตรการด้านการคลังจะมีเม็ดเงินก้อนใหญ่อัดฉีดเข้าระบบเศรษฐกิจ ก็เชื่อว่าจะช่วยทำให้ตัวเลขเศรษฐกิจในมิติต่างๆ ค่อยๆ ดีขึ้น ทั้งหมดคือความพยายามที่จะช่วยทำให้อัตราเงินเฟ้อวิ่งขึ้นไปแตะค่ากลาง” นายเผ่าภูมิกล่าว
สำหรับการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบผ่านมาตรการด้านการคลังนั้น รมช.การคลังระบุว่า การดำเนินการจะต้องพิจารณาตามภาวะเศรษฐกิจ ดูเรื่องความเหมาะสมของเวลา เนื่องจากรัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ดังนั้นก็อาจจะต้องเปลี่ยนจากการกระตุ้นมาเป็นการรักษาโมเมนตัมทางเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินการจะต้องดูว่าช่วงไหนจะปรับ ช่วงไหนจะชะลอ ต้องดูความเหมาะสมในการใส่เม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจเป็นหลัก
โดยในปี 2568 ไม่เพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และโครงการ Easy E-Receipt แล้ว ยังมีมาตรการอื่นๆ อีก โดยเฉพาะเรื่องการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ เช่น การมุ่งสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการเงิน ผ่าน พ.ร.บ.ศูนย์กลางทางการเงิน ซึ่งจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนก้อนใหญ่จากธุรกิจการเงินระหว่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทย ซึ่งคาดว่าจะสามารถเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ไม่เกินเดือน ก.พ.2568
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ธปท.ที่จะต้องพิจารณาใน 2 เรื่องหลัก คือ 1.อัตราแลกเปลี่ยนต้องอยู่ในระดับที่เหมาะสม สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับคู่ค้าและคู่แข่ง และ 2.ต้องไม่ผันผวน ฉวัดเฉวียนจนเกินไป เพราะจะทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถวางแผนในการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนได้ ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนของไทยดีขึ้นจากช่วงที่ผ่านมาพอสมควร เพราะที่ผ่านมาเคยลงไปที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตอนนั้นถือว่าแย่เลย อยู่ในจุดที่มีปัญหา แต่ตอนนี้สถานการณ์ดีขึ้น ส่วนถามว่าจะดีขึ้นจนอยู่ในระดับที่แข่งขันได้เลยหรือไม่ คงพูดวันนี้ไม่ถูก เพราะต้องดูไดนามิกของปัจจัยต่างๆ ประกอบด้วยว่าในขณะนั้นอัตราแลกเปลี่ยนควรจะอยู่ที่ระดับไหน
อย่างไรก็ดี กรณีที่มีกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมจะล้วงทุนสำรองของประเทศออกมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น รมช.การคลังยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยมีแนวคิดที่จะนำทุนสำรองของประเทศออกมาใช้ เรื่องนี้ยังไม่เคยมีการพิจารณา ไม่เคยมีการหารือ และไม่มีแนวคิดอย่างแน่นอน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อิ๊งค์สนอง‘พ่อแม้ว’ ลุยปราบแก๊งโกงล้างบางมาเฟีย/โต้สนธิปั่นMOU44ลงถนน
"นายกฯ อิ๊งค์" โชว์ภาพแฟ้มกองโตเต็มโต๊ะส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่
เปิดศูนย์ปีใหม่ 10วันอันตราย ดื่ม-ง่วงไม่ขับ
นายกฯ เรียก ผบ.ตร.หารือ ห่วงปีใหม่ ปชช.เดินทางกลับภูมิลำเนาปลอดภัย
30บาทรักษาทุกที่เฟส4 เริ่ม1ม.ค.ลดแออัดรพ.
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.68
ชงปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป มติกพช.ชะลอซื้อพลังงาน
นายกฯ มอบ "พีระพันธุ์" นั่งหัวโต๊ะถก คกก.นโยบายพลังงาน
จี้ 'พิชัย' พ้นเก้าอี้ รมว.คลัง ความผิดสำเร็จ เสนอชื่อ 'กิตติรัตน์' ขาดคุณสมบัติเป็นปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) โพสต์ระบุว่า ไม่รอด กิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติ เป็นประธานบอร์ดแบงค์ชาติ เพราะนั่งที่ปรึกษาของนายกฯ
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ