กฤษฎีการอชี้ขาดคุณสมบัติ “กิตติรัตน์” 25 ธ.ค.นี้ เผยมี 2 ปมต้องเคลียร์ให้ชัด “ที่ปรึกษาของนายกฯ-ประธานแก้หนี้รายย่อย” แพทองโพยโยนเป็นเรื่องกระบวนการ “ขุนคลัง” รับจะเร่งสางให้จบ “เดอะโต้ง” รับสภาพบอกอาสามาทำเพื่อชาติแล้ว “เชาว์” บี้เช็กบิลย้อนหลัง
เมื่อวันอังคารที่ 24 ธันวาคม 2567 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบคุณสมบัตินายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในการดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า กฤษฎีกายังอยู่ระหว่างหารือ และยังไม่มีข้อสรุปใดๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยคาดว่าจะนัดประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 25 ธ.ค.นี้เพื่อหาข้อสรุป ซึ่งที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้ทำหนังสือสอบถามมายังกฤษฎีกาเพื่อขอหารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแต่งตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ โดยสำนักงานได้นำเข้าหารือในคณะกรรมการร่วม 3 คณะ คือ คณะที่ 1 กฎหมายเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง, คณะที่ 2 กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน และคณะที่ 13 กฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการภาครัฐ เพราะกรณีนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ
“ไม่รู้ว่ามีข่าวออกมาได้อย่างไรว่ากฤษฎีกามีมติแล้ว เพราะคณะกรรมการร่วมยังนัดประชุมกันในช่วงเช้าวันนี้ และคงไม่น่ามีรั่วออกมาจากในห้องประชุมเด็ดขาด และจะนัดประชุมกันอีกในวันพรุ่งนี้ก็น่าเสร็จสิ้น ซึ่งสำนักงานจะพยายามทำให้เร็วก่อนสิ้นปีนี้” นายปกรณ์กล่าว
นายปกรณ์กล่าวว่า ประเด็นสำคัญที่กฤษฎีกาจะพิจารณานั้น กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือสอบถาม 2 ประเด็นเกี่ยวกับการดำรงตำแหน่งของนายกิตติรัตน์ว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ คือตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งประธานคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย ซึ่งตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยตั้งตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 ซึ่งต้องไปดูว่ามีพฤติกรรมหรือการกระทำอะไรที่มีลักษณะยุ่งเกี่ยวกับทางนโยบายหรือไม่ แต่โดยทั่วไปตำแหน่งที่ปรึกษาของนายกฯ เรียกง่ายๆ ว่ามีไว้แค่พิมพ์นามบัตรเฉยๆ
เมื่อถามถึงกรณีตีความว่าเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ นายปกรณ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องคือข้าราชการการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งแตกต่างกัน โดยข้าราชการการเมืองเป็นการเมืองแน่ๆ อยู่แล้ว ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือผู้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย แต่ถ้าเป็นที่ปรึกษาของทั่วไปก็ต้องพิจารณารายละเอียด และต้องตีความอีกครั้งว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่
เมื่อถามว่า ตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกฯ จะเป็นตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ เลขาฯ กฤษฎีกากล่าวว่า ต้องไปพิจารณาว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ โดยส่วนตัวต้องไปดูถึงการทำงานด้วยว่าเป็นอย่างไร ซึ่งต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติมนอกเหนือไปจากถ้อยคำที่เขียนไว้
“เมื่อกระทรวงการคลังถามเข้ามา กฤษฎีกาก็ตอบตามคำถามที่ถามมาว่าตำแหน่งทั้งสองนี้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือไม่ ซึ่งต้องถามผู้แทนในห้องประชุมก่อนว่าเป็นอย่างไร แต่ทั้งหมดต้องสรุปให้เร็ว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา เพราะอาจจะทำให้มีปัญหาต่อเนื่องไปถึงแบงก์ชาติได้” เลขาฯ กฤษฎีกากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ และ รมว.การคลัง ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 พ.ย.2566 โดยมีนายกิตติรัตน์ ในฐานะประธานที่ปรึกษาของนายกฯ เป็นประธาน และมีกรรมการอีก 25 คน รวมเป็น 26 คน ซึ่งมีหน้าที่และอำนาจคือ 1.ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำข้อเสนอแนะในการแก้ไขสถานการณ์หนี้สินของประชาชนรายย่อยเพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สร้างความเป็นธรรม และลดความเหลื่อมล้ำในระยะยาวอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อเสนอนายกฯ พิจารณา 2.บูรณาการและติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขสถานการณ์หนี้สินของประชาชนรายย่อยให้เกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 3.เชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมชี้แจง แสดงความคิดเห็น ส่งเอกสารให้ข้อมูลหรือดำเนินการอื่นที่จำเป็น เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ 4.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือมอบหมายเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม และ 5.ปฏิบัติภารกิจอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่นายกฯ มอบหมาย
นายกฯ โยนเผือกร้อน
ด้าน น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวนายกิตติรัตน์ขาดคุณสมบัติดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่าก็ต้องว่าไปตามกระบวนการ
เมื่อถามต่อว่า จะต้องล้มกระบวนการและมีการสรรหาใหม่หรือไม่ นายกฯ ไม่ได้ตอบคำถามดังกล่าว
ส่วนนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯ และ รมว.การคลัง กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาจะส่งความเห็นไม่วันนี้ก็พรุ่งนี้ ก็คงทราบว่าความเห็นเป็นอย่างไร ซึ่งสมมติว่าไม่ผ่าน ก็คงต้องคุยกัน และต้องรีบเร่งเสนอ เพราะเหลือเพียงตำแหน่งเดียว และเชื่อว่าคณะกรรมการสรรหาก็เตรียมพร้อมอยู่แล้ว
เมื่อถามว่า จำเป็นต้องนำรายชื่อสำรองขึ้นมาพิจารณาเลยหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า จริงๆ แล้วมันก็มีกฎเกณฑ์อยู่ ซึ่งยังเหลือรายชื่อจาก ธปท. ก็ต้องดูว่าองค์ประกอบครบหรือไม่ ถ้าครบก็คงจะได้ ส่วนต้องส่งรายชื่อบุคคลสำรองไปตรวจสอบคุณสมบัติหรือไม่นั้น ก็ต้องดูองค์ประกอบ
เมื่อถามว่า ขณะนี้ต้องให้ประธานคนเก่ารักษาการไปก่อนใช่หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า ได้ข่าวว่าท่านจะลาออก แต่ก็สามารถรักษาอาการไปได้เรื่อยๆ แต่ในกรณีที่ท่านลาออกเราก็ต้องรีบสรรหา ไม่ฉะนั้นจะจัดประชุมไม่ได้ เรื่องนี้จะรีบดำเนินการไม่ให้เสียหาย
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง กล่าวว่า ยังไม่ทราบเกี่ยวกับกรณีนายกิตติรัตน์ แต่เท่าที่ได้พูดคุยกับนายพิชัย ยืนยันว่ายังไม่ได้รับความเห็นของกฤษฎีกาแต่อย่างใด ส่วนรายละเอียดต่างๆ ยังไม่ทราบ แต่มองว่าทุกอย่างต้องเดินหน้าไปตามกระบวนการ เพราะมีกลไกและขั้นตอนรองรับไว้ทั้งหมดแล้ว ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าห่วงหรือน่ากังวลแต่อย่างใด
“เรื่องนี้ยังไม่อยากให้เป็นห่วงอะไร เพราะยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน เรื่องยังไม่เกิด หรือต่อให้เกิดก็ไม่ได้มีประเด็นอะไร ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ โดยตั้งแต่เคสนายเศรษฐาเป็นต้นมา ทุกหน่วยงานก็มีการตรวจสอบคุณสมบัติอย่างเข้มข้นทั้งหมด ตรวจซ้ำตรวจซ้อนหลายครั้ง ดังนั้นกระบวนการของเรื่องนี้ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นตอน ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปคงไม่กล้าตอบ เพราะไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไรเช่นกัน” นายจุลพันธ์ กล่าว
'เดอะโต้ง' รับสภาพ
ขณะที่นายกิตติรัตน์โพสต์เฟซบุ๊กในเรื่องนี้ว่า ในฐานะประชาชนคนหนึ่งไม่มีอะไรค้างคาใจ ได้อาสาทำงานให้ประเทศแล้ว ไม่เคยขลาดกลัวหนีหายเอาตัวรอด กราบขอบพระคุณท่านปลัดกระทรวงการคลังที่เชื่อว่าจะทำหน้าที่ประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดีจนเสนอชื่อเข้าสู่การคัดเลือก และกราบขอบพระคุณกรรมการคัดเลือกเสียงข้างมากที่มีมติคัดเลือก เพื่อนำสู่การพิจารณาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่วนการพิจารณาใดๆ จากขั้นตอนดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิและหน้าที่ของผู้พิจารณา เคารพการตัดสินใจ
ส่วนนายเชาว์ มีขวด ทนายความ โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ ต้องดำเนินคดีกับ 4 กรรมการคัดเลือก หนุนกิตติรัตน์ทั้งที่ขาดคุณสมบัติ ระบุว่า กรรมการคัดเลือกทั้ง 4 คน ที่ลงมติเลือกนายกิตติรัตน์ ในทางกฎหมายถือว่าได้กระทำความผิดสำเร็จแล้ว และขาดความน่าเชื่อถือจากสังคมไปแล้ว ที่ดันทุรังเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ จึงไม่สมควรทำหน้าที่กรรมการสรรหาอีกต่อไป เพราะหมดความชอบธรรมแล้ว โดยเฉพาะการคัดเลือกประธานและกรรมการแบงก์ชาติเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นในสายตาโลก
“ไม่เพียงกรรมการสี่คนนี้ต้องพ้นหน้าที่ไป ยังควรมีการดำเนินคดีทางกฎหมายกับคนเหล่านี้ด้วย เพราะถือว่าดื้อแพ่งไม่ฟังเสียงทักท้วง ดึงดันที่จะเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ตามใบสั่งทางการเมืองให้ได้ นี่ก็เป็นอีกหนึ่งกรณีตัวอย่างของคนที่รับใช้ระบบทักษิณ ยอมเอาตัวเข้าเสี่ยงเพื่อแลกกับลาภยศ ตำแหน่ง แต่สุดท้าย จบที่คุกทุกราย พวกท่านก็ทำใจรอไว้ด้วย” นายเชาว์ระบุทิ้งท้าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กกต.ปลุก‘กปน.’ จับโกงเลือกอบจ. พท.ทุบพรรคส้ม
กกต.ติวเข้มวิทยากรเตรียมพร้อมเลือกตั้ง อบจ. กำชับ 3 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนปิดหีบต้องทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ
สมเด็จสังฆราช ประทานไฟวธ. สวดมนต์ข้ามปี
"สมเด็จพระสังฆราช" ประทานไฟพระฤกษ์ สวดมนต์ข้ามปี
อิ๊งค์ยันแจกหมื่นเฟส3 เคาะขึ้นค่าแรง-อีรีซีท
ครม.ไฟเขียว 1 ม.ค.68 ขึ้นค่าแรง 400 นำร่อง 4 จังหวัด 1 อำเภอ
ปีหน้าม่วนจบปัญหา พ่อนายกฯการันตีรบ.อยู่ครบเทอม/ม็อบขู่ลงถนน
ไม่ยุบสภา! "ทักษิณ" การันตี "รัฐบาลพ่อเลี้ยง" อยู่ครบเทอม
เลขาฯกฤษฎีกา ยันยังไม่มีข้อสรุป ปม 'กิตติรัตน์' ประชุมพรุ่งนี้อีกรอบ
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยถึงกรณีการแต่งตั้งนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯ เป็นประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ว่า ขณะนี้คณะกรรมการกฤษฎีกา
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68