พรรคร่วมรบ.เห็นต่างไร้ปัญหา

เปิดผลโหวต กม.ประชามติ ภท.งัดมติวิป รบ.ไฟเขียวฉบับ กมธ.ร่วมฯ ผงะ รทสช. 25 คนล่องหน "โฆษก รทสช." แจง สส.พรรคลงพื้นที่ช่วยน้ำท่วมทำให้ขาดการลงมติ ยันปฏิบัติตามมติวิป รบ. “เอกนัฏ” มั่นใจไม่กระทบเอกภาพ "นายกฯ  อิ๊งค์" บอกพรรคร่วมฯ เห็นต่างไม่ใช่ปัญหา แต่บริหารงานร่วมมือกันอยู่แล้ว "ชูศักดิ์" เชื่อสภายืนทำประชามติชั้นเดียวเป็นสัญญาณดีแก้ รธน. ลั่นเดินหน้าแก้ รธน.มีลุ้นเสร็จทัน รบ.นี้ ถ้าเหลือทำประชามติ 2 ครั้ง

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม มีรายงานว่า สำหรับผลการลงมติร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ..... ฉบับคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว เมื่อวันที่ 18  ธ.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบพบว่า ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร โหวตเห็นชอบ 61 เสียง, ไม่เห็นชอบ 327 เสียง, งดออกเสียง 1 เสียง และไม่ลงคะแนน 1 เสียง

โดยเสียงเห็นชอบเป็นของ สส.พรรคภูมิใจไทย  (ภท.) เพราะต้องการหลักเกณฑ์การออกเสียงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญแบบเสียงข้างมาก 2 ชั้น ซึ่งถือว่าเป็นการโหวตสวนมติวิปรัฐบาลที่มีมติไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เนื่องจากขัดกับหลักการตั้งแต่ต้นที่สภาต้องการให้การออกเสียงประชามติเป็นแบบเสียงข้างมากปกติชั้นเดียว

นอกจากนี้ ยังพบด้วยว่าในเสียงเห็นชอบยังมี สส.ของพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) รวมอยู่ด้วย  ได้แก่ นายหรั่ง ธุระพล สส.อุดรธานี และนายอดิศักดิ์ แก้วมุงคุณทรัพย์ สส.อุดรธานี อย่างไรก็ตาม  สส. 2 รายนี้แม้เป็นฝ่ายค้าน แต่ส่วนใหญ่กลับมีพฤติกรรมโหวตสนับสนุนให้ฝ่ายรัฐบาล

ที่น่าสนใจพบว่า สส.ฝ่ายรัฐบาลไม่ได้มาร่วมโหวตจำนวนมาก เช่น พรรคเพื่อไทย (พท.) 9 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 25 คน, 20 สส. กลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ตอนนี้ไปสังกัดพรรคกล้าธรรม (กธ.), พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 13 คน, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มี สส. 9 คน, พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 6 คน, พรรคประชาชาติ (ปช.) 4 คน, พรรคไทรวมพลัง (ทร.) 2 คน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของพรรคประชาชน (ปชน.) ไม่แตกแถว มีเพียง 2 คนไม่ได้ร่วมลงมติ คือ นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ สส.ตาก และ รศ.สุรวาท ทองบุ สส.บัญชีรายชื่อ

นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี ในฐานะโฆษกพรรค รทสช. กล่าวถึงกรณีข่าวว่า สส.ของพรรค รทสช. 25 คน ไม่ได้ลงมติในร่าง พ.ร.บ.ประชามติว่า จากการประชุมพรรคเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.ที่ผ่านมา ทางพรรคได้มีมติชัดเจนในกรณีดังกล่าวว่าจะลงมติตามวิปรัฐบาล คือลงมติไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่ทางวุฒิสภาเสนอ   กรณีที่มี สส.รทสช.หลายท่านไม่ได้ลงมตินั้น สืบเนื่องจากปัจจุบันที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ สส.ของพรรคในพื้นที่ภาคใต้ได้มีการลาประชุมเพื่อลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน รวมถึงบางท่านที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ที่สภาในช่วงเช้าก่อนที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ ซึ่งทางนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน ก็ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์ พร้อมกำชับและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน

 “รทสช.พร้อมปฏิบัติตามมติของวิปรัฐบาล แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เกิดจากเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เนื่องจากเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมที่รอการช่วยเหลือ” นายอัครเดชกล่าว

นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการ รทสช. ให้สัมภาษณ์กรณีพรรคร่วมรัฐบาลโหวตแตกต่างร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ว่า สส.พรรค รทสช.โหวตเป็นไปตามมติวิปรัฐบาล  เพียงแต่ว่าหัวหน้าพรรคและ สส.พรรค รทสช.หลายท่านติดภารกิจช่วยน้ำท่วมอยู่ที่ภาคใต้ ซึ่งบังเอิญว่าช่วงนี้หลายพื้นที่ประสบปัญหาอุทกภัยหนัก หัวหน้าและ สส.ชุมพร นครศรีธรรมราช และ จ.สุราษฎร์ธานี ติดอยู่ในพื้นที่ ซึ่ง 3 จังหวัดนี้ก็เกินครึ่งพรรคแล้ว ซึ่งเราได้แจ้งเรื่องนี้ขออภัยทางวิปรัฐบาลแล้ว ทั้งนี้ ได้มีการเช็กเสียง ก็โอเคแล้ว ก็ได้ขอ สส.ช่วยในพื้นที่ก่อน

เมื่อถามว่า มติที่ให้กลับมาเป็นประชามติชั้นเดียว จะส่งผลต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลนี้หรือไม่ นายเอกนัฏกล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่นโยบายของเรา ซึ่งเราทำเรื่องอื่น แต่เนื่องจากเป็นนโยบายที่มีการตกลงร่วมกันกับรัฐบาล คนที่เสนอเป็นหลักคือพรรคเพื่อไทย ตรงนี้ก็อยู่ที่ พท. ซึ่งเรามีเงื่อนไขชัดเจนในการร่วมรัฐบาลแต่แรกในเรื่องของมาตรา 112 ห้ามแตะโดยเด็ดขาด  จนถึงวันนี้ก็เห็นแล้วว่า พท.ได้ให้ความสำคัญกับเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่พิเศษกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ คือผ่านการทำประชามติ เพราะฉะนั้นถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องมีการทำประชามติ ก็แค่นั้นเอง

เมื่อถามว่า ในส่วนของงานสภาขณะนี้จะกระทบต่อเอกภาพรัฐบาลหรือไม่ นายเอกนัฏกล่าวว่า ไม่ ตนว่าวันนี้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคก็ยอมรับความคิดที่แตกต่างกันออกไป ก็เข้าใจว่าบางเรื่องกฎหมายบางฉบับก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน   เรื่องกฎหมายเป็นเรื่องการทำงานในสภา ก็ต้องเคารพความคิดเห็นที่แตกต่างซึ่งกันและกัน ก็จะอยู่ร่วมกันได้ ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร  นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีการลงมติร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ที่ผ่านการพิจารณาของ กมธ.ร่วม สส.-สว. ในส่วนของพรรคร่วมรัฐบาลมีเสียงไม่เป็นเอกฉันท์ จำเป็นต้องคุยกับพรรคภูมิใจไทยหรือไม่ ว่า ไม่ต้อง ให้เป็นไปตามกระบวนการสภา เพราะบางที สส.พรรคเดียวกันก็คิดไม่เหมือนกัน ไม่เป็นไร ถึงอย่างไรการบริหารงานเราร่วมมือกันอยู่แล้ว

เมื่อถามว่า การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลควรมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ในกฎหมายสำคัญเช่นนี้ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า มีหลายความคิดเห็น แต่สุดท้ายก็ต้องคุยกันให้เข้าใจตรงกัน แต่ถือว่าไม่เป็นปัญหาใหญ่อะไร และคิดว่าประชามติน่าจะทัน แต่ขอคุยกับทางวิปก่อนว่าจะว่าอย่างไร

เมื่อถามย้ำว่า ต้องปรับจูนการทำงานกับพรรค ภท.หรือไม่ น.ส.แพทองธารกล่าวว่า จริงๆ ไม่ใช่แค่พรรค ภท. แต่กับทุกคนเราก็ปรับไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว  ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนหรือคนในพรรคด้วยกันเอง บางทีมีเวลาก็ได้คุยกัน แต่บางครั้งทุกอย่างมันเร็วก็ไม่ได้คุยกัน แต่ให้สภาเป็นคนจัดการ จุดแรกต้องให้วิปสรุปก่อน

นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โดยหลักเมื่อกฎหมายถูกยับยั้งไว้ ต้องรอ 180 วัน และเมื่อครบสภาจะยกนำกฎหมายฉบับนี้มายืนยันอีกครั้งด้วยเสียงข้างมาก  และถ้าเสียงข้างมากยืนยันตามนั้น แปลว่าสามารถนำกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้เลย  ทำให้สามารถแก้กฎหมายประชามติเป็นชั้นเดียวได้ โดยรัฐธรรมนูญเขาถือว่าสภาใหญ่กว่า

ผู้สื่อข่าวถามว่า การทำประชามติชั้นเดียวถือเป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เป็นประโยชน์ เพราะจะทำให้การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ต้องไปวิตกกังวลเรื่องต่างๆ ได้ และทำให้มันไปได้

เมื่อถามว่า โอกาสทำให้การร่างธรรมนูญเสร็จทันรัฐบาลชุดนี้มีมากขึ้นหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า  ถ้าเราตัดสินใจทำประชามติ 3 ครั้งคงไม่ทัน เว้นแต่ขณะนี้มีความพยายามที่จะขอพบนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เพื่อให้บรรจุวาระเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 และทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ซึ่งนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ ก็มาขอความร่วมมือกับตน ซึ่งไม่ได้ขัดข้อง และยินดีเข้าไปพูดคุยกับประธานสภาฯ 

เมื่อถามถึงกรณีการลงมติของพรรคร่วมรัฐบาลในเรื่องการทำประชามติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. ที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า พูดได้เพียงว่าเป็นสิทธิของเขา เพราะเรื่องพวกนี้เป็นความเชื่อและความเห็น ซึ่งเป็นเรื่องของเขา ไม่อยากไปวิจารณ์ และคงไม่ถึงขั้นจะทำให้ทางเดินตีบตันลง  แต่ก็ว่ากันไป ตนยึดนโยบายของรัฐบาลนี้ที่จะทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งเขียนไว้ในนโยบายชัดเจน  ซึ่งเราก็มาเดินอย่างนี้ ฉะนั้นถ้ารัฐบาลเดินตามนี้ จะนำไปสู่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเร็ว

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคร่วมฯ แต่การทำงานในสภาไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จะต้องมีการคุยกันหรือไม่ ว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกัน ต้องเอาเหตุผลมาพูดคุยกัน ส่วนเรื่องอื่นๆ จะมีปัญหาตามมาหรือไม่นั้น ไม่อยากให้มองแบบนั้น เป็นรัฐบาลเดียวกัน การทำงานต้องมีการประสานงานกันอยู่แล้ว ทั้งนี้ เรื่องการโหวตเป็นเรื่องของสภา ไม่จำเป็นต้องให้นายทักษิณหรือ น.ส.แพทองธารในฐานะหัวหน้ารัฐบาลมาพูดคุย เพราะการโหวตเป็นเรื่องของสภา มีประธานวิปที่ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลอยู่แล้ว ให้ใช้กลไกที่มีอยู่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ขวากหนามแก้รัฐธรรมนูญ คนกันเอง...เล่นเกมต่อรอง

เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติไม่เห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ฉบับคณะ กมธ.ร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว