มติสภาแก้รธน.ชั้นเดียว‘ภท.’สวน

ไฟเขียวติดอาวุธ กมธ. เรียกบุคคล-เอกสารมาตรวจสอบ โรมเมินโดนขู่ร้องศาล รธน.  ขณะที่สภาค้านมติเกณฑ์ประชามติ 2 ชั้น ลากยาวไปอีก 180 วัน พรรคร่วมส่อปริ ภูมิใจไทยยกขบวนโหวตสวนแหกหน้าเพื่อไทย อดิศรสวดยับไล่หลังตัวถ่วงประชาธิปไตย 

เมื่อวันพุธ เวลา 11.45 น. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา  ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนาจเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา พ.ศ….. ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ  พิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งเป็นการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม

โดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายในมาตรา 4 บทนิยามคำว่ากรรมาธิการ ว่าในร่างของ กมธ.ที่ไปแก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำ ซึ่งตนเองเห็นว่าการแก้ไขของ กมธ.น่าจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและข้อเท็จจริงที่มีอยู่ เพราะจากร่างเดิมของสภาที่รับไป เขียนให้ครอบคลุมกรรมาธิการ นิยามของกรรมาธิการมีกรรมาธิการสามัญ กรรมาธิการวิสามัญ  กรรมาธิการร่วมกัน ของสภาและวุฒิสภา และกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญกรณีที่มีการประชุมร่วมกันในนามรัฐสภา มีอำนาจเรียกบุคคลหรือเรียกเอกสารได้

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะ กมธ. ชี้แจงว่า กรณีนี้ไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเลย  ส่วนการตีความจะไม่รวมไปถึงกรณีจะให้มีกรรมาธิการสามัญของรัฐสภา การที่เราจะมีกรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาหรือไม่มันเป็นกฎหมายอื่น กรณีนี้เป็นเรื่องของการใช้อำนาจเรียก ซึ่งปัจจุบันเราไม่มีกรรมาธิการสามัญของรัฐสภา กฎหมายนี้ไม่ได้มีอำนาจให้เราไปจัดตั้งกรรมาธิการสามัญของรัฐสภา ตามหลักกฎหมายจึงจะรวมแค่กรรมาธิการร่วมกันของรัฐสภาเท่านั้น

ทั้งนี้ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ไม่ได้สนใจ โดยให้ที่ประชุุมลงมติทันที ซึ่งที่ประชุมลงมติเห็นด้วยกับ กมธ. เสียง 383 ไม่เห็นด้วย 3 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนน 8 เสียง จากนั้นพิจารณามาตราอื่นตามลำดับ

ต่อมาเวลา 17.20 น. หลังที่ประชุมพิจารณาเสร็จสิ้น ลงมติเห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.อำนาจเรียกฯ 398 เสียง ไม่เห็นชอบ 3 เสียง ไม่ลงคะแนน 5 เสียง

ต่อจากนั้น ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 1 เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ.…. ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ซึ่งมีมติเห็นชอบตามร่างแก้ไขของวุฒิสภาให้ยึดเกณฑ์ประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นแบบ 2 ชั้น คือต้องมีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียงเป็นจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ใช้เสียงทั้งหมด และมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง ทั้งนี้ ในการอภิปรายของ สส.ของพรรคเพื่อไทย และ สส.พรรคประชาชน เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยขอให้ยืนยันการใช้เกณฑ์ประชามติด้วยเสียงข้างมากชั้นเดียว

น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การทำประชามติถือเป็นกุญแจดอกสำคัญในมือของประชาชน ที่จะไขประตูบานใหญ่ของประเทศ เข้าสู่การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การใช้เสียงข้างมากปกติโดยตรงจึงเป็นสิ่งที่สมควรอยู่แล้ว เมื่อพิจารณาสิทธิ์ไม่ถึงกึ่งหนึ่งตามด่านพิสดารของเสียงข้างมาก 2 ชั้น ก็อาจทำให้สิทธิ์เสียงข้างมากของประชาชนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ตามกระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือนไปได้ เว้นเสียแต่ว่าผู้ที่สนับสนุนหลักเกณฑ์เสียงข้างมาก 2 ชั้น ปรารถนาอยู่ลึกๆ ในใจว่าให้การใช้สิทธิ์ออกเสียงของประชาชนเป็นไปได้ยากขึ้น พูดง่ายๆ คือใครที่ยังคิดสนับสนุนเสียงข้างมาก 2 ชั้น อาจจะถูกครหาได้ว่าขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ 2560            

ด้านนายอดิศร เพียงเกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อภิปรายตำหนิพรรคร่วมรัฐบาลว่า  เป็นตัวถ่วงประชาธิปไตย กฎหมายทุกฉบับและรัฐธรรมนูญแก้ไขได้ ทั้งนี้ การแก้รัฐธรรมนูญจะทำได้ต้องผ่านประชามติก่อน ทั้งนี้ สว.และ สส. หากมีปัญหาเห็นไม่ตรงกัน อำนาจให้ไว้ที่รากแก้ว คือ สส. ส่วน สว. เปรียบเสมือนรากฝอย  เมื่อขัดแย้งกันต้องใช้สภา ยืนยันตามสภา เพราะเป็นสภาตัดสิน แต่เสียเวลา เพราะต้องรอเวลา 180 วันหรือ 6 เดือน ในที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไม่ทันในสมัยนี้ อย่างมากเสนอได้แค่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เท่านั้น

 “ใครคือจำเลย สภาผู้แทนฯ ไม่ใช่ อีกสภาหนึ่งใช่หรือไม่ ต้องใช้วิจารณญาณ สภาผู้แทนฯ เห็นด้วยให้มีชั้นเดียว ทุกพรรคการเมืองร่วมตั้งกรรมาธิการ แต่ผมผิดหวัง ที่อยู่ๆ ไปงดออกเสียง กลับลำสิ่งที่ตนเองลงมติไว้ และทราบข่าวว่าจะงดออกเสียงอีก จะบั่นทอนอำนาจสูงสุดที่ประชาชนให้ไว้ ไปร่วมกับสภารากฝอยได้อย่างไร ผมพูดด้วยน้ำตา พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกัน แถลงนโยบายด้วยกัน ว่าจะเร่งจัดทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยยึดโยงประชาชนและหลักการประชาธิปไตย พรรคร่วมทุกพรรคต้องปฏิบัติตามนี้ ไม่เช่นนั้นจะลงเรือลำเดียวกันได้อย่างไรต่อไป” นายอดิศรกล่าว

นายอดิศรกล่าวด้วยว่า ประธาน กมธ.ร่วมฯ รวมถึง สส.ที่ได้รับอำนาจจากสภาแล้วไปกลับลำที่สภาสูง ขอให้กลับใจ แก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่นี่เป็นที่แก้ไข ไม่ใช่ที่ถ่วงความเจริญของประชาธิปไตย ใครคนใดที่ไม่แก้รัฐธรรมนูญหรือถ่วงความเจริญ ถือว่าคนนั้นทำลายประชาธิปไตย

 ขณะที่ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ เลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยยึดมั่นในสิ่งที่พรรคได้เสนอในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ต้องมีเกณฑ์แบบ 2 ชั้น เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด แม้เราเห็นต่างกัน แต่ไม่ได้ยึดติดหรือยึดมั่นโดยไม่มีหลักการและเหตุผล เราเห็นว่ามีความจำเป็นว่าต้องใช้เกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น เหตุผลเพราะประชาชนตระหนักดีว่าทุกเรื่องที่ต้องทำประชามติสำคัญและมีผลกระทบทั้งประเทศ จึงต้องการความมั่นใจว่าผู้ที่ออกมาใช้สิทธิ์มีปริมาณเพียงพอที่น่าเชื่อถือจริงๆ 

นายไชยชนกกล่าวอีกว่า ข้อกังวลว่าหลักเกณฑ์แบบ 2 ชั้นจะนำไปสู่การรณรงค์เพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ หากมีการกระทำเช่นนั้น ประชามติจะเป็นโมฆะได้ แต่ตนคิดว่าไม่น่าเกิดขึ้นได้ นอกจากการรณรงค์เช่นนั้นเป็นเรื่องผิดกฎหมาย วันนี้มีเพื่อนสมาชิกพาดพิงมาถึงพรรคภูมิใจไทยแล้วบอกว่าเสียใจที่เราจะงดออกเสียง ไม่ให้ความสำคัญกับประชาธิปไตย เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องจริง และมีการพูดว่าพรรคภูมิใจไทยอาจจะมีความต้องการหรือเจตนาจะขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ตราบใดที่เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ อย่างเห็นได้ชัด พรรคภูมิใจไทยไม่มีทางหรอกครับ

นายไชยชนกระบุว่า ขอแจ้งให้ทุกท่านสบายใจว่าวันนี้เราไม่งดออกเสียงแน่ๆ และไม่ว่ามติของการประชุมในวันนี้จะเป็นอย่างไร เราจะเคารพในเสียงส่วนมาก ตนในฐานะตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ขออนุญาตยืนยันจุดยืนเดิมที่พรรคเคยนำเสนอในการทำประชามติ เพราะคิดว่าเป็นการคืนอำนาจจากสภาตัวแทนไปสู่เจ้าของอำนาจประชาธิปไตยตัวจริง ที่คำนึงถึงเสียงของทุกคน และถูกตัดสินใจในเสียงส่วนมาก

 “เราจึงมองว่ากระบวนการที่จะนำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศ จำเป็นต้องมีเกณฑ์ ถึงจะสามารถสะท้อนความเห็นของชาวไทยทั้งประเทศได้ และมีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอ พรรคภูมิใจไทยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับการทำให้กระบวนการทำประชามติควรเป็นเรื่องง่ายสำหรับคนไทยทุกคน แต่ไม่ควรจะมักง่ายในวิธีการ” นายไชยชนกกล่าว

กระทั่งเวลา 20.25 น. ที่ประชุมสภาโหวตไม่เห็นชอบกับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่คณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว ด้วยคะแนน 326 ต่อ 61 งดออกเสียง 1 ไม่ลงคะแนน 1 เสียง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 137 (3) และมาตรา 138 (2) กำหนดว่าร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งจะพิจารณาใหม่ได้เมื่อพ้น 180 วัน นับแต่ที่สภาไม่เห็นชอบ จากนั้นได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 20.30 น.

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ทั้งนี้  61 เสียงที่โหวตเห็นชอบแก้ รธน. 2 ชั้นคือ สส.พรรคภูมิใจไทย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ถกประชามติเดือด! เพื่อไทยจวกพรรคร่วมฯตัวถ่วงประชาธิปไตย ภูมิใจไทยสวนกลับอย่ามักง่าย

การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯคนที่หนึ่ง เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ(ฉบับที่ …) พ.ศ. …. ที่คณะกรรมาธิการร่วมกัน พิจารณาเสร็จแล้ว