กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ย ชี้เศรษฐกิจปีหน้าโต2.9%

ไม่มีเซอร์ไพรส์! “กนง.” มีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.25% ต่อปี ชี้ดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับเศรษฐกิจ พร้อมประเมินเศรษฐกิจไทยปี 67 โตที่ 2.7% และปี 68 ขยับเพิ่มเป็น 2.9% รับอานิสงส์ท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนหนุน จับตาส่งออกห่วงระยะยาวไม่แน่นอนสูง

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25%  ต่อปี พร้อมประเมินว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวที่ระดับ 2.7% และปี 2568 ที่ระดับ 2.9% โดยได้รับแรงสนับสนุนต่อเนื่องจากการท่องเที่ยว โดยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ อยู่ที่ 36 ล้านคน และปีหน้าที่ 39.5 ล้านคน รวมถึงการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวถึง 4.5% ส่วนปี 2568 ที่ 2.4% ขณะที่การส่งออกในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวที่ 4.9% และปี 2568 ที่ 2.7% ซึ่งมองว่าในระยะสั้นการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาส 4/2567 และไตรมาส 1/2568 ยังไปได้อยู่ แต่ในระยะยาวยังมีความไม่แน่นอนสูง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเห็นชัดเจนในช่วงครึ่งหลังของปี 2568

ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคส่วน โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น แต่เอสเอ็มอีและภาคอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง กลุ่มยานยนต์มีพัฒนาการแย่ลงจากทั้งปัจจัยด้านราคาและอุปสงค์ ส่งผลให้การฟื้นตัวของรายได้ครัวเรือนยังไม่ทั่วถึง โดยเท่าที่ได้หารือกับผู้ประกอบการเริ่มเห็นราคารถยนต์มือสองทรงตัวขึ้น และคาดว่าสถาบันการเงินจะเริ่มพิจารณาปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อมากขึ้น หลังจากที่คุณภาพหนี้ดีขึ้น จากการระมัดระวังมาระยะหนึ่ง

 “เศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันจากภายนอกที่รุนแรงขึ้น และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่สูงขึ้น โดยเฉพาะแนวนโยบายของประเทศเศรษฐกิจหลัก แต่ยังสามารถขยายตัวได้ใกล้เคียงกับที่ประเมินไว้ โดยภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวปรับดีขึ้น  ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวได้ช้า โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกกดดันจากความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง คณะกรรมการฯ เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจที่ใกล้เคียงกับศักยภาพ เงินเฟ้อที่โน้มเข้าสู่กรอบเป้าหมาย และการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว รวมทั้งรักษาขีดความสามารถของนโยบายการเงินในการรองรับความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่ปรับสูงขึ้น” นายสักกะภพระบุ

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2567 นั้น มองว่าจะขยายตัวได้ที่ 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยยังต้องติดตามปัจจัยต่างๆ ที่จะเข้ามากระทบกับการขยายตัวในระยะต่อไป โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจและนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ที่ 0.4% และปี 2568 ที่ 1.1% ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มเศรษฐกิจและการส่งผ่านต้นทุนในหมวดอาหาร  โดยคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 0.6% และปี 2568 ที่ 1.0% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย โดยยังไม่เห็นสัญญาณความเสี่ยงของปัญหาเงินฝืด และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่สะท้อนกำลังซื้อยังคงเป็นบวก ขณะที่กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายในปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ 1-3% ตามเดิม โดยน่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในสัปดาห์หน้าหรือไม่นั้น ยังต้องรอติดตาม ซึ่งที่ผ่านมาเคยมีการเสนอล่าช้าบ้าง โดยยังสามารถใช้กรอบเงินเฟ้อเป้าหมายเดิมไปพลางก่อนได้

ขณะที่สินเชื่อชะลอลงในช่วงที่ผ่านมา จากความต้องการลงทุนในบางสาขาธุรกิจที่ลดลง  การชำระคืนหนี้ที่กู้ยืมไปในช่วงวิกฤตโควิด-19 และความเสี่ยงด้านเครดิตที่อยู่ในระดับสูง อาทิ สินเชื่อของภาคท่องเที่ยวและบริการขยายตัวชะลอลงจากการชำระคืนหนี้และรายได้ที่เพิ่มขึ้น  เป็นต้น โดยภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ เห็นว่าความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าปรับสูงขึ้น จึงจะติดตามพัฒนาการของแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินและพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมต่อไป

 “เศรษฐกิจในระยะสั้นยังไปได้ แต่ระยะต่อไปเริ่มมีความไม่แน่นอน ซึ่งต้องไปดูว่าจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นกับหลายปัจจัย ที่จะต้องขอรอดูความชัดเจนในการประเมิน โดยหากเห็นว่าแนวโน้มเศรษฐกิจมีปัญหาชัดเจน ในการประชุมรอบนี้ก็ค่อนข้างจะเปิดว่าจะติดตามสถานการณ์และดำเนินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสมต่อไป   หากมีแนวโน้มที่ทำให้ภาคการเงินเปลี่ยนไป เราก็พร้อมจะปรับเปลี่ยน แต่คงไม่ได้ตอบได้ง่ายว่าปัจจัยอะไรบ้างที่จะทำให้นโยบายการเงินต้องปรับเปลี่ยน ต้องดูปัจจัยที่เข้ามาและผลกระทบว่ามีอะไรบ้าง ขยายวงกว้างแค่ไหน แยะแยกผลกระทบว่าประสิทธิภาพของดอกเบี้ยมีมากขนาดไหน ต้องคุยกันเยอะ และต้องขอดูพัฒนาการของความเสี่ยงของเศรษฐกิจในปีหน้าที่มันกว้างขึ้นก่อน ซึ่งมีโอกาสที่ตัวเลขเศรษฐกิจในปีหน้าจะเบ้ไปทางต่ำ จากคาดการณ์ที่ 2.9%” เลขาฯ กนง.ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง