จุรินทร์ยอมรับ ปัญหาเนื้อสุกร แก้ยากไม่‘หมู’

“พาณิชย์” รองบ 1,480 ล้านบาท หลัง ครม.อนุมัติไปแล้วจัดทำโครงการธงฟ้าทั่วประเทศ สั่งตรึงราคาหมูช่วงตรุษจีน ขณะที่ตำรวจลุยตรวจกักตุนเนื้อสัตว์ 971 แห่งทั่ว ปท. พบทำผิด 9 แห่ง “พี่ศรี” จ่อยื่น ป.ป.ช.สอบปศุสัตว์-ผู้ว่าฯ ราชบุรี-อธิบดีกรมปศุสัตว์ ฐานละเว้นฯ ปมเคลื่อนย้ายหมูตาย

วันที่ 23 ม.ค. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังตรวจเยี่ยมโครงการโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน ณ ชุมชนปิ่นเจริญ 2 แขวงสีกัน เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร ว่า  กระทรวงพาณิชย์ได้นำโครงการโมบายพาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน Lot 16 มาให้บริการประชาชน เพื่อลดค่าครองชีพให้กับพี่น้องประชาชน จนถึงสิ้นเดือนมกราคมนี้ ซึ่งมีสินค้า เช่น ไข่ไก่ แผงละ 80 บาท ฟองละ 2.60 บาท, น้ำมัน ขวดละ 48 บาท, หมูเนื้อแดง กิโลกรัมละ 150 บาท, ข้าวหอมมะลิ ถุงละ 5 กิโลกรัม 120 บาท, น้ำตาลทราย กิโลกรัมละ 18 บาท และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ อีกหลายรายการ ลดสูงสุดถึง 86%

นอกจากนี้ จะมีโครงการนี้ต่อไปอีก หลังที่ประชุม ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินกว่า 1,480 ล้านบาท ขณะนี้รอการพิจารณาอนุมัติจากสำนักงบประมาณที่จะทยอยนำเงินงบประมาณมาดำเนินโครงการต่างๆ ที่จะช่วยลดค่าครองชีพตามกิจกรรมที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้

นายจุรินทร์กล่าวว่า สินค้าหมูถือเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งระบบแบบเบ็ดเสร็จ และกระทรวงพาณิชย์ขอให้ตรึงราคาหมูหน้าฟาร์มไว้ที่กิโลกรัมละ 100-110 บาท ถ้าเป็นหมูเนื้อแดงไม่เกิน 210 บาท ขณะนี้ราคาเนื้อหมูเริ่มทรงตัว แต่จะทำอย่างไรให้ราคาลดลง ต้องเร่งผลิตหมูเข้าสู่ระบบให้เร็ว คงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลในช่วงตรุษจีนนี้ ราคาเนื้อหมูจะแพงขึ้นไปอีก ได้สั่งการกรมการค้าภายใน ลงไปช่วยดูว่าจะจัดจุดหรือเชิญผู้ค้าทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับสินค้าในช่วงตรุษจีน จะตรึงราคาได้อย่างไร แต่หากมีการค้ากำไรเกินควร ก็คงต้องใช้กฎหมายดำเนินการ อย่างตอนนี้ทุกฝ่ายออกตรวจเช็กสต๊อกปริมาณหมูแช่เย็นแช่แข็งกันอยู่ หากไม่แจ้งปริมาณสต๊อก มีความผิดจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือปรับวันละ 2,000 บาท

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง เปิดเผยว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. มอบหมายให้ตนรับผิดชอบ กำกับ ดูแล บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่กักตุนซากสุกรเพื่อเก็งกำไร จนทำให้ราคาเนื้อสุกรแพงขึ้น เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างกับประชาชน และได้มีหนังสือสั่งการให้ทุกหน่วยดำเนินการอย่างเคร่งครัด สำหรับการตรวจสอบสถานที่เก็บสินค้าแช่แข็งหรือห้องเย็น ตลาดสด ศูนย์การค้า และสถานที่อื่นๆ ที่ใช้เก็บซากสัตว์ ในภาพรวมทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 20 ม.ค.จนถึงขณะนี้ มีการเข้าตรวจสอบแล้ว จำนวน 971 แห่ง พบการกระทำความผิด 9 แห่ง

รอง ผบ.ตร.กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมีความกังวลกรณีเนื้อสุกรมีราคาสูงขึ้น สร้างความเดือดร้อนต่อพี่น้องประชาชนในภาพรวม จึงสั่งการให้ตำรวจ ปกครอง พาณิชย์ ปศุสัตว์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางป้องกัน และเร่งสืบสวน ปราบปรามผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายอย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ หากพบเบาะแส สามารถแจ้งได้ที่สายด่วน ตร. 1599 หรือ บก.ปคบ. 1135, สายด่วน กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ 1569 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888

ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า มีตัวแทนชาว จ.ราชบุรี ได้เดินทางมาพบที่สมาคม เพื่อร้องเรียนและส่งมอบหลักฐานให้ กรณีมีการเคลื่อนย้ายหมูตายโดยไม่ทราบสาเหตุเป็นจำนวนมาก และมีการเคลื่อนย้ายเกือบทุกวัน เพื่อนำไปเข้าโรงชำแหละ เพราะชาวบ้านหวั่นว่าหมูเหล่านั้นจะตายด้วยโรคอหิวาต์แอฟริกา หรือ ASF และยิ่งช่วงนี้จะเห็นบ่อยและเยอะมาก ตนอยากจะถามว่าทางปศุสัตว์ไม่รู้เลยหรือว่ามีการขนหมูตายออกมาจากฟาร์มเป็นจำนวนมาก ทั้งๆ ที่ชาวบ้านยังสามารถถ่ายภาพไว้ได้เลย แต่ทางปศุสัตว์กลับประกาศว่า จ.ราชบุรีไม่มีหมูตายเพราะโรคระบาด ASF ซึ่งการขนย้ายหมูตายตามกฎหมายจะต้องแจ้งปศุสัตว์ก่อน แต่นี่ชาวบ้านเห็นเกือบทุกวันและบันทึกภาพได้ แต่ปศุสัตว์กลับบอกไม่มี ไม่ได้รับแจ้ง แล้วที่ขนหมูตายออกจากฟาร์มเกือบทุกวันคืออะไร หรือว่ามีม่านสีแดง สีม่วง สีเทา มาบังตาไว้

 “สมาคมได้รับเรื่องและหลักฐานไว้แล้วทั้งหมด และจะได้นำไปยื่นให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเอาผิดตามอำนาจหน้าที่ เพื่อเอาผิดปศุสัตว์ราชบุรี อธิบดีกรมปศุสัตว์ ผู้ว่าฯ ราชบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป” 

 ด้านนายจิรพงษ์ ทรงวัชราภรณ์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกสมาคมเรือไทย ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายย่อยประมาณ 10 ราย ซึ่งให้บริการเดินเรือโดยสาร (เรือหางยาวและเรือข้ามฟาก) เรือท่องเที่ยวและเรือภัตตาคาร ที่แม่น้ำเจ้าพระยา ขอให้ทบทวนปรับอัตราค่าโดยสารเรือข้ามฟากซึ่งใช้มาตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2564 ให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันดีเซลและจำนวนผู้โดยสาร โดยราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับเพิ่มขึ้นจากลิตรละประมาณ 25 บาทในช่วงปลายปี 2564 ปรับขึ้นมาอยู่ที่ลิตรละ 29.84 บาท ขณะที่ราคาค่าโดยสารเรือข้ามฟากยังอยู่ที่ 3.50-5 บาท ซึ่งกรมเจ้าท่าไม่อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาได้ เบื้องต้นได้นำเรื่องปรึกษาในหารือในสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว จึงมีความเป็นห่วงว่าหากภาครัฐไม่ช่วยเหลือ หาทางออกให้กับผู้ประกอบการ จะทำให้ธุรกิจเรือรายย่อยล้มหายตายจาก และผลสุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบ เพราะไม่สามารถเดินทางคมนาคมได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง