“ปริญญา” ชี้ความขัดแย้งรอบใหม่เกี่ยวพันถึง “สถาบันพระมหากษัตริย์” เป็นความเห็นต่างของคนระหว่างรุ่น ซัดรัฐบาลเป็นสาเหตุทำให้ลงสู่ท้องถนน ศาลรัฐธรรมนูญยิ่งมาตอกฝาโลงให้ปัญหาหนักหน่วงขึ้น
เมื่อวันอาทิตย์ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรรมการมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และอดีตเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ให้สัมภาษณ์ช่องยูทูบสภาที่ 3 ถึงการจัดงาน 30 ปีพฤษภาประชาธรรมปี 2565 ว่าในโอกาสที่ครบ 30 ปี ซึ่งมีญาติวีรชนที่ยังมีชีวิตอยู่จากการสูญเสียดังกล่าว โดยคอนเซ็ปต์ของทุกปีก็จะจัดเพื่อรำลึก เพื่อไม่ให้เกิดเรื่องดังกล่าว แต่ที่ผ่านมาหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ก็ยังมีเหตุการณ์สูญเสียเกิดขึ้นอีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นพฤษภา 53 ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ถูกสลายการชุมนุม หรือชัตดาวน์แบงค็อกของคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กกปส.)
“ความขัดแย้งรอบใหม่เริ่มมาอีกแล้ว เป็นความขัดแย้งที่เกี่ยวพันหรือกระทบไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างที่ไม่เคยมีประเด็นแบบนี้มาก่อน ทำอย่างไรให้เราจะกลับสู่ประชาธิปไตยโดยไม่สูญเสีย และท่ามกลางความเห็นต่างในสังคม ทำอย่างไรให้เราไม่ต้องมาเข่นฆ่ากันอีก คือสิ่งที่เราตั้งใจจัดงาน ซึ่งเป็นเป้าหมายของเราในช่วง 30 ปีของเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และแน่นอนก็ต้องพูดไปถึงเรื่องของการเห็นต่างกันในขอบเขตของระบอบประชาธิปไตย และเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ทำอย่างไรให้ความเห็นต่างไม่นำไปสู่ความรุนแรงหรือเหตุการณ์นองเลือดอีก การปฏิวัติรัฐประหารต้องหมดไป ผมคิดว่าข้อนี้เป็นข้อที่ต้องควรเรียนรู้กันในวาระ 30 ปี โดยนำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 30 ปีที่แล้วเป็นอุทาหรณ์” นายปริญญากล่าว
นายปริญญากล่าวอีกว่า เข้าใจว่าเรื่องคนหาย 30 ปีนี้ ก็ต้องพูดกันอย่างจริงจัง ว่าศพอยู่ไหน ส่วนอีกข้อหนึ่ง ปีนี้เป็นปีที่เรามีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตยครบ 90 ปี ทั้งนี้ วันที่ 24 มิ.ย.2475 เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่วันที่เริ่มต้นนับว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย คือวันที่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ซึ่งประกาศใช้ 3 วันหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองคือ 27 มิ.ย.2475 เป็นฉบับที่บัญญัติไว้ในมาตราหนึ่งว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย นั่นคือการกำเนิดของระบอบประชาธิปไตย และเป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
“ปีนี้เราจึงคิดว่าเราจะไม่จบแค่ 17 พฤษภาคม แต่เราจะไปจบถึงเดือนมิถุนายน ในวาระ 30 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และ 90 ปีประชาธิปไตย ทำอย่างไรประชาธิปไตยที่ล้มลุกคลุกคลาน มีเหตุการณ์นองเลือดมีการปฏิวัติรัฐประหาร รัฐธรรมนูญ 20 ฉบับมันจะผ่านไปสักทีหนึ่ง ทำอย่างไรจะกลับสู่ประชาธิปไตยโดยไม่มีการนองเลือดอีก และไม่ให้ล้มเหลวอีก นั่นคือสิ่งที่เราคุยกันว่าให้วาระ 30 ปีนี้ให้เราเรียนรู้เรื่องพวกนี้”
นายปริญญายังกล่าวถึงเรื่องความปรองดองว่า ไม่ใช่ในแบบเดิมแล้ว ที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งระหว่างคนเสื้อเหลืองเสื้อแดง แต่ความปรองดองตอนนี้มันไม่ใช่เรื่องนั้น ตอนนี้ตั้งแต่เปิดประเด็นข้อเสนอเรื่องของการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จากปัญหาของรัฐบาลเอง ทำให้ความขัดแย้งลุกลามไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อมีประเด็นนี้ขึ้นมา จึงกลายเป็นประเด็นที่เป็นความขัดแย้งของคนระหว่างรุ่น คนรุ่นใหม่ ซึ่งมีที่มาที่เราต้องเข้าใจว่าจุดเริ่มต้นเกิดจากการไปยุบพรรคการเมืองซึ่งคนรุ่นใหม่เขาเลือก
นายปริญญากล่าวต่อว่า ความจริงถ้าหากให้ทะเลาะหรือเห็นต่างกันอยู่ในสภาคงไม่ต้องลงถนนกันถึงขนาดนี้ คิดว่ามันเกิดการไปเชื่อมโยงไปถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้เกิดข้อเรียกร้องในเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ความจริงเราเป็นระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญมาตั้งแต่วันที่ 27 มิ.ย.2475 แล้ว แต่สิ่งนี้คนจำนวนมากในประเทศยังไม่เข้าใจ หลักที่ว่าพระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่อยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมือง แม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เข้าใจ ดูจากคดีล้มล้างการปกครองไปวินิจฉัยและพิพากษาว่าข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นการล้มล้างระบบการปกครอง ตรงนี้แทนที่จะใช้โอกาสนี้ให้คนเข้าใจว่าระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขคือระบอบอะไร เราควรจะขัดแย้งกันในขอบเขตของระบบนี้หรือไม่
“ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ทำให้คนเข้าใจมากขึ้น ก็เข้าใจว่าศาลรัฐธรรมนูญเองก็คงจะไม่เข้าใจ นี่คือสิ่งที่คิดว่าเราจำเป็นที่จะต้องเข้าใจเรื่องนี้กันให้มากขึ้น ว่าหลักการที่พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแต่อยู่เหนือการเมืองคือหลักการของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” นายปริญญาระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชูศักดิ์ยอมนิกร พรบ.ประชามติ ไม่ใช่กม.การเงิน
“ชูศักดิ์” ลั่นเพื่อไทยเอาแน่ ค้าความปิดปากเอาคืน “ธีรยุทธ” แต่ไม่รู้เมื่อไหร่
ไฟเขียวไร่ละ1พัน10ไร่ ตรึงค่าไฟฟ้าราคาน้ำมัน
ชาวนาเฮ! นบข.ไฟเขียวช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชงเข้า ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
ตร.เชียงรายรวบ‘สามารถ’ ‘เมีย-ลูก’หมอบุญนอนคุก
"ผบ.ตร." นั่งไม่ติดตั้ง "พล.ต.อ.ธนา" คุมสอบสวนคดี "หมอบุญ"
กรมที่ดินท้ารฟท.พิสูจน์เขากระโดง
กรมที่ดินยืนยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม กก.สอบสวน มาตรา 61
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.