กต.นัดถกเมียนมา 19 ธ.ค.นี้ ช่วยลูกเรือไทย 4 คน “โรม” ผิดหวังคำตอบทางการ จี้นำกลับไทยให้เร็วที่สุด พร้อมกระทุ้ง ท่าทีต้องเข้มแข็งกว่านี้ แฉยึกยักปล่อยตัว เหตุมีลูกเรือต้านรัฐบาลพม่า สส.ประชาชนไล่บี้ รมต.บัวแก้วทำงานเชิงรุก
เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยถึงกรณีลูกเรือคนไทย จำนวน 4 คน ถูกควบคุมตัวในพื้นที่จังหวัดเกาะสอง ที่ยังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการการส่งกลับของเมียนมาว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการหารือร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีเมียนมา รวมถึงได้พูดคุยกับเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา ทราบว่าขณะนี้ติดเรื่องขั้นตอนกฎหมายในการส่งตัวออกมา แต่ไม่ได้มีปัญหาอื่นๆ โดยได้ส่งข้อความฝากไปยังเอกอัครราชทูตไทยประจำเมียนมา ว่ามีความห่วงใยลูกเรือคนไทยทั้ง 4 คน และอยากให้มีการปล่อยตัวเร็วที่สุด ซึ่ง รมว.การต่างประเทศของไทยจะมีการหารือร่วมกันกับฝ่ายเมียนมาในวันที่ 19 ธ.ค.
พล.ต.ธนาธิปกล่าวว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ได้แสดงความห่วงใยต่อความรู้สึกของคนในครอบครัวลูกเรือทั้ง 4 คน จึงได้ประสานให้หน่วยงานในพื้นที่ ประกอบด้วย คณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา ศูนย์ประสานงานประมงชายแดนไทย-เมียนมา (ศปชล.) อีกทั้งหน่วยงานของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นหน่วยประสานงานในการแจ้งข่าวสารความเป็นอยู่ให้กับครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบได้รับทราบในทุกๆ ด้าน
โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุว่า เพื่อให้มั่นใจว่าครอบครัวจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้องอย่างต่อเนื่องอย่างใกล้ชิด พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเยียวยาดูแลสภาพจิตใจของคนในครอบครัว เพื่อบรรเทาความวิตกกังวลในช่วงที่มีการประสานงานการส่งตัวกลับประเทศไทย โดยนายภูมิธรรมยืนยันว่าจะเดินหน้า พร้อมช่วยเหลือและประสานงานเพื่อให้ลูกเรือคนไทยทั้ง 4 คน ได้เดินทางกลับประเทศไทยด้วยความมุ่งมั่นอย่างเต็มกำลัง
วันเดียวกัน ที่รัฐสภา นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ กล่าวก่อนประชุมของ กมธ. กรณีปัญหาเรือประมงไทยถูกเรือรบเมียนมายิง และความคืบหน้าในการช่วยเหลือลูกเรือประมง รวมถึงวาระพิจารณากรณีปัญหาการตั้งฐานทัพว้าล้ำแดนไทย โดยมีการเชิญเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารเรือ เลขาธิการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ แม่ทัพภาคที่ 3 และเจ้ากรมแผนที่ทหาร
นายรังสิมันต์กล่าวว่า จริงๆ แล้วไม่ได้มีแค่มิติเรื่องของ 4 คน แต่มีเรื่องความเสียหาย เพราะต้องยอมรับว่าเครื่องมือที่ใช้ในการประมงมีราคาสูง เมื่อมีเหตุเช่นนี้ ต้องมาคุยกันว่าจะมีวิธีการอย่างไร ที่จะให้ชาวประมงได้รับการเยียวยา ถ้าเขาไม่ได้ทำอะไรผิดเลย อยู่ๆ ถูกยิงขึ้นมาต้องมีอะไรบางอย่างที่ต้องมาคุยกันว่าทำไมเขาถึงถูกกระทำแบบนี้ และถ้าถูกกระทำไปแล้วจะมีอะไรที่เยียวยาเขาบ้าง
นายรังสิมันต์กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ไม่ใช่แค่ประมง และคนไทยทั้ง 4 คนที่ถูกจับไป แต่รวมไปถึงบทบาทของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยต้องแสดงออกว่าเราเป็นประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตัวเอง เราเป็นประเทศที่มีอำนาจขนาดกลาง อยู่ๆ จะมายิงกันโดยมีการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถยอมรับได้
ต่อมานายรังสิมันต์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งภายหลังการประชุม กมธ.ว่า ต้องยอมรับว่ายังไม่มีความชัดเจนถึงแนวทางดำเนินการกับสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว หรือการป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ แต่สิ่งที่ต้องย้ำเตือนคือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับประมงไทย เป็นเหตุการณ์เกินกว่าเหตุมาก โดยได้รับข้อมูลว่ามีการใช้กลไกคณะกรรมการชายแดนท้องถิ่นไทย-เมียนมา หรือ TBC ในการคัดค้าน แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ใช้ความรุนแรงเช่นนี้แล้ว ตนมีความเห็นว่าไทยควรจะมีท่าทีที่ต้องเข้มแข็งมากกว่านี้ ไทยไม่สามารถยอมรับได้ เราอาจจะต้องประท้วงในลักษณะที่เข้มแข็งมากกว่านี้
ประธาน กมธ.กล่าวว่า ส่วนเรื่องความชัดเจนว่าคนไทย 4 คนจะถูกปล่อยตัวกลับเมื่อไหร่นั้น เป็นเรื่องที่ตอบยากมาก เพราะอยู่ที่ทางการเมียนมาจะส่งคนไทยให้หรือไม่ อีกทั้งเรือประมงที่ถูกยิงเสียหาย ใครจะเป็นผู้ชดใช้ค่าเสียหาย ไม่มีข้อมูลข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเรือประมง ไม่มีการเตือน หรือแจ้งล่วงหน้า แต่เป็นการยิงเข้ากลางลำเรือ อาจทำให้เกิดการเสียชีวิตได้หลักสิบถ้าไม่หนี
ผู้สื่อข่าวถามว่า อาจมีข้อมูลอื่นนอกจากเป็นเรือประมงปกติหรือไม่ ทำให้เมียนมาไม่ยอมปล่อยตัว นายรังสิมันต์กล่าวว่า มีข้อมูลในทำนองที่ทางเมียนมามองว่าลูกเรือบางคนที่เป็นคนเมียนมา อาจเกี่ยวข้องกับการต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา ไม่ทราบข้อมูลข้อเท็จจริง แต่เป็นคนละเรื่องกับลูกเรือของไทย
เขากล่าวด้วยว่า จากเดิมได้รับข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศว่า วันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ลูกเรือทั้ง 4 ควรจะได้กลับบ้าน แต่ก็ไม่ทราบสาเหตุว่าสุดท้ายเกิดอะไรขึ้น ทำไมถึงไม่สามารถกลับได้ และไม่มีคำอธิบายชี้แจงใดๆ เบื้องต้นกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่พยายามช่วยเหลือลูกเรือ ไม่ได้มีแนวทางว่าจะเพิ่มแรงกดดันไปมากกว่านี้ ไม่มีข้อมูลไหลเข้าสู่ กมธ. เรื่องแนวทางที่จะมีการยกระดับไปมากกว่านี้ ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลควรจะยกระดับเพื่อช่วยเหลือ
“ผมเห็นว่าท่าทีของรัฐบาลไทยอ่อนเกินไป ควรจะทำให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะปกป้องได้ ขณะที่ผู้ปฏิบัติงานตัดสินใจได้ระดับหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือส่วนหัวหรือรัฐบาลจะเอาอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะรัฐบาลควรต้องสร้างหลักประกันให้คนไทยว่าจะได้รับความปลอดภัย ต้องแสดงท่าทีเข้มแข็ง” นายรังสิมันต์ระบุ
นายรังสิมันต์ยังกล่าวถึงกรณีกลุ่มว้าแดงเข้ามาตั้งฐานทัพในฝั่งประเทศไทยว่า ได้รับข้อมูลในเชิงบวกว่า ฝ่ายไทยพยายามทำทุกทาง โดยเฉพาะกองทัพไทย ที่จะให้ข้อมูลในเชิงบวก แต่แน่นอนว่ายังไม่มีการการันตีหรือให้คำมั่นว่าทางกลุ่มว้าแดงจะถอนฐานทัพออกจากเขตแดนไทย เบื้องต้นทางการไทยโดยเฉพาะทางกองทัพไทยไม่อยู่เฉยในเรื่องนี้ พยายามดำเนินการทุกความเป็นไปได้ ดังนั้น ทางกรรมาธิการจึงหารือกันว่าจะให้เวลากับหน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการตามแนวทางที่ได้มีการพูดคุยกับกรรมาธิการภายในเดือนนี้ หลังจากนั้นเดือนหน้าจะติดตามว่ามีมาตรการใดเพิ่มอีกบ้าง หากทางว้าแดงไม่ถอนฐานทัพออกไป จะไปคุยกับผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกเรื่องแนวทางต่อไป
ด้านนายจุลพงศ์ อยู่เกษ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะรองประธาน กมธ.การต่างประเทศ กล่าวว่า ทางการไทยได้ขอให้เมียนมาสอบสวนเรื่องนี้ แต่จนถึงบัดนี้ทางการไทยยังไม่มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาสอบสวนว่า จริงๆ แล้วเรือประมงไทยที่ถูกทหารเรือเมียนมายิงและถูกจับไปนั้น มีการรุกล้ำน่านน้ำของเมียนมาจริงหรือไม่ หรือเหตุเกิดในน่านน้ำไทย
"หากเราไม่ตั้งคณะสอบสวนของเราเองขึ้นมา และรอฟังผลการสอบสวนของฝ่ายเมียนมา แน่นอนว่าผลการสอบสวนของพม่าย่อมต้องบอกว่าเรือประมงไทยรุกล้ำน่านน้ำของพม่าเขา ใครเขาจะมาบอกว่าเรือไทยที่ถูกยิงขณะอยู่ในเขตน่านน้ำไทย การตั้งคณะสอบสวนฝ่ายไทยก็ไม่ได้กระทบกับความปลอดภัยของลูกเรือประมงไทย 4 คนที่ยังถูกทหารพม่าจับไว้ เพราะเป็นเรื่องภายในของไทยที่เราสอบหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ ทำไมเราไม่ค้นหาข้อเท็จจริงตอนนี้ จะรออะไร” นายจุลพงศ์ย้ำ
เขากล่าวว่า อยากตั้งคำถามไปยัง รมว.การต่างประเทศว่า ทำได้แค่ลงบันทึกช่วยจำให้เมียนมาสอบสวนเรื่องนี้ และรอให้เมียนมาปล่อยคนไทยเท่านั้นหรือ จะทำอะไรในเชิงรุกที่แสดงว่ากระทรวงการต่างประเทศใช้วิธีทางการทูตที่แสดงความแข็งกร้าวที่จะไม่ยอมให้มีการละเมิดน่านน้ำไทยหรือไม่ หากทำได้แค่นี้ นายกฯ ควรต้องลงมาสั่งการเอง ให้หน่วยงานไทยภายใต้บังคับบัญชาทำงานเชิงรุกมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ต้องการให้ใช้กำลังทหาร แต่การกำหนดท่าทีและนโยบายต่างประเทศของไทยที่ไม่ชัดเจนจะก่อให้เกิดปัญหากับประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทยมาโดยตลอด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แม้วยันเกาะกูดของไทย ไม่ใช่‘ควาย’ยกให้เพื่อน
“ทักษิณ” ลั่นล้านเปอร์เซ็นต์เกาะกูดเป็นของไทย ใครจะบ้ายกให้
สจ.จอยประกาศไม่เผาศพ!
7 ผู้ต้องหาคดียิง "สจ.โต้ง" คอตกเข้าคุกเรียบร้อย
กกต.ย้ำ1ก.พ.เลือก47อบจ. พท.จ่อเคาะชื่อเก้าอี้โคราช
กกต.ย้ำเลือกตั้งนายก อบจ. 47 จังหวัด 1 ก.พ.2568
พ่อนายกฯขู่เช็กบิล! พรรคร่วมโดดประชุมครม.-นักร้อง/ขอพระเจ้าอยู่ต่ออีก17ปี
"เพื่อไทย" คึก! 3 นายกฯ ร่วมทีมขึ้นรถไฟสัมมนาพรรคที่หัวหิน "นายกฯ อิ๊งค์" ขอ สส.ไม่แบ่งขั้ว-อายุ ยอมรับ 3 เดือนโฟกัสงานรัฐบาล
'ภูมิธรรม' ห่วง 4 ลูกเรือไทย สั่งดูแลครอบครัว 'บัวแก้ว' นัดเจรจาเมียนมา 19 ธ.ค.
'ภูมิธรรม' ห่วงลูกเรือคนไทย 4 คน ที่ถูกคุมตัวอยู่จังหวัดเกาะสอง สั่งเร่งประสานช่วยเหลือครอบครัวใกล้ชิด ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศ นัดหารือฝ่ายเมียนมา 19 ธ.ค.นี้
รมช.คลังตอบชัด ปฏิรูประบบภาษี ศึกษาไร้ทิศทาง
เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน