เก้าอี้ดนตรี! "ศิริกัญญา" ตั้งกระทู้ถามปฏิรูประบบภาษีให้ "นายกฯ" ตอบ แต่ "อุ๊งอิ๊ง" ส่ง "รมว.คลัง" ตอบแทน บังเอิญ "พิชัย" ไม่ว่าง ส่งต่อให้ "รมช.คลัง" เป็นคนตอบ "จุลพันธ์" ตอบชัดเจนเป็นแนวทางศึกษา ระบุ "ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง" แค่เดินหน้า หวังว่าสุดท้ายจะได้โจทย์ที่ดีที่สุด
เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายพิชัยมอบหมายให้นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.การคลัง มาตอบกระทู้แทน
คำถามแรก น.ส.ศิริกัญญากล่าวถึงกรณีที่นายพิชัยเคยระบุในหลายวาระ ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายน เกี่ยวกับแนวคิดการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บรายได้รัฐ ซึ่งตนเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งว่า เราจำเป็นต้องมีการปฏิรูป แต่การที่นายพิชัยระบุตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง พิจารณาศึกษาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนการจัดเก็บรายได้รัฐ
โดยมีการเสนอภาษี 3 ตัว ในแนวทาง 2 ลด 1 เพิ่ม คือศึกษาการลดเงินได้นิติบุคคลลงจาก 20% เหลือ 15% และลดเงินภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากเดิมที่จัดเก็บเป็นแบบขั้นบันได เปลี่ยนมาเป็นเรตเดียวกันทั้งประเทศที่ 15% และการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม 15% เช่นเดียวกันนั้น
น.ส.ศิริกัญญาจึงสอบถามถึงวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการศึกษาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีว่า มีเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐให้มากขึ้นใช่หรือไม่ เพื่อให้สอดคล้องกับที่เคยกล่าวไว้, จะจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้นเท่าไหร่, เมื่อมีการปฏิรูปแล้ว รายได้รัฐจะเพิ่มขึ้นเท่าไหร่หากเทียบกับจีดีพี, ได้ให้ตุ๊กตากับหน่วยงานไปศึกษาอัตราที่ควรจะเป็น คือ 15% ของภาษีทั้ง 3 ตัวใช่หรือไม่, ตัวเลข 15% นี้มาอย่างไร ภายใต้แนวคิดอะไร, ได้ให้นโยบายเรื่องการกระจายภาระภาษี จากการปฏิรูปไว้อย่างไร, ได้ตั้งโจทย์ไว้หรือไม่ว่า ใครควรจะต้องรับภาระภาษีจากการปฏิรูปครั้งนี้มากที่สุด และใครควรที่จะได้รับการลดภาษีลง
คำถามที่สอง หากการจัดเก็บรายได้ให้มากขึ้น โดยที่กระทบกับประชาชนน้อยที่สุดนั้น จริงๆ ก็เป็นแนวทางที่ดี แต่วิธีการที่เลือกในการลดภาษีนิติบุคคลลง หากจะลดเหลือ 15% ได้มีการคำนวณไว้หรือไม่ว่า ทุกๆ เปอร์เซ็นต์ที่ลดลง จะทำให้รายได้ของรัฐบาลลดลงเท่าไหร่
จากนั้น นายจุลพันธ์ลุกขึ้นชี้แจงว่า กระทรวงการคลังศึกษาการปฏิรูปภาษีอย่างจริงจัง รวมถึงแนวความคิดในการเดินหน้า ภาษีชดเชยให้กับผู้ยากไร้ เรียกว่าสวัสดิการถ้วนหน้าผ่านทางโครงสร้างภาษี เรามีปัญหาในเรื่องโครงสร้างภาษีมาอย่างยาวนาน การจัดเก็บรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP 14% เศษ ซึ่งต่ำกว่ามาตรฐานของโลกค่อนข้างมาก ที่เฉลี่ยจะตกอยู่ที่ 18% สิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้ถึงตัวเลขที่เราต้องการ มาจากการลดหย่อนหลายเรื่อง รวมถึง VAT ภาษีเงินได้ประเภทต่างๆ มันผูกพันกันจนเป็นใยเดียวกัน จึงต้องมาศึกษาอย่างจริงจัง เพื่อให้รัฐจัดเก็บรายได้มากขึ้น และเกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ที่จะมีความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งต้องกระทบกับประชาชนให้ได้น้อยที่สุด
นายจุลพันธ์ชี้ว่า ตัวเลขไม่มีการตั้งเป้าหรอกว่าเป็นเท่าไหร่ แต่แนวความคิดที่มีการพูดคุยกัน ตัวเลข 15% ก็เป็นไปได้ ว่ามีการพูดคุยกันในระดับนานาชาติ เช่น OECD มีการพูดถึงภาษีนิติบุคคล 15% เป็นขั้นต่ำ โดยหลักคิดทุกประเทศไม่ควรมีการแข่งขันกันในเรื่องลดอัตราภาษีอีกต่อไปแล้ว ในอดีตแข่งกันลดราคา ลดหย่อน สุดท้ายไม่มีรายได้เข้ารัฐพอที่จะนำไปพัฒนาประเทศพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
ดังนั้น วันนี้จึงมีเกณฑ์ขึ้นมาว่า ทุกประเทศมีการเก็บภาษีขั้นต่ำ 15% สุดท้ายคงเป็นทิศทางของโลกที่จะต้องไหลเข้าสู่ตัวเลขนี้โดยอัตโนมัติ เพื่อให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันได้ เราก็คิดว่า 15% เป็นหนึ่งในตัวเลือกเท่านั้นเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าสุดท้ายจะต้องดึงตัวเลขทั้งหมดเข้ามาอยู่ที่ 15% ทั้งหมดทั้งมวลอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา ท่านก็รู้ว่ากระบวนการเรื่องภาษีไม่สามารถเปลี่ยนแบบพลิกฟ้าพลิกดินได้ มันมีเรื่องของระยะเวลา
นายจุลพันธ์แนะนำว่า ให้ถอยมาหนึ่งก้าว แล้วท่านจะมองเห็นภาพใหญ่ว่า กลไกในการเดินหน้าในเรื่องของการปรับโครงสร้างภาษี มันไม่ได้มีเพียงเรื่องเดียว ใจอยากให้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่กลไกบังคับใช้ไม่ได้เกิดประสิทธิภาพเพียงพอ
นายจุลพันธ์ระบุว่า เรากำลังจะเข้าร่วม OECD ถือเป็นโอกาสของประเทศไทย ก่อนจะย้ำว่า ประเทศไทยไม่ได้เก็บภาษีแบบแนวระนาบ แต่เป็นภาษีแบบคนรวยจ่ายมากกว่าคนจน วันนี้โลกมันต่อกันทั้งหมดแล้ว ไม่มีรอยตะเข็บ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการกำหนดอัตราภาษี อย่างไรก็ตาม จะต้องคำนึงถึงความสามารถในการแข่งขันผลกระทบกับประเทศที่มีความเกี่ยวเนื่อง ทั้งเรื่องการแข่งขันทางการค้า คู่ค้า เพื่อจะกำหนดให้เป็นอัตราที่มีความเหมาะสม
“ไม่มีโจทย์ ไม่มีเป้า ไม่มีธง เราก็จะเดินหน้าไป หวังว่าสุดท้ายเราจะได้โจทย์ที่ดีที่สุด และสุดท้ายกลไกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ก็มีโอกาสกลับมาถก มาหารือกันในสภาผู้แทนราษฎรและรัฐสภาอีกอยู่ดี ท่านคงได้มีโอกาสพูดคุยกับผมอีกครั้งหนึ่ง” นายจุลพันธ์กล่าว
น.ส.ศิริกัญญาถามคำถามที่สามว่า รัฐบาลและกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะศึกษาการนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้จริงหรือไม่ หากจะนำมาใช้จริง ก็ช่วยอธิบายให้ฟังหน่อยว่า สภาพคล่อง 4-5 ล้านล้านบาทนั้น จะเอามาจากส่วนไหน เพราะหากจะนำเงินดอลลาร์ซึ่งเป็นเงินตราระหว่างประเทศมาแลกกลับเป็นเงินบาท ตนรับรองว่าการที่รัฐมนตรีกระทรวงการคลังอยากให้เงินบาทแข็งได้แน่นอน ถ้าจะแลกออกมามากขนาดนั้น
นายจุลพันธ์จึงลุกขึ้นและกล่าวติดตลกว่า “เอาใจท่านยากพอสมควร พอตอบว่ามีธง มีเป้าหมาย แล้วท่านก็จะมาอีกวิธีหนึ่ง ก็เลยบอกว่าไม่มีธง เพราะเปิดการศึกษาให้เป็นอิสระ”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตลอดการถามกระทู้ น.ส.ศิริกัญญามีสีหน้าตั้งใจฟังนายจุลพันธ์อย่างเคร่งเครียด และมีการทวนคำพูดนายจุลพันธ์ไปด้วย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!
"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย
‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา
กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ
เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่
"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน
‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’
ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ
กฤษฎีกายี้กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
จับตา ครม.ถกร่าง กม.เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ 13 ม.ค.นี้
กสม.ตบปากทักษิณ ซัดปราศรัยเหยียดเชื้อชาติ/‘พท.’ชง‘ลูกอิ๊งค์’คุยพ่อลดดีกรี
"ประธาน กกต." ลั่นพร้อมดูแลเลือกตั้งนายก อบจ. 1 ก.พ.แล้ว