คิกออฟแพ็กเกจแก้หนี้ ลุ้นบอร์ดขึ้นค่าแรง400

นายกฯ เผยข่าวดี ครม.คลอดชุดใหญ่แก้หนี้ครัวเรือน "คลัง-แบงก์ชาติ" แท็กทีมแบงก์รัฐ-แบงก์พาณิชย์ คิกออฟ "โครงการคุณสู้  เราช่วย ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว" อุ้มลูกหนี้ 2  ล้านราย เฉียด 9 แสนล้านบาท ธ.ก.ส.ดีเดย์ 16 ธ.ค. โอนเงินไร่ละพัน “พิพัฒน์” ลุ้นถกบอร์ดไตรภาคี ไฟเขียวขึ้่นค่าแรง 400 ทันเป็นของขวัญปีใหม่แน่ “พิชัย” ยันเงินหมื่นเฟส 2 แจกทันตรุษจีน ขอเวลาเช็กคุณสมบัติ “กิตติรัตน์”

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ถือว่าเรื่องนี้เป็นข่าวดี มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอื่นของสถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อให้แก้ไขปัญหาหนี้สินโดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนขึ้น โดยในวันที่ 12 ธ.ค. ในการแถลงนโยบายรัฐบาล 90 วัน  จะมีเรื่องดังกล่าวด้วย

ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.ได้พิจารณาเรื่องที่กระทรวงการคลังเสนอเพื่อให้การช่วยเหลือและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ ดังนี้ 1.มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs ประกอบด้วย มาตรการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดภาระดอกเบี้ยโดยการเน้นตัดต้นเงินลูกหนี้และประเภทสินเชื่อ 3 ประเภท (สัญญาสินเชื่อที่ทำขึ้นก่อนวันที่ 1 ม.ค.2567) ประเภทสินเชื่อ วงเงินรวมต่อสถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อบ้าน/สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน ไม่เกิน 5 ล้านบาท, สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และ/หรือสินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ ไม่เกิน 800,000 บาท  ไม่เกิน 500,000 บาท, สินเชื่อธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีสถานะเป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น ลดภาระการผ่อนชำระค่างวด ระยะเวลา 3 ปี โดยในปีที่ 1, ปีที่ 2 และปีที่ 3 ชำระค่างวดร้อยละ 50, 70 และ 90 ตามลำดับ ตามค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้นทั้งหมดเพื่อให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น และดอกเบี้ยจะพักการชำระไว้ในช่วงระยะเวลามาตรการ

ส่วนมาตรการลดภาระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ ที่ถูกจัดชั้นเป็น NPLs ที่มียอดหนี้ไม่สูง เช่น ลูกหนี้ และประเภทสินเชื่อ เป็นลูกหนี้บุคคลธรรมดาที่เป็น NPLs และมีภาระหนี้คงค้างไม่เกิน 5,000 บาท (ครอบคลุมสินเชื่อทุกประเภทที่กู้ในนามบุคคลธรรมดา) นอกจากนี้ ยังมีรูปแบบการให้ความช่วยเหลือและเงื่อนไข เช่น การปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลดภาระให้ลูกหนี้จ่ายชำระร้อยละ 10 ภาครัฐรับภาระร้อยละ 45 และสถาบันการเงินรับภาระร้อยละ 45 ของภาระหนี้คงค้าง ทั้งนี้ แหล่งเงินของทั้ง 2 มาตรการ มาจากเงินนำส่งเข้า FIDF ของ ธ.พาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินฯ)  จำนวน 39,000 ล้านบาท, เงินงบฯ ตาม ม.28 เพื่อชดเชยให้ SFIs 6 แห่ง จำนวน 38,920 ล้านบาท, มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ของ Non-banks โดยขยายการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปยังลูกหนี้ของ Non-banks

สำหรับคุณสมบัติลูกหนี้ และประเภทสินเชื่อ 5 ประเภท (สัญญาสินเชื่อทำขึ้นก่อน 1 ม.ค.67) ในประเภทสินเชื่อวงเงินรวมไม่เกิน 1.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์ 800,000 บาท 2.สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ 50,000 บาท 3.สินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ 100,000 บาท หรือ 200,000 บาท 4.สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล 20,000 บาท 5.สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ ส่วนรูปแบบการช่วยเหลือ เช่น ลดภาระการผ่อนชำระค่างวดเป็นร้อยละ 70 ของค่างวดก่อนเข้าร่วมมาตรการระยะเวลา 3 ปี ลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 จากอัตราดอกเบี้ยก่อนเข้าร่วมมาตรการตลอดระยะเวลา 3 ปี โดยแหล่งเงิน ธนาคารออมสิน ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่ Non-banks อัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี วงเงิน 50,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี โดยรัฐบาลชดเชยต้นทุนเงินในอัตราร้อยละ 2 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี งบฯ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาท

2.มาตรการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพิ่มเติมของ SFIs มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมสำหรับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางอื่นๆ เช่น เกษตรกร ผู้ประกอบการหาบเร่แผงลอย ซึ่งจะไม่ซ้ำซ้อนกับกลุ่มลูกหนี้ ตามมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและผู้ประกอบการ SMEs และครอบคลุมลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดี เพื่อสร้างแรงจูงใจในการรักษาวินัยทางการเงินของลูกหนี้

ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวในงานเปิดตัวโครงการ “คุณสู้ เราช่วย ปิดหนี้ได้ไว ไปต่อได้เร็ว” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีว่า กระทรวงการคลัง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)  สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงินบางแห่ง ได้ร่วมกันผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและเอสเอ็มอีเฉพาะ ได้แก่ 1.มาตรการ "จ่ายตรง คงทรัพย์" และ 2.มาตรการ "จ่าย ปิด จบ" โดยมียอดหนี้ที่เข้าเกณฑ์โครงการประมาณ 2 ล้านบัญชี  คิดเป็นมูลหนี้ 8.9 แสนล้านบาท

สำหรับแหล่งเงินของทั้ง 2 มาตรการ มาจาก 1.เงินนำส่งเข้า FIDF ของธนาคารพาณิชย์ (ที่ได้รับการละเว้นจากการปรับลดอัตรานำส่งเงินฯ) จำนวน 3.9 หมื่นล้านบาท และ 2.เงินงบประมาณตามมาตรา 28 เพื่อชดเชยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6 แห่ง จำนวน 3.89 หมื่นล้านบาท รวมเป็นปีละราว 7.8 หมื่นล้านบาท และตลอด 3 ปี อยู่ที่กว่า 2 แสนล้านบาท โดยจะเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนทางเว็บไซต์ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค.2567-28 ก.พ.2568

หลังจากนี้จะเร่งเข้าไปดูแลในส่วนของลูกหนี้นอนแบงก์ นาโนไฟแนนซ์ ซึ่งมีมูลหนี้ต่อรายไม่เยอะ ราว 2 หมื่นบาทถึง 1 แสนบาท โดยจะมีการพิจารณาเรื่องแฮร์คัตให้ด้วย

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า  โครงการนี้มี 2 จุดสำคัญที่ต่างจากที่ผ่านมา คือ การปรับโครงสร้างหนี้ที่เน้นตัดเงินต้น และลดภาระผ่อนในช่วง 3 ปี เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกหนี้ และการร่วมสมทบเงินจากภาครัฐและสถาบันการเงินเพื่อช่วยลดภาระลูกหนี้ ซึ่งความสำเร็จของโครงการนี้ ถือเป็นความร่วมมือจากทั้งลูกหนี้ภาครัฐและเจ้าหนี้ในการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ในฐานะประธานกรรมการสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ กล่าวว่า ขณะนี้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐอยู่ระหว่างการหารือกับ ธปท.และกระทรวงการคลัง ในการให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมลูกหนี้กลุ่มนอนแบงก์ ซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับลูกหนี้ของโครงการนี้

วันเดียวกัน นายพิชัย​ ชุณหวชิร​ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.การคลัง กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท เฟส 2 ในกลุ่มผู้สูงอายุว่า​ เรื่องนี้กำลังจะพิจารณาดูว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะนี้มีการยื่นเรื่องมายังตนได้พิจารณา​ในหลายทางเลือก

ผู้สื่อข่าวถามว่า การดำเนินโครงการในเฟสต่อๆ ไป จะมีเงินในการดำเนินโครงการหรือไม่​  นายพิชัยถึงกับหัวเราะก่อนระบุว่า “เราจัด​ ก็ต้องมีเงินสิครับ” เมื่อถามว่า จะเห็นการดำเนินการในเฟสจะต่อๆ ไป​ ไม่แท้งใช่หรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า​ ยังเดินต่อและเดินอยู่

นายพิชัยยังกล่าวถึงความคืบหน้าการตั้งประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (บอร์ด ธปท.) ซึ่งยังมีข้อถกเถียงเรื่องคุณสมบัติของนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เพราะเคยเป็นประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการแก้หนี้นอกระบบว่า เนื่องจากมีนโยบายว่าจะส่งใครเข้าที่ประชุม ครม. ต้องตรวจคุณสมบัติอีกรอบ ดังนั้น เราต้องตรวจสอบกันอีกครั้ง เรื่องนี้มีกรอบระยะเวลากำหนดอยู่ ช่วงกลางเดือน ม.ค.68

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า โครงการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ยังไม่เข้าที่ประชุม ครม.วันนี้  แต่ยืนยันว่ายังเป็นไปตามกรอบเวลา คือภายในวันที่ 29 ม.ค.68 โดยอยู่ระหว่างการจัดทำเอกสารทางราชการ ไม่ได้ติดขัดปัญหาเรื่องข้อกฎหมาย เพียงแต่เป็นการทำกระบวนการให้ครบถ้วน รวมถึงการรอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ  

นายจุลพันธ์กล่าวถึงการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ ว่าหลังจากมติ ครม.วันที่ 3 ธ.ค.67 ทางธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ออกเงินให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว จำนวน 4.3 ล้านรายเศษ งบประมาณทั้งสิ้น 35,000 ล้านบาท โดยจะเริ่มโอนเงินวันจันทร์ที่ 16 ธ.ค.นี้ และใช้เวลา 5 วัน ในการดำเนินการให้ครบถ้วน ซึ่งวันที่ 16 ธ.ค.จะเป็นการโอนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวภาคเหนือ, วันที่ 17 ธ.ค. ภาคกลางและภาคตะวันออก, วันที่ 18 ภาคอีสานตอนบน, วันที่ 19 ธ.ค. ภาคอีสานตอนล่าง และวันที่ 20 ธ.ค. ภาคตะวันตกและภาคใต้

 นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง หรือบอร์ดไตรภาคี เพื่อพิจารณาขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ในวันที่ 12 ธ.ค. ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบของบอร์ด จะนำเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ต่อไป ยืนยันว่าทันเป็นของขวัญปีใหม่ เพราะได้หารือกับปลัดกระทรวงแรงงานเป็นที่เรียบร้อย ส่วนกรณีฝ่ายนายจ้างยืนยันไม่อยากให้ขึ้นค่าแรงตอนนี้นั้น ค่าแรงขั้นต่ำต้องขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล เรามีวิธีการแนะแนวทางที่จะทำให้กระทบต่อเศรษฐกิจน้อยที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ ลงพื้นที่จชต. ยันไม่สู้เรื่องความรุนแรง แต่ต้องไปแก้ปัญหาหลายด้าน

นายกฯ บอกอย่ามองเหตุไม่สงบ ก่อนลงพื้นที่จชต. เป็นสัญลักษณ์ถึงรัฐบาล ยันไม่สู้เรื่องความรุนแรง แต่ต้องไปแก้ปัญหาทุกเรื่อง ชี้ เราโตช้า พร้อมซัพพอร์ตทุกจว.ให้สงบ