พท.ถอยยึดกองทัพ ถอนกม.ผวาสุดซอยสังคมแตกแยก

"วันนอร์" อยากเห็นบทบัญญัติลงโทษผู้กระทำรัฐประหาร ชี้ทำได้จริง ปชช.ยอมรับ  "หัวเขียง" แบะท่าถอยร่าง กม.สกัดปฏิวัติ เล็งขอมติพรรค พท. ดึงกลับไปแก้ไขใหม่ หลังพรรคร่วม รบ.ไม่เอาด้วย รับทำใจไปไม่สุดซอย ยันไม่คิดแทรกแซงกองทัพ "รทสช." ย้ำจุดยืนการเมืองต้องไม่แทรกแซงกองทัพ "พริษฐ์" ยุ "เพื่อไทย" จับมือ "ปชน." ดันร่างจัดระเบียบกลาโหมผ่านฉลุยวาระแรก บอกไม่หวั่น สว.ตีตกก็แค่ยืดเวลา  180 วัน

ที่รัฐสภา วันที่ 10 ธันวาคม 2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร  กล่าวในงานเสวนาวิชาการวันรัฐธรรมนูญ  ประจำปี 2567 ในหัวข้อ "อนาคตรัฐสภาไทย" ว่า  อยากเห็นรั้วในการป้องกันการรัฐประหาร โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ก็น่าจะมีบทบัญญัติในการลงโทษผู้ที่กระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือปฏิวัติฉีกรัฐธรรมนูญ และขอให้บทบัญญัตินั้นนำไปสู่การปฏิบัติและใช้ได้ ไม่ใช่แค่การเขียนตัวหนังสือเพียงอย่างเดียว

ถามว่า หลักการดังกล่าวจะสอดคล้องกับการแก้กฎหมายของกระทรวงกลาโหมที่พรรคเพื่อไทยเสนอไว้ด้วยหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เป็นคนละส่วนกัน การแก้กฎหมายว่าด้วยการบริหารกระทรวงกลาโหม เป็นเรื่องของพรรคการเมืองหรือ สส.ที่จะเสนอมา แต่สิ่งที่ตนพูดเนื่องในวันรัฐธรรมนูญ คือการไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับที่เราเสียเวลาที่จะแก้ไข และไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ควรจะสำเร็จ และหากสำเร็จแล้ว ก็ควรมีมาตรการป้องกันไม่ให้รัฐธรรมนูญนั้นถูกฉีกอีก

"เดิมทีเรามีบทลงโทษที่รุนแรงว่าการฉีกรัฐธรรมนูญเท่ากับกบฏ แต่ไม่ได้ผลในด้านการปฏิบัติ ซึ่งบทบัญญัติเหล่านี้จะต้องสอดคล้องกับการปฏิบัติ และประชาชนยอมรับ จึงต้องเอาทุกฝ่ายมาคุยกัน โลกมันเปลี่ยนแปลงไปเยอะ เราต้องยอมรับ หากประเทศไทยจะอยู่อย่างนี้โดยไม่เปลี่ยนแปลง ประชาธิปไตยของเราก็คงจะล้าหลังมาก" ประธานสภาฯ กล่าว

ขณะที่ นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ..... กล่าวถึงเสียงคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มีเนื้อหาให้อำนาจ ครม.พิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลเพื่อสกัดการรัฐประหารว่า จากการรับฟังความเห็นของประชาชนในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ตามมาตรา 77  ของรัฐธรรมนูญ ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีเสียงคัดค้านจำนวนมาก ดังนั้นในวันที่ 12 ธ.ค.  ที่มีการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะมีการประชุมพรรคเพื่อไทยในช่วงเช้า จะเสนอต่อพรรคเพื่อขอถอนร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม กลับไปปรับปรุงแก้ไขใหม่

"ถ้าพรรคอนุญาต จะไปขอถอนร่างต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันเดียวกันทันที เพราะเป็นกฎหมายที่ผมและคณะเป็นผู้เสนอในนามส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นพรรคเพื่อไทย ในการรับฟังความเห็นของประชาชนตามมาตรา 77 ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย ก็ไม่สามารถบรรจุวาระเข้าสภาได้ ส่วนจะปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ขอรอดูความเห็นประชาชน ที่จะสิ้นสุดการรับฟังความเห็นตามมาตรา 77 ในวันที่ 1 ม.ค.2568 ก่อน" นายประยุทธ์กล่าว

ถามว่า จะทบทวนกรณีให้ ครม.มีส่วนร่วมการแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลหรือไม่ เพราะถูกมองว่าเป็นการแทรกแซงกองทัพ นายประยุทธ์กล่าวว่า ขอรอฟังความเห็นประชาชนให้สิ้นสุดก่อน ถึงจะรู้ต้องแก้ไขประเด็นใดบ้าง ถ้าสังคมมองว่า ครม.ควรถอย ก็ต้องรับฟัง ดันทุรังไปแล้วก็เสนอกฎหมายไม่ได้อยู่ดี ยืนยันกฎหมายดังกล่าวไม่ได้แทรกแซงกองทัพ เนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ที่ให้ ครม.มีส่วนร่วมพิจารณาแต่งตั้งนายพล ไม่ได้แทรกแซงกองทัพ การเสนอแต่งตั้งทหารระดับนายพลจะดำเนินการโดยคณะกรรมการของส่วนราชการนั้นๆ เป็นผู้เสนอชื่อนายพลตามหลักเกณฑ์กระทรวงกลาโหม จากนั้นจึงจะเสนอให้ ครม.พิจารณา

'หัวเขียง' ถอยร่างสกัดปฏิวัติ

"ทุกอย่างมีระเบียบกระทรวงกลาโหมควบคุมขั้นตอนแต่งตั้ง ไม่ใช่ ครม.แต่งตั้งเอง หรือกรณีการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของ ครม. มีอำนาจสั่งให้นายทหารยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวได้ หากกระทำการนอกเหนือจากการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเพื่อสกัดการรัฐประหารนั้น ก็ไม่ใช่ปมด้อยกฎหมายฉบับนี้ แต่เป็นการใช้อำนาจยับยั้งการรัฐประหาร เหมือนที่ สส.เกาหลีใต้ใช้อำนาจยับยั้งการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี หลายประเทศมีมาตรการเข้มข้นสกัดการยึดอำนาจ  อย่างไรก็ตาม เมื่อมีเสียงคัดค้านมาก ก็ต้องนำมาปรับปรุง จากที่หวังไว้ 100% ถ้าได้มาสัก 30-50% ก็คงพอใจแล้ว แต่คงไปสุดซอยไม่ได้แล้ว" นายประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ก็ไม่เอาด้วยกับร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม มองแค่การเมืองไม่โกงก็ไม่เกิดรัฐประหาร สส.พรรค พท.รายนี้ระบุว่า เรามีเจตนาอยากให้พรรคการเมืองได้มีบทบาทในการร่วมสกัดรัฐประหาร แต่เมื่อพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย ก็ต้องนำมาทบทวนใหม่  การที่หลายส่วนมองว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สามารถสกัดการยึดอำนาจได้ เป็นความเห็นแต่ละคน ส่วนตัวมองว่าช่วยป้องกันได้ระดับหนึ่ง เหมือนที่เกาหลีใต้ ที่ให้สภามีส่วนร่วมการยับยั้งการใช้อำนาจที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย

ซักว่าเกรงการเดินหน้าเสนอกฎหมายฉบับนี้จะสร้างความขัดแย้งระหว่างพรรค พท.กับกองทัพหรือไม่ นายประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ได้กลัวขัดแย้งกับกองทัพ แต่ต้องเคารพเสียงของสังคม ถ้าสังคมไม่เอาด้วย ต้องนำกลับมาทบทวนใหม่

ส่วน น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรค พท. กล่าวถึงจุดยืนพรรค พท.ต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า ในกระบวนการพิจารณาเสนอร่างกฎหมายใดๆ ของพรรค เรามีคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องกฎหมาย สส.มีอำนาจในการเสนอกฎหมายที่ตนเองสนใจและร่างขึ้นมา โดยเป็นการพิจารณาตามหลักการและเหตุผลว่าถูกต้องตามระเบียบหรือไม่ แต่ร่างไหนจะนำเข้าสู่สภา จะต้องได้รับการรับรองจากที่ประชุมพรรค ซึ่งจะมีการประชุมกันในวันที่ 12 ธ.ค. จะเป็นจุดเริ่มต้นว่าจะเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้หรือไม่ แต่จะผ่านหรือไม่นั้น  ขึ้นอยู่กับที่ประชุมพรรค

"สส.พรรคเพื่อไทยหลายคนเพิ่งทราบว่าจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ดังนั้นคงจะต้องมีการถกเถียงพูดคุยกันเพื่อให้ได้มติ ซึ่งมี สส.ที่ทั้งเห็นต่างและเห็นด้วย เมื่อเทียบกับร่างฉบับนี้ต่างกับร่างของนายสุทิน คลังแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. และอดีต รมว.กลาโหม ที่เคยเสนอไว้อย่างมีนัยสำคัญในหลายประเด็น ซึ่งจะต้องมีข้อถกเถียงกันใน สส.พรรค และค่อยลงมติร่วมกันว่าเห็นเป็นอย่างไร แต่ถึงอย่างไรในกระบวนการ  เมื่อเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ก็จะเคารพในเสียงของพรรค" น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าว

ถามถึงกรณีนายประยุทธ์ยอมให้มีการทบทวน แต่ไม่ยอมให้มีการถอนร่าง จะนำไปสู่ความขัดแย้งพรรค พท.หรือไม่ รองเลขาฯ พรรค พท.กล่าวว่า กระบวนการพิจารณา สส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ เมื่อมติพรรคเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไรก็จะเคารพในมติ และคิดว่าการพูดคุยกันด้วยเหตุผลน่าจะมีคำตอบที่ชัดเจน ไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง

เมื่อถามว่า ขณะนี้รัฐบาลมีเสถียรภาพอยู่แล้ว แต่การนำร่าง พ.ร.บ.นี้ขึ้นมา จะเป็นปัญหาในการทำงานของรัฐบาลหรือไม่ เพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย รองเลขาฯ พรรค พท.กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เป็นปัญหากับการทำงานร่วมกันของรัฐบาล ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลมีจุดยืนอย่างไร เราเคารพ แต่เรื่องนี้จะต้องเป็นมติภายในพรรคเพื่อไทย ว่าจะเห็นด้วยกับกฎหมายนี้หรือไม่ ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับพรรคอื่น ฉะนั้นพรรคอื่นก็มีสิทธิ์แสดงจุดยืนได้ และมีกฎหมายหลายฉบับที่พรรค  พท.กับพรรคร่วมรัฐบาลเห็นต่างกัน แต่เรายังร่วมรัฐบาลกันได้ ในมุมผลักดันเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า อย่างไรก็ตาม หากเสียงส่วนใหญ่ของ สส.พรรค พท.เห็นด้วย ก็จะผลักดันเข้าสู่สภา แต่ถึงอย่างไรต้องรอฟังจากที่ประชุมอีกครั้ง

ปชน.ยุ 'พท.' จับมือดันผ่านแน่

ด้านนายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในฐานะโฆษกพรรค รทสช. กล่าวว่า ในการเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว ได้เคยมี สส.ฝ่ายค้านยื่นเรื่องร่างกฎหมายเพื่อจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมมาแล้วในสภา ขณะนั้น ครม.ได้รับไปพิจารณาแล้วมีความเห็นว่าให้ชะลอไว้ก่อน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาว่าการแก้ไขดังกล่าวเหมาะสมกับสถานการณ์หรือไม่  อย่างไร เนื่องจากเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญ มีความละเอียดอ่อน ส่งผลกระทบกับหลายภาคส่วน ในการเข้าไปแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบหรือกฎเกณฑ์ในกระทรวงกลาโหม จึงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และที่สำคัญกองทัพถือเป็นสถาบันหลักของชาติที่เกี่ยวกับความมั่นคง จะต้องกระทำด้วยความรอบคอบ

"พรรค รทสช.เคยหยิบยกเรื่องนี้เข้ามาหารือในที่ประชุมสภา และ สส.ของพรรคได้มีความมติในเบื้องต้นว่าไม่เห็นด้วยในการรับร่างของ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ ของพรรคก้าวไกลในสมัยนั้น ซึ่งไม่เห็นด้วยในรายละเอียดหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกองทัพ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของสภากลาโหม" นายอัครเดชกล่าว

ถามว่า ในกรณีการยื่นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ.... ของพรรคเพื่อไทย พรรค รทสช.มีความเห็นอย่างไร โฆษกพรรค รทสช.กล่าวว่า หากมีรายละเอียดที่มีความคล้ายคลึงกับร่างกฎหมายของพรรคฝ่ายค้านที่เคยยื่นมาแล้ว โดยให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกองทัพ พรรค รทสช.ขอยืนยันมติพรรค ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่ต้องการให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงกิจการกระทรวงกลาโหม

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ อดีตโฆษกพรรค พท. กล่าวว่า พ.ร.บ.สภากลาโหมดังกล่าว ทำให้เกิดความแตกแยก เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ขยายเป็นวงกว้างเพิ่มขึ้น และน่าจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมได้ พรรค พท.ควรจับลำดับความสำคัญของการทำงาน

"ผมชี้แนะให้ สส.ไปตรวจดูนโยบายอะไรที่เกี่ยวข้องกับงานในสภา ที่เกี่ยวกับปากท้องประชาชน ไม่เช่นนั้นเที่ยวหน้าจะเอาอะไรหาเสียงกับประชาชน" นายพร้อมพงศ์ระบุ

อย่างไรก็ตาม นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวว่า ในมุมมองของพรรค ปชน. หรืออดีตพรรคก้าวไกล การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวเป็นกุญแจดอกสำคัญในการปฏิรูปกองทัพภายใต้รัฐบาลพลเรือน ตามหลักการประชาธิปไตยและมาตรฐานสากล ซึ่งร่างของพรรค พท. ใจความของตัวร่างสอดคล้องกับพรรค ปชน. อาจมีรายละเอียดแตกต่างกันบ้าง แต่ในภาพรวมคือพยายามปรับให้กองทัพอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือนมากขึ้น ตนเข้าใจว่าอาจมีร่างของคณะรัฐมนตรี ก็เป็นสิทธิ์ของแต่ละพรรคการเมืองว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย

"ถ้าดูตามคณิตศาสตร์ทางการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร หากพรรค ปชน.กับพรรค พท.จับมือกันแน่น รวมกันแล้วก็มี สส.ถึง 290 คน ก็สามารถผลักดันให้ทุกร่างผ่านความเห็นชอบของสภาได้ในวาระที่ 1 คือชั้นรับหลักการ จากนั้นค่อยไปถกกันในชั้นกรรมาธิการ จึงเชื่อว่าการที่บางพรรคไม่เห็นด้วย ก็ไม่เป็นอุปสรรคที่พรรค พท.และพรรค ปชน.จะโหวตเห็นชอบในร่างของตัวเองเพื่อให้ผ่านวาระที่ 1 ไป จึงขอเชิญชวน สส.รัฐบาลร่วมกันโหวต" นายพริษฐ์กล่าว

ถามว่า ร่างผ่านความเห็นชอบจากสภา แต่อาจจะไม่ผ่านในชั้นวุฒิสภา สส.พรรค ปชน.รายนี้ระบุว่า อำนาจของวุฒิสภา ณ ปัจจุบัน ถ้าเป็นการแก้ไขระดับ พ.ร.บ.ไม่สามารถขัดขวางกฎหมายได้ ทำได้มากที่สุดเพียงแค่ชะลอไป 180 วัน เหมือนกฎหมายประชามติ ซึ่งอาจทำให้กรอบระยะเวลาต้องเพิ่มออกไป แต่ถ้าเสียงของสภาเกินกึ่งหนึ่ง ยืนยันว่าจะแก้ไขร่างก็สามารถทำได้.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย