เร่งตั้ง‘สสร.’ให้ทันปี70

รัฐสภาจัดงานวันรัฐธรรมนูญคึกคัก  แต่พรรคประชาชนเมินเข้าร่วม “วราวุธ” แนะเร่งผุด ส.ส.ร.ให้ได้ก่อน พ.ค.2570 “โภคิน” ชงแก้ตั้งแต่หมวด 3 เชื่อจะทำให้ง่ายขึ้น “วันนอร์” รับอยากให้นายกฯ-ครม.ให้ความสำคัญสภามาตอบกระทู้ “สมคิด” โวนายกฯ  อิ๊งค์มาแน่ แต่รอจังหวะเหมาะสม “จตุพร” ประเมินรัฐบาลเพื่อไทยนับถอยหลังแล้ว ชี้ “สนธิ” มายื่นหนังสือต้าน MOU 44 คนเชียร์เป็นพันเป็นสัญญาณ พท.จัดสัมมนา 3 นายกฯ ขึ้นรถไฟร่วมงาน

เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2567 รัฐสภาจัดงานฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญ ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิด สู่รัฐธรรมนูญในฝัน ซึ่งมีกิจกรรมมากมายตลอดทั้งวัน โดยช่วงเช้ามีพิธีสวดเจริญพระพุทธมนต์ฉลองรัฐธรรมนูญ จากนั้นมีพิธีวางพานประดับพุ่มดอกไม้ ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าพิพิธภัณฑ์รัฐสภา โดยมีบรรดานักการเมือง พรรคการเมืองแทบทุกพรรคเข้าร่วม ยกเว้นพรรคประชาชน ไม่ได้ส่งตัวแทนมาเข้าร่วม ต่อมาในช่วงบ่าย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา เปิดงานวันรัฐธรรมนูญ 2567 สู่รัฐธรรมนูญในฝัน

นายวันมูหะมัดนอร์ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) เสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงร่างเดียว  เพื่ออย่างน้อยจะได้เป็นการประกาศรัฐบาลทำเรื่องนี้เต็มที่แล้ว ว่าในฐานะประธานรัฐสภา คงไปเห็นด้วยอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งเรื่องกฎหมายหรือเรื่องรัฐธรรมนูญ คงไม่เหมาะ ซึ่งขณะนี้มีร่างพระราชบัญญัติแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ถูกบรรจุลงระเบียบวาระแล้ว 17 ฉบับ ซึ่งยังไม่มีฉบับใดที่แก้ไขทั้งฉบับ และหากไม่มีการเสนอแก้ไขทั้งฉบับเข้ามา ก็ต้องพิจารณาแก้ไขรายมาตราตามที่บรรจุไว้

 “ในการเปิดประชุมสภาวันที่ 12 ธ.ค. ต้องถามวิปทั้งสามฝ่ายว่า หากไม่มีการแก้ทั้งฉบับแล้ว ร่างที่เสนอแก้รายมาตราทั้งหมดนั้น ฉบับไหนจะเป็นฉบับที่จำเป็นต้องแก้ก่อนหลัง ซึ่งคงต้องทำภายในเดือนธันวาคม เพราะมีวาระที่ต้องพิจารณาคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  ที่ต้องให้สภาพิจารณาให้เสร็จสิ้นภายใน 60 วัน  และมีกฎหมายที่เกี่ยวกับอำนาจของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) รวมถึง พ.ร.ป.อื่นๆ ดังนั้น หากมีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ก็ต้องนำกฎหมายต่างๆ เหล่านี้เข้ามาพิจารณาก่อน จึงจะตามด้วยการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่เสนอมาทั้ง 17 ฉบับ คงพิจารณาร่วมกันทีเดียวไม่ได้”

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ชทพ. กล่าวว่า พรรคมีเจตนารมณ์แนวทางเรื่องรัฐธรรมนูญ คือการให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เกิดขึ้น เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญฉบับที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง เหมือนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ถูกเรียกได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดของประเทศไทย และในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล พรรค ชทพ.พร้อมสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่  เพื่อให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร. ตามที่รัฐบาลแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาไว้เมื่อวันที่ 12 ก.ย.2567

“ข้อจำกัดเรื่องการทำประชามติ หรือข้อจำกัดอื่นนั้น คิดว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่คงเสร็จไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้ ที่จะครบวาระในเดือน พ.ค.2570 แต่หัวใจสำคัญคือพรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่าควรเร่งดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ร.ให้ได้ภายในสภาชุดนี้ คือก่อนเดือน พ.ค.2570 เพราะ ส.ส.ร.ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุของสภา” นายวราวุธกล่าว

นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) กล่าวถึงการประชุมวิปสามฝ่ายในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ว่า วาระหลักที่มีการพูดคุยกันคือการประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งสิ่งที่ต้องมีการพิจารณาคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่พรรค ปชน.ได้เสนอไปมี 2 ประเภท ได้แก่ 1.แก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15/1 ให้มี ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งยื่นร่างดังกล่าวไปแล้ว และประธานสภาฯ ไม่ได้บรรจุเข้าวาระ แต่หลังจากที่ได้หารือกับประธานสภาฯ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะยื่นร่างนี้เข้าไปใหม่อีกครั้งในวันที่ 12 ธ.ค. เพื่อให้ทบทวนอีกครั้งหนึ่ง และหวังว่าประธานสภาฯ จะบรรจุร่างดังกล่าว เพื่อให้การทำประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นได้จริง และ 2.การแก้ไขรายมาตรา ขณะนี้ถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระแล้ว แต่อยู่ที่การตกลงกันของวิปสามฝ่ายว่าจะหยิบร่างไหนขึ้นมาพิจารณาเมื่อไหร่ เชื่อว่าในการประชุมวิปสามฝ่ายจะพูดคุยถึงเรื่องนี้

แนะแก้ตั้งแต่หมวด

นายพริษฐ์ยังกล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ ระบุหากต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เร็ว ต้องแก้รายมาตราว่า เป็นความเห็นของนายวิษณุ  สามารถแลกเปลี่ยนกันได้ แต่พรรค ปชน.ยืนยันมาตลอดว่าเราสนับสนุนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีปัญหาทั้งที่มาและเนื้อหา เนื่องจากขาดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงเป็นทางออกที่สำคัญ ซึ่งเราทราบว่าต้องใช้เวลา เราจึงเสนอแก้ไขรายมาตราควบคู่ไปด้วย เพื่อแก้ไขมาตราที่จำเป็นเร่งด่วน

ขณะเดียวกัน พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) ได้จัดเสวนาเนื่องในโอกาสวันรัฐธรรมนูญ ในหัวข้อ “รัฐธรรมนูญที่พรรคการเมืองรณรงค์หาเสียงไว้จะได้กี่โมง” โดย ดร.โภคิน พลกุล ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ พรรค ทสท. เสนอว่า นำรัฐธรรมนูญปี 2560 มาแก้ไขใหม่ ปรับแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป ไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 โดยจัดให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% เป็นผู้แก้ไข ซึ่งการทำประชามติจะทำเพียงหนึ่งครั้ง โดยหัวใจสำคัญคือทุกฝ่ายต้องไม่อคติกับเรื่องเพียงเล็กน้อยหรือเรื่องเทคนิคมากจนเกินไป โดยเฉพาะผู้มีอำนาจต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง รักษาคำมั่นที่ได้สัญญาไว้กับประชาชน หากไม่ซื่อสัตย์กับตัวเองก็อย่าไปคิดว่าจะซื่อสัตย์ต่อประชาชนได้

นายศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระ ระบุว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 คือผีร้ายของการรัฐประหาร ผลพวงของการรัฐประหารยังคงอยู่ในรัฐธรรมนูญ กติกาที่วางไว้ยังคงอยู่ทำให้การเข้าสู่อำนาจของประชาชน หรือตัวแทนของประชาชนไม่สามารถเข้าสู่อำนาจได้ คนมอง สว.ปี 2567 ก็เกิดการตั้งคำถามว่าคนเหล่านี้เข้ามาได้อย่างไร เพราะไม่ได้แตกต่างไปจาก สว.ชุดเก่า จะเปลี่ยนแปลงก็เพียงแค่เจ้าของฟาร์ม ซึ่งสะท้อนถึงความสิ้นหวัง มองไม่เห็นว่าประเทศนี้จะเป็นของประชาชนอย่างแท้จริงได้อย่างไร เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่สามารถทำให้ประชาชนสามารถเลือกผู้นำของตนเองได้อย่างเต็มที่ตามเจตนารมณ์

ด้านนายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เวลา 2 ปีครึ่งก่อนการเลือกตั้งปี 2570 สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทัน แต่จนถึงวันนี้มีคำถามว่าผู้มีอำนาจไม่กระตือรือร้นที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จหรือไม่ เพราะผู้ใช้อำนาจในปัจจุบันได้ประโยชน์จากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงไม่คิดจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามที่ได้ประกาศหาเสียงกับประชาชนไปก่อนหน้าหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ของภาคประชาชนที่จะช่วยส่งเสียงกดดัน เพื่อให้กติกาได้รับการเปลี่ยนแปลง และขอฝากความหวังไว้ที่พรรคการเมือง ที่มองว่าสิ่งเหล่านี้คือปัญหาของประเทศหากไม่เร่งแก้ไขเปลี่ยนแปลง

“จากนี้คงต้องมีปฏิบัติการไปทวงถาม โดยเฉพาะพรรคการเมือง ที่เคยรับปากอย่างไรไว้กับประชาชน และคงต้องเรียกร้องไปถึงพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคที่มีอำนาจมากที่สุด รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภา หากมีความจริงใจแก้ไขรัฐธรรมนูญ เชื่อว่าจะสามารถแก้ไขได้ทัน แต่หากปล่อยปละละเลย ยื้อเวลาโดยไม่ดำเนินการใดๆ ภาคประชาชนก็จะได้เดินหน้ากดดันต่อไป”

ส่วนนายธนกร วังบุญคงชนะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า  ทันทีที่เปิดประชุมรัฐสภาในวันที่ 12 ธ.ค. จะมีกฎหมายสำคัญเข้าสู่วาระการประชุมถึง 20 ฉบับ ในฐานะ สส. รวมทั้งเพื่อนสมาชิกในพรรค รทสช. พร้อมทำหน้าที่พิจารณากฎหมายสำคัญ โดยร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการนิรโทษกรรม ที่มีพรรคการเมืองเสนอร่างมาในวาระ 4 ฉบับ และยังจะเสนอเพิ่มเติมนั้น ขอสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.สร้างเสริมสังคมสันติสุข พ.ศ..…ที่ สส.พรรค รทสช.ร่วมกันเสนอไว้ ซึ่งร่างฉบับนี้เป็นนโยบายของพรรคที่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปข้างหน้า สร้างความปรองดอง ก้าวข้ามความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมาอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี

ยันอิ๊งค์มาตอบกระทู้แน่

 “รทสช.เราไม่สนับสนุนให้นิรโทษกรรมคดี ม.112 คดีทุจริต และคดีอาญาร้ายแรงเด็ดขาด เพราะสถาบันหลักของชาติต้องเป็นหลักยึดให้เกิดความสงบสุขและความมั่นคงของชาติ ซึ่งเราพร้อมรับฟังข้อดี-ข้อด้อยของแต่ละร่างที่พรรคการเมืองนำเสนอเข้ามา เพื่อให้สภาเป็นเวทีพิจารณากฎหมายให้เกิดความรอบคอบ มั่นใจว่าทุกฝ่าย ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ทุกคนมีเจตนาที่ดี ต้องการนำพาประเทศก้าวข้ามความขัดแย้ง  ขอทุกฝ่ายใช้เวทีสภาพิจารณากฎหมายโดยยึดผลประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน” นายธนกรกล่าว

วันเดียวกัน นายวันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีมาตอบกระทู้ถามสดด้วยตัวเองว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและนายกฯ ที่ต้องมาตอบกระทู้สดและกระทู้ทั่วไป  ส่วนเรื่องอื่นๆ ที่รัฐบาลมีวาระก็ควรพิจารณาตามความเหมาะสม ถ้ารัฐบาลสามารถมาตอบกระทู้ได้ทุกครั้ง ก็จะเป็นบรรยากาศที่ดี ไม่มีอะไร สมาชิกมีหน้าที่ถาม รัฐบาลมีหน้าที่ตอบ หากตอบไม่ได้หรือยังตอบไม่ได้ ก็หาข้อมูลเพิ่มเติมได้ อย่าไปซีเรียสหรือเป็นเรื่องเอาเป็นเอาตาย นี่เป็นเรื่องการสร้างความเข้าใจ 

“จริงๆ การที่รัฐบาลเข้ามาตอบ ก็เป็นโอกาสที่รัฐบาลได้ชี้แจงปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนอยากทราบด้วย แต่โดยปกติแล้วก็ต้องมา นายกฯ คนที่ผ่านๆ มา ส่วนใหญ่ก็เข้ามาตอบ เว้นแต่ติดภารกิจ ซึ่งจะไปขอร้องคณะรัฐมนตรีว่าควรจะมา โดยเฉพาะวันที่มีกระทู้ หรือหากคณะรัฐมนตรีต้องการให้สภาอำนวยความสะดวกอย่างไร สภาก็พร้อมทำให้สมาชิกและรัฐบาลได้ทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชน”

นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ  ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า นายกฯ ไม่ได้หลีกเลี่ยงการตอบกระทู้สดของฝ่ายค้าน และเห็นความสำคัญของสภา รวมถึงเข้าใจบทบาทของ สส.และสภาดี แต่ภารกิจที่เตรียมแถลงผลงานครบรอบ 3 เดือนให้ประชาชนได้รับรู้ ก็เป็นหน้าที่เช่นกัน ซึ่งการตอบกระทู้ในสภา นายกฯ มอบหมายให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงแทน โดยนายกฯ  หลายคนก็ปฏิบัติเช่นนี้ และสภาเพิ่งเปิดสมัยประชุม ยังเหลือเวลาอีก 4 เดือน นายกฯ จะไปตอบกระทู้สดแน่นอน ดังนั้นฝ่ายค้านควรใจเย็นๆ  รอจังหวะวันเวลาบ้าง และให้เตรียมคำถามไว้ล่วงหน้าได้เลย

ส่วนกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย  (พธม.) เตรียมมายื่นหนังสือต่อสภา กรณีเอ็มโอยู 44 นั้น นายวันมูหะมัดนอร์ระบุว่า สส.หรือประชาชนมีสิทธิ์ยื่นปัญหาต่างๆ มาให้สภาได้ หรือหากเป็นเรื่องที่ต้องการส่งต่อให้นายกฯ หรือรัฐบาล สภาก็พร้อมอำนวยความสะดวกและดำเนินการให้ เพราะสภาเป็นของประชาชน เราพร้อมจะรับข้อเสนอ หากเป็นการดำเนินการตามระเบียบและกฎหมาย

ในขณะที่ น.ส.ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ สส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย  กล่าวถึงกรณีประเด็นปัญหา MOU 44 ว่า ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงได้ชี้แจงไปหลายประเด็นแล้ว และนายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ก็ได้ชี้แจงแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เรายังไม่ได้มีประเด็นหยิบยกขึ้นมาหารือ เพราะไม่ใช่กฎหมายที่จะนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

3 นายกฯ ร่วมสัมมนา พท.

ส่วนที่มีการเชื่อมโยงต้นตอว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นมาจากสมัยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี น.ส.ลิณธิภรณ์กล่าวว่า MOU 44 เป็นข้อตกลงร่วมกัน ดังนั้น การจะเชื่อมโยงไปในอดีตกับปัจจุบัน และต้องมีข้อตกลง 2 ฝ่าย ขอให้รอความชัดเจน ถ้ามีเรื่องเข้าสภาก็ให้เป็นบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติน่าจะดีกว่า

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า สถานการณ์อำนาจของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยเข้าสู่ย่างก้าวนับถอยหลังอย่างสิ้นเชิง เมื่อนายสนธิพร้อมประชาชนสนับสนุนนับพันคน ไปยื่นหนังสือถามข้อเท็จจริงกรณี MOU 44 ถึงทำเนียบฯ จากนั้นจะไปยื่นหนังสือกับนายวันมูหะมัดนอร์ เป็นการก้าวย่างไม่ผลีผลาม โดยต้องการให้สังคมได้รับรู้ปัญหาไปพร้อมๆ กัน

 “ขณะนี้สถานการณ์เลยเถิดแล้ว จนรัฐบาลไม่สามารถชี้แจง MOU 44 ด้วยข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงได้ ดังนั้น ถ้ารัฐบาลไม่เห็นหัวประชาชน ย่อมนำไปสู่ความสุ่มเสี่ยงการเสียดินแดน โดยปรากฏการณ์นายสนธิ แค่มายื่นหนังสือกับรัฐบาล ยังมีคนมาร่วมแสดงพลังกันมากขนาดนี้  ซึ่งไม่มีใครคาดคิด จะมีคนนับพันมาร่วมสนับสนุนนายสนธิ ประชาชนต้องสนับสนุนประชาชนด้วยกัน เมื่อเคยถูกหลอกมาซ้ำแล้วซ้ำเล่า แล้วยังเป็นบทเรียนเจ็บปวดกันทุกฝ่ายที่เดินมาถึงสถานกาณ์ขณะนี้ ดังนั้น ความกังวลถึงการเสียดินแดนจะเป็นสถานการณ์ประชาชนไม่พอใจข้ามปี ขอให้จับตาเฝ้าสถานการณ์กันไว้ นอกจากนี้ กรณีตรวจสอบไต่สวนชั้น 14 ป.ป.ช.จะปิดเกมอย่างไร หรือจะลากเกม ซึ่งไม่ง่ายเลย เมื่อทุกอย่างถูกเปิดเผยออกมาแล้ว” นายจตุพรระบุ

มีรายงานว่า ในงานสัมมนาพรรค พท. ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 13-14 ธ.ค.นี้ ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์นั้น มีการแจ้งกำหนดการว่า ในวันที่ 13 ธ.ค. จะมีบรรดารัฐมนตรี สส. และสมาชิกพรรค พท.ที่ได้รับเชิญ เดินทางโดยรถไฟที่สถานีรถไฟหัวลำโพงในเวลา 08.00 น. ทั้งนี้ จะมีนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกฯ ร่วมเดินทางไปสัมมนาด้วย โดยจะขึ้นรถไฟไปพร้อมกับบรรดารัฐมนตรีที่สถานีรถไฟหัวลำโพง จากนั้นขบวนรถไฟจะแวะจอดที่สถานีบางบำหรุ เพื่อรับ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ ฐานะหัวหน้าพรรค พท. พร้อมด้วยนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ บิดา รวมทั้งนายพานทองแท้ ชินวัตร พี่ชาย และ น.ส.พินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ พี่สาว พร้อมหลานๆ ทั้ง 7 คน ที่จะร่วมเดินทางไปทำกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

รู้ทันกลเกมนักการเมือง แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 256 ใครได้ใครเสีย?

ประชาธิปไตยจะไม่มีทางเบ่งบานได้เลย หากประชาชนยังไม่รู้เท่าทันกลเกมของนักการเมือง ที่มักแอบอ้างประชาชนในการกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน การเมืองไทยทุกวันนี้ยังคงเป็นพื้นที่ของคนรวยที่อยากมีอภิสิทธิ์เหนือคนทั่วไป หรืออยากได้อำนาจรัฐมา