ร่างกฎหมายยึดอำนาจกองทัพฉบับหัวเขียงส่อล่มปากอ่าว! “อนุทิน” ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรม บอกรัฐธรรมนูญเขียนไว้ยังคุมไม่ได้ ชี้นักการเมืองต้องทำตัวอย่าให้เข้าเงื่อนไขก็จบ “ภูมิธรรม” สงวนท่าที อ้างต้องรับฟังทุกภาคส่วน แต่ลั่นยึดฉบับกลาโหม ผลรับฟังความเห็นพลิก! ล่าสุดส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย “วิษณุ” บอกชัดไม่เชื่อมี กม.สกัดปฏิวัติ ปูดแนวคิดเริ่มมาจากยุค "เศรษฐา" ยกแต่งตั้งตำรวจยังไม่เข้า ครม. ส่วน 44 อดีต สส.ก้าวไกลเตรียมลุ้น ม.ค. 2568 ป.ป.ช.จ่อฟันปมชงแก้ ม.112
เมื่อวันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม 2567 ยังคงมีความต่อเนื่องในร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ที่นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) และคณะเสนอ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นที่จะให้อำนาจคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลเพื่อสกัดการรัฐประหาร
โดยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวว่า ต้องรอดูเหตุและผลในที่ประชุม ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ชั้นที่ประชุมสภากลาโหมแล้ว โดยจะมีข้อคิดเห็นและข้อแนะนำปรับปรุง ฉะนั้นต้องดูเรื่องหลักการและความเป็นจริงว่าจะจัดการอย่างไร เพราะการเปลี่ยนแปลงที่ดีทุกคนปรารถนาอยู่แล้ว แต่จะเปลี่ยนได้ถึงขนาดไหนอย่างไรต้องดูข้อเท็จจริงและความเห็นจากทุกฝ่าย
เมื่อถามว่า เห็นด้วยกับหลักการที่นายประยุทธ์เสนอหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นประธานที่ประชุมจึงไม่อยากพูดคุยไปก่อน ขอฟังทุกอย่างก่อน ส่วนแนวคิดดังกล่าวอาจเป็นการลดอำนาจของทหารหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่รู้เลยว่าจะออกมาอย่างไร อย่าเพิ่งไปคิดว่าลดหรือไม่ เพราะไม่มีเจตนาลดอำนาจทหารอยู่แล้ว เพราะเขาก็มีกฎระเบียบกฎหมายของเขาในการควบคุมดูแลเหมือนพลเรือน ซึ่งหากมีปัญหาก็ต้องแก้ไข
ถามย้ำว่า แนวคิดให้อำนาจ ครม.ตั้งนายพลดีแล้วหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า อย่าไปคิดแทนที่กฎหมายมี ส่วนจะเป็นประเด็นรอยร้าวระหว่างการเมืองกับกองทัพหรือไม่นั้น ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น และยืนยันว่ากองทัพกับการเมืองตอนนี้ก็คุยกันดี อยู่กระทรวงกลาโหมก็ได้รับการต้อนรับ การสนับสนุนในการทำงาน และไม่มีเหตุอะไรที่จะไปล้วงลูกฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามหลักเหตุและผล ฉะนั้นอย่าไปคิดอะไรให้เกินเลย เพราะมันจะสร้างแต่ความขัดแย้ง ขอให้พูดแต่ประเด็นที่เป็นจริง มีอะไรเกิดขึ้นแล้วค่อยมาถาม ไม่ใช่ถ้าอย่างโน้นอย่างนี้ เพราะเป็นการคิดฝันไปเอง ดังนั้นขอให้อยู่เป็นข้อเท็จจริง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย กล่าวเรื่องนี้ว่า ยังไม่ได้ดู แต่ถ้าเป็นเรื่องการสกัดการปฏิวัติไม่เห็นด้วย เพราะถ้าจะสกัดการปฏิวัติ ไม่เกี่ยวข้องกับนักการเมือง เพราะนักการเมืองก็คือนักการเมืองต้องทำหน้าที่ให้ดี ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต รักษาความสงบ และอย่าให้แตกความสามัคคี
“เงื่อนไขการปฏิวัติมีอยู่แค่ไม่กี่เงื่อนไข ส่วนใหญ่ก็มาจากนักการเมืองทั้งนั้น เราก็อย่าไปเข้าเงื่อนไขเหล่านั้น มันก็ปฏิวัติไม่ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอะไรมา ถ้ามีการปฏิวัติ สิ่งแรกที่ทำก็คือฉีกรัฐธรรมนูญ ดังนั้นตรงนี้ที่จะทำก็อาจเป็นแค่สัญลักษณ์ บังคับใช้อะไรไม่ได้ ดีที่สุดก็ต้องทำตัวให้ดี ต้องซื่อสัตย์สุจริต อย่าขี้โกง อย่าไปยุแยงให้ใครแตกความสามัคคี อย่าไปลงถนนจนทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย ทุกอย่างก็มีอยู่แค่นี้” นายอนุทินกล่าว
เมื่อถามว่า แล้วหากพรรคเพื่อไทย (พท.) จับมือกับพรรคประชาชน (ปชน.) ผ่านร่างนี้ในสภาผู้แทนราษฎร นายอนุทินกล่าวว่า ถ้าในประเด็นนี้พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ไม่เอาด้วยอยู่แล้ว ส่วนจะผ่านหรือไม่ก็เป็นไปตามกระบวนการ ตามระบอบประชาธิปไตย ตามเสียงส่วนมาก
เมื่อถามว่า ร่างจะไปตกในชั้นวุฒิสภาหรือไม่ นายอนุทินบอกว่า เรื่องนี้ไม่รู้ แต่ในส่วนของพรรค ภท.ตรงนี้ไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีความจำเป็น ตนอยู่กับการเมืองมานาน เห็นตั้งแต่สมัยปฏิวัติ 23 ก.พ. 2534 สมัยพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ซึ่งเงื่อนไขปฏิวัติก็หลีกเลี่ยงได้ทั้งนั้น ถ้าไม่เข้าใกล้เงื่อนไขนั้นก็ปฏิวัติไม่ได้
นายอนุทินให้สัมภาษณ์อีกครั้งโดยระบุว่า เป็นสิทธิ์ของ สส.ที่จะเสนอร่างกฎหมายได้ หากเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นต่อการบริหารราชการแผ่นดินและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนส่วนรวม ซึ่งพรรคยังไม่ได้รับการประสานงานจากพรรค พท.และยังไม่มีรายละเอียด ยังไม่ทราบหลักการและเหตุผลของการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ แต่ในมุมมองของพรรคขณะนี้ปัญหาใหญ่ของประเทศคือเศรษฐกิจ ปัญหาใหญ่ของประชาชนคือ ปัญหารายได้และความยากจน ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานยังเป็นปัญหาเร่งด่วนที่รัฐต้องเร่งดำเนินการ
“พรรคภูมิใจไทยให้ความสำคัญกับปัญหาเหล่านี้มากกว่าการจัดระเบียบหรือการจัดโครงสร้างการบริหารราชการกลาโหม ซึ่งพรรคไม่มีความชำนาญ ไม่มีข้อมูลมากพอที่จะให้ความเห็นได้ เราจึงขอสงวนความเห็นส่วนนี้ไว้ก่อน จนกว่าจะได้รับฟังคำชี้แจงจากผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ก่อน แต่หลักการสำคัญที่ควรต้องมีคือ การเมืองไม่ควรไปก้าวก่ายแทรกแซงกองทัพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีลักษณะพิเศษ และเป็นสถาบันสำคัญของชาติที่ต้องมีกฎหมายพิเศษหรือกฎหมายเฉพาะ” นายอนุทินระบุ
รัฐธรรมนูญยังป้องกันไม่ได้
นายอนุทินกล่าวอีกว่า การออกกฎหมายเพื่อต่อต้านการรัฐประหารต้องดูความเป็นจริง และในทางปฏิบัติ สามารถต่อต้านสกัดกั้นได้หรือไม่ และจำเป็นต้องออกกฎหมายมาอีกหรือไม่ ในเมื่อรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติห้ามผู้ใดกระทำการปฏิวัติรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลด้วยวิธีการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอยู่แล้ว ขนาดรัฐธรรมนูญยังห้ามไม่ได้ ออกกฎหมายใหม่มาจะบังคับใช้ได้จริงหรือไม่
ขณะที่นายภูมิธรรมให้สัมภาษณ์อีกครั้ง หลังนายอนุทินแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.กลาโหมของนายประยุทธ์ว่า นายประยุทธ์เสนอมาก็ถือเป็นสิทธิ์ แต่ในส่วนของตนก็ยึดร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่กระทรวงกลาโหม ซึ่งในวันนี้ก็ต้องฟังความเห็นทุกส่วนก่อน ว่าควรจะไปทิศทางใด เพราะหน้าที่เราคือการกลั่นกรองเอกสารและวาระต่างๆ ที่จะต้องเข้าที่ประชุม ครม. ซึ่งทั้งหมดอยู่ที่ความเป็นจริง จะทำอย่างไรให้เหมาะสมที่สุด และสิ่งสำคัญไม่ได้ขึ้นอยู่กับลายลักษณ์อักษร แต่อยู่ที่การปฏิบัติ
เมื่อถามว่า พรรค พท.ยังระแวงกองทัพจะทำรัฐประหาร เพราะทั้งนายประยุทธ์และ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.เพื่อไทยผลักดันในเรื่องนี้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า เขามีสิทธิ์แสดงความเห็น แต่ไม่ใช่ตัวแทนพรรคเพื่อไทย ส่วนพรรคจะดำเนินการอย่างไรต้องพูดคุยกันอีกที แต่ย้ำว่าต้องดูความเป็นจริง ในส่วนร่างของกลาโหมอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดก่อนเข้า ครม. แต่สภากลาโหมได้พิจารณามาเบื้องต้นแล้ว และเป็นช่วงรอยต่อ รมว.กลาโหมคนก่อน ซึ่งขณะนี้ขอดูรายละเอียดอีกที
นายภูมิธรรมยังกล่าวถึงแนวนโยบายการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ในภาพรวมต้องดูความเป็นจริง แม้สถานการณ์ดีขึ้น การก่อเหตุลดลง แต่เหตุรุนแรงขึ้น หากเปรียบเทียบจากปี 2547 จะเห็นว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นต่อเนื่อง แต่ตอนนี้เหตุลดลง แต่การก่อเหตุแต่ละครั้งความรุนแรงเพิ่มขึ้น กอ.รมน.ก็เสนอเรื่องขึ้นมาให้รัฐบาลพิจารณา รวมถึงสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ทุกหน่วยที่เกี่ยวข้องต้องหารือร่วมกันจะใช้รูปแบบใดที่เหมาะสม ก็ต้องให้เวลาพิจารณาทบทวน ซึ่งยอมรับมีความตั้งใจยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ต้องดูสถานการณ์ที่เป็นจริง แต่ก็มีเรื่องต้องกังวลบางส่วน แต่ในด้านเศรษฐกิจดีขึ้น
“การใช้ยาแรงไปก็ไม่ดี อ่อนไปก็มีปัญหา ต้องหาสิ่งที่พอดีกับสถานการณ์” นายภูมิธรรมกล่าว
ส่วนนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวว่า ยังไม่เห็นร่างกฎหมายฉบับของนายประยุทธ์ เพราะมีเรื่องที่รอบรรจุวาระจำนวนมาก ซึ่งการเสนอนั้นต้องผ่านพรรค ผ่านมติของพรรค รวมถึงวิปรัฐบาล สำหรับการพิจารณากฎหมายต่อต้านการรัฐประหารหากมีเป็นเรื่องที่ดี เพราะคงไม่มีใครอยากให้มีการปฏิวัติ หากรัฐบาลทำงานดีไม่จำเป็นต้องมีทหารมารัฐประหาร และทหารควรไปดูแลความมั่นคง
ไม่เชื่อมี กม.สกัดรัฐประหาร
เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมที่อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น หากมีความเห็นคัดค้านสามารถทบทวนได้หรือไม่ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า หากอยู่ในระดับฟังความเห็นให้ฟังความเห็นก่อน หากคนไม่เห็นด้วยอยากให้มีรัฐประหารเขาไปคัดค้านเอา
นายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกฯ กล่าวเรื่องนี้ว่า ทราบจากข่าวเท่านั้น ส่วนที่พรรค พท.ระบุว่ากฎหมายทำมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้วนั้น ไม่ทราบ น่าจะกระทรวงกลาโหมเป็นผู้ทำ อย่างไรก็ตามกฎหมายสามารถแก้ไขได้ ให้สอดคล้องกับกฎหมายอื่น
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการแก้ไขเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารให้มาเป็นอำนาจ ครม. นายวิษณุกล่าวว่า เรื่องแต่งตั้งนั้นสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่มี ไม่เคยคิด เขามาเพิ่มทีหลังสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน
เมื่อถามอีกว่า การมาให้ ครม.แต่งตั้งมันสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดการระหองระแหงกับกองทัพหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า อย่าตอบว่าสุ่มเสี่ยงต่อการระหองระแหง แต่ตอบว่ามันเป็นกิจการที่ขนาดตำรวจยังไม่มา ครม. คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เขาทำเสร็จแล้วจบ และกราบบังคมทูลฯ มีแต่พลเรือนที่ต้องมา ครม.เนื่องจากรัฐธรรมนูญไปเขียนเอาไว้
เมื่อถามว่า ดูเหมือนพรรค พท.ห่วงเรื่องการทำรัฐประหาร นายวิษณุกล่าวว่า มันไม่เกี่ยวกับการรัฐประหาร ถ้าคิดว่าควรแก้ก็แก้ ถ้าคิดว่าไม่ควรแก้ก็ไม่ต้องแก้
เมื่อถามว่า มีกฎหมายฉบับไหนบ้างไหมที่ป้องกันการรัฐประหารได้จริง นายวิษณุกล่าวว่าไม่เชื่อ
ทั้งนี้ การรับฟังความเห็นร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตั้งแต่วันที่ วันที่ 2 ธ.ค. ถึงวันที่ 1 ม.ค. 2568 โดยการรับฟังความเห็น 4 วัน จาก 2-6 ธ.ค. พบว่ามีผู้ให้ความสนใจ 11,521 คน เห็นด้วย 90% และไม่เห็นด้วย 10% แต่เมื่อถึงวันที่ 9 ธ.ค. เวลา 15.30 น. พบว่ามีผู้ให้ความสนใจร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จำนวน 24,647 คน ซึ่งผู้เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จากเดิม 90% ลดลงเหลือแค่ 45.80% ขณะที่ผู้ไม่เห็นด้วยเดิมมีแค่ 10% กลับเพิ่มขึ้นเป็น 54.20%
วันเดียวกัน นายวิษณุยังกล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า พูดมาตลอดว่าถ้าแก้รายมาตราเสร็จทัน แต่ถ้าแก้กันเป็นเรื่องใหญ่ไม่ทันหรอก ใช้เวลาเป็นปี
“ถ้าคุณแก้รายมาตราก็ไม่ต้องทำประชามติ พอไปแก้ใหญ่มโหฬาร แล้วแก้หมวดนั้นหมวดนี้ ซึ่งรัฐธรรมนูญก็ห้ามไว้ว่าถ้าแก้หมวดนั้นหมวดนี้จะต้องไปทำประชามติ แล้วก็ต้องมาเถียงกันว่าทำประชามติกี่ครั้งอีก ดังนั้นแก้เป็นรายมาตราที่อยากจะแก้ เรื่องไหนเร่งด่วนจำเป็น แต่อย่าไปแตะมาตราที่เขาบอกว่าต้องทำประชามติ”
44 อดีต สส.ก้าวไกลได้ลุ้น
นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจริยธรรม 44 อดีต สส.พรรคก้าวไกล ที่ร่วมลงชื่อเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่าได้ตั้งกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง รวบรวมหลักฐาน ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จ คาดว่าเดือน ม.ค. 2568 คณะกรรมการไต่สวนจะสามารถสรุปสำนวนเพื่อเสนอเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ได้ โดยการสรุปสำนวนจะมี 2 แนวทาง หากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหา ก็เสนอคณะกรรมการ ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหา หากเห็นว่าไม่มีมูลเพียงพอก็จะสรุปสำนวนให้ข้อกล่าวหาตกไป
นายสาโรจน์กล่าวว่า การพิจารณาจะดูข้อกล่าวหาประเด็นฝ่าฝืนจริยธรรม โดยดูพฤติกรรมของแต่ละบุคคลว่ามีส่วนร่วมในการดำเนินการแตกต่างกันไป ป.ป.ช.ต้องพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับทุกคน ไม่ได้หมายความว่าทั้ง 44 คน ตามที่ถูกร้องเรียนจะถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด ป.ป.ช.จะไต่สวนในเรื่องการแก้ไขกฎหมายมีพฤติกรรมในการฝ่าฝืน ไม่ได้ระบุว่าทั้ง 44 คนนี้มีพฤติกรรมในเรื่องนี้ แต่สุดท้ายแล้วใครมีพฤติกรรมฝ่าฝืนประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงก็ว่าเป็นรายๆ ไป
“ป.ป.ช.พิจารณาไปทั้งเรื่อง ไม่ได้พิจารณาเป็นบุคล คือพิจารณาไต่สวนเรื่องนี้ มีบุคลใดบ้างที่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง คณะกรรมการ ป.ป.ช.ก็จะพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหา แต่การแจ้งข้อกล่าวหาไม่ได้หมายความว่าเขากระทำความผิด แต่เป็นการให้โอกาสชี้แจงข้อกล่าวหา หลังฟังคำชี้แจงแล้วก็จะพิจารณาเป็นรายบุคคล ว่ามียังมีบุคคลใดชี้แจงแล้วยังฟังไม่ขึ้น มีพฤติการณ์ฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง ในเดือน ม.ค.ถึงจะมีความชัดเจน” นายสาโรจน์ระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ
สภา415เสียง แก้ไขข้อบังคับ คนนอกรื้อรธน.
“รัฐสภา” ถกแก้ข้อบังคับการประชุม "สว.-รทสช." รุมค้านเปิดทาง
เสด็จฯพระราชพิธีสมมงคล
"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในการพระราชพิธีสมมงคลพระชนมายุเท่าสมเด็จพระปฐมบรมกษัตริยาธิราชแห่งพระราชวงศ์จักรี
พนันออนไลน์ถูกกม.! จบ1เดือนปาดหน้ากาสิโน/ผวาทุนเทา
“จุลพันธ์” อวยเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์สุดลิ่ม ปูดมีมากกว่า 1 จุดแน่ เพราะช่วยกระตุ้นจีดีพี รีบปัดมีการเกี้ยเซียะทุนใหญ่
เหนือ-อีสาน อุณหภูมิยังหนาวจัด กทม.16 องศา มีหมอกบาง
กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังแรงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนและ
ขอแบ่งเค้ก‘กาสิโน’ แทบทุกหน่วยงานหนุน/รบ.ยกสิงคโปร์โมเดลทำรายได้พุ่ง
รัฐบาลอุ๊งอิ๊งทุบโต๊ะทำคลอด “เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์”