แบะท่า‘ปู’ตามรอยแม้ว ลากไส้อบจ.ทุจริตเพียบ

คืบหน้าคดีนักโทษเทวดาชั้น 14 จ่อชงเข้าที่ประชุมใหญ่ ป.ป.ช. เลขาฯ ป.ป.ช.ยันมีอำนาจรีดเอกสารทุกหน่วยงาน “วิษณุ” ชี้ชัดทางสะดวก "ยิ่งลักษณ์" กลับไทยเดินตามรอยพี่ชาย ออกหน้าแทนทักษิณเข้าห้องขังจริง ด้านรัฐบาลตีปี๊บกวาดเหี้ยนซื้อตำแหน่ง รับสินบน  "ACT" กังขาข้อมูลโกงขี้ปะติ๋วท้องถิ่น อบจ.สวนทางเรื่องร้องเรียนอื้อ ยกเคสถอนโคน "กำนันนก" ตามไล่บี้เส้นทางเงิน ขณะที่ กมธ.ติดตามงบฯ เปิดโครงการประชาชนปราบโกง

เมื่อวันจันทร์ ที่เมืองทองธานี นายสาโรจน์ พึงรำพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้ตรวจสอบกรมราชทัณฑ์ ผอ.กรมราชทัณฑ์ ผอ.โรงพยาบาลตำรวจ ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ไปพักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ เพื่อหลีกเลี่ยงการไม่ต้องถูกจำคุกว่า คดีนี้อยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบ ซึ่งเป็นเรื่องของสำนักงาน พนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐาน ก่อนสรุปสำนวนเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง เพื่อพิจารณากรองสำนวน แล้วมีความเห็นว่ามีมูลเพียงพอหรือไม่ที่จะตั้งไต่สวน ซึ่งคดีชั้น 14 อยู่ในขั้นตอนนี้ หากคณะกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาเสร็จก็จะสรุปและเสนอความเห็นเข้าที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นตอนนี้

เมื่อถามว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลมาให้ครบหรือไม่ นายสาโรจน์กล่าวว่า ป.ป.ช.ได้เรียกเอกสารไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรวบรวมมาตรวจสอบ แต่ตอนนี้ยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เพราะยังอยู่ในชั้นของคณะกรรมการกลั่นกรอง ตนในฐานะเลขาธิการ ป.ป.ช.ไม่สามารถเข้าไปดูในรายละเอียดการชี้แจงของแต่ละหน่วยงานได้ ทำได้เพียงการสอบถามเรื่องความคืบหน้า

 “ส่วนจะส่งเอกสารมาครบถ้วนแล้วหรือไม่นั้น ยังไม่ทราบว่ามีหน่วยงานที่มีข้อขัดข้องยังไม่ได้ส่งข้อมูลมาหรือไม่ แต่ทราบว่าตอนนี้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.รวบรวมข้อมูลครบถ้วนแล้ว ย้ำว่าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.มีอำนาจเต็มที่ในการดำเนินการ หากยังไม่มีใครส่งเอกสารอะไรมา ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายเรียกเอกสาร พยานหลักฐาน โดยสำนักงานจะประสานไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขอความร่วมมือ แต่หากสุดท้ายยังไม่ได้รับความร่วมมือ พนักงานเจ้าหน้าที่ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายดำเนินการได้” เลขาฯ ป.ป.ช.ระบุ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี  กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  จะเดินทางกลับมาประเทศไทย ว่าสามารถกลับมาในแนวทางเดียวกับนายทักษิณได้หรือไม่ว่า ได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้  เพราะเกี่ยวกับพระราชอำนาจที่ขอถวายฎีกา ถ้ากลับเข้ามาแล้วยอมติดคุกก็ไม่มีปัญหา แต่ต้องไปถวายฎีกา ซึ่งตนไม่อยากให้ความเห็นตรงนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากกลับมาต้องไปรายงานตัวที่ศาลเป็นอันดับแรกใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ ทำแบบเดียวกับนายทักษิณ ต้องไปรายงานตัวที่ศาล แล้วราชทัณฑ์ก็รับตัวไป ก็พ้นจากอำนาจศาล ก็เป็นเรื่องกรมราชทัณฑ์แล้ว ส่วนเรื่องจะอภัยโทษหรือไม่อภัยโทษอะไรเป็นเรื่องนอกศาล

เมื่อถามว่า กรณีของนายทักษิณป่วยเข้าโรงพยาบาล กรณีของ แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่น่าจะป่วย นายวิษณุกล่าวว่า ก็ไม่ได้ยินข่าวว่าป่วย เมื่อถามว่า ต้องเข้าห้องขังก่อนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "กรณีของนายทักษิณก็เข้าห้องขังนะ"

'ปู' กลับไทยตามรอยพี่ชาย

ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า ยังไม่ทันเข้าหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "เข้านะ ผมยืนยัน คุณไปนึกภาพห้องขังเป็นลูกกรงๆ ซีกๆ ห้องขังไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมเดินทางไปช่วงบ่าย ซึ่งนายทักษิณเข้าไปก่อนแล้ว ช่วงขั้นตอนต่างๆ ผมไม่อยากไปยุ่งตอนนั้น มีขั้นตอนการถอดเสื้อ เปลี่ยนเสื้อ  ถ่ายรูป ทำบัตร ตรวจโรค กักโรค เรียบร้อยแล้วก็มาส่งที่ห้องขัง เพียงแต่ทำดี สะอาดหน่อยเท่านั้น ปัดกวาดเช็ดถูห้องน้ำให้ดูดี เดิมถ่ายห้องหนึ่ง อาบน้ำไปอีกห้องหนึ่ง เราก็ติดฝักบัวให้เขาก็จบเรื่อง ซึ่งตอนติดฝักบัวผมไปดู ตรงนั้นแหละคือห้องขัง ตามหลักตั้งใจว่าถ้า 8 ปีก็อยู่ในห้องนี้แหละ"

เมื่อถามว่า แต่เวลานี้คนก็ยังไม่เชื่อว่านายทักษิณป่วย นายวิษณุกล่าวว่า ป่วยไม่ป่วยไม่รู้ แล้วแต่หมอเขาว่าป่วย เมื่อถามว่า เห็นร้องจะเอาผิดทั้งข้าราชการและรัฐมนตรี นายวิษณุกล่าวว่า ตอนบ่ายที่เอาตัวกลับมาจากที่ตรวจโรคแล้ว ซึ่งไปเพื่อประชุมกับปลัดกระทรวงยุติธรรม  อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ว่าเราตีความกันแน่นแล้วเขาขังกี่ปี  เพราะว่าตามหลักควรเป็น 11 ปี แต่อีกฝ่ายเห็นว่าควรจะเป็น 8 ปี ระหว่างศาลคดีหนึ่งมีลด ในที่สุดก็ส่งเรื่องไปหารือศาล ได้คำตอบมาเดี๋ยวนั้นว่า 8 ปี

เมื่อถามว่า ส่วนตัวเชื่อหรือไม่ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับมาได้ในปีหน้า นายวิษณุย้อนถามกลับว่า คำถามนี้ต้องการจะรู้อะไร คือเขากลับมาเมื่อไหร่ บินกลับมาก็มาได้  ก็มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ส่วนจะได้ตามที่คิดหรือไม่ ตนไม่รู้ เมื่อถามถึงการปรับหลักเกณฑ์ของกรมราชทัณฑ์ในการคุมตัวนอกเรือนจำ นายวิษณุกล่าวว่า เห็น ผบ.เรือนจำออกมาชี้แจงก็เข้าใจดี

ที่ศูนย์การประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายชูศักดิ์ ศิรินิล  รัฐมนตรีประจําสํานักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันสากล (ประเทศไทย) “FIGHT  AGAINST CORRUPTION สู้ให้สุด หยุดการโกง” โดยนายชูศักดิ์ระบุช่วงหนึ่งว่า จากการศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติในปีที่ผ่านมา สะท้อนจุดอ่อนที่สำคัญของประเทศไทย คือการซื้อขายตำแหน่ง การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง การทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การเรียกรับสินบน การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกัน รวมถึงความไม่โปร่งใสในงบประมาณ ส่งผลให้ดัชนีการรับรู้การทุจริตของประเทศไทย อยู่ในระดับคงที่ 35-36 คะแนน จาก 100 คะแนน แสดงให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

 “รัฐบาลได้ผลักดันให้แนวทางการแก้ไขการทุจริต บรรจุเป็นแผนแม่บทในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และขับเคลื่อนพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) อำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชน เพื่อสร้างความโปร่งใสในการอนุมัติและการอนุญาต ลดปัญหาการทุจริตและการเรียกรับสินบน ลดระยะเวลาในการติดต่อขอรับบริการจากหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงให้มีการเปิดเผยข้อมูลเข้าสู่ระบบดิจิทัล  รวมทั้งรัฐบาลยังเสริมสร้างให้กระบวนการยุติธรรมมีความเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง สร้างความน่าเชื่อถือ และความโปร่งใสในศาลยุติธรรม” นายชูศักดิ์ระบุ 

แฉ อบจ.ทุจริตเพียบ

วันเดียวกัน นายมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า จากผลโพลโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย (2567) ระบุว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 95 รับรู้ว่ามีคอร์รัปชันโกงกินงบประมาณท้องถิ่นใน อบจ.เป็นจำนวนเงินมหาศาล และตามสถิติของ ป.ป.ช.ยังพบว่า คอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างเป็นเรื่องที่มีการร้องเรียนมากที่สุด เฉพาะปี 2566 ปีเดียวมีการร้องเรียนมากถึง 827 เรื่อง ไม่นับการร้องเรียนผ่านหน่วยงานอื่นๆ อีก แต่ข้อมูลทุจริตจัดซื้อจัดจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกลับหายากมาก

นายมานะระบุว่า ยิ่งไปกว่านั้นตัวเลขคดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดหรือศาลตัดสินแล้วกลับพบน้อยมาก หากสืบค้นจากเว็บไซต์ ป.ป.ช.ในช่วงปี 2554-2563 พบข้อมูลแค่ 11 คดี จากนั้นไม่พบการอัปเดตข้อมูลอีกเลย นอกจากนั้น ยังพบอีกว่าช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา มีคดีร่ำรวยผิดปกติ น้อยมาก กล่าวคือพบคดีร่ำรวยผิดปกติที่ศาลตัดสินยึดทรัพย์แล้ว 1 คดี อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีกเพียง 2 คดีเท่านั้น ทั้งๆ ที่ระบบ ACT Ai แสดงข้อมูลการยื่นบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองต่อ ป.ป.ช. พบว่านายก อบจ. หลายคนมีทรัพย์สินเป็นพันล้านบาท และนายก อบจ. จำนวนมากรวยเกินร้อยล้านบาท ไม่นับรวมความมั่งคั่งของคนในครอบครัว

 “ตัวเลขอย่างนี้ ผมขอชวนประชาชนช่วยกันถาม ป.ป.ช.และมหาดไทยว่าพวกท่านคิดอย่างไร สงสัยบ้างไหมว่าทำไมคนไทยทั้งประเทศรู้ว่ามีคอร์รัปชัน แต่พวกท่านไม่รู้จริงหรือ ทั้งหมดคือความจริงที่ต้องย้ำให้คนไทยตระหนักว่า หากเราปล่อยให้พวกคดโกงชนะการเลือกตั้งครั้งใหญ่ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ จะเกิดวิกฤตใหญ่ตามมาอย่างไร” เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าว

นายมานะระบุว่า เมื่อดูจากเรื่องที่สังคมรับรู้และคดีที่มีคนร้องเรียนในแต่ละปี ฟันธงได้เลยว่าส่วนใหญ่รอดและหลายคดีเงียบ ถ้ามองในแง่ของกระบวนการยุติธรรมสะท้อนให้เห็นว่า การพิจารณาคดีคอร์รัปชันใช้เวลานานมาก แม้ศาลตัดสินว่าผิดจริงก็ลงโทษเบา รอลงอาญาก็มาก  และเกือบทั้งหมดไม่ยึดทรัพย์คนโกง”

เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ระบุว่า ทางออกทำได้แต่ต้องอาศัยพลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพราะทุกกลโกงย่อมมีช่องโหว่ โดยยกตัวอย่างกรณีกำนันนก นครปฐม ประมูลงานรัฐได้กว่าหมื่นล้านบาทด้วยเพราะมีเครือข่ายใหญ่ มีบ้านใหญ่หนุนหลัง ดังนั้นหน่วยงานรัฐอย่าง ปปง.ต้องสอบเส้นทางการเงิน แล้วร่วมมือกับหน่วยงานด้านภาษี ทั้งสรรพากร ศุลกากร เชิญชวนมาร่วมตรวจสอบตัดวงจรเอกชนทุกรายที่เกี่ยวข้อง

ที่อาคารอนาคตใหม่ คณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร  เปิดตัวโครงการ “ตู้ ปณ. #ประชาชนปราบโกง” เพื่อให้ประชาชนส่งเรื่องมายัง กมธ.ติดตามงบฯ ได้โดยตรงผ่าน 2 ช่องทาง ได้แก่ 1.ทางไปรษณีย์ โดยส่งจดหมายมาที่ ตู้ ปณ.13 ปณฝ. รัฐสภา กทม. 10305 หรือ 2.ทางไลน์ “พี่ฮูก” @phuuk (มีเครื่องหมาย @ นำหน้า)

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และประธาน กมธ.ติดตามงบฯ กล่าวว่า เราจะติดตามจนกว่าจะได้รับคำชี้แจงจนสิ้นข้อสงสัย ยิ่งถ้าเป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคม อาจมีสื่อมวลชนเข้าร่วมประชุมเพื่อสังเกตการณ์ด้วย ถ้าในที่สุดแล้วพบว่าประเด็นใดเป็นปัญหา กมธ.ติดตามงบฯ ในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติจะรวบรวมเป็นข้อสังเกต หรือรายงานส่งต่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหารต่อไป.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘จุรินทร์’ เผย8ปัจจัย การเมืองปี68เดือด!

"จุรินทร์" เปิด 8 ปัจจัยการเมืองปี 2568 จับตามีคดีความที่มีผู้ร้องไปยื่นร้องนายกฯ และผู้เกี่ยวข้องไว้ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่างๆ ซึ่งปัจจุบันมีเรื่องที่ค้างอยู่อย่างน้อย

‘จ่าเอ็ม’ ผวาขออารักขา

กัมพูชาส่งตัว "จ่าเอ็ม" ให้ไทยแล้ว นำตัวเข้ากรุงสอบเครียดที่ สน.ชนะสงคราม แจ้งข้อหาฆ่าโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เจ้าตัวร้องขอเจ้าหน้าที่คุ้มครองเป็นพิเศษ

เป็นแม่ที่ดีหรือยัง! ‘อิ๊งค์’ เปิดอกวันเด็กสมัยก่อนไม่มีไอแพดโวยถูกบูลลี่

"นายกฯ อิ๊งค์" เปิดงานวันเด็กคึกคัก! เด็กขอถ่ายรูปแน่น พี่อิ๊งค์ล้อมวงเปิดอกตอบคำถามเด็กๆ มีพ่อเป็นต้นแบบ เผยวัยเด็กไม่มีไอแพด โทรศัพท์ ไลน์ พี่มีลูกสองคน

‘บิ๊กอ้วน’ เอาใจทอ. เคาะซื้อ ‘กริพเพน’

ปิดจ๊อบภายในปีนี้! "บิ๊กอ้วน" ไฟเขียว ทอ.เลือก "กริพเพน" มั่นใจคนใช้เป็นคนเลือก รออนุมัติแบบหลังทีมเจรจาออฟเซตกับสวีเดนจบ แจงทูตสหรัฐแล้ว ไทยยันไม่มีนโยบายกู้เงินซื้ออาวุธตามข้อเสนอขายเอฟ