ขีดเส้น15วันเลิกMOU44

“สนธิ” นำมวลชนยื่นหนังสือ "อุ๊งอิ๊ง" เรียกร้อง 6 ข้อยกเลิกเอ็มโอยู 44 ให้เวลา 15 วัน ลั่น! นี่คือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย การต่อสู้ครั้งนี้จะต้องชนะลูกเดียว อุบวันนัดรวมพลลงถนน ขอทำตามขั้นตอน "ภูมิธรรม” ไปไกล โวยสื่อตั้งคำถามเกินเลย ทำประเทศขัดแย้ง หมดความเชื่อมั่น กระทบเศรษฐกิจ “นพดล” เชื่อไม่มีรัฐบาลไหนไร้จิตสำนึกทำไทยเสียดินแดน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 9 ธันวาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล ภายหลังนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) นัดรวมตัวมวลชนเพื่อลงชื่อแนบท้ายคำร้องและยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้ยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ในช่วงเช้าวันนี้ ซึ่งมีมวลชนทยอยเดินทางมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีนายนิติธร ล้ำเหลือ หรือทนายนกเขา อดีตทนาย กปปส. และนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต เข้าร่วม

 จากนั้นเวลา 09.38 น. นายสนธิได้เดินทางมาถึงศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ฯ โดยมีนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมืองเป็นผู้รับหนังสือ โดยใช้เวลาหารือ 20 นาที ก่อนนายสนธิจะออกมาแถลงข่าว พร้อมนำสไลด์แผนที่แสดงภาพ ส.ค.ส. พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นภาพแผนที่ตามพระบรมราชโองการประกาศเส้นทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย พ.ศ. 2516 มาแสดง

   นายสนธิเผยว่า มายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้นายกฯ หยุดการปฏิบัติการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิ์เส้นไหล่ทวีปราชอาณาจักรไทยกับกัมพูชา (MOU 2544) และแถลงการณ์ร่วมระหว่างนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย กับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา (JC 2544) เพราะมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนต่อพระบรมราชโองการในการประกาศทะเลอาณาเขตและเขตทะเลต่อเนื่อง ตลอดจนประกาศเส้นเขตไหล่ทวีป ตามอนุสัญญากรุงเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1985 และกฎหมายอื่นๆ ซึ่งยังไม่ได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และยังไม่มีพระบรมราชโองการประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น จึงต้องถือว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560  ทั้งนี้ขอเรียกร้องให้ปฏิบัติตามข้อเสนอภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับหนังสือ

ให้เวลาตอบกลับ 15 วัน

   โดยข้อเรียกร้อง ได้แก่ ข้อ 1 ขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีรักษาไว้ซึ่งเอกราชและอธิปไตยของไทย และแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติในทะเลด้านอ่าวไทย เขตต่อเนื่องรอบเกาะกูด รวมทั้งเขตไหล่ทวีป ซึ่งเป็นหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ข้อ 2 ขอให้นายกรัฐมนตรีเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณามีมติให้ส่ง MOU 2544 และ JC  2544 ต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยว่าขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติมาตรา 1 และมาตรา 224 ของรัฐธรรมนูญไทยหรือไม่ ข้อ 3 และหากศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า MOU 2544 และ JC 2544 ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ให้ยกเลิกการเจรจาตาม MOU 2544 และ JC  2544 เพื่อปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชาทันที 

ข้อ 4 แต่หากศาลวินิจฉัยแล้วว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขอให้ ครม.จัดให้มีการเจรจากับกัมพูชาเพื่อยกเลิก MOU 2544 และ JC 2544 ทันที โดยให้เจรจากันใหม่ภายใต้การกำหนดขอบเขตเฉพาะพื้นที่พัฒนาร่วม บนพื้นฐานโดยใช้หลักการของเส้นมัธยะ ข้อ 5 ระงับการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC  ไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยและมีการดำเนินการให้ถูกต้อง และข้อ 6 ให้จัดเวทีสาธารณะแก่ประชาชนเรื่อง MOU 2544 และ JC 2544 โดยให้ความรู้ความเข้าใจที่เป็นกลาง เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องสำคัญของประเทศ ทั้งนี้ขอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาและแจ้งผลการพิจารณากลับภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม.ได้พิจารณา

ไม่เคยมีพื้นที่ทับซ้อน

นายสนธิกล่าวว่า มีคำถามว่าเอ็มโอยู 2544 เกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบคือเกิดขึ้นเพราะนายทักษิณ ชินวัตร ที่เป็นนายกรัฐมนตรีในตอนนั้นจับมือกับนายฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อร่างเอ็มโอยู 2544 ลากเส้นของตัวเองเข้ามากินในพื้นที่ของคนไทย และคนร่างเอ็มโอยู 2544 คือนายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีต รมว.การต่างประเทศ ถามว่าทำไมถึงกล้าพอที่จะร่าง เหตุผลเพราะนายสุรเกียรติ์ต้องการให้นายทักษิณส่งเสริมให้ตัวเองเข้าสมัครรับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการสหประชาชาติในตอนนั้น

 เขากล่าวว่า ประเทศไทยไม่เคยมีพื้นที่ทับซ้อน แต่เรามีนายกฯ ทับซ้อน ตนกล้าพูดว่าเอ็มโอยู 2544 เป็นเอ็มโอยูขายชาติ ตนให้เวลารัฐบาลชุดนี้ 15 วัน หลังจากนั้นจะมาติดตามผล ซึ่งขั้นตอนต่อไปตนจะร้องเรียนต่อสภาผู้แทนราษฎร และจะส่งเอกสารให้ สส. สว.ทุกคนยืนยันสิทธิ์ของประเทศไทย หาก สส. สว.คนไหนลงมติเห็นชอบเอ็มโอยู 2544 จะถือว่าอยู่ในขบวนการร่วมกันขายชาติเช่นกัน หากอนาคตความจริงปรากฏ จะทำให้ สส. สว.ที่ยกมือก็จะติดคุกติดตะรางในฐานะขายชาติ นอกจากนี้จะยื่นหนังสือร้องเรียนที่กระทรวงการต่างประเทศ เพราะต้องการให้กระทรวงการต่างประเทศ ข้าราชการโดยเฉพาะกรมสนธิสัญญาฯ ได้รับทราบว่า ถ้าท่านไม่ปกป้องอาณาเขตไทยร่างสัญญาใหม่แล้วตกลงทำตาม ท่านก็คือข้าราชการขายชาติเช่นกัน

 “นี่คือประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ทำอะไรครั้งนี้ต้องทำด้วยความระมัดระวัง การต่อสู้ครั้งนี้จะต้องชนะลูกเดียว พวกแกนนำเก่าๆ พากันพูดว่าไม่มีมวลชนแล้ว วันนี้ผมไม่ได้ปลุกระดมพ่อแม่พี่น้อง แต่ว่ามากันด้วยใจ ถ้าถึงเวลาที่จะต้องลงถนนกันก็จะมามากกว่านี้เป็นพันเท่า ถ้าอะไรที่เป็นของเราแล้วมาเอาไปก็ต้องเจอกัน บางคนพูดถึงเรื่องเก่าว่าประเทศไม่เดินหน้าเพราะการประท้วง และผมเป็นสารตั้งต้นความวุ่นวาย ผมถามกลับว่าที่ประท้วงในปี 2548 เราประท้วงใครและเรื่องอะไร ใช้เวลา 18 ปีเพื่อพิสูจน์ว่าความจริงมีเพียงหนึ่งเดียว ให้นายทักษิณสารภาพผิด และบรรจุลงในราชกิจจานุเบกษาว่าได้คดโกงประเทศชาติอย่างไร  ความจริงและประวัติศาสตร์รอมาตั้ง 18 ปี" 

  นายสนธิกล่าวว่า ขอถามถึงนายกฯ และพรรคเพื่อไทย ตนและพวกทำผิดตรงไหนที่ไม่ยอมส่งดินแดนของเรา ให้กับกัมพูชา เพียงเพราะนายกฯ ทับซ้อนบางคนมีข้อตกลงกัน จะแบ่งผลประโยชน์กัน 50-50

'ภูมิธรรม' กลัวกระทบเศรษฐกิจ

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็น แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มอะไรเลย ส่วนประเด็นที่เป็นอย่างโน้นอย่างนี้ก็คือสื่อไปตั้งคำถาม และไปลงในสิ่งที่ถาม ตนขอความกรุณาเรื่องเหล่านี้เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ และเป็นเรื่องที่ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ไม่มีผลดีต่อประเทศ ทำให้ประเทศหมดความเชื่อมั่น และจะถูกมองว่ามีปัญหาอย่างที่สื่อถามหรือไม่ ซึ่งเขายังไม่ได้คิดอะไรเลย ยิ่งถามก็ยิ่งแสดงให้เขาสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้นในประเทศ และผลที่เกิดขึ้นไม่ดีเลยทำให้ความเชื่อมั่นไม่มี ความมั่นคงที่ทุกฝ่ายกำลังจะฟื้นเศรษฐกิจ จึงอยากขอร้องว่าอย่าไปตั้งคำถามอะไรที่เกินเลย อยากให้ข้อเท็จจริงมันเกิดแล้วค่อยถามข้อเท็จจริง

นายนพดล ปัทมะ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่ารัฐบาลพร้อมรับฟังความเห็นต่างและตอบทุกข้อห่วงใย แต่ความเห็นต่างนั้นควรตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่ถูกต้อง อย่าใช้ความเท็จมาโจมตีรัฐบาล เช่นบอกว่าถ้าเจรจาตาม MOU 44 จะทำให้เสียดินแดน ซึ่งไม่จริง และคงไม่มีรัฐบาลไหนไร้จิตสำนึกจนทำให้ไทยเสียดินแดน

"ผมไม่อยากเห็นการใช้ความเท็จ เพราะเคยเป็นเหยื่อการใส่ร้ายเรื่องเขาพระวิหารว่าพวกผมจะทำให้เสียดินแดน  ปลุกปั่น จุดกระแส แต่ท้ายที่สุดศาลฎีกาฯ ตัดสินยกฟ้องผม และในคำพิพากษาระบุว่าสิ่งที่ผมทำนั้นถูกต้องตามสถานการณ์ และประเทศจะได้ประโยชน์จากสิ่งที่ผมทำ แต่ไม่มีใครรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดจากการปลุกปั่น ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบกับเพื่อนบ้าน การเสียชีวิต และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเสื่อมทรามลง เป็นต้น เราคนไทยด้วยกันควรพูดกันด้วยเหตุผลและยึดประโยชน์ประเทศ" อดีต รมว.การต่างประเทศกล่าว

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับเอ็มโอยู 44 ว่า ไม่ทราบว่าฝ่ายค้านจะถามวันใด แต่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะชี้แจงได้ แต่ตั้งแต่ปี 2544 ยังไม่มีการเจรจา ซึ่งตามหลักการเรื่องนี้จะสำเร็จได้ต้องตกลงในสภาฯ จะตกลงหรือเจรจานอกสภาฯ โดยไม่ผ่านสภาฯ ไม่ได้ ผ่านมา 20 ปียังไม่มีการอนุมัติจากสภาฯ ในเรื่องนี้ ดังนั้นที่พูดหรือวิตกกังวลก็พูดกันไป แต่ความจริงยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง