"เพื่อไทย" เดินหน้ายึดอำนาจกองทัพ เปิดเหตุผลเพิ่มอำนาจ ครม.ตั้งบิ๊กท็อปบูต อัดแรงระบบปัจจุบันเปิดช่อง ผบ.เหล่าทัพวางทายาท-พวกพ้องให้สืบทอดอำนาจ "หัวเขียง" เผยก๊อกสองจ้องรื้อ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก 2457 ถอดปลั๊ก ผบ.ทบ.ตามรอย "เกาหลีใต้โมเดล" ผู้นำทหารประกาศได้แต่ให้อำนาจสภาโหวตยกเลิก ลั่นแค่ พท.จับมือพรรคส้มก็ผ่านฉลุย ขณะที่สภาสูงตั้งป้อมสกัด ประธาน กมธ.ทหารฯ สวนกลับนักการเมือง ใครกันแน่ทำให้ทหารต้องออกมา "สมชาย" เตือนเกมรุกฆาตกองทัพและสถาบันหลักจะเป็นฟางเส้นสุดท้าย "พท." จ่อเข็น กม.นิรโทษฯ พ่วงกม.ประชามติ ปัดทำเพื่อ "ยิ่งลักษณ์"
เมื่อวันอาทิตย์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหม พ.ศ.... ที่ ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าชื่อกันเสนอร่างดังกล่าวเข้าสภาผู้แทนราษฎร เพื่อประกบกับร่างของพรรคก้าวไกลหรือของพรรคประชาชน ที่เสนอไปก่อนหน้านี้ และตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์ของสภา ร่างดังกล่าวของ สส.พรรคเพื่อไทยมีการให้เหตุผลในการเสนอร่างดังกล่าวไว้ ..โดยที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นองค์กรสูงสุดในฝ่ายบริหาร แต่กลับไม่มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล โดยการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.2551 แต่งตั้งโดยคณะกรรมการที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและผู้บัญชาการเหล่าทัพเป็นกรรมการเท่านั้น
“ทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลมีการวางตัวบุคคลของทางกองทัพที่เป็นพวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพให้สืบสายเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพต่อไป อันทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับนายทหารที่มีความรู้ความสามารถ แต่มิใช่พวกพ้องของผู้บัญชาการเหล่าทัพทำให้ไม่มีโอกาสได้ก้าวหน้าในชีวิตราชการทหารและทำให้การแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลขาดความโปร่งใส”
และยังระบุอีกว่า จึงเป็นการสมควรที่จะให้ ครม.ได้มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพลที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการแล้วได้ องค์ประกอบของคณะกรรมการที่มีอยู่ก็ไม่มีความเหมาะสม จึงควรปรับองค์ประกอบให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ส่วนสภากลาโหมก็มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นนายทหาร ทั้งที่ภารกิจของราชการทหารมีความเกี่ยวข้องกับส่วนราชการอื่นด้วย โดยเฉพาะด้านการใช้งบประมาณ จึงควรให้หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้ามาเป็นสมาชิกสภากลาโหมด้วย โดยกำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานสภากลาโหมแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตัดองค์ประกอบของสมาชิกสภากลาโหมในส่วนของกองทัพออกบางส่วน เหตุเพราะการมีตัวแทนของส่วนราชการแต่ละกองทัพส่วนราชการละหนึ่งคนหรือสองคนก็เพียงพอและเหมาะสมแล้ว และผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นทหารชั้นนายพลควรเป็นผู้ที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามบางประการ จึงสมควรกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นนายทหารชั้นนายพลไว้ด้วย
“นอกจากนี้ข้อเท็จจริงที่ผ่านมาพบว่านายทหารระดับสูงมีการใช้กำลังพลไปในทางที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมถึงใช้เพื่อประโยชน์ของตนเอง จึงควรกำหนดข้อห้ามในการใช้กำลังทหารไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน หากมีการฝ่าฝืนก็ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้เป็นการชั่วคราวได้ในระหว่างรอการสอบสวนได้ โดยมิต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการสั่งพักราชการตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้ทหารได้ใช้อำนาจในทางที่ผิดและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า แนวคิดการเสนอร่างกฎหมายเพื่อป้องกันการทำรัฐประหารเป็นแนวคิดที่พรรคคิดไว้นานแล้วตั้งแต่สภาสมัยที่ผ่านมายุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จนมาตอนนี้จึงมีการเข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ เข้าสภา บนหลักการคือต้องการให้กองทัพ-ทหาร ยอมรับเข้าใจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เพราะทหารก็คือข้าราชการเหมือนกับข้าราชการอื่นๆ ที่จะต้องเป็นเครื่องมือที่รัฐบาลนำไปใช้ในการบริหารราชการ
โวจับมือพรรคส้มผ่านฉลุยแน่
“ทหารก็ต้องอยู่ใต้รัฐบาล การให้ ครม.มีอำนาจพิจารณาโผนายพลที่ผ่านการพิจารณามาจากบอร์ดแต่งตั้งนายทหารระดับนายพลตามร่างที่เสนอฯ ก็เป็นการทำให้ทหารเหมือนกับข้าราชการพลเรือนส่วนอื่นๆ อย่างปลัดกระทรวงกลาโหม ก็เหมือนกับปลัดกระทรวงอื่นๆ แต่นี่ใหญ่เหลือเกิน เพราะบังเอิญมีปืน ดังนั้น จึงควรทำให้ถูกต้องตามครรลองหลักการประชาธิปไตย ที่การเมืองต้องนำทุกอย่าง ข้าราชการต้องเชื่อฟังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่รายละเอียดในส่วนการให้อำนาจ ครม.ร่วมทำโผนายพล ก็ต้องถนอมน้ำใจของทหารไว้ด้วย คือให้ ครม.พิจารณารายชื่อบนหลักการที่เป็นธรรม"
นพ.เชิดชัยกล่าวถึงกรณีที่ในร่าง พ.ร.บ.ระเบียบราชการกลาโหมฯ ดังกล่าว ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีและ ครม.มีอำนาจสั่งให้ทหารที่พบหรือมีข้อมูลว่า กำลังเคลื่อนไหวจะทำการยึดอำนาจรัฐบาลหรือคิดทำรัฐประหาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ว่า ประเด็นนี้ ต้องเขียนในกฎหมายให้ชัดเจน ต้องระวังด้วย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามมา ไม่เช่นนั้นจะไปซ้ำรอยกรณี ครม.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร สั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการ สมช. จนโดนร้องศาลรัฐธรรมนูญแล้วศาลสั่งให้นายกฯ ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่ง เพราะหากมีการไปสั่งย้ายทหารโดยไม่มีข้อมูลชัดเจน ก็อาจโดนร้องกลับว่าย้ายโดยไม่เป็นธรรม ก็ต้องเขียนในกฎหมายให้ชัดเจนว่าต้องมีพฤติกรรมอย่างไร
“ดูแล้วหากสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหมของเพื่อไทย ก็น่าจะผ่านสภาได้ แต่ก็ไม่แน่เหมือนกัน พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค เกิดไปคิดมากอีก จนไม่ยอมผ่านให้ เหมือนตอนกฎหมายประชามติ ก็มีบางพรรคการเมือง อยู่ๆ ก็เบี้ยวขึ้นมา พรรคไหนก็ไม่รู้ แต่พบว่าพรรคประชาชนก็เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหมเข้าสภาเหมือนกัน ซึ่งหากสองพรรคเห็นตรงกันก็อาจผ่านสภาได้ แต่จะไปติดตรงที่สมาชิกวุฒิสภา เพราะถ้าเป็น สว.มาจากเลือกตั้งหมด ก็น่าจะผ่านได้ ไม่ใช่เป็น สว.สีน้ำเงินหมด” นพ.เชิดชัยกล่าว
เมื่อถามว่า หากมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหมฯ ที่เสนอเข้าสภา จะทำให้การเกิดรัฐประหารในประเทศไทยคงจบไปแล้วใช่หรือไม่ นพ.เชิดชัยกล่าวว่า ก็น่าจะดีขึ้น ไม่มีใครกล้าทำรัฐประหาร หากทำประชาชนก็จะออกมาต่อต้าน จะเป็นการยืนยันว่าประเทศไทยเราปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ไม่ใช่ปกครองด้วยตัวหนังสือที่เขียนไว้ ก็จะเป็นหลักประกันอีกอย่างหนึ่งได้ หลักการในการเสนอร่างกฎหมายลักษณะดังกล่าว เป็นแนวคิดที่จะปฏิรูปส่วนราชการ และปฏิรูปกฎหมายให้เป็นประชาธิปไตย ผู้นำเหล่าทัพ ก็เป็นผู้ใหญ่ทั้งนั้น ก็ต้องมีวุฒิภาวะ เข้าใจว่าที่เขาเสนอร่างแบบนี้ ไม่ใช่เพราะเขาเกลียดชังอาชีพทหาร แต่ต้องการให้บ้านเมืองเดินไปอย่างสงบ พวกที่ชอบยุให้ทหารออกมาปฏิวัติจะได้น้อยลงไปบ้าง เพราะหากรัฐบาลทำอะไรไม่ถูก ก็เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือตอนเลือกตั้งก็ไม่ต้องไปเลือก ผู้นำเหล่าทัพเขาเห็นการรัฐประหารสองครั้งล่าสุด โดยเฉพาะยุค คสช.ปี 2557 ลุงตู่อยู่นานแล้วผลเป็นยังไง ประชาชนหนี้ท่วม
ก๊อกสองรื้อกฎอัยการศึก
"จริงๆ แล้วพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดอยากจะทำ-เสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 นานแล้ว หลังจากนี้ก็จะถือโอกาสเสนอต่อจากนี้ไปเลย (ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหม) เพราะ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก ที่ใช้อยู่เป็นกฎหมายโบราณ ไม่เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน การจะให้อำนาจใครไปสั่ง ไปออกกฎอัยการศึก ต่อไปมันต้องชัด และการยกเลิกกฎอัยการศึก ก็ต้องทำให้ชัด ก็อาจทำแบบเกาหลีใต้ก็ได้ เช่น หากมีการประกาศกฎอัยการศึก ก็ต้องให้รายงานสถานการณ์ต่อสภาภายในเวลาที่กำหนดไว้ ซึ่งหากสภาเห็นว่ามีปัญหา หรือไม่เห็นด้วยกับการประกาศ ก็สามารถลงมติไม่เอาด้วยกับการประกาศดังกล่าวได้ เพื่อทำให้กฎอัยการศึกที่ประกาศออกมาตกไป ถ้าทำออกมาแบบนี้ได้ก็ยอดเลย" สส.เพื่อไทยผู้นี้กล่าว
นพ.เชิดชัยบอกด้วยว่า หลังจากนี้ จะหาโอกาสคุยกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เพื่อจะได้รื้อเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะเคยคุยกันมาแล้วในพรรค ในการจะแก้ไขกฎหมายกฎอัยการศึก ที่ประกาศใช้มานานมาก มันโบราณมาก ในพรรคเราก็คุยเรื่องนี้กันอยู่
อนึ่ง พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 มีสาระสำคัญ เช่น ผู้มีอำนาจในการประกาศใช้กฎอัยการศึก 1) พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยการประกาศใช้กฎอัยการศึกเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยทรงประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกในส่วนหนึ่งส่วนใดของพระราชอาณาจักร หรือตลอดทั่วทั้งพระราชอาณาจักร ภายใต้เงื่อนไขคือ เมื่อมีเหตุอันจำเป็นเพื่อที่จะได้รักษาความเรียบร้อยปราศจากภัยซึ่งจะมีมาจากภายนอก หรือภายในพระราชอาณาจักร (มาตรา 2) รวมถึงให้อำนาจผู้บังคับบัญชาทหาร มีอำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกเฉพาะในเขตอำนาจหน้าที่ของทหารได้ภายใต้เงื่อนไข คือ 1) เมื่อมีสงคราม หรือ จลาจลเกิดขึ้น ณ แห่งใด 2) มีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใด ๆ 3) จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด เป็นต้น
ขณะที่ พล.อ.สวัสดิ์ ทัศนา ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหารและความมั่นคงของรัฐ วุฒิสภา กล่าวถึงกรณี สส.เพื่อไทยเข้าชื่อกันเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหมฯ ว่า ต้องดูเหตุผลของผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเข้าสภาว่าเขาคิดเพื่ออะไร โดยเท่าที่ฟังดูมีการให้เหตุผลออกมาว่าเป็นการเสนอร่างกฎหมายแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหมเพื่อจะได้ป้องกันรัฐประหาร แต่ว่ารัฐประหารที่ผ่านมาก็จะพบว่าหลายครั้งเกิดจากความไม่เรียบร้อยในบ้านเมือง การทำรัฐประหาร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดทำกันได้ง่ายๆ สนุกๆ ต้องมีเหตุ มีปัจจัยเกี่ยวกับประเทศชาติ ประชาชนอย่างมาก ถึงจะมีเหตุการณ์แบบนี้ การจะเสนอร่างกฎหมายดังกล่าว แล้วให้ฝ่ายการเมือง หรือคณะรัฐมนตรีมามีอำนาจตรงนี้ ก็ต้องไปดูเหตุผล แต่ผมดูแล้วคิดว่ามันไม่ใช่
สภาสูงตั้งป้อมสกัด
เมื่อถามถึงว่า พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนต่างก็เสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหมฯ เข้าสภา ซึ่งเพียงแค่สส.ของทั้งสองพรรคลงมติสนับสนุน ร่างดังกล่าวก็มีโอกาสผ่านสภา แล้วต่อไปก็ต้องส่งมาให้วุฒิสภา ในฐานะ สว. จะมีการพิจารณาตรงนี้อย่างไร พล.อ.สวัสดิ์ กล่าวว่า ต้องดูเหตุดูผลว่ามันเหมาะสมแค่ไหน เพราะบางทีการจะเสนออะไรมันต้องดูความเป็นจริงด้วย เช่นเคยมีการออกมาพูดทำนองว่าต่อไปไม่ต้องมีอีกแล้วเรือรบ ให้ใช้เรือประมงไปรบแทน แบบนี้มันไม่ใช่ แต่อย่างที่บอก เหตุผลการทำดังกล่าว (รัฐประหาร) หากไปดู มันไม่ใช่มาจากทหาร ส่วนใหญ่ลักษณะเป็นการแก้ปัญหามากกว่า
"อย่างการทำรัฐประหารครั้งล่าสุด หากมองย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น หาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ตัดสินใจทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ประเทศชาติจะเป็นอย่างไร จะเสียหายไปขนาดไหน และที่มันเกิดเหตุการณ์ แบบนั้น มันเกิดจากใคร ทหารไปทำหรือไม่ นักการเมืองใช่หรือเปล่า ที่ทำเพื่อชาติบ้านเมือง ทำจริงหรือไม่ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ทำตรงนี้ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เรื่องสนุก เป็นเรื่องชาติบ้านเมือง ที่ไม่สามารถเอามาล้อเล่นได้ ฝ่ายการเมืองคงต้องย้อนกลับไปดูเยอะๆ ว่าการเกิดรัฐประหารในช่วงหลัง มันเกิดขึ้นจากเหตุใด"
ถามถึงกรณีที่มีการเขียนไว้ในร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกลาโหมของเพื่อไทย ในการให้ ครม.มีอำนาจพิจารณาโผแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพล หลังผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาแต่งตั้งระดับนายพลของทหาร คนก็เริ่มเกรงกันว่า จะเปิดช่องให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปแทรกแซงทหารมากขึ้น ทำให้ทหารต้องวิ่งเข้าหานักการเมือง ประธาน กมธ.การทหารฯ วุฒิสภา กล่าวว่า แนวคิดเรื่องนี้ตนไม่เห็นด้วย หากทำแบบนี้จะยิ่งหนักกว่าด้วยซ้ำไป เพราะทหารมีหลักเกณฑ์การพิจารณาหลายอย่าง ต้องดูหลายอย่าง มีกระบวนการพิจารณา เช่น การพิจารณาของ ผบ.เหล่าทัพ โดยพิจารณาจากหลายปัจจัยเช่น ความสามารถ
“การที่บอกว่าการให้นักการเมืองมาดูเรื่องการทำโผการแต่งตั้งทหาร แล้วจะทำให้ไม่มีปฏิวัติ หรือที่บอกว่าไปได้ข่าวว่าจะปฏิวัติแล้วให้สั่งหยุดปฏิบัติได้ ผมว่ามันก็ ..แต่ก็ดูเหตุดูผลกัน ทุกคนก็คิดได้” ปธ.คณะ กมธ.การทหารฯ วุฒิสภากล่าว
นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า พ.ร.บ.แก้ไขตามที่พรรคเพื่อไทยเสนอ โดยนายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ อดีตผู้เสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย ลักหลับ จนเกิดรัฐประหารมาแล้ว กฎหมายไม่กี่มาตรานี้ จะทำให้กองทัพอ่อนแอ ทั้งที่ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมพ.ศ.2551 คือฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน ดีอยู่แล้ว ใช้เพื่อป้องกันไม่ให้การเมืองเข้าแทรกแซงกองทัพ เหมือนสมัยระบอบทักษิณเรืองอำนาจในอดีต ถ้าการแก้ไขพ.ร.บ.เป็นไปตามนี้ ก็จะเกิดระบบโควตานายพล แจกจ่ายให้ สส. สว. รมต. นายกฯ และพรรคการเมือง ทหารจะต้องวิ่งเต้นโยกย้ายสังกัดนักการเมือง เหมือน…ในอดีต ที่ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ พลเรือน ฯลฯ ต้องวิ่งเต้นยอมอยู่ใต้อุ้งมือนักการเมืองทุจริตอีกครั้ง และหากกองทัพถูกควบคุมโดยฝ่ายการเมือง ที่ลุแก่อำนาจ คอร์รัปชัน บั่นทอนสถาบัน ความมั่นคงของชาติและสถาบันจะกระทบอย่างรุนแรง
"ชัดเจนครับว่า เขากำลังเดินเกมรุกฆาต กองทัพและสถาบันหลักของชาติ จับตา ฟางเส้นสุดท้ายหรือไม่" นายสมชายระบุ
ชงแก้ประชามติพ่วงนิรโทษฯ
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พท. และที่ปรึกษาวิปรัฐบาล ชี้แจงกรณีการนำเสนอกฎหมายและการประชุมสภาในขั้นตอนการเปิดสภาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ว่า สภาคงจะพิจารณากฎหมายไปตามระเบียบวาระที่ค้างอยู่ก่อนปิดสมัยประชุมครั้งที่แล้ว ซึ่งจะมีกฎหมายที่พรรค พท.จะนำเสนอ และพิจารณาพร้อมกันไปกับร่างที่ค้างอยู่ในการประชุมสภา คือร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่ขณะนี้คณะกรรมการกฎหมายของพรรคพิจารณายกร่างเสร็จสิ้นแล้ว จะนำเข้าที่ประชุม สส.ของพรรค เพื่อให้ความเห็นชอบ และร่วมลงชื่อเสนอสภา ต่อไป
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทยเสนอ คือการนิรโทษกรรมความผิดที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน โดยใช้รูปแบบคณะกรรมการมาพิจารณา และมีบัญชีแนบท้ายว่า ความผิดอันใดบ้างที่จะได้รับนิรโทษกรรม นอกจากนั้น สภาคงจะต้องพิจารณาร่างแก้ไขกฎหมายประชามติ ที่จะยืนยันร่างเดิม หรือร่างที่กรรมาธิการร่วมพิจารณา ซึ่งพรรคเพื่อไทยคงต้องไปหารือในวิปรัฐบาล แต่ความเห็นส่วนตัวเห็นว่า เราพิจารณากันในชั้นสภาในการยืนยันการลงมติเสียงข้างมากชั้นเดียวเป็นเอกฉันท์ ที่พรรคคงต้องยืนตามนี้ อันจะนำไปสู่การต้องยับยั้งร่างไว้เป็นเวลา 180 วัน
นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ประธาน สส.พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่พรรคเพื่อไทยจะเสนอ แต่มีบางฝ่ายออกมาตั้งคำถามถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะได้รับอานิสงส์ด้วยหรือไม่ ว่านายชูศักดิ์ ศิรินิล ในฐานะรองหัวหน้าพรรค พท.เป็นคนร่างกฎหมายดังกล่าว โดยทราบว่าขณะนี้เสร็จสิ้นแล้ว แต่ตนยังไม่ได้เห็นเนื้อหา ซึ่งสุดท้ายต้องเอาเข้าที่ประชุม สส.พรรค เพื่อขอมติ สส. หาก สส.เห็นด้วยก็จะนำเสนอเข้าสภา ไปประกบกับร่างกฎหมายนิรโทษฯ ของพรรคการเมืองอื่น และภาคประชาชนที่รออยู่ในสภา การที่เราเป็นแกนนำรัฐบาล เมื่อมีกฎหมายนิรโทษกรรมคาอยู่ในสภา เราก็ต้องเสนอร่างกฎหมายประกบ ถือเป็นเรื่องปกติ และการตรากฎหมายอย่าเพิ่งพูดว่าใครจะได้ประโยชน์ เพราะการออกกฎหมายนิรโทษคนได้ประโยชน์เยอะ พรรคเพื่อไทยก็ทำตามสิ่งที่เราหาเสียงไว้
"จุดยืนของพรรคก็ชัดเจนไม่นิรโทษกรรมความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 และมาตรา 112 อีกทั้งในพรรคก็ไม่ได้เร่งรัด และไม่มีการพูดกันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้กลับประเทศ เพราะกฎหมายนี้ แต่พอถึงเวลาเราเสนอกฎหมายประกบ ก็มีการหยิบยกขึ้นมา และมีตีปลาหน้าไซ ว่าคนนั้นคนนี้จะได้ประโยชน์ ขออย่านำทุกเรื่องมาผูกโยงกัน" นายวิสุทธิ์กล่าว
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกล แสดงความเห็นจากกรณีที่มีผู้ต้องหาในคดีจำนำข้าวสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทยอยออกจากเรือนจำ หลังได้รับการพักโทษนั้นจะเป็นการปูทางให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้กลับประเทศไทยหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกัน คดีเหล่านี้เป็นคดีจำนำข้าวที่ศาลตัดสินจำคุกไปแล้วอย่างน้อย 3 คน ในมุมของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตนหวังว่าจะได้รับความยุติธรรมจากการเข้าระบบยุติธรรม อยากให้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และได้รับความเป็นธรรมในคดีนี้ เพราะด้วยอายุของ น.ส.ยิ่งลักษณ์และคนที่เกี่ยวข้องเข้าสู่กระบวนการมานานถึง 7 ปี ก็หวังว่าจะได้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและเข้าสู่กระบวนพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่ามีส่วนทำให้รัฐเสียหายจริงหรือไม่ ถ้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็เชื่อว่าจะได้รับความเป็นธรรมและไร้ข้อกังขา ไม่มีอภิสิทธิ์ใดๆ
ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ
ส่วนการกลับมาของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะใช้ทักษิณโมเดลหรือไม่ นายพิธามองว่า เป็นคนละกรณี ต่างเงื่อนไข เชื่อว่าของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็จะไม่เหมือนกับของนายทักษิณ และเชื่อว่าหากทำอย่างตรงไปตรงมาและให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ประชาชนก็จะกลับมามีความศรัทธาในระบบการเมือง และกระบวนการยุติธรรมมากขึ้น ว่าไม่มีอภิสิทธิ์ชนการเมือง
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ประชามติและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั่วประเทศ 1,310 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเกณฑ์การผ่านประชามติโดยต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่ง (เกินกว่า 50%) ของผู้มีสิทธิ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 51.37 ระบุว่าเห็นด้วยมาก รองลงมา ร้อยละ 21.83 ระบุว่าค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 15.50 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 10.46 ระบุว่าไม่ค่อยเห็นด้วย
สำหรับความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์การผ่านประชามติ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 59.54 ระบุว่าเสียงเห็นชอบต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ (ต้องได้มากกว่า 50%) รองลงมา ร้อยละ 26.57 ระบุว่าเสียงเห็นชอบต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ (แต่ไม่จำเป็นต้องถึง 50%), ร้อยละ 12.52 ระบุว่าเสียงเห็นชอบต้องเป็นเสียงส่วนใหญ่ (ไม่จำเป็นต้องถึง 50%) แต่ต้องมากกว่าผู้ลงคะแนนช่องไม่ประสงค์ลงคะแนน
ด้านความต้องการของประชาชนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 27.63 ระบุว่าต้องการมาก รองลงมา ร้อยละ 27.02 ระบุว่าไม่ต้องการเลย, ร้อยละ 25.34 ระบุว่าค่อนข้างต้องการ, ร้อยละ 19.08 ระบุว่าไม่ค่อยต้องการ และร้อยละ 0.93 ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ
ท้ายที่สุดเมื่อสอบความคิดเห็นของผู้ที่ระบุว่าต้องการมากและค่อนข้างต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประชาชนต้องการ พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 78.97 ระบุว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา รองลงมา ร้อยละ 19.16 ระบุว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ