ไม่ต้องกางโพย “นายกฯ อิ๊งค์” เข้าใจประชาชนกังวลขึ้นแวต 15% ให้ “พิชัย” ชี้แจงรายละเอียด "สุวินัย" ลากไส้รัฐบาลถังแตก รีดภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อปรนเปรอนโยบายประชานิยม สับแหลกคนประเทศนี้ ขี้ขอ เอาแต่ได้ และขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างรุนแรง ด้านรวมไทยสร้างชาติค้านไม่ควรไปเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน
จากกรณีนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.การคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน Sustainabillity Forum 2025 : Synergizing for Driving Business เมื่อวันที่ 3 ธันวาคมที่ผ่านมา ว่าขณะนี้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เร่งพิจารณาเรื่องการปรับโครงสร้างภาษี เพื่อสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล โดยได้สั่งการว่าจะต้องดำเนินการเป็นแพ็กเกจ อาทิ ภาษีนิติบุคคล ซึ่งปัจจุบันทั่วโลกจัดเก็บกันที่ราว 15% จากของไทยอยู่ที่ 20% ดังนั้นรัฐบาลต้องคิดว่าจะทำอย่างเพื่อให้ภาษีดังกล่าวปรับลดลงมา เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
ขณะเดียวกัน ก็ต้องมาพิจารณาว่า หากมีการลดภาษีในส่วนดังกล่าวลงแล้ว จะต้องไปปรับเพิ่มภาษีในส่วนไหนเพื่อช่วยสนับสนุนเรื่องการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล ซึ่งภาษีที่มีส่วนสำคัญคือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ที่จัดเก็บจากการบริโภคของไทย ซึ่งปัจจุบันเก็บที่ 7% ยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ทั่วโลกจัดเก็บที่ 15-25% นั้น เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง
เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ในเรื่องนี้ว่า เดี๋ยวนายพิชัยจะให้สัมภาษณ์ในรายละเอียด
ผู้สื่อข่าวถามว่า แต่ประชาชนส่วนใหญ่คิดว่าถ้ามีการขึ้นภาษีดังกล่าวจะเดือดร้อน น.ส.แพทองธารกล่าวเพียงสั้นๆ ว่า เข้าใจ
ขณะที่ รศ.ดร.สุวินัย ภรณวลัย อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "ทำไมต้องเก็บภาษี VAT เป็น 15%?" ระบุว่า เพราะคนประเทศนี้มีแนวคิดที่ประหลาดพิกลมากยังไงเล่า หรือกล่าวแรงๆ ได้ว่าเป็นแนวคิดของพวก ‘ขี้ขอ เอาแต่ได้ และขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมอย่างรุนแรง’ แนวคิดของคนพวกนี้แถอย่างข้างๆ คูๆ ว่า "เพราะพวกกูมีรายได้น้อยอยู่แล้วทำไมต้องจ่ายภาษีเงินได้อีก"
คนพวกนี้ใช้ตรรกะวิบัติประเภทที่ว่า "กูจะจ่ายภาษีไปทำไม? จ่ายภาษีแล้วกูได้อะไรกลับมา? มีอะไรที่กูจับต้องได้บ้าง?" นี่คือคนไทยหลายสิบล้านคนที่ไม่ยอมเข้าระบบ ไม่ยอมยื่น ภงด.
แต่ก็เป็นคนไทยกลุ่มนี้แหละที่ใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค ได้รับเงินหมื่น ฯลฯ คือใช้สวัสดิการและสาธารณูปโภคของประเทศอยู่ทุกวัน โดยหลอกตัวเองอย่างจริงจังว่าพวกกูไม่น่าจะต้องจ่ายภาษี
ประเทศนี้ประหลาดมากจนต้องเรียกว่า AMAZING THAILAND เพราะมีคนไทย 4 ล้านคนจ่ายภาษีเงินได้เพื่อเลี้ยงคนอีกหลายสิบล้านคนที่เชื่อว่าตัวเองไม่ควรต้องจ่ายภาษีเงินได้ แต่เชื่อว่าตัวเองควรจะได้รับสวัสดิการมากขึ้นเรื่อยๆ
ประเทศนี้ประหลาดจริงๆ เพราะยอดภาษีที่เก็บได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มากกว่ายอดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดากว่าเท่าตัว แถมยังมากกว่าภาษีเงินได้นิติบุคคลด้วยซ้ำ จนเป็นยอดเก็บภาษีสูงสุดของประเทศนี้
ดังนั้นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 15% จึงหมายถึงรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัวของรัฐ
นี่หมายถึง ‘การรีดภาษีทางอ้อม’ จากคนไทยหลายสิบล้านคนที่หลอกตัวเองว่าไม่ควรต้องจ่ายภาษีเงินได้นั่นเอง เพื่อที่รัฐบาลจะได้เอาภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บเพิ่มได้กว่าเท่าตัวนี้ มา ‘ปรนเปรอ’ คนพวกนี้ด้วยนโยบายประชานิยมต่อไปชั่วกาลนาน
คนไทยกำลัง 'กินตัวเอง'
‘รัฐบาล’ รีบ!! รีดภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 7% เป็น 15% เลยครับ รีบทำเลย รีบทำทันที และอย่าลืมช่วยลดภาษีเงินได้ให้คนเสียภาษี 4 ล้านคน รวมทั้งช่วยลดภาษีเงินได้นิติบุคคลตามที่รับปากด้วยนะ
ความจริงที่อยู่เบื้องหลังการเสนอขึ้นภาษี VAT เป็น 15%
รศ.ดร.สุวินัยโพสต์เฟซบุ๊กอีกว่า เศรษฐกิจไทยต่อจากนี้จะ "โตแบบชะลอ" หรือโตยาก เพราะติดกับดักหนี้ทั้งภาครัฐและภาคครัวเรือน ตอนนี้หนี้ครัวเรือนของคนไทยถึงจุดตันแล้ว ไปต่อไม่ได้อีก คนไทยกำลัง 'กินตัวเอง' หรือตายเพราะหนี้แบบผ่อนส่ง
ภาคผลิตไทยกำลังทรุด ทั้งๆ ที่คนไทยยังกินใช้สูง โดยซื้อของจีนแทนของไทย ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
เราจึงเริ่มเห็นปรากฏการณ์ที่คนจบมาไม่มีงานทำ คนตกงานเพราะถูกเลิกจ้าง โรงงานปิดตัว ฯลฯ ....ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการทดแทนของซัพพลาย คือ เจอสินค้าจีน เจอแรงงานพม่า และแรงงานเขมร เข้ามายึดหมด ทั้งผลิตภัณฑ์ ของใช้อุปโภคบริโภค แผงลอย และแรงงานรับจ้างทั่วไป
ภาพรวมระดับมหภาคคือ ภาวะเศรษฐกิจซบเซาในภาพรวมนั่นเอง
การเสนอขึ้นภาษี Vat 15% ของรัฐบาลเพื่อไทย ก็เพราะรัฐบาลกำลังจะถังแตก ไม่มีเงินมาใช้จ่ายนโยบายประชานิยมแบบสุรุ่ยสุร่าย ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำได้อีกต่อไปนั่นเอง
ด้านนายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ รองหัวหน้าพรรคและ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ให้สัมภาษณ์ว่า เข้าใจว่ารัฐบาลต้องการที่จะหารายได้ภาษีให้เพิ่มขึ้นโดยการขึ้น VAT ส่วนหนึ่งเพื่อเอาไปชดเชยรายได้ภาษีที่ลดลงจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงต้องการหารายได้เพิ่มขึ้นเพื่อนำไปพัฒนาประเทศผ่านโครงการลงทุนภาครัฐที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งจัดสวัสดิการให้ประชาชนกลุ่มรายได้น้อยหรือเปราะบาง ซึ่งการมีรายได้ภาษีที่เพิ่มขึ้นเพียงพอก็จะช่วยลดการกู้ ลดภาระหนี้สาธารณะ ซึ่งปีนี้คาดว่าสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงถึง 65.74% ใกล้เพดาน 70% เข้าไปทุกที การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลและบุคคลธรรมดาของรัฐบาล แม้จะมีเป้าหมายที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่จำเป็นต้องมีแผนปฏิรูปภาษีที่รอบคอบและสมดุล เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ ความยั่งยืนทางการคลัง และการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
เสนอนโยบาย Flat Rate
เขาบอกว่า การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจะช่วยกระตุ้นการลงทุน เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและการเพิ่มรายได้ของประชาชน ในขณะที่การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจะช่วยเพิ่มรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้จริง กระตุ้นการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม การลดอัตราภาษีทั้งสองประเภทจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้เกิดการขาดดุลงบประมาณสูงขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศมีภาระหนี้สาธารณะสูง ดังนั้น รัฐบาลจึงควรพิจารณาผลกระทบต่อรายได้ภาครัฐและเสถียรภาพทางการคลังอย่างรอบคอบ
"ผมมองว่า การลดภาษีดังกล่าว ควรทำควบคู่กับการขยายฐานภาษี เช่น การจัดเก็บภาษีจากเศรษฐกิจดิจิทัล หรือการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่รัฐและรักษาความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาว"
นายธนกรยังกล่าวว่า การลดอัตราภาษีแบบ Flat Rate เหลือ 15% สำหรับทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นนโยบายที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ Flat Rate อาจส่งผลให้ประชาชนกลุ่มรายได้ต่ำต้องรับภาระภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ ในขณะที่กลุ่มรายได้สูงได้รับประโยชน์มากกว่า และที่สำคัญไม่เหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย เนื่องจากรายได้ประชากรไทยมีความหลากหลายและไม่สม่ำเสมอ ระบบ Flat Rate อาจไม่ตอบโจทย์ในแง่ความเป็นธรรมทางภาษี
"ผมขอเสนอว่า หากพิจารณานโยบาย Flat Rate ควรมีมาตรการเสริม เช่น การเพิ่มการลดหย่อนภาษีสำหรับกลุ่มรายได้ต่ำ และให้มีการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำ โดยพิจารณาการจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) เพื่อสร้างรายได้เพิ่มเติมและลดช่องว่างระหว่างกลุ่มประชากร และควรดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป รวมทั้งศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างละเอียด เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายนี้จะไม่กระทบความยั่งยืนทางการคลังและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งระบบ Flat Rate เหมาะกับประเทศที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจมั่นคงและรายได้ประชากรสูงเท่ากันในระดับหนึ่ง หากนำมาใช้ในไทยซึ่งประชากรมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง จึงต้องมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับบริบทเฉพาะของประเทศด้วย"
ไม่ควรเพิ่มภาระให้กับประชาชน
รองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติเผยว่า สำหรับการเพิ่มอัตราภาษี VAT แม้ว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ของรัฐอย่างมาก แต่จะกระทบต่อค่าครองชีพ การเพิ่ม VAT จะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่จำเป็น เช่น อาหารและพลังงาน ทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องใช้รายได้ส่วนใหญ่ในการบริโภค การเพิ่ม VAT ลดกำลังซื้อของประชาชน ส่งผลให้การบริโภคในประเทศชะลอตัว และกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
"ผมมองว่า ในสภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในขณะนี้ อยู่ระหว่างการฟื้นตัวยังเติบโตไม่เต็มที่ ประชาชนมีรายได้ต่ำ มีหนี้ครัวเรือนสูง ไม่ควรไปเพิ่มภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ดังนั้นควรมีมาตรการเสริม เช่น การยกเว้น VAT สำหรับสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ หรือการให้เงินช่วยเหลือแก่กลุ่มเปราะบาง เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ใช้รายได้จากการเพิ่ม VAT เพื่อสนับสนุนโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เช่น การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือสวัสดิการสังคม และให้พิจารณาการปรับ VAT อย่างค่อยเป็นค่อยไป การปรับเพิ่มอัตราควรทำอย่างระมัดระวัง เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในภาพรวม"
นายธนกรกล่าวอีกว่า รัฐบาลจำเป็นต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้ตกผลึกก่อนตัดสินใจปรับโครงสร้างภาษีทั้งระบบ หรืออาจจะทำทีละขั้นตอน โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มนั้น ในอนาคตยอมรับว่าจะต้องมีการปรับขึ้นแน่นอน แต่ควรดูเวลาที่เหมาะสม หากปรับขึ้นทันที จะส่งผลกระทบหนักแน่นอน เพราะจัดเก็บในอัตราที่สูงมากกว่าหนึ่งเท่าตัว จาก 7% กระโดดขึ้นไปถึง 15% ในเรื่องนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนมีความกังวลเกรงว่าจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยชะงักได้ หากจะปรับโครงสร้างภาษี VAT ควรจะทำควบคู่กับการปรับค่าแรงขั้นต่ำ ปรับโครงสร้างพลังงานน้ำมัน ไฟฟ้า ค่าโดยสารรถประจำทางสาธารณะ ให้พร้อมก่อนที่จะปรับขึ้นภาษีในภายหลังจะดีกว่า
“การปรับโครงสร้างภาษีโดยเฉพาะ VAT นั้น ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อคนทั้งประเทศ จำเป็นจะต้องพิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน ถึงผลดี-ผลเสียที่จะได้ เนื่องจากรายได้ของพี่น้องประชาชนยังเท่าเดิม แต่ภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นเท่าตัว จะยิ่งทำให้กำลังซื้อและการตัดสินใจใช้จ่ายเงินของประชาชนจะยิ่งลดลงด้วย ส่งผลต่อเงินหมุนเวียนในประเทศโดยตรง จึงขอให้รัฐบาล กระทรวงการคลังพิจารณาปรับขึ้น VAT ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะตามมา ทั้งนี้ ควรจะเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนในทุกภาคส่วน อาจจะใช้เวทีสภาเพื่อหารือในเรื่องนี้ ก็สามารถทำได้เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากที่สุด” นายธนกรระบุ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ทอน-เท้งไม่กล้าแตะแม้ว ร้องกกต.ซื้อเสียง52เรื่อง
“อิทธิพร” ยืนยันความพร้อมเลือกตั้งสมาชิก-นายก อบจ.
งบปี69ยึด3เป้า ย้ำขรก.ใช้คุ้มค่า คัด‘ปธ.ธปท.’อืด
นายกฯ มอบนโยบายจัดทำงบปี 69 วาง 3 เป้าหมาย ไม่ลดสัดส่วนนักลงทุน-ไม่เพิ่มงบ-ไม่เพิ่มอัตรากำลัง
สภาไฟเขียว‘สุราชุมชน’ ตีปี๊บซอฟต์พาวเวอร์ไทย
มติสภาเอกฉันท์ 415 เสียง ไฟเขียว "กม.สุราชุมชน" เปิดโอกาสเกษตรกรรายย่อยผลิต-มีเครื่องกลั่นสุรา
อิ๊งค์หวิดโดนตุ๋น/3ทุนใหญ่งาบ
อึ้ง! "นายกฯ อิ๊งค์" หวิดโดนคอลเซ็นเตอร์หลอกโอนเงิน
ลากทักษิณขึ้นเขียง แพทยสภาเปิดวอร์รูมตรวจเวชระเบียนชั้น14เร่งจบมี.ค.
แพทยสภาเข็นนักโทษเทวดาขึ้นเขียง “หมออมร” เปิดวอร์รูมนัดแรกตรวจเอกสารลับ
27ม.ค.โอนเงินหมื่นเฟส2 คลังยันคุยธปท.ดันศก.โต
นายกฯ สรุปทิศทางทำงบปี 69 ย้ำต้องตอบโจทย์พัฒนาประเทศ