ชงรัฐบาลชะลอค่าแรง400

“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน พ.ย.67  เพิ่มขึ้น 0.95% บวก 8 เดือนติด จากการปรับขึ้นน้ำมันดีเซล-หมวดอาหารเครื่องดื่ม ตั้งเป้าปีหน้า 0.3-1.3% กกร.เคาะจีดีพีปี 67 โต 2.8% ส่งออกเป็นพระเอกขยายตัว 4% พร้อมจับตานโยบายทรัมป์ เดินหน้ามาตรการเก็บภาษีนำเข้า จ่อยื่นรัฐบาลชะลอขึ้นค่าแรง 400 บาท

เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ย.2567 เท่ากับ 108.47 เทียบกับ ต.ค.2567 ลดลง 0.13% เทียบกับเดือน พ.ย.2566 เพิ่มขึ้น 0.95% เป็นบวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล เป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน และราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก และหากรวมเงินเฟ้อ 11 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.32%

สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน พ.ย.2567 ที่สูงขึ้น 0.95% มาจากการสูงขึ้นของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.28% โดยสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น อาทิ กลุ่มผลไม้สด กลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ กลุ่มเครื่องประกอบอาหาร กลุ่มอาหารสำเร็จรูป กลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ และกลุ่มข้าว แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ ผักสด ไข่ไก่ ไก่ย่าง นมเปรี้ยว ปลาทู น้ำมันพืช และอาหารโทร.สั่ง เป็นต้น

ส่วนหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม เพิ่มขึ้น 0.70% จากการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน อาทิ น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน และยังมีค่าเช่าบ้าน ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่าบริการส่วนบุคคล (ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี) และค่ารถรับ-ส่งนักเรียน ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง อาทิ แก๊สโซฮอล์ 95 ของใช้ส่วนบุคคล สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด และเสื้อผ้า เป็นต้น

ทางด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน พ.ย.2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.10% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.2567 และเพิ่มขึ้น 0.80% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2566 เฉลี่ย 11 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 0.55%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ธ.ค.2567 คาดว่าจะยังปรับตัวสูงขึ้น 1.2-1.3% และทำให้เงินเฟ้อทั้งปี อยู่ในเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 0.2-0.8% ค่ากลาง 0.5% ส่วนปี 2568 ได้กำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อไว้ที่ 0.3-1.3% ค่ากลาง 0.8% โดยมีปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ที่จะดีขึ้นทั้งการลงทุน การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว ราคาน้ำมันดีเซลที่ยังกำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร การใช้จ่ายของประชาชนเพิ่มขึ้นจากการเติมเงิน 10,000 บาท ทั้งนี้ หากสถานการณ์ในระยะถัดไปเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ กระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอีกครั้ง

วันเดียวกัน นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยมีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสมาคมธนาคารไทย   ร่วมว่า เศรษฐกิจไทยปี 2567 คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.8% มีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกที่ดีกว่าที่คาด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ โดยคาดว่าจะโตได้ราว 4% ในไตรมาสที่ 4 ขณะที่ปี 2568 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสขยายตัวได้ท่ามกลางความไม่แน่นอน โดยมีแรงส่งจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และมาตรการภาครัฐทั้งระยะสั้น  ระยะกลาง และระยะยาว ที่กำลังจะทยอยออกมา อาทิ การช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและกลุ่มผู้ประกอบการ SME การปรับกฎหมายเกี่ยวกับการเช่าที่ดินระยะยาว 99 ปี เพื่อดึงดูดการลงทุน และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลังมีความเสี่ยงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะสินค้าส่งออกหลัก อาทิ อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ เม็ดพลาสติก และยางล้อ ที่ประชุม กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐและภาคเอกชนร่วมกันเตรียมความพร้อมรับมือเจรจาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับภาษีนำเข้าและส่งออกกับสหรัฐที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า ทั้งนี้ คาดว่ามาตรการทางด้านภาษีจะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2568 เป็นต้นไป

ส่วนการขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ กกร.มองว่าแต่ละจังหวัดได้รับผลกระทบด้านเศรษฐกิจที่ต่างกันไป ดังนั้นควรจะต้องมีการประเมินความเหมาะสมในการขึ้นค่าแรงของแต่ละจังหวัดในคณะกรรมการไตรภาคี และได้จัดทำข้อมูลนำเสนอต่อหน่วยงานราชการและสำนักนายกรัฐมนตรี ภายในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ เพื่อความรอบคอบและเป็นประโยชน์ในการพิจารณาของรัฐบาลและคณะกรรมการไตรภาคี.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง