"บุญทรง" ปรากฏตัวครั้งแรก ไปรายงานตัวคุมประพฤติตามนัดหมายที่เชียงใหม่ ยังปิดปากเงียบ ลูกชายเผยรอให้ผ่านหลังเทศกาลปีใหม่ไปก่อนค่อยให้สัมภาษณ์ ด้าน "ทวี" แจงระเบียบคุมขังนอกเรือนจำทันใช้ปี 67 ช่วยผู้ต้องขังโทษชั้นดี กมธ.ประชามติเสนอรายงาน กมธ.ให้ สส.-สว.แล้ว จ่อเข้าถกในสภาสัปดาห์หน้า ยอมรับมี รธน.ใหม่ไม่ทันรัฐบาลนี้
เมื่อเวลา 08.30 น. วันที่ 4 ธันวาคม 2567 นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ สมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ได้รับการปล่อยตัว ได้เดินทางมารายงานตัวที่สำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เข้าพบและรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่คุมประพฤติตามกำหนดนัดหมาย เพื่อรับทราบขั้นตอนการพักโทษว่าหลังจากนี้จะต้องปฏิบัติตัวและรายงานตัวในวันใดบ้าง โดยมีนายเดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ บุตรชาย คอยพยุงเดินมาพบเจ้าหน้าที่ หลังจากลงรถยนต์สีขาว ทะเบียน กต 999 เชียงใหม่ มีผู้ติดตามอีก 3 คน ซึ่งนายบุญทรงสวมแว่นตากันแดดและใส่หน้ากากอนามัย ใช้ไม้เท้าช่วยค้ำยันในการเดิน โดยบุตรชายต้องคอยช่วยประคองอยู่ตลอด
เจ้าหน้าที่ได้ให้นายบุญทรงกรอกเอกสาร ซึ่งบุตรชายช่วยกรอกแทน และจากนั้นเข้าไปในอาคาร โดยที่ตลอดเวลานายบุญทรงมีท่าทีอิดโรยและผมสีขาวชราลงจากอดีต สงบเสงี่ยมเรียบเฉย ไม่พูดหรือพูดคุยทักทายกับสื่อมวลชนที่มาทำข่าวแต่อย่างใด โดยนายบุญทรงเข้าพบเจ้าหน้าที่ในตัวอาคารประมาณ 20 นาที ก่อนออกมาพร้อมบุตรชายที่คอยประคองและปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์ใดๆ แม้จะมีคำถามชวนคุยก่อนที่นายบุญทรงจะขึ้นรถกลับว่าอากาศดีหรือไม่ และมีแผนจะไปทำบุญที่วัดไหนหรือไม่ นายบุญทรงได้พยักหน้า แต่ไม่ได้พูดอะไร ก่อนที่จะขึ้นรถกลับไป
ส่วนลูกชายบอกสั้นๆ ว่า จะพาพ่อไปทำบัตรประจำตัวประชาชน และจะกลับเข้าบ้านพัก โดยก่อนหน้าบุตรชายได้ระบุว่า สภาพจิตใจของบิดาดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ไม่พร้อมให้สัมภาษณ์ จะขอใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว คงต้องรอให้ผ่านหลังเทศกาลปีใหม่ไปก่อน ระหว่างนี้ก็จะเข้ารายงานตัวตามที่กรมราชทัณฑ์กำหนดมา ส่วนอาการป่วยขณะนี้ก็มีเพียงเรื่องหมอนรองกระดูกและโรคประจำตัว ไม่มีอาการอะไรที่น่าเป็นห่วง ยืนยันว่าการได้รับพักโทษของบิดาไม่ได้มีสิทธิพิเศษใดๆ เพราะได้รับพระราชทานอภัยโทษในโอกาสต่างๆ หลายครั้ง จนกระทั่งเข้าเกณฑ์ได้รับการพักการลงโทษ ส่วนคดีความที่เหลืออยู่เป็นคดีแพ่ง คงต้องไปดูในรายละเอียดในขั้นตอนการต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป
ที่กระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 กรณีมีการตั้งคำถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ใกล้เดินทางกลับประเทศไทย ว่าระเบียบดังกล่าวอยู่ในกฎหมายราชทัณฑ์ ทราบว่ายังไม่มีการนำมาใช้ เพราะต้องออกหลักเกณฑ์การปฏิบัติตามระเบียบ กำหนดคุณสมบัติ และต้องเปิดกว้างให้ประชาชนรับรู้ ทำประชาพิจารณ์ ก่อนประกาศราชกิจจานุเบกษา
พ.ต.อ.ทวีกล่าวอีกว่า ตามหลักกฎหมาย หากโทษรุนแรงก็ต้องอยู่ในเรือนจำ เมื่อใกล้ครบกำหนดหรือโทษน้อยลง หรือเป็นนักโทษชั้นดี ได้ฝึกอาชีพ จะต้องเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย เพราะเรือนจำมีไว้ออก ไม่ใช่เข้าอย่างเดียว สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้สูงอายุที่ไม่ก่อเหตุร้ายซ้ำ ซึ่งเรือนจำจะต้องพิจารณาออกกฎเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม คาดว่าน่าจะทันใช้สิ้นปี 67 จะได้เห็นผู้ต้องขังล็อตแรกทดลองใช้ระเบียบฉบับนี้ แต่ต้องรอประกาศราชกิจจานุเบกษาเสียก่อน
ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ นำโดยนายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร สว. โฆษก กมธ., นายกฤช เอื้อวงศ์ โฆษก กมธ. และนายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ. ร่วมกันแถลงถึงมติของ กมธ.
โดยนายนิกรกล่าวว่า เป็นการประชุมนัดสุดท้าย ซึ่ง กมธ.จะสรุปรายงาน กมธ.ร่วมฯ ที่เห็นชอบร่างกฎหมายประชามติของวุฒิสภาที่ให้ใช้เสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ คือต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง และมีคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง โดย พล.ต.ต.ฉัตรวรรษ แสงเพชร สว. ในฐานะประธานกรรมาธิการฯ ได้ลงนามในรายงานฉบับนี้แล้ว และจะเสนอไปยังสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาในวันนี้
นายนิกรกล่าวต่อว่า เบื้องต้นตนทราบว่าทางวุฒิสภาจะนำเข้าสู่ที่ประชุม สว. ในวันที่ 17 ธันวาคม ขณะที่ สส.จะนำเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 18 ธันวาคม หลังจากนี้ขึ้นอยู่กับความเห็นของทั้งสองสภา ซึ่งเชื่อว่า สส.และ สว.จะยืนยันจุดยืนของตัวเอง ส่งผลให้ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะถูกแขวนไว้ 180 วัน หลังจากนั้นหาก สส.ยังยืนยันในหลักการของตัวเองจึงจะประกาศบังคับใช้ได้
เมื่อถามว่า การที่ต้องพักร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้ 6 เดือน จะทำให้การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ทันในสมัยนี้ใช่หรือไม่ นายนิกรกล่าวว่า หากทำทั้งฉบับจะไม่ทันในสภาชุดนี้แน่ เพราะนอกจากจะต้องรอ 180 วันแล้ว ยังต้องรอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกอนุบัญญัติที่เกี่ยวข้องอีก 1 เดือน จึงจะนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายได้ ขณะที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จะต้องเชิญ กกต.และสำนักงบประมาณมาชี้แจงว่าจะต้องใช้งบประมาณในการทำประชามติเท่าไหร่ เพื่อส่งให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ลงมติ จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนการทำประชามติ รวมแล้วใช้เวลาเกือบปี
“ดังนั้น คาดว่าจะทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญได้ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2568 ถึงต้นมกราคม 2569 จึงค่อยดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ดูแล้วไม่น่าจะมีรัฐธรรมนูญใหม่ทันในรัฐบาลชุดนี้” นายนิกรกล่าว
นายนิกรกล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่าจะต้องทำประชามติ 3 ครั้งในการแก้รัฐธรรมนูญ แม้จะมีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็มีเวลาไม่เยอะ อาจจะต้องขอเวลาคุยกับ สว. เพื่อให้การแก้ไขเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงอยากให้รัฐบาลมีร่างหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของตัวเองในนามพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อให้ทุกอย่างเป็นไปในทางเดียวกัน
ขณะที่นายกฤชกล่าวว่า เงื่อนไขอยู่ที่จะทำประชามติกี่ครั้ง ซึ่งหากทำประชามติ 3 ครั้ง ตนเคยประมาณการเอาไว้คร่าวๆ ว่าจะใช้เวลา 2 ปี ซึ่งจะพ้นระยะเวลาของสภาชุดนี้ แต่อย่างน้อยที่สุดช่วงเวลานี้ก็จะมี ส.ส.ร.เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่หากทำประชามติ 2 ครั้ง ระยะเวลาก็จะสั้นลงมาอย่างน้อย 180 วัน ซึ่งอาจจะทันอายุของสภาชุดนี้ แต่ทั้งนี้เราก็ยังไม่ได้คำตอบสุดท้ายว่าจะทำประชามติทั้งหมดกี่ครั้ง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการเสนอแก้มาตรา 256 ด้วย เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาด้วย แต่หากไม่ได้รับความเห็นชอบก็จะไปสู่ทางตัน
น.ส.นันทนา นันทวโรภาส สว.กลุ่มพันธุ์ใหม่ แถลงจุดยืนว่า การทำประชามติควรเป็นเจตนาประชาชนเช่นเดียวกับการออกมาลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ถ้าไปกำหนดว่าการเลือกตั้งทุกครั้งต้องเป็นเสียงข้างมาก 2 ชั้น อาจจะไม่ได้ตามเจตนารมณ์ของประชาชน เพราะคนที่ไม่สามารถออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งอาจมีเหตุผลมากมายที่ไม่ออกมา การใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวจะผลักดันให้การแก้รัฐธรรมนูญบรรลุเป้าหมาย และถ้าเป็นไปได้ ควรมีกรอบเวลาเร็วพอในการทำประชามติ ให้เสร็จทันการเลือกตั้งปี 2570.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เทพไท' ไขข้อข้องใจทำไมนักโทษบางคนออกจากคุกเร็ว
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์คลิปและเนื้อหาบนเฟซบุ๊ก
ฮือไล่ปธน.ยุน!วุ่นรมว.กห.ไขก๊อก
พรรคฝ่ายค้านของเกาหลีใต้เคลื่อนไหวถอดถอน "ประธานาธิบดียุน ซ็อกยอล"
ชงรัฐบาลชะลอค่าแรง400
“พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน พ.ย.67 เพิ่มขึ้น 0.95% บวก 8 เดือนติด
เฮ‘ต้มยำกุ้ง’ ขึ้นมรดกโลก ภูมิปัญญาไทย
เฮ! ยูเนสโกรับรอง "ต้มยำกุ้ง" มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ นายกฯ ปลื้มซอฟต์พาวเวอร์ไทย ยกศิลปะปรุงอาหาร
อาสาเชือด‘หวานใจ’ เต่าขอปปช.ลุยคดีเอง/เขากระโดงแค่เกมพท.-ภท.
“กมธ.ที่ดินฯ” เตรียมบุกไร่ภูนับดาว 13 ธ.ค. ตรวจการใช้เอกสารสิทธิ ส.ป.ก.
จงรักภักดีจนชีวิตหาไม่
"ในหลวง" เสด็จฯ ไปในพิธีสวนสนามของทหารรักษาพระองค์