"ในหลวง" โปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ผู้ประสบภัย นายกฯ ชูแม่สายโมเดลแก้น้ำท่วมใต้ฟื้นฟู 3 ระยะ จ่อดัน คกก.ศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติเข้า ครม.รับมือสถานการณ์ครบวงจรไม่ใช่แค่เรื่องน้ำ สั่งประสานกรมบัญชีกลางเพิ่มงบทดรองจ่ายของ ผวจ.จาก 20 ล้านเป็น 50 ล้าน “จตุพร” สะกิดทีมที่ปรึกษาลูกสาวทักษิณพลิกตำราตอบสยบสื่อ กองทัพส่งเครื่องบินขนคน ยุทโธปกรณ์ อาหาร ช่วยเหลือพื้นที่ท่วมหนักชายแดนใต้ ยอมรับกว้างกว่าภาคเหนือ ขณะที่ "ยะลา-ปัตตานี" อ่วมขาดไฟฟ้า น้ำ อาหาร
เมื่อวันจันทร์ เวลา 09.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทานไปมอบแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัย จำนวนรวมทั้งสิ้น 3,000 ชุด และสิ่งของพระราชทานสำหรับเด็ก จำนวน 150 ชุด ณ ศาลาประชาคม ที่ว่าการอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช
โอกาสนี้ นายสมชาย ลีหล้าน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้กล่าวรายงานสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมกล่าวสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยและพี่น้องผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ พล.อ.ดาว์พงษ์ได้เชิญพระราชกระแสทรงห่วงใยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ต่อประชาชนทุกคนที่ได้รับความเดือดร้อน และเชิญสิ่งของพระราชทาน และสิ่งของพระราชทานสำหรับเด็ก มอบแก่ผู้ว่าราชการจังหวัด และนายอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อมอบแก่ประชาชนผู้ประสบภัย
จากนั้นองคมนตรีและคณะได้เดินทางไปยังพื้นที่ประสบภัย เพื่อมอบสิ่งของพระราชทานแก่ประชาชนในพื้นที่ตำบลโพธิ์เสด็จ อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จำนวน 5 ชุดด้วย
ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้เวลาในช่วงเช้าติดตามความคืบหน้าการทำงานตามนโยบายรัฐบาล และการแก้ไขปัญหาต่างๆ ก่อนที่เวลา 10.30 น. นายกฯ จะเรียกประชุมทีมโฆษกประจำสำนักนายกฯ เพื่อมอบนโยบาย ประกอบด้วย นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ และ 3 รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้แก่ นายคารม พลพรกลาง, น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ และนายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์
นายจิรายุกล่าวว่า น.ส.แพทองธารพูดคุยมอบนโยบาย โดยเฉพาะเรื่องสถานการณ์ทางการเมือง การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งในพื้นที่ภาคเหนือและภาคใต้ ซึ่งนายกฯ ได้ย้ำว่าให้อธิบายกับประชาชนถึงเรื่องนโยบายต่างๆ ที่เราได้ทำกันมา โดยใช้แม่สายโมเดล ไม่ว่าจะเป็นการเรื่องฟื้นฟูระยะแรก ระยะกลางและระยะยาว เช่นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงรายก็ได้มีการอนุมัติงบประมาณ ทั้งระยะกลางและสั้น ประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านบาท
นายจิรายุระบุว่า ในส่วนของภาคใต้นั้นนายกฯ ระบุว่า จะต้องเข้าสู่เฟสสองภายหลังการฟื้นฟูหลังน้ำลด ซึ่งจะใช้โมเดลที่ไม่น้อยไปกว่าที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงรายและภาคอื่นๆ เพื่อให้เกิดความสมดุลในการแก้ไขปัญหา
“นอกจากนี้นายกฯ ยังมีข้อดำริในการจัดตั้งคณะกรรมศูนย์ภัยพิบัติแห่งชาติ ที่ไม่ใช่เฉพาะเรื่องน้ำท่วมอย่างเดียว แต่นับจากนี้ไปประเทศไทยในรอบสิบปีก็จะวนกันอยู่อย่างนี้ ทั้งภัยหนาว ภัยแล้ง และน้ำท่วม โดยการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) จะมีการพิจารณาเรื่องนี้ ว่าถ้าเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ทั้งปัญหาดินน้ำลมไฟ รัฐบาลก็จะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างฉับพลัน ก็อาจจะมีการลงพื้นที่ของนายกฯ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบ้าง แต่ทั้งนี้จะต้องมีการสั่งการอย่างชัดเจน โดยใช้โมเดลแม่สาย” นายจิรายุระบุ
เพิ่มงบ ผวจ.เร่งเงินเยียวยา
เมื่อถามว่า นายกฯ จะลงพื้นที่ภาคใต้ที่กำลังประสบปัญหาน้ำท่วมขณะนี้หรือไม่ นายจิรายุกล่าวว่า การลงพื้นที่ของนายกฯ นั้นจะมีการพูดคุยกันในการประชุม ครม.ในวันพรุ่งนี้ก่อน เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์น้ำลดแล้ว ซึ่งการลงไปนั้นก็มีทั้งบวกและลบ ทั้งนี้การที่จะลงหรือไม่ลงพื้นที่นั้น การสั่งการถือเป็นความสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งนายกฯมีการสั่งการตลอดเวลาถึงแม้จะลงหรือไม่
"ขณะเดียวกันได้มีข้อสั่งการให้ประสานกรมบัญชีกลาง เพิ่มงบทดรองจ่ายของผู้ว่าราชการจังหวัดจาก 20 ล้านเป็น 50 ล้าน และ ปภ.เร่งจัดสรรสรรพกำลัง อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือ โดยเฉพาะพาหนะทางน้ำตามที่ได้รับการร้องขอจากพื้นที่ทันที รวมทั้งทุกหน่วยงานอพยพผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางไปยังจุดปลอดภัย พร้อมให้กระทรวงสาธารณสุขระดมแพทย์และบุคลากรทั้งหมดในพื้นที่ขนย้ายผู้ป่วยออกจากพื้นที่วิกฤต และจัดตั้งศูนย์พักพิงให้ความช่วยเหลือและอยู่อาศัยได้จนเข้าสู่ภาวะปกติ" นายจิรายุระบุ
นายจิรายุระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการเมื่อคืนที่ผ่านมา ให้ทุกหน่วยงานเร่งสำรวจโดยเฉพาะพื้นที่ที่น้ำลดว่ามีความเสียหายรูปแบบใด และให้กำหนดแนวทางเยียวยานำเสนอต่อที่ประชุม ครม.ต่อไป โดยผ่านกลไก ศปช.ซึ่งมีการทำงานต่อเนื่องตั้งแต่อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ และสามารถเตรียมความพร้อมรับมือเหตุการณ์ในภาคใต้ได้อย่างทันท่วงที
วันเดียวกัน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย เดินทางมาประชุมการนำเสนอเงินเยียวยาสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ ร่วมกับนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) โดยระบุว่า ขณะนี้ผ่านกระทรวงมหาดไทยแล้ว กําลังส่งต่อไปยังคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอน ศปช.น่าจะเร่งประชุม คงไม่ทัน แต่ต้องส่งก่อน
พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ระบุว่า ตอนนี้ทั้ง 3 เหล่าทัพลงไปช่วยอย่างเต็มที่ ซึ่งพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่จะอยู่ที่ จ.นราธิวาสและปัตตานี แม้ว่าสถานการณ์น้ำจะเริ่มคลี่คลายแล้ว แต่ในส่วนของกองทัพคงจะต้องอยู่ต่อเนื่อง พื้นที่ไหนที่น้ำลดแล้วจะปรับกำลังไปช่วยในการฟื้นฟูเหมือนกับทางภาคเหนือที่เคยทำมา
'เท้ง' สอนสั่งงานเป็นระบบ
“สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้จะกว้างกว่าภาคเหนือ ซึ่งรัฐบาลได้ให้ พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม ไปเป็นตัวหลักในการดำเนินการช่วยเหลือตอนนี้ มีการเสริมเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ ลงไปในพื้นที่อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะเครื่องบิน C-130 ที่บินทุกวัน ทั้งการขนคน ยุทโธปกรณ์และอาหาร” ผบ.ทสส.ระบุ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ได้มอบหมายให้หน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน เร่งดูแลช่วยเหลือประชาชน พร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องการขาดแคลนน้ำมันและก๊าซ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ประสานงานให้ ปตท.และโออาร์ ซึ่งรับผิดชอบงานในส่วนนี้เข้าไปประสานงานให้ความช่วยเหลือมาอย่างต่อเนื่อง
“ในวันที่ 3 ธันวาคม กระทรวงพลังงานกับกระทรวงอุตสาหกรรมจะร่วมกันดำเนินการจัดตั้ง ศูนย์ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมเขต 7 ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เพื่อช่วยบรรเทาทุกข์พี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยจากสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้” นายพีระพันธุ์ ระบุ
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินขานรับนโยบายรัฐ เร่งช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมภาคใต้ มอบมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน พักหนี้-ไม่คิดดอกเบี้ยถึง มี.ค. 2568 ปล่อยกู้ฉุกเฉินดอกเบี้ย 0% นาน 3 เดือน พร้อมช่วยเหลือเฉพาะหน้าและหลังน้ำลด สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ GSB Contact Center โทร.1115 และที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th
ด้านนายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ตอบคำถามที่ว่าการลงพื้นที่ของนายกฯ ในวันที่ 6 ธ.ค.นี้ช้าไปหรือไม่ว่า เข้าใจว่าท่านคงมีภารกิจ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือการสั่งงานอย่างเป็นระบบ นายกรัฐมนตรีอาจจะไม่จำเป็นต้องเดินทางไปทุกที่ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ มีตัวแทนที่เข้าไปบริหารจัดการสถานการณ์ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
"จากข้อมูลที่ผมได้รับมาล่าสุด อีกไม่กี่วันข้างหน้านี้จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ช่วงจังหวะนี้รัฐบาลส่งเครื่องไม้เครื่องมือได้ อย่าทำให้เกิดเหตุซ้ำรอย ไม่เช่นนั้นสถานการณ์จะกลับมาเลวร้ายเหมือนเดิม และถ้าไม่มีการรับมือเตรียมพร้อมให้ดียิ่งขึ้น ก็จะทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบโดยขาดการช่วยเหลือ" นายณัฐพงษ์กล่าว
ตู่สะกิดทีมที่ปรึกษา
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ตอนหนึ่งว่า การจะมาเป็นนายกฯ เป็นนักการเมืองหมายเลขหนึ่ง ดังนั้นวิสัยทัศน์หรือวิชันต้องรู้ได้ว่าเกิดอะไร ต้องไปที่ไหน และทำอะไรก่อนและหลัง ไม่ใช่น้ำท่วมเหนือยังอภิปรายอยู่ในสภาที่กรุงเทพฯ พอน้ำท่วมใต้ก็อยู่เหนือ แล้วตอบโต้เสียงครหาว่า ถ้าละเลยคนใต้ก็ไม่แต่งงานกับคนใต้
“อธิบายแบบนี้ได้ด้วยหรือ เมื่อเป็นแบบนี้ทีมที่ปรึกษาก็ช่วยกันคิดกันต่อไปเถอะ ถือเป็นวาทศิลป์ คำคม คนฟังคงตื้นตันใจกันทั่วหน้า แต่ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นเอกฉันท์กันด้วยซ้ำ” นายจตุพรระบุ
ที่ จ.ยะลา เจ้าหน้าที่เร่งช่วยหมู่บ้านจะรังตาดง ตำบลท่าธง อำเภอรามัน มีชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เพราะถูกตัดขาด ระดับน้ำสูง ถูกโอบล้อมด้วยแม่น้ำสายบุรี โดยต้องใช้เรือเดินทาง ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงจึงถึง ซึ่งพบว่ามีชาวบ้านรอรับการช่วยเหลืออยู่กว่า 2 พันคน กว่า 400 หลังคาเรือน ซึ่งได้มอบข้าวสารอาหารแห้งเพื่อช่วยเหลือให้พี่น้องประชาชนในเบื้องต้น
ที่ จ.ปัตตานี เขื่อนบางลางได้มีการปล่อยน้ำ 2 ช่วงเวลา คือ 01.00 น. ปริมาณ 12 ล้าน ลบ.ม. และเวลา 12.00 น. ปริมาณ 14 ล้าน ลบ.ม. และจะปล่อยอีกครั้งในวันที่ 2 ธ.ค. ปริมาณ 16 ล้าน ลบ.ม. เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เกรงว่าเขื่อนจะได้รับผลกระทบต่อความมั่นคง ทำให้จังหวัดปัตตานีกำชับไปยังประชาชนให้เฝ้าระวังน้ำอย่างใกล้ชิด
ขณะที่ ต.ปะกาฮารัง อ.เมืองปัตตานี ซึ่งเป็นพื้นที่แรกๆ ที่ถูกน้ำท่วม ขณะนี้ยังคงมีน้ำท่วมสูง ผู้นำชุมชนต้องจัดหาเรือดูแลประชาชน ทำให้ขณะนี้ขาดแคลนน้ำมันเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้จ่ายน้ำมันดูแลชาวบ้าน 2,000 บาทต่อวัน ในการซื้อน้ำมันแจกจ่าย ซึ่งเรือถือว่าเป็นยานพาหนะสำคัญในการขนเสบียงและขนคนเข้าออกหมู่บ้าน ทำให้ผู้ขับเรือต้องควักเงินเองจนเกลี้ยง จึงออกมาวอนให้รัฐเข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านยือโม๊ะ ต.ปะกาฮารัง เปิดเผยว่า ตอนนี้ไฟฟ้าดับมา 4 วันแล้ว น้ำประปาก็เหมือนกัน ส่วนน้ำดื่มตอนนี้ที่บ้านไม่มีเลย ต้องออกไปหาซื้อ 2-3 วันนั่งเรือออกไปหาซื้อของที เดือดร้อนมาก จำเป็นต้องไปหาซื้อน้ำเพราะน้ำที่เขาแจกไม่พอ ซึ่งตอนนี้มีความต้องการน้ำดื่มเป็นอย่างมาก
ที่ จ.สงขลา มีความคืบหน้าดรามาเหตุการณ์ ดร.ถูกไฟชอร์ตดับขณะลงมาปิดประตูรั้วบ้านตอนเกิดน้ำท่วม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คอหงส์เตรียมเรียกผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทั้งภรรยาผู้เสียชีวิต เจ้าของโครงการ การไฟฟ้าฯ วิศวกรควบคุมงาน มาสอบสวนอย่างละเอียดว่าเกิดจากความประมาทของใคร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
อิ๊งค์รับนายกฯ2คน! ไม่เกี่ยง‘ทักษิณ’ตัวจริง ปชน.โวซักฟอกน็อกรบ.
“นายกฯ อิ๊งค์” ยันไม่มีแผนปรับ ครม. คุย “พีระพันธุ์” ปกติ เมินกระแสเหน็บนายกฯ
‘สว.พันธุ์ใหม่’หนุนแก้รธน.ฉบับส้ม
"อนุทิน" ย้ำจุดยืนตลอดกาลแก้ รธน.ไม่แตะหมวด 1-2 ท่าที สส.ภูมิใจไทยไม่เกี่ยว สว. "ไอติม" พร้อมพูดคุยทุกฝ่ายทำความเข้าใจร่างฉบับ
ค่าไฟ3.7บาทเป้ารัฐบาล หวยพิเศษหาเงินหมื่นล.
"นายกฯ อิ๊งค์" ชี้ลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาทเป็นเป้าหมายรัฐบาลอยู่แล้ว
ไฟเขียวงบ69วงเงิน3.78ล้านล.
ครม.เคาะกรอบงบประมาณปี 69 วงเงิน 3.78 ล้านล้านบาท ขาดดุล 8.6 แสนล้านบาท
10วันปีใหม่เมาขับ7พันคดี ขับรถเร็วตายบนถนนพุ่ง
ปิดศูนย์ 10 วันอันตรายปีใหม่ สังเวย 436 ศพ เจ็บ 2,376 ราย
‘อ้วน’สั่งทบทวน หนทางดับไฟใต้ พูดคุยให้ถูกคน
ยังไร้แววเมียนมาปล่อย 4 คนไทย "ภูมิธรรม" ย้ำต้องรอจบกระบวนการ