‘บุญทรง’พ้นคุก คุมตัวที่บ้าน3ปี ชื่นชมลูกผู้ชาย

"บุญทรง" ได้พักโทษ พ้นคุก ใส่กำไลอีเอ็มกลับบ้านที่เชียงใหม่ ถูกคุมประพฤติต่ออีก 3 ปี 5 เดือน ด้าน "ทวี" ยันเป็นหนึ่งในพันกว่ารายชื่อที่ได้พักโทษ เพราะคุณสมบัติอายุมากกว่า 60 ปี-รับโทษมาแล้ว 7 ปี ขณะที่ "หมอวรงค์" ชมติดคุกแบบลูกผู้ชาย ไม่เหมือนใครบางคน

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 มีรายงานข่าวแจ้งว่าในเวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่จากสำนักงานคุมประพฤติ 7 กทม. เดินทางไปที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อติดกำไลอีเอ็มให้นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้ต้องขังคดีร่วมกันทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) เมื่อปี 2558 ที่ได้รับการอภัยโทษและครบกำหนดเข้าเงื่อนไขการพักโทษในวันที่ 2 ธ.ค. หลังจากนั้นนายบุญทรงได้ออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ในเวลา 10.00 น. โดยแจ้งเจ้าหน้าที่คุมประพฤติว่าจะขอโอนย้ายไปคุมประพฤติที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะเดินทางไปในวันพรุ่งนี้ (3 ธ.ค.) และเข้ารายงานตัวกับคุมประพฤติจังหวัดเชียงใหม่ในวันที่ 4 ธ.ค.

สำหรับนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อายุ 64 ปี เป็นนักโทษชั้นเยี่ยม ศาลพิพากษาเมื่อปี 2560 กำหนดโทษ 48 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบแรก เหลือวันต้องโทษจำคุก 16 ปี ได้รับอภัยโทษ ลดวันต้องโทษปี 2564 ในรอบสอง เหลือวันต้องโทษ 10 ปี จะพ้นโทษ 21 เม.ย. 2571 อย่างไรก็ตามนายบุญทรงจะต้องถูกคุมประพฤติอีก 3 ปี 5 เดือน

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.ยุติธรรม เปิดเผยว่า สำหรับกรณีนายบุญทรงนั้นได้ทราบข่าวเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา และได้สอบถามไปยังนายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ซึ่งการพักการลงโทษถือเป็นเรื่องการบริหารของราชทัณฑ์ ไม่ต้องรายงานมายังรัฐมนตรี แต่ทราบเบื้องต้นว่านายบุญทรงมีระยะเวลาต้องโทษรวมกว่า 40 ปี ได้อภัยโทษ 4 ครั้ง จึงเหลือโทษประมาณ 10 ปี อีกทั้งนายบุญทรงยังรับโทษจำคุกมาแล้ว 7 ปี จึงเข้าเกณฑ์การพักการลงโทษ

เขาเผยว่า การพักการลงโทษในทางกฎหมายยังถือเป็นโทษอยู่ แต่ได้รับการพักโทษที่มีเงื่อนไข อีกทั้งในการพักโทษไม่ใช่อำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง เพราะในกฎหมายระบุว่าเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการพิจารณาการพักการลงโทษ ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่าย อาทิ ผู้พิพากษา, เจ้าหน้าที่ตำรวจ, แพทย์, อัยการ และบุคคลที่เกี่ยวข้องรวมประมาณ 20 ราย เป็นต้น และโดยปกติจะมีปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน แต่เพียงครั้งนี้มีรองปลัดกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานแทน ส่วนรายละเอียดต่างๆ ของการพักโทษยังไม่เห็นเอกสาร แต่ทราบว่านายบุญทรงอยู่ในเกณฑ์พักโทษทั่วไป เพราะเป็นผู้สูงอายุและเหลือโทษน้อย ส่วนถ้าจะมีรายละเอียดนอกเหนือจากนี้ อาจต้องให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์มอบหมายกรมราชทัณฑ์ เผยแพร่ข่าวแจกสื่อมวลชนต่อไป

พ.ต.อ.ทวีเผยอีกว่า ส่วนเรื่องการติดกำไล EM นั้น เนื่องด้วยนายบุญทรงอายุน้อยกว่า 70 ปี จึงต้องติดกำไล EM แต่ถ้ามีการเจ็บป่วยจะได้รับการยกเว้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการที่จะพิจารณา แต่เรื่องการบริหารงานภายในปกติแล้วจะไม่ต้องรายงานมาให้ รมว.ยุติธรรมรับทราบ ทั้งนี้นอกจากนายบุญทรงแล้ว ยังมีบุคคลอื่นด้วยหรือไม่ที่ได้รับการพักการลงโทษนั้น ทราบว่าแต่ละครั้งจะมีประมาณกว่า 1,000 ราย ไม่ใช่เพียงนายบุญทรงเท่านั้นที่ได้รับการพักโทษ และการพักโทษก็ยังลงโทษอยู่ แม้ระหว่างนั้นผู้ที่ถูกพักโทษไปแล้วอาจกลับมารับโทษเหมือนเดิมได้

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า การรายงานตัวเมื่อถูกคุมประพฤติ นายบุญทรงก็ต้องมีการรายงานตัว แต่รายละเอียดตนไม่ทราบ ขอให้กรมราชทัณฑ์ได้ทำข่าวแจกสื่อ มวลชนชี้แจงแทน ทั้งนี้กรณีว่าระหว่างการพักโทษ บุคคลจะสามารถเขียนทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษเฉพาะรายได้หรือไม่นั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องเฉพาะของการเขียน ใครจะเขียนขออภัยโทษก็ได้ แต่ว่าอำนาจไม่ได้อยู่ที่กระทรวงยุติธรรม ยกตัวอย่างกรณีของนายบุญทรงที่มีโทษเยอะ แต่ก็ได้รับการอภัยโทษมา 4 ครั้ง อีกทั้งการอภัยโทษไม่ใช่กฎหมายราชทัณฑ์

รมว.ยุติธรรมกล่าวว่า ส่วนที่ก่อนหน้านี้ปรากฏภาพนายบุญทรงไปร่วมพิธีศพนั้น ตนไม่มั่นใจในส่วนนี้เพราะยังไม่ได้เห็น แต่ว่ากรณีของนักโทษเด็ดขาด หากพ่อแม่เสียชีวิตก็สามารถที่จะลาไปงานศพได้ เพราะในกฎหมายให้ลาได้ อย่างตอนที่ตนอยู่ภาคใต้ มีผู้ต้องขังที่เป็นไทย-พุทธแล้วพ่อแม่เสียชีวิต ก็ลาไปร่วมงานศพได้ เป็นสิทธิ์ของเขา ทั้งนี้กรณีที่นายบุญทรงได้รับการพักโทษ แล้วจะกลับไปอยู่บ้านที่ จ.เชียงใหม่หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบจริงๆ เพราะตนติดภารกิจงานทั้งวัน แต่ผู้พักโทษจะไปอยู่ที่ไหนอย่างไรก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขการพักโทษ เช่น สถานที่นั้นต้องมีผู้ปกครอง ผู้ดูแล และที่สำคัญคืออยู่ในการดูแลของกรมคุมประพฤติ

พ.ต.อ.ทวีระบุด้วยว่า ปกติการคุมประพฤติตอนนี้มีจำนวนกว่า 400,000 รายที่ต้องดูแล ซึ่งเป็นระบบสากลอยู่แล้ว หากผู้นั้นถูกดำเนินคดีในพื้นที่ใดก็ต้องคุมประพฤติในพื้นที่นั้น เช่นบางคนถูกดำเนินคดีใน กทม.ก็ต้องคุมประพฤติที่ กทม. ส่วนถ้าจะออกนอกพื้นที่ก็ต้องแจ้ง หรือกรณีของนายเทพไท เสนพงศ์ ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในภาคใต้  แต่ก็ต้องมาพักโทษที่ กทม.เพราะถูกดำเนินคดีที่ กทม.

ขณะที่ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมคุมประพฤติ  เปิดเผยว่า เรื่องการพักการลงโทษผู้ต้องขังเป็นอำนาจของกรมราชทัณฑ์ ที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งทราบว่ามีการเสนอรายชื่อของหลายบุคคลเข้ามาสำหรับการพิจารณาตามเงื่อนไขของระเบียบการพักการลงโทษ ส่วนการติดกำไล EM ให้ผู้ได้รับการพักโทษนั้น จะเป็นเรื่องของการเสนอขอเข้ามา ซึ่งคณะกรรมการจะใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าจะอนุญาตให้บุคคลนั้นติดกำไล EM หรือไม่ ซึ่งผู้ที่เข้าเงื่อนไขจะต้องเป็นผู้สูงอายุ หรือมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่นั้น ไม่ใช่เงื่อนไขตายตัว  เพราะกรรมการจะต้องดูรายละเอียดให้ครบถ้วนรอบด้านก่อนจะมีความเห็น และส่วนตัวยังไม่ได้รับรายงานว่า บุคคลตามข่าวได้รับการพักการลงโทษด้วยเหตุใด ทราบแต่เพียงว่ามีการประชุมไปแล้ว

นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ทราบข่าวว่านายบุญทรงได้รับการปล่อยตัวจากการติดคุกคดีจำนำข้าว ซึ่งเขาถูกศาลฎีกาฯ ตัดสินจำคุกรวมทั้งหมด 48 ปี ในความเห็นส่วนตัวผมต่อการปล่อยตัวนายบุญทรง

1.ผมขอชื่นชมนายบุญทรง ที่ยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ยอมติดคุกแบบลูกผู้ชาย ฝากบอกนายบุญทรงด้วยว่า นายบุญทรงแมนจริงๆ ไม่เหมือนใครบางคนที่ใช้อภิสิทธิ์และไม่ยอมติดคุก

2.สิ่งที่ต้องตำหนิคือ คดีจำนำข้าว ใช้งบประมาณสูงถึง 9 แสน 4 หมื่นล้านบาท คดีนี้เป็นคดีทุจริต ถูกศาลตัดสินจำคุก 48 ปี แต่ติดจริงไปประมาณ 7 ปี ใช้เวลาต่อสู้คดีประมาณ 5 ปี

สิ่งที่ต้องถามคือ คดีทุจริตที่สร้างความเสียหายต่อชาติบ้านเมืองขนาดนี้ ติดคุกจริงๆ แค่นี้ กระบวนการต่างๆ หลังศาลมีคำพิพากษา มีความผิดปกติหรือไม่ คิดว่านักการเมืองจะเข็ดหลาบไหม

สิ่งที่ต้องตำหนิ และปฏิรูปอย่างเร่งด่วนคือ กระบวนการพักโทษที่ออกระเบียบมาแบบนี้ ไม่ได้ทำให้ปัญหาการทุจริตได้รับการแก้ไข แต่ยิ่งทำให้พวกโกงได้ใจ".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง