เมินเปิดเวทีถกMOU รอทีบีซีช่วยคนไทย

“ภูมิธรรม” ปัดทิ้งข้อเสนอ พปชร.เปิดเวทีสาธารณะถก MOU 44 บอกจัดไปก็ไม่จบ “เท้ง” ชงแนวทางใหม่ ใช้อำนาจผู้นำฝ่ายค้านในสภาขอหารือลับเรื่องดังกล่าว “บิ๊กอ้วน” ลอยตัวปัญหาเมียนมายิงเรือประมงไทย โยน กต.จัดการ “มาริษ” เผยต่อสาย "ตาน ฉ่วย" ช่วยเคลียร์แล้ว อึ้ง! กรรมการทีบีซีฝั่งเมียนมาอยู่ช่วงสับเปลี่ยนตัว ต้องรออีก 1-2 วันถึงเจรจาได้ “จตุพร" ถามหาศักดิ์ศรีทหารจาก รมว.กลาโหม

เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย  รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอให้เปิดประชุมสภาเพื่ออภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 กรณีข้อพิพาท MOU 2544 ว่าเป็นเรื่องดีที่จะให้หลายๆ ส่วนได้พูดคุยกันในสภา แต่ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่รัฐบาล แต่เป็นเรื่องของ สส.

เมื่อถามว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อยากให้เปิดเวทีสาธารณะเพื่อพูดคุยในเรื่องนี้ เพราะบางคนไม่สามารถเข้ามาพูดคุยในสภาได้ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ถ้าเอาใจทุกคนก็ต้องจัดทุกที่ ถามต่อว่า หากเปิดเวทีสาธารณะอาจจะช่วยทำให้เรื่องจบได้ นายภูมิธรรมโต้ว่า  มันไม่จบหรอก อย่าไปคิดว่ามันจะจบ

ขณะที่นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำพรรคฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อเสนอเปิดประชุมรัฐสภาถก MOU 44 ว่า กรณีดังกล่าวยังเป็นปัญหาระหว่างประเทศ แต่ยังมีอีกกลไกหนึ่งที่ผู้นำฝ่ายค้านสามารถใช้ได้  โดยขอเปิดอภิปรายแต่เป็นการประชุมลับ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะหารือกันภายในพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้งหนึ่งเพื่อให้เกิดความเหมาะสม

 “ความสำคัญในการแก้ปัญหาต้องมีความโปร่งใส ตรงไปตรงมาในการเจรจา ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจารายละเอียดบางอย่างที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่เมื่อใดที่มีความชัดเจนแล้ว ฝ่ายค้านก็พร้อมติดตามตรวจสอบให้รัฐบาลออกมาสื่อสารให้เกิดความชัดเจน” นายณัฐพงษ์กล่าว

เมื่อถามว่า การใช้กลไกรัฐสภาในการหารือเรื่องดังกล่าวเหมาะสมใช่หรือไม่ ผู้นำฝ่ายค้านกล่าวว่า มีความเหมาะสม แต่หากขั้นตอนการเจรจาของรัฐบาลบางอย่างยังไม่สามารถเปิดเผยได้ การอภิปรายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 หรือ 152 ที่เป็นการประชุมแบบเปิดเผยอาจไม่มีความเหมาะสมในบางประเด็น แต่ฝ่ายค้านเห็นว่าสามารถใช้อีกช่องทางหนึ่งได้ ที่เป็นอำนาจผู้นำฝ่ายค้านโดยตรง และเป็นการประชุมลับก็จะยิ่งมีความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งฝ่ายค้านจะหารือกันต่อไปและมีโอกาสใช้กลไกนี้มากกว่า

วันเดียวกัน นายภูมิธรรมยังกล่าวถึงความคืบหน้ากรณีชาวประมงไทยถูกกองทัพเมียนมาจับตัวไป 4 รายว่า คณะกรรมการประสานงานชายแดนท้องถิ่นได้พูดคุยกับทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว และในส่วนของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้ทำหนังสือประท้วงไปแล้ว และวันนี้ได้เรียกเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทยมาหารือ ซึ่งทุกอย่างต้องว่ากันไปตามกระบวนการทางการทูต ในส่วนทางทหารยืนยันว่าจะดูแลอย่างเต็มที่ แต่ขณะนี้ยังไม่ชัดเจนว่าเราไปรุกล้ำจริงหรือไม่ และเรือดังกล่าวเป็นเรือประมงที่ไม่ใช่เรือติดอาวุธ จึงทำหนังสือประท้วงไปว่าทำเกินกว่าเหตุ

นายภูมิธรรมยังกล่าวถึงกรณีผู้เสียชีวิตว่า ดำเนินการตามปกติ ส่วนบรรดาลูกเรือทั้ง 31 คน มีคนไทยเพียง 4 คน นอกนั้นเป็นคนเมียนมา ก็ต้องให้ว่ากันไปเอง ซึ่งเราพยายามประสานนำตัวคนไทย 4 คนกลับมา ซึ่งเขาต้องคืนมา

เมื่อถามว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นนานแล้ว นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่เกิดมา 30 ปีแล้ว ซึ่งเส้นแบ่งทางทะเลมักมีปัญหาเช่นนี้ ในอดีตเคยมีครั้งหนึ่งที่เรือไทยจะแล่นอ้อมเข้ามาในประเทศ แต่ต่างประเทศเขาบอกว่าต้องขออนุญาต แต่เราก็ยืนยันว่าไม่ต้องขออนุญาตเพราะเป็นเส้นทางผ่านปกติ ทั้งนี้เหตุการณ์นั้นจบไปแล้ว และที่ผ่านมาไม่มีปัญหาอะไรแล้ว เพราะบริเวณนั้นเกาะแก่งเยอะ ประชาชนทั้ง 2 ประเทศไปมาหาสู่กัน บริเวณชายแดนก็อะลุ่มอล่วย ซึ่งเราอยากให้พื้นที่ตรงนั้นเป็นที่ทำมาหากินของทั้ง 2 ฝ่าย แม้แต่ละฝ่ายจะยืนยันสิทธิของตัวเอง แต่เราก็ยึดเส้นแบ่งของเรา เพราะฉะนั้นต้องรอ กต.เจรจาก่อน อย่าเพิ่งไปคาดเดาว่าอะไร   

ต่อสายหา ‘ตาน ฉ่วย’

นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.การต่างประเทศ กล่าวว่า อธิบดีกรมเอเชียตะวันออกได้เชิญเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยมาเข้าพบ โดยขอให้หน่วยงานไทยได้เข้าเยี่ยมลูกเรือไทยทั้ง 4 คน และที่สำคัญขอให้รัฐบาลเมียนมาปล่อยเรือประมงไทยและลูกเรือไทยเหล่านี้เร็วที่สุด ขณะที่เอกอัครราชทูตเมียนมาแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ดังกล่าว และขอรับนำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในรัฐบาลเมียนมา นอกจากนี้ได้ส่งข้อความแจ้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังนายตาน ฉ่วย รองนายกฯ และ รมว.การต่างประเทศเมียนมาด้วย ซึ่งนายตาน ฉ่วย ได้ติดต่อมาพูดคุย พร้อมกับแสดงความห่วงกังวลต่อเรื่องดังกล่าว และยืนยันว่าพร้อมให้ความร่วมมือกับไทยอย่างเต็มที่

นายมาริษกล่าวอีกว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ และตนเองได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทย ณ ย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เดินทางไปพบและหารือเรื่องนี้กับปลัดกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมา ที่กรุงเนปยีดอด้วย ทั้งนี้ยืนยันว่ารัฐบาลและ กต.มีความประสงค์อย่างแรงกล้า รวมถึงให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของคนไทยเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด และจะดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อนำตัวลูกเรือไทย 4 คนกลับประเทศเร็วที่สุด

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะเป็นเรื่องที่ต้องหาข้อพิจารณาว่าตกลงแล้วตรงกลางของเรื่องมันเกิดอะไรขึ้น โดยนายกฯ มอบหมายให้นายภูมิธรรมและนายมาริษไปพูดคุยว่าเกิดอะไรขึ้น และเมื่อทราบเหตุการณ์ที่ชัดเจนแล้วจึงค่อยมีท่าทีที่ชัดเจน เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน  ไม่ว่าเขาจะรุกล้ำเข้ามาในที่เรา หรือเรารุกล้ำไปพื้นที่เขา ก็ต้องหาข้อมูลที่ชัดเจนก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรลงไป

พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด  (ผบ.ทสส.) กล่าวถึงการช่วยเหลือ 4 คนไทยว่า กต.และกระทรวงกลาโหมดำเนินการเต็มที่ ส่วนความคืบหน้าการตรวจสอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นกำลังติดตามข้อมูลอยู่ และได้ส่งสารไปทุกช่องทางแล้ว ขอเวลาในการพูดคุย ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่ รมว.กลาโหมได้สั่งการมาคือ คนไทยทั้ง 4 คนต้องปลอดภัย และหากเป็นไปได้อยากให้กลับมาแผ่นดินไทยโดยเร็วที่สุด

เมื่อถามถึงแนวโน้มในการช่วยเหลือว่าจะเป็นอย่างไร พล.อ.ทรงวิทย์กล่าวว่า พยายามเต็มที่ ทำมา 2 วันแล้ว ส่วนเรื่องนี้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุหรือไม่นั้น ต้องถามกองทัพเรือเพราะเป็นเรื่องการปฏิบัติการ คิดว่าเราควรมีข้อความเดียวกัน จึงอยากให้กองทัพเรือเป็นผู้ชี้แจง ตนมีหน้าที่แค่ประสานคณะกรรมการชายแดนในการช่วยเหลือประชาชน

เมื่อถามถึงความปลอดภัยของคนไทยทั้ง 4 คนที่ถูกจับตัวไป พล.อ.ทรงวิทย์กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้คือปลอดภัย ส่วนทหารทั้งสองฝ่ายยังพูดคุยกันปกติเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้กลับมาสู่แผ่นดินไทย โดยศูนย์ประสานงานชายแดนไทย-เมียนมา และคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่นไทย-เมียนมา (ทีบีซี) ได้พูดคุยกันตั้งแต่เช้าวันเกิดเหตุ ซึ่งผู้บังคับหน่วยและกองทัพเรือได้พบกันแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีข้อติดขัดอะไรเหตุใดจึงยังปล่อยตัวไม่ได้ พล.อ.ทรงวิทย์กล่าวว่า ไม่ทราบรายละเอียดและไม่ควรพูดในเรื่องที่ไม่ทราบ จึงขอให้กองทัพเรือและคณะกรรมการชายแดนเป็นผู้ชี้แจง แต่ยืนยันว่าทำเต็มที่

พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า หลังวานนี้ฝ่ายไทยได้ออกหนังสือสองฉบับ คือการประท้วงว่าเมียนมาว่าทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ และการขอให้ดูแลคนไทยเป็นอย่างดี ล่าสุดในส่วนของไทย คณะกรรมการทีบีซีได้เตรียมข้อมูลทั้งหมดตั้งแต่เรื่องเรือ เวลาการเดินทาง รวมถึงจุดของเรือ เหตุการณ์การปะทะกัน แต่ในส่วนกรรมการทีบีซีของเมียนมาขณะนี้อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนตำแหน่งและไม่มีตัวประธาน ซึ่งต้องรออีก 1-2 วัน และเมื่อได้ตัวประธานของฝั่งเมียนมาก็น่าจะมีการประชุมกัน โดยคาดว่าจะมีขึ้นที่เกาะสอง ซึ่งในวันดังกล่าว จะให้มีการนำตัวคนไทยทั้ง 4 คน ซึ่งขณะนี้อยู่ที่เกาะย่านเชือกมาที่เกาะสองด้วย ซึ่งในวันดังกล่าวก็น่าจะได้ตัวคนไทยกลับมา

จตุพรถามหาศักดิ์ศรีบิ๊กอ้วน

 “ในส่วนลูกเรือที่เป็นชาวเมียนมา 31 คน ยืนยันไทยก็ยึดหลักมนุษยธรรมและติดตามเช่นกัน โดยหากทั้งหมดเข้ามาทำงานอย่างถูกต้องก็สามารถกลับเข้ามาในไทยได้" พล.ต.ธนาธิปกล่าวและว่า ส่วนตำแหน่งเรือถึงขนาดนี้ยอมรับยังไม่มีความชัดเจน ว่าเรือประมงไทยล้ำเข้าไปหรือไม่ได้ล้ำเข้าไปในพื้นที่ของเมียนมา เพราะต้องรอการเจรจาของทั้งสองฝ่าย แต่ยอมรับว่าเรือทั้ง 15 ลำมาจากจังหวัดพังงา ซึ่งอาจขาดความชำนาญในเส้นทางและเป็นช่วงกลางคืนด้วย จึงต้องรอความชัดเจนอีกครั้ง

นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เหตุการณ์ที่ทหารเรือต่างชาติยิงเรือและชาวประมงไทยเสียชีวิต น่าจะเกิดขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อประมาณเกือบ 30 ปีที่แล้ว ครั้งนั้นเรือรบมาเลเซียซึ่งเป็นเรือธงยิงลูกเรือประมงไทยสองคนเสียชีวิต ส่วนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้อย่าเพิ่งพูดกันเรื่องอาณาเขตทางทะเลเลย เพราะมันคงใช้เวลาอีกยาวนานมาก แต่ในฐานะเพื่อนบ้านควรมีกระบวนการคุยกันตั้งแต่ระดับพื้นที่ ซึ่งมีอยู่แล้ว ระดับกรมประมงและกองทัพเรือ และระดับกระทรวงการต่างประเทศ  เพื่อสร้างข้อตกลงเฉพาะกาล โดยมุ่งเน้นการประนีประนอมน่าจะเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะเราเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดและรักกัน

 “ผมขออ้อนวอน อย่าได้มีใครมาโวยวายว่าเป็นเรื่องอาณาเขตทางทะเลอีกนะครับ มันเป็นแค่อุบัติเหตุที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดขึ้น” นายปลอดประสพระบุ

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการ รมว.กต.โพสต์เฟซบุ๊กว่า "ต้องประท้วงกรณีเรือรบเมียนมายิงเรือประมงไทย ไม่ว่าเรือประมงไทยจะลักลอบจับปลาหรือรุกล้ำน่านน้ำเมียนมาจริงหรือไม่ เนื่องจากเขตแดนไม่ชัดเจน แต่มิตรประเทศต้องไม่ใช้ความรุนแรงต่อเหตุเช่นนี้  ต้องไม่ใช่ใช้อาวุธยิงเช่นนี้ จะจับกุมคุมเรือก็พอ ทางการไทยต้องกดดันเมียนมาอย่างรุนแรงในทุกระดับ ทั้งการประท้วงเรียกทูตเมียนมามารับทราบและการให้ทูตไทยยื่นหนังสือประท้วง และการกดดันผ่านคณะกรรมการชายแดนให้คืนเรือประมง ปล่อยตัวคนไทย ชดใช้ค่าเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของคนไทย และต้องไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้อีก"

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ตอนหนึ่งว่า บทเรียนสมัยนายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็น ผบ.ทบ.และ ผบ.ทสส. เกิดเหตุการณ์แก๊งค้ายาเสพติดเมียนมารบกับกองทัพไทยทางชายแดนด้านเหนือ มีการสูญเสียชีวิตหลายร้อยศพ เมื่อผู้นำเมียนมามาเยือนไทย นายกฯ ไทยขณะนั้นสั่งย้าย พล.อ.สุรยุทธ์พ้น ผบ.ทบ. ให้เหลือเพียง ผบ.ทสส.ตำแหน่งเดียว ถือเป็นการตบโชว์แสดงอำนาจนายกฯ ให้เห็น ซึ่งเมียนมาคงดีใจ แต่เป็นบาดแผลใจของทหารไทยที่ไปสู้รบกำจัดแหล่งยาเสพติดต้องถูกปลดพ้นตำแหน่ง มาถึงสถานการณ์วันนี้เกิดเหตุว้าแดงซ้อมรบรุกพื้นดินไทย และถัดมาทหารเมียนมายิงเรือประมงไทยจนมีผู้เสียชีวิต ดังนั้นนายภูมิธรรมต้องรู้ถึงสิ่งผิดปกตินี้ แม้ไทยไม่หวังจะต้องการสู้รบกับประเทศใด แต่การปกป้องแผ่นดินต้องมีเกียรติศักดิ์ศรีด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ย้อนเจ็บ ไม่ปฏิเสธเส้นเขตไหล่ทวีปของกัมพูชา เป็นนายกฯและรมว.กลาโหมของไทยหรือกัมพูชา

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก พร้อมแชร์คลิปการให้สัมภาษณ์ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯและรมว.กลาโหม ว่า