ป้อมอุ้มสทนช.แก้น้ำท่วม เตือนเจ้าพระยาล้นตลิ่ง!

"บิ๊กป้อม" ปรี๊ดแตกกางแขนอุ้ม สทนช. ลั่นอย่ามาบอกว่าล้มเหลว เมินพาเหรดม็อบคอยท่าลงพื้นที่ ขณะที่กรมชลฯ ส่งสัญญาณเตรียมเฝ้าระวังเจ้าพระยาเพิ่มระดับ กทม.ตื่นแล้วใช้เทคโนโลยีสกัดน้ำท่วม

เมื่อวันจันทร์ ที่ทำเนียบรัฐบาล​ พล.อ.ประวิตร​ วงษ์สุวรรณ​ รองนายกรัฐมนตรี​  กล่าวถึงเสียงวิจารณ์การทำงานของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ผ่านมาค่อนข้างล้มเหลวว่า “โอ๊ย ที่ผ่านมาเขาพัฒนาไปเยอะแล้ว งานวิจัยก็ทำ เรื่องน้ำท่วมขึ้นอยู่กับฝนที่ตกตลอด แต่ที่เก็บน้ำไม่เพียงพอ อย่ามาบอกว่าล้มเหลว ยืนยันว่าที่ผ่านมาทำงานไปเยอะ เยอะมาก ทำทั้งประเทศ”

ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตรยังระบุถึงการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การบริหารจัดการน้ำหากมีประชาชนมาต่อต้านด้วยว่า “ก็สิบกว่าคน ไม่เยอะ ไม่ใช่เป็นหมื่นเป็นแสน กับคนสิบกว่าคนจะไปเอาอะไร เขาไปจัดตั้งมา จะไปเกรงกลัวอะไร ทำงานได้อยู่แล้ว”

วันเดียวกัน ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน  กล่าวว่า ตามที่ได้เกิดฝนตกในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง  โดยวัดปริมาณฝนสะสม 3 วัน เมื่อรวมปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง และจาก side flow รวมกันได้ประมาณ 500 ลบ.ม./วินาที จะส่งผลให้มีปริมาณน้ำที่หน้าเขื่อนเจ้าพระยาทั้งสิ้นประมาณ 3,200-3,300 ลบ.ม./วินาที เพื่อเป็นการควบคุมการระบายน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด

“กรมชลประทานจึงได้ปรับแผนการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง  2 ฝั่ง โดยจะปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าฝั่งตะวันตกลงแม่น้ำน้อยผ่านประตูระบายน้ำบรมธาตุ และฝั่งตะวันออกจะปรับเพิ่มการรับน้ำเข้าคลองชัยนาท-ป่าสัก ผ่านประตูระบายน้ำมโนรมย์ โดยจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายน้ำ พร้อมหน่วงน้ำไว้เหนือเขื่อนเจ้าพระยา"  ดร.ทวีศักดิ์ระบุ

ดร.ทวีศักดิ์ระบุด้วยว่า ทั้งนี้ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ให้เตรียมความพร้อมด้านเครื่องจักรเครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ, รถแบ็กโฮ เพื่อเสริมศักยภาพในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ ดำเนินการเสริมคันกั้นน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา บริเวณริมแม่น้ำที่มีระดับต่ำหรือเสี่ยงที่จะมีน้ำล้นตลิ่ง

ด้านกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) รายงานว่ายังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในภาพรวม 17 จังหวัด โดยร่องมรสุมพาดผ่านภาคตะวันออกและภาคใต้ตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย  ตั้งแต่วันที่ 17-18 ต.ต.64 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากใน 8 จังหวัด 24 อำเภอ 43 ตำบล 107 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,909 ครัวเรือน สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 2  จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อีก 6 จังหวัด (ขอนแก่น, ชัยภูมิ, บุรีรัมย์,  ศรีสะเกษ, นครปฐม และสระแก้ว)

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) กล่าวถึงการพัฒนาระบบระบายน้ำและเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำของกรุงเทพฯ ว่า ในปัจจุบันมีอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 4  แห่ง สถานีสูบน้ำ 190 แห่ง ประตูระบายน้ำ 243 แห่ง และบ่อสูบน้ำ  329 แห่ง จากการพัฒนาระบบดังกล่าวส่งผลให้สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“นอกจากนี้กรุงเทพฯ ยังได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ไม่ว่าจะเป็นระบบการควบคุมเครื่องสูบน้ำระยะไกล ระบบ SCADA ระบบเรดาร์ตรวจจับกลุ่มฝน รวมถึงการติดตั้งเครื่องสูบน้ำชนิดเครื่องยนต์เพิ่มเติมตามสถานีสูบน้ำที่สำคัญ รองรับสถานการณ์ไฟฟ้าดับ เพื่อที่จะเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่องและไม่เกิดปัญหาน้ำท่วม” พล.ต.อ.อัศวิน ระบุ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง