พท.ขู่ยุบสภา!ภูมิใจไทยงอแง

"วิปรัฐบาล" จ่อควง "ชูศักดิ์" หารือ  "วันนอร์" เดินหน้าแก้ รธน. พร้อมคุยข้อเห็นต่างจำนวนประชามติกับ "ปชน.-ภท." เชื่อเจรจาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว "หมอเชิดชัย" มั่นใจแก้  รธน.ใหม่ได้โดยมี ส.ส.ร.ยกร่าง ขู่ ภท.หากงอแงมากเจอยุบสภาสั่งสอน "แกนนำ ปชน." หวังหากไม่มีกลไก-อุบัติเหตุการเมืองจะเห็น ส.ส.ร.ทันปี 68  ได้ รธน.ใหม่ในปี 70 "นิด้าโพล" เผย ปชช.ควรมีสิทธิ์ร้องศาล รธน.โดยตรง แต่ไม่ควรยุบพรรค   "สวนดุสิตโพล" กางดัชนีชี้วัดคะแนน "นายกฯ อิ๊งค์"  ร่วง แม้แจกเงินหมื่นแต่ไม่เพียงพอต่อความเชื่อมั่น

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ได้นัดประชุมวิปรัฐบาลในวันที่ 9 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ เพื่อพิจารณาในวาระที่ต้องพิจารณาในการประชุมสภาช่วงเปิดสมัยประชุม วันที่ 12 ธ.ค.นี้ โดยได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่ของสภาให้รวบรวมรายละเอียดไว้แล้ว

ส่วนกรณีที่ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา   ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา   เตรียมเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา จำนวน 17  ฉบับ ซึ่งเสนอโดยพรรคฝ่ายค้าน และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) 3 ฉบับ ตามที่รัฐบาลประสานนั้น เบื้องต้นตนจะนัดหารือกับนายวันมูหะนัดนอร์อีกครั้ง และจะหารือร่วมกับนายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วย

นายวิสุทธิ์กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งพบว่ามีการแสดงความเห็นต่อเรื่องจำนวนประชามติ 2 ครั้ง โดยยอมรับว่า แต่ละฝ่ายยังเห็นไม่ตรงกัน เนื่องจากพรรคประชาชนมองว่าสามารถทำประชามติจำนวน 2 ครั้งได้ ส่วนพรรคภูมิใจไทยมองว่าต้องทำ 3 ครั้ง จึงจำเป็นต้องประชุมเพื่อเจรจาหารือให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน และเพื่อให้เกิดทางออกที่ดี

นายวิสุทธิ์ยังกล่าวถึงการทำประชามติโดยยอมรับว่ามีปัญหาในชั้นของการออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ต่อประเด็นที่ใช้เป็นเกณฑ์ผ่านประชามติ ที่ทำให้ต้องยับยั้งร่างแก้ไขไว้ 180 วัน ดังนั้นต้องรอเวลา เพื่อให้สภายืนยันในเกณฑ์ของการออกเสียงประชามติที่ใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว

 “การแก้รัฐธรรมนูญ จะแก้ใหญ่หรือแก้รายมาตรา หากแนวทางใดที่ทำได้ก่อนจะทำไป แต่การแก้ไขทั้งฉบับพรรคเพื่อไทยต้องการให้แก้ไขตามที่ประกาศเป็นนโยบายหาเสียงไว้ แต่ปัจจุบันพบข้อติดขัดหลายอย่าง โดยเฉพาะกุญแจดอกสำคัญคือประชามติ ที่ต้องยอมรับว่ามีปัญหาทั้งในส่วนของ  สว.ไม่เห็นด้วย พรรคภูมิใจไทยงดออกเสียง ซึ่งเข้าใจว่าเป็นธรรมดาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องมีความเห็นต่างกัน”

เมื่อถามว่า ในสมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะเห็นความสำเร็จของการแก้รัฐธรรมนูญในชั้นไหน นายวิสุทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลพยายามทำเต็มที่ แต่ติดเรื่องประชามติ ดังนั้นเมื่อพยายามเต็มที่แล้วแต่ไม่ทัน  ประชาชนที่ติดตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาทราบดีว่าติดขัดตรงไหน ไม่ราบรื่นอย่างไร รัฐบาลและพรรคเพื่อไทยไม่ได้ดึงเกมใดๆ แต่การเมืองในระบอบประชาธิปไตย มีคนเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย  หรืองดออกเสียง ถือเป็นเรื่องธรรมดา

นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยการตั้ง ส.ส.ร.ว่า ขณะนี้การแก้รัฐธรรมนูญติดปัญหาเรื่องร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ สว.และพรรคภูมิใจไทยเห็นไม่ตรงกันกับพรรคเพื่อไทยเรื่องเกณฑ์ผ่านการทำประชามติ แม้อาจจะต้องเสียเวลา 180 วัน ในการพักร่างกฎหมายประชามติ เพื่อยืนยันการใช้ร่างเกณฑ์การใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว ตามเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ฉบับเดิม ที่ สส.เสนอมา ก็ยังเชื่อว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยมี ส.ส.ร.ยกร่าง ออกมาบังคับใช้ในทันก่อนการเลือกตั้งปี 2570 ไม่ว่าจะต้องทำประชามติ 2 หรือ 3 ครั้ง ระหว่างนั้นจะต้องเจรจากับพรรคร่วมรัฐบาล  โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยให้เห็นไปในแนวทางเดียวกัน

ขู่ ภท.งอแงยุบสภาสั่งสอน

"เรื่องนี้มีวิธีแก้อยู่แล้ว ขอให้เชื่อใจพรรคเพื่อไทย จะเจรจาทั้งบ้านเล็กบ้านใหญ่ ต้องคุยให้จบ  ถ้ายังงอแงมากก็อาจยุบสภาสั่งสอน ไปพิสูจน์ตอนเลือกตั้งกันใหม่ แต่ไม่ต้องเป็นห่วง เพราะตอนนั้นตั้ง ส.ส.ร.มาแล้ว แม้จะยุบสภา ส.ส.ร.ก็ยังทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อไป ไม่ว่ารัฐบาลจะอยู่หรือไม่ แต่เชื่อว่าคงไม่ไปถึงขั้นนั้น น่าจะพูดคุยกันได้" นพ.เชิดชัยกล่าว

ด้านนายณัฐวุฒิ บัวประทุม สส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่..) พ.ศ..... ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุม กมธ.ในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ว่า จะเป็นการประชุมเพื่อพิจารณารายงานครั้งสุดท้าย จากการประชุมทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมจะมีมติและถึงมีข้อสังเกตร่วมกันของ กมธ.อย่างไรบ้าง ซึ่ง สส.ทั้งหมดมีความเห็นตรงกัน ว่าไม่เห็นด้วยกับร่างที่ลงมติในครั้งนี้ จึงจะนำไปสู่การลงมติในที่ประชุมรัฐสภาต่อไป

เมื่อถามว่า ทั้ง สส.และ สว.ต่างยังยืนยันจุดยืนของตัวเอง และมองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จในรัฐบาลนี้ใช่หรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า  เรายังเชื่อมั่นว่าสามารถทำประชามติ 2 ครั้งเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ ประชาชนก็ต้องช่วยกันเรียกร้องไปยังรัฐบาลถึงความมุ่งมั่น ความตั้งใจ และเจตนารมณ์ที่เคยประกาศไว้ ว่าอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จในสภาชุดนี้ ซึ่งในส่วนนี้เราก็สนับสนุน แต่เราก็จะหาแนวทางให้มากที่สุด เพื่อนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ได้ รวมถึงได้ยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญบางประเด็น หรือรายมาตรา ในเรื่องที่มีความจำเป็นที่เห็นว่าควรมีการแก้ไขเข้าไปพร้อมกัน

เมื่อถามว่า มองอย่างไรในกรณีที่นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ระบุจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 14 ฉบับเข้าสภาเพื่อพิจารณาในเดือน ธ.ค.นี้ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ก่อนปิดสมัยประชุมสภา วิปรัฐบาลกับวิปฝ่ายค้านได้เคยหารือกันว่าจะสามารถเปิดประชุมร่วมรัฐสภา หลังเปิดสมัยประชุมสภาได้ในสัปดาห์ที่ 2 ซึ่งขณะนั้นมีร่างรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การพิจารณาเพียงแค่ 3-4 ฉบับ แต่ขณะนี้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราที่ส่งมานั้นมีจำนวนมากขึ้น และยังไม่ทราบว่าจะมีพรรคอื่นส่งเข้ามาเพิ่มอีกหรือไม่

"ต้องขอขอบคุณนายวันมูหะมัดนอร์ ที่มีความมุ่งมั่น ความตั้งใจ อยากให้มีการประชุมในเดือน ธ.ค. แต่ต้องขอเรียกร้องไปยังนายวันมูหะมัดนอร์ ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้มีการประสานงานหรือนัดหมายวิป 3 ฝ่ายเพื่อหารือว่าจะประชุมร่วมรัฐสภาในวันไหน จะใช้กรอบเวลาเท่าไหร่ จะมีกระบวนการพิจารณาหรือลงมติอย่างไร รวมถึงเราต้องมาดูว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 14 ฉบับนั้นเป็นอย่างไรบ้าง แต่หากไม่มีการเริ่มต้นเลย ก็จะเดินหน้าไม่ได้

หวังปี 70 ได้ รธน.ใหม่

"อย่าลืมว่าหัวใจหลักที่สำคัญที่สุดของปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 คือที่มา และกระบวนการร่าง ซึ่งเราก็อยากเห็นความจริงใจและความตั้งใจที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดย ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด แม้จะไม่เกิดขึ้นในเร็ววัน แต่ก็คงต้องพยายามให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดกระบวนการทำประชามติหรือเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับให้ได้ เนื่องจากในอดีตเคยมีรัฐธรรมนูญปี 40 50 และ 60 เราก็ปักหมุดไว้ว่า หากมีรัฐธรรมนูญใหม่ ที่เกิดจาก ส.ส.ร.ในปี 70 ก็จะสวยงามที่สุด และยังคาดหวังว่าจะผ่านในปี 70 อยู่ แต่จะทันหรือไม่ทันสภาชุดนี้ ไม่ทราบ แค่ขอเอาเป็นหมุดหมายว่าให้ทันในปี 70 ไว้ก่อน"

เมื่อถามว่า หากมีการทำประชามติแค่ 2 ครั้ง ประเมินว่าจะเห็น ส.ส.ร.ได้ทันปี 2568 หรือไม่ นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ความเป็นไปได้ในปี 2568 มีอยู่สูง ซึ่งก็หวังว่าจะไม่มีกลไกอื่นที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุทางการเมือง จนทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเดินหน้าไม่ได้ หากปล่อยให้กลไกหรือสภาเดินหน้าโดยปกติ ก็น่าจะเกิดขึ้นได้ รวมถึงต้องทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การแก้ไขเชิงโครงสร้างทางการเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชนเรื่อง “ยุบพรรค ตัดสิทธิทางการเมือง” ระหว่างวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง เมื่อถามถึงการมีสิทธิของประชาชนในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง หากพบบุคคลใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 81.37 ระบุว่าประชาชนควรจะมีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง รองลงมา ร้อยละ 16.42 ระบุว่าประชาชนไม่ควรจะมีสิทธิในการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง

สำหรับการยุบพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 61.30 ระบุว่าควรมีการลงโทษด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การยุบพรรค รองลงมา ร้อยละ 36.10 ระบุว่าควรมีการลงโทษยุบพรรค

ดัชนีเชื่อมั่นนายกฯ อิ๊งค์ร่วง

เมื่อถามถึงการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินว่าใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ พบว่า ร้อยละ 39.54 ระบุว่าควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมือง เฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น, ร้อยละ 31.68 ระบุว่าควรลงโทษด้วยวิธีอื่นเฉพาะกับผู้กระทำการเท่านั้น, ร้อยละ 19.31 ระบุว่าควรลงโทษตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด, ร้อยละ 6.26 ระบุว่าควรลงโทษด้วยวิธีอื่นกับกรรมการบริหารพรรคทั้งหมด

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ดัชนีการเมืองไทย ประจำเดือนพฤศจิกายน 2567” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,078 คน ระหว่างวันที่ 25-29 พฤศจิกายน 2567 พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนภาพรวมดัชนีการเมืองไทยประจำเดือนพฤศจิกายน 2567 เฉลี่ย 4.92 คะแนน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2567 ที่ได้ 5.01 คะแนน

ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนสูงสุดคือ การมีส่วนร่วมของประชาชน เฉลี่ย 5.39 คะแนน ตัวชี้วัดที่ได้คะแนนต่ำสุดคือ การแก้ปัญหายาเสพติดและผู้มีอิทธิพล เฉลี่ย 4.39 คะแนน นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือนคือ แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 50.66 รองลงมาคือ อนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 28.96 ด้านนักการเมืองฝ่ายค้านที่มีบทบาทโดดเด่นประจำเดือนคือ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ร้อยละ 43.80 รองลงมาคือ ศิริกัญญา ตันสกุล ร้อยละ 31.72 ผลงานฝ่ายรัฐบาลที่ชื่นชอบประจำเดือนคือ แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 ร้อยละ 37.50 ผลงานฝ่ายค้านที่ชื่นชอบประจำเดือนคือ ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ร้อยละ 48.51 

น.ส.พรพรรณ บัวทอง ประธานสวนดุสิตโพล ระบุว่า ดัชนีการเมืองไทยเดือน พ.ย.ลดลงต่ำกว่า 5 คะแนนอีกครั้ง สะท้อนความคาดหวังของประชาชนต่อการแก้ปัญหาของรัฐบาล แม้การแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 จะเสริมคะแนนนิยมได้บ้าง แต่กลับไม่เพียงพอที่จะยกระดับคะแนนตัวชี้วัดด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเมื่อคะแนนผลงานนายกฯ ลดลง จึงสะท้อนถึงความไม่แน่นอนต่อความเชื่อมั่นในการบริหารประเทศ ความท้าทายเหล่านี้ส่งสัญญาณชัดเจนถึงรัฐบาลว่าประชาชนต้องการการเปลี่ยนแปลงที่จับต้องได้มากกว่าการเยียวยาชั่วคราว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง