“บิ๊กตู่” รู้ปัญหาเรื่องเงินบัตรเครดิตและเดบิตของประชาชนถูกโกงแล้ว สั่งเร่งแก้ปัญหาด่วน “ชัยวัฒน์” ลั่นเตรียมชงกฎหมายเข้มให้ผู้ค้าและผู้ซื้อต้องลงทะเบียน พร้อมให้แสดงตัวตน 2 ครั้งก่อนโอนเงิน “ตำรวจ” เสนอสารพัดวิธีป้องกัน “พล.ต.ท.กรไชย” แจงเสียหายแล้ว 4 หมื่นคน ไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท
เมื่อวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม ยังคงมีความต่อเนื่องจากกรณีลูกค้าผู้ถือบัตรเครดิตและเดบิตจำนวนมากประสบปัญหาการทำรายการชำระเงินโดยที่ไม่ได้ทำธุรกรรมด้วยตนเอง แม้จำนวนเงินที่หักจะไม่สูง แต่มีจำนวนหลายรายการติดๆ กันนั้น นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรับทราบเรื่องแล้ว และได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปตรวจสอบเพื่อเร่งแก้ไขปัญหา
นายธนกรกล่าวว่า ได้ประสานไปยังนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยแล้ว ซึ่งประธานสมาคมธนาคารไทยแจ้งว่าทีมของสมาคมกำลังร่วมประชุมกับทีมตรวจสอบการทุจริตฉ้อโกงเกี่ยวกับระบบธนาคาร และชมรมผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูงของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งล่าสุดสมาคมธนาคารไทยและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงแล้วว่า ไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของข้อมูลจากธนาคาร แต่เป็นรายการที่เกิดจากการทําธุรกรรมชําระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และไม่ใช่แอปดูดเงินตามที่ปรากฏเป็นข่าว
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า ดีอีเอสกำลังร่างกฎหมายเตรียมส่งเข้าให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเพื่อคุ้มครองประชาชนในการซื้อขายออนไลน์ โดยจะให้ทุกร้านค้าที่ประกอบการทำธุรกิจออนไลน์เข้ามาจดแจ้ง โดยให้อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ข้อบังคับ เช่น ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องมีการยืนยันตัวตน เพื่อป้องกันการเอาข้อมูลไปตัดบัญชีโดยที่เจ้าของบัญชีไม่ได้เป็นผู้ทำธุรกรรมนี้ด้วยตัวเอง ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นกฎหมายลูกของพระราชบัญญัติธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
“กระบวนการที่เราดำเนินการอยู่ เช่นจะให้มีการยืนยันตัวตน การมีตัวแทนในไทยที่รับผิดชอบต่อประชาชน มาตรการโอนเงินต้องมีระบบยืนยันตัวตน 2 ชั้น เป็นต้น ป้องกันไม่ให้ถูกหักเงินจากบัญชีโดยเจ้าของไม่รู้ตัว และให้ความคุ้มครองประชาชน” นายชัยวุฒิกล่าวและว่า ผู้เสียหายจากการถูกหักเงินผ่านบัญชีอัตโนมัติโดยไม่ได้ให้ความยินยอมนั้น เชื่อว่าจะได้รับเงินคืนจากธนาคารแน่นอน แต่หากมีข้อติดขัดในการประสานงานกับธนาคารผู้ออกบัตรสามารถแจ้งมาที่ ETDA ผ่านสายด่วน 1212 เว็บไซต์ https://www.1212occ.com หรือ email: [email protected] เพื่อจะช่วยประสานงานให้ต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า ขอให้ผู้เสียหายแจ้งไปยังธนาคารเพื่ออายัดบัตรและปฏิเสธการชำระเงินค่าบริการทางออนไลน์ และทำการตรวจสอบรายการเดินบัญชี รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถเดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนในทุกพื้นที่ใกล้บ้าน สำหรับวิธีป้องกันนั้น 1.ควรหลีกเลี่ยงการทำธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือผ่านทางออนไลน์ที่ต้องแจ้งข้อมูลด้านหน้าบัตรและรหัส 3 ตัวที่อยู่ด้านหลังบัตร 2.ควรนำแผ่นสติกเกอร์ทึบแสงปิดรหัส 3 ตัวด้านหลังบัตร หรือจดรหัส 3 ตัวดังกล่าวเก็บเอาไว้ แล้วใช้กระดาษทรายลบตัวเลขรหัสดังกล่าวออกจากด้านหลังบัตร 3.ระวังการหลอกลวงให้กรอกข้อมูลบัตรเพื่อจ่ายเงินค่าภาษีของเว็บไปรษณีย์ไทยปลอม 4.ควรหลีกเลี่ยงการกดลิงก์ที่มีการส่งมาทางอีเมล SMS หรือสื่อสังคมออนไลน์ และ 5.หากต้องการเข้าไปที่เว็บไซต์ใด ขอให้พิมพ์ชื่อเว็บด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันเข้าไปสู่เว็บไซต์ปลอมที่มีความแนบเนียนมาก
“การกระทำดังกล่าวนอกจากซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชนแล้ว ยังเข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 269/5 ผู้ใดใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งประชาชนที่พบเห็นเบาะแสการกระทำความผิดสามารถแจ้งไปยัง Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง” พ.ต.อ.กฤษณะกล่าวและว่า ขณะนี้มีประชาชนหลายพื้นที่ทยอยเข้าแจ้งความทั้งกับสถานีตำรวจพื้นที่ และกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (สอท.)
พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษก ตร.กล่าวว่า ขอให้คำแนะนำเพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น โดยทำได้ 2 วิธีการหลัก คือ วิธีทางออนไลน์และวิธีทางออฟไลน์ โดยวิธีทางออนไลน์นั้นคือ ไม่ผูกบัตรเครดิต/เดบิตกับเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่ไม่น่าเชื่อถือ แต่หากจำเป็นต้องนำบัตรเครดิต/เดบิตไปผูกข้อมูล ควรกำหนดวงเงินของบัตรที่ทำการผูกข้อมูลให้น้อยที่สุดและเหมาะสมกับการใช้งาน ส่วนวิธีทางออฟไลน์ โดยการนำสติกเกอร์ หรือวัตถุอื่นๆ มาปิดบังหมายเลขหลังบัตรเครดิต (CVV) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้อื่นรับรู้ และหมั่นตรวจสอบรายการธุรกรรมบัตรของตนอย่างสม่ำเสมอ
ส่วน พล.ต.ท.กรไชย คล้ายคลึง ผบช.สอท.กล่าวว่า ตำรวจไซเบอร์ได้ร่วมประชุมกับสภาธนาคารไทยและ ธปท.เพื่อร่วมมือแก้ปัญหากรณีดังกล่าว เบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายประมาณ 4 หมื่นคน ยอดสูงสุด 2 แสนบาท มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งผู้เสียหายถูกถอนเงินครั้งละจำนวนไม่มากแต่หลายครั้ง เชื่อว่าคนร้ายไม่น่าจะก่อเหตุคนเดียว มาจากหลายกลุ่มและใช้วิธีหลายรูปแบบ โดยพฤติการณ์การก่อเหตุสันนิษฐานว่าอาจเกิดจาก 3 ลักษณะ คือ 1.เป็นการผูกบัญชีบัตรเครดิต บัตรเดบิต หรือบัญชีธนาคารเข้ากับแอปพลิเคชันต่างๆ 2.การส่ง SMS หลอกลวง ที่จะส่งลิงก์เข้ามือถือผู้เสียหาย และให้กรอกข้อมูลต่างๆ และ 3.การใช้บัตรเครดิตและบัตรเดบิตในชีวิตประจำวัน เช่น ชำระค่าสินค้าและบริการในห้าง หรือการเติมน้ำมัน อาจถูกพนักงานเก็บข้อมูลเลขหน้าบัตร 16 หลัก และเลข CVC หลังบัตร 3 ตัว
“จากการตรวจสอบพฤติกรรมการดูดเงิน มักจะเป็นการดูดเงินจำนวนไม่กี่บาทแต่หลายๆ ยอด เพราะหากเป็นบัตรเดบิตมักไม่มีการส่ง sms แจ้งเตือนให้ผู้เสียหายรู้ ซึ่งยอดเหล่านี้มักเกิดจากการชำระซื้อค่าไอเทมในเกม หรือซื้อโฆษณาออนไลน์ที่ไม่จำเป็นต้องส่งสินค้าให้ผู้ซื้อ ซึ่งตำรวจจะหารือกับ ธปท.และกลุ่มผู้ค้าสินค้าออนไลน์ถึงมาตรการป้องกัน อาทิ อาจลงทะเบียนร้านค้าออนไลน์ หรืออาจปรับมาตรการแจ้งเตือนชำระสินค้าและบริการที่เป็นยอดน้อยๆ ไม่ถึงขั้นต่ำเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว” พล.ต.ท.กรไชยกล่าว
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล และผู้เสียหายที่เข้าแจ้งความในพื้นที่กรุงเทพฯ เบื้องต้นจะให้แต่ละสถานีตำรวจรับแจ้งความไว้ แต่หากมีผู้เสียหายจำนวนมากก็อาจพิจารณาตั้งคณะทำงานสอบสวนเป็นการเฉพาะอีกครั้ง
นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า ธปท.และสมาคมธนาคารไทยควรเพิ่มมาตรการยืนยันตัวตนในการโอนเงินทุกครั้ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคต ส่วนกรณีผู้เสียหายที่ได้รับผลกระทบ ธนาคารผู้รับฝากเงินของผู้เสียหายควรต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการแสดงความรับผิดชอบของธนาคารผู้รับฝากเงินเอง แต่หากธนาคารหรือสถาบันการเงินไม่คืนเงินหรือไม่ตอบสนองต่อการแจ้งปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้บริโภคสามารถแจ้งเรื่องมาได้ที่ สอบ.ที่พร้อมจะเป็นตัวแทนของผู้บริโภคเข้าดำเนินการตามกฎหมายกับธนาคารโดยทันที โดยติดต่อได้ที่เบอร์ 08-1134-9216.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์