มั่นใจนํ้าท่วมใต้ไม่ซํ้ารอยเหนือ

"นายกฯ" สั่งเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ยึดตามแผน ศปช.ส่วนหน้า ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือเต็มที่ "อนุทิน" เกาะติดพื้นที่ให้คำมั่นไม่ทอดทิ้ง ปชช. กำชับผู้ว่าฯ อพยพชาวบ้านเข้าศูนย์พักพิง "ภูมิธรรม" ยันน้ำท่วมใต้ไม่ซ้ำรอยภาคเหนือ เหตุเป็นน้ำหลากไม่มีดินโคลน ห่วงคนแก่-เด็ก-ผู้ป่วยติดเตียง คาดฝนตกต่อเนื่องอีก 2-3 วันก่อนไหลลงทะเล "วันนอร์" โอด 4 จว.ชายแดนใต้เสียหาย 80-90% แล้ว "ปภ." รายงาน 7 จว. 68 อำเภอ 452 ตำบล 2,831 หมู่บ้านจมบาดาล บ้านเรือนเสียหาย 240,007 ครัวเรือน "ตรัง-พัทลุง" เริ่มน่าห่วง "อุตุฯ" เตือน 9 จว.รับมือฝนหนัก

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม วันที่ 29 พ.ย. เวลา 10.20 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 หรือ ครม.สัญจร โดยมีรัฐมนตรีวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากจังหวัดนราธิวาส 4 คน เนื่องจากลงพื้นที่แก้ปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย, พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รมช.กลาโหม, น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รมช.มหาดไทย

น.ส.แพทองธารกล่าวเปิดการประชุมว่า สวัสดีรัฐมนตรีที่อยู่ที่นี่และที่อยู่ต่างจังหวัด เสียดายที่ทั้ง 4 คนไม่ได้มาถ่ายภาพแก๊งชมพูกับเรา เราทราบกันดีว่า 2-3 วันที่ผ่านมา มีฝนตกอย่างหนักและต่อเนื่องในพื้นที่ภาคโต้ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ตอนนี้รัฐมนตรีทั้ง 4 ได้อยู่ในพื้นที่

จากนั้นนายอนุทินได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.นราธิวาส ว่า ในพื้นที่ฝนตกต่อเนื่องระดับน้ำสูงพอสมควร แม้กระทั่งที่สนามบินนราธิวาสหากไม่หาทางระบายน้ำออก น้ำจะท่วมรันเวย์ จึงได้เร่งระบายน้ำ โดยขณะนี้ยังไม่ได้มีการยกเลิกเที่ยวบิน และตนได้สั่งการผู้ว่าฯ ในพื้นที่ภาคใต้ทุกจังหวัดให้เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างเต็มที่ พร้อมทั้งเร่งอพยพประชาชน ผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบางไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวในพื้นที่ปลอดภัย

"ขณะนี้ได้มีโรงครัวประกอบอาหารปรุงสุกไปแจกจ่ายผู้ประสบภัย ขณะที่การจัดยา อุปกรณ์ดำรงชีพ ทางจังหวัดได้ร่วมกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อย่างเต็มที่เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีประชาชนถูกทอดทิ้งและได้รับความช่วยเหลืออย่างถ้วนหน้า การสัญจรในพื้นที่ได้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขัง ลดผลกระทบเส้นทางจราจรของประชาชน รวมทั้งสภาพอากาศแนวโน้มจะดีขึ้น ฝนจะเบาบางลงตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นไป จากนั้นจะเร่งสำรวจความเสียหายและเร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยให้กลับมาดำรงชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว" นายอนุทินระบุ

น.ส.แพทองธารได้สอบถามถึงการระบายน้ำไม่มีปัญหาอะไรใช่หรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า ไม่มีปัญหา แต่ช่วงนี้น้ำทะเลหนุน การระบายน้ำไม่สามารถระบายออกไปได้เต็มที่

ต่อมาเวลา 12.40 น. น.ส.แพทองธารแถลงผลการประชุมตอนหนึ่งระบุว่า ครม.รับทราบปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัดของพื้นที่ภาคใต้ที่มีสาเหตุมาจากฝนตกหนักต่อเนื่องและมีปริมาณน้ำมาก ตนจึงสั่งการให้นายอนุทิน รวมทั้ง รมช.มหาดไทย และ รมช.กลาโหมลงพื้นที่ โดยจะอยู่หน้างาน เพื่อแก้ไขและให้ทำหน้าที่ต่อ โดยขอให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน ซึ่งได้รับรายงานจากคนในพื้นที่ว่าทาง กทม.ได้ส่งความช่วยเหลือ ทั้งเรือท้องแบน 7 ลำ เรือเครื่อง 5 เครื่อง รถกระบะ 2 คัน รถบรรทุก 6 ล้อ มีเครน และมีเจ้าหน้าที่กู้ภัย 23 คน นายช่าง 4 คน รวมเป็น 27 คน เพื่อนำไปช่วยเหลือภาคใต้

อ้วนชี้ท่วมใต้ไม่ซ้ำรอยเหนือ

"ได้สั่งการให้ ศอ.บต.ประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนกลาง เร่งรัดสั่งการเรื่องการประกอบอาหารและโรงครัวพระราชทาน อุปกรณ์ต่างๆ พร้อมให้อพยพประชาชนจากพื้นที่น้ำท่วมสูงและจัดเตรียมหน่วยแพทย์ ยารักษาโรค เพื่อป้องกันโรคที่มากับน้ำท่วมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และให้ดูเรื่องมาตรการเยียวยาควบคู่กันไป เพื่อให้ประชาชนไม่ต้องรอนาน" นายกฯ กล่าว

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุม ครม. นายกฯ มีข้อสั่งการสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้เร่งดำเนินการแก้ไขตามแผน ศปช.ส่วนหน้า ซึ่งมีประสบการณ์จาก 2 เดือนที่ผ่านมาว่า สถานการณ์น้ำจะต้องแก้ไขปัญหาอย่างไร รวมทั้งทราบว่ามีการจัดตั้ง ศปช.ส่วนหน้าขึ้นที่ภาคใต้แล้ว

“แม้ว่าขณะนี้ท่านนายกฯ มีภารกิจในการประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ท่านได้ฝากความห่วงใยผ่านรองนายกฯ และรัฐมนตรี พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ดูแลประชาชนทันที อีกทั้งในช่วง 2 วันนี้กรมอุตุนิยมวิทยารายงานว่า ยังมีแนวโน้มที่จะมีฝนตกหนักเข้ามาเติมในพื้นที่ จึงต้องสั่งการให้ระดมความช่วยเหลือจากนอกพื้นที่เข้ามาเพิ่มเติม โดยต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ” โฆษกประจำสำนักนายกฯ ระบุ

ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธานประชุม ศปช.เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ขณะนี้ปัญหาในพื้นที่พบการลำเลียงนำคนออกมาเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มคนชรายังมีความเป็นห่วงที่พักอาศัย ฉะนั้นเราก็ได้ประสานนำเรือท้องแบน หน่วยงานทหารและภาคเอกชนเกือบ 50 ลำ นำกลุ่มเด็กและผู้ป่วย รวมถึงขนเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ปภ.จะส่งเรือเข้าไปช่วยอีกประมาณ 100 ลำ ซึ่งทุกฝ่ายเร่งทำงานเต็มที่ สถานการณ์ในพื้นที่ยังไม่กังวลเรื่องดินโคลนเหมือนอย่างอุทกภัยภาคเหนือ แต่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในช่วงสัปดาห์แรกจะต้องมีการประสานงานดูแลให้ดี

ถามว่ามีการประเมินสถานการณ์หรือไม่ว่าสถานการณ์จะอยู่นานเพียงใด นายภูมิธรรมกล่าวว่า คาดว่าฝนจะตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่อีก 2-3 วัน และหากไม่มีอะไรมากกว่านี้น้ำก็ไหลลงทะเลไป ทั้งนี้ ภายหลังการประชุม ครม.สัญจรจะมีการลงพื้นที่ไปตรวจดูแลเยี่ยมเยือนประชาชน

"การประเมินความเสียหายได้สั่งการไปแล้วให้เริ่มดำเนินการประเมินความเสียหายทันที ซึ่งรูปแบบคงไม่ต่างจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา โดยจะต้องกลับมาดูว่าจะให้ความช่วยเหลือรายบุคคล และความเสียหายของบ้านแต่ละกรณีได้จำนวนเท่าไหร่ ซึ่งการประเมินคงแตกต่างจากภาคเหนือที่มีดินโคลนถล่ม เนื่องจากเหตุการณ์ในพื้นที่ภาคใต้เป็นเพียงน้ำหลากที่มาแล้วไป" นายภูมิธรรมกล่าว

ถามว่าสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้เหมือนพื้นที่ภาคเหนือหรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่เหมือนในพื้นที่ภาคเหนือ เพราะเป็นน้ำหลาก น่าจะไม่มีดินโคลนถล่ม ซึ่งคงจะหนักอีกประมาณ 2-3 วัน เนื่องจากมีความกดอากาศต่ำแผ่เข้ามา จึงทำให้มีฝนตกหนัก 1-2 วันนี้

"เราได้บทเรียนจากพื้นที่ภาคเหนือมาแล้ว และครั้งนี้จะไม่หนักเหมือนในพื้นที่ภาคเหนือ แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป ส่วนพื้นที่จังหวัดสงขลาได้มีการเสนอให้มีการนำเรือผลักดันน้ำลงทะเล โดยหลังจากการประชุม ครม.สัญจรเสร็จสิ้น ทุกฝ่ายจะลงไปทำหน้าที่" รองนายกฯ กล่าว

'วันนอร์' โอด 4 จว.เสียหายหนัก

ที่รัฐสภา นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวว่า จากที่ได้รับรายงานฝนตกหนักมากกว่าในรอบที่ผ่านมาเกือบทุกอำเภอใน 4 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลาเสียหาย 80-90% เพราะน้ำมาเร็ว แต่สิ่งที่ชาวบ้านเดือดร้อนนอกจากเรื่องทรัพย์สินที่ขนไม่ทัน ยังมีผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และเด็กเล็กมีปัญหามาก ต้องการการขนย้ายออก ต้องการเรือ พาหนะและรถสูงไปขนถ่าย

"ทราบว่ารัฐบาลได้ให้ทหารช่างกองทัพ ส่งรถ ส่งเรือ 30-40 ลำที่ สามารถเข้าไปขนชาวบ้านออกมา รวมทั้งเรือของ กทม.ด้วย ผมคิดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายบางส่วน แต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องการก็คือน้ำประปาที่ขาด อาหารการกินก็ขาด เพราะในเมืองตลาดร้านค้าน้ำท่วมหมด หาซื้อของกินของใช้ได้ยาก รัฐบาลต้องรีบส่งอาหารการกินของใช้ไปในพื้นที่โดยด่วนที่สุด" นายวันมูหะมัดนอร์กล่าว

ถามถึงสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ต่างจากทุกครั้งหรือไม่ นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นน้ำท่วมที่มาก ปีที่แล้วถือว่ามากแล้ว แต่ปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว บางแห่งถึง 2 เท่าที่ไม่เคยท่วม อย่างตัวเมืองเขตเทศบาลเมืองยะลาครั้งนี้ท่วมหมด ทางรถไฟไม่สามารถเดินรถได้ บางช่วงทางขาด การคมนาคมขาดในหลายอำเภอ แม้ว่าฝนเริ่มชา แต่ยังไม่หยุด ซึ่งถือเป็นเรื่องเดือดร้อนภัยพิบัติรุนแรงมากในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ขณะที่บ้านตนเองในจังหวัดยะลาอยู่บนยอดเขาจึงยังไม่ท่วม ทำให้สามารถดูแลคนอื่นได้

เมื่อถามว่าการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมระยะยาวควรทำอย่างไร นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อม ดูแลต้นน้ำ การก่อสร้างที่จะขัดขวางทางน้ำไหล ต้องวางระบบคมนาคมให้ดี เพราะเป็นสิ่งจำเป็น แต่ต้องไม่ไปขัดขวางการไหลของทางน้ำ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการตัดไม้ทำลายป่าที่ต้องดูแลเป็นอย่างดี สิ่งสำคัญที่สุดขณะนี้มีภาวะโลกร้อน ที่ทำให้ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไปมากก็คงต้องแก้ไขด้วย เพราะเป็นการทำให้มลภาวะของโลกร้อนลดลงไป

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงานพื้นที่ประสบอุทกภัยใน 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล รวม 68 อำเภอ 452 ตำบล 2,831 หมู่บ้าน มีบ้านเรือนได้รับผลกระทบ 240,007 ครัวเรือน โดยมีผู้ประสบภัยอพยพไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว 91 แห่ง ใน 4 จังหวัด รวม 4,380 คน ซึ่งได้มีการประกาศแจ้งเตือนภัยในพื้นที่เสี่ยงสูงทำให้สามารถอพยพและเคลื่อนย้ายกลุ่มเปราะบางได้อย่างทันท่วงที

จ.นราธิวาส นายอนุทินพร้อมคณะผู้บริหารได้เรียกประชุมส่วนราชการ เพื่อติดตามปัญหาอุทกภัยก่อนเดินทางลงพื้นที่ประสบภัย เร่งแก้ไขสถานการณ์ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และประชาชน โดยนายอนุทินระบุว่า ตอนนี้ระดับน้ำในเมืองสูงพอสมควร ได้กำชับผู้ว่าฯ ในจังหวัดประสบภัยเตรียมความพร้อมเผชิญเหตุ เน้นเข้าไปช่วยเหลืออพยพประชาชนไปยังที่พักพิงชั่วคราว มีทั้งการอพยพผู้ป่วยและกลุ่มเปราะบาง รวมถึงการขนย้ายทรัพย์สินสำคัญอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย และมีการจัดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจอาสาสมัครดูแลรักษาความปลอดภัยประชาชนทั้งในพื้นที่อพยพและบ้านเรือนของประชาชนที่อพยพออกจากพื้นที่อยู่อาศัย

ฝนหนักตรัง-พัทลุงเริ่มน่าห่วง

จ.ปัตตานี สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เข้าขั้นวิกฤต ตั้งแต่ช่วง 3 ทุ่มของเมื่อคืน 28 พ.ย.ที่ผ่านมา มวลน้ำจากตอนบนจังหวัดยะลาได้ไหลลงสู่แม่น้ำปัตตานีต่อเนื่อง ประกอบกับมีส่วนน้ำทะเลก็หนุนสูง ส่งผลให้ระดับน้ำปัตตานีสูงจนล้นตลิ่งเข้าท่วมอย่างหนักในพื้นที่ติดกับริมแม่น้ำ รวมถึงทะลักเข้าท่วมในเทศบาลเมืองปัตตานีเป็นวงกว้าง ถนนจมอยู่ใต้น้ำ สูง 40-70 ซม. จนถนนเป็นอัมพาต รถไม่สามารถสัญจรได้ ถือว่าหนักสุดในรอบ 34 ปี ขณะเดียวกันบ้านเรือนของประชาชนและร้านค้าต่างๆ น้ำทะลักเข้าไปภายในได้รับความเสียหาย ทำให้ประชาชนเทศบาลเมืองปัตตานี ณ ขณะนี้ได้รับความเดือนร้อนเป็นวงกว้าง เส้นทางที่รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ คือ ถนนกะลาพอ ถ.หลังวัง ถ.หลังวัง ถ.ยะรัง (บางจุด) มีน้ำท่วมสูง 50-70 ซม.

            จ.ยะลา พื้นที่อำเภอเมืองรอบนอกทั้ง 10 ตำบล มีน้ำท่วมโอบล้อมตัวเมืองในเขตเทศบาลนครยะลา ซึ่งขณะนี้มีประชาชนได้รับผลกระทบแล้ว 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองยะลา อ.บันนังสตา อ.ยะหา อ.รามัน และ อ.กาบัง อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ อ.เบตง ยังคงต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากปริมาณฝนในพื้นที่ยังคงมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง และลมกระโชกแรงทำให้เสาไฟฟ้าข้างทางล้มขวางถนน การสัญจรเส้นทางสายยะลา-เบตง บางช่วงยังคงปิดเส้นทาง 

จ.ตรัง เกิดน้ำป่าไหลหลากบริเวณน้ำตกกะช่อง อ.นาโยง จังหวัดตรัง ทำให้มวลน้ำป่าจำนวนมากไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกใกล้เคียง ต.ช่อง อ.นาโยง ก่อนไหลลงคลองนางน้อย ไหลเข้าสู่ชุมชนตลาดนาโยง ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนแล้วหลายหลังคาเรือน ขณะที่มวลน้ำได้ไหลทะลักตัดผ่านถนนสายหลักทั้ง 2 ฝั่ง บริเวณตำบลละมอ ถนนสายตรัง-พัทลุง ระดับน้ำสูง 50 เซนติเมตร ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.นาโยง เจ้าหน้าที่กรมชลประทาน เจ้าหน้าที่ทางหลวงได้ช่วยกันเข้าอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือชาวบ้านยกข้าวของเก็บไว้ที่สูงเป็นการเบื้องต้น รวมทั้งรถยนต์ขนาดเล็กเกิดเครื่องยนต์ขัดข้อง เจ้าหน้าที่ได้ช่วยกันเข็นเพื่อไม่ให้ขวางการจราจร รวมทั้งเกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน สถานที่ราชการในครั้งนี้ เบื้องต้นจะเป็นบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ริมคลองนางน้อย พื้นที่ลุ่ม ทางน้ำไหลผ่าน เช่น พื้นที่หมู่ที่ 4 ต.ช่อง พื้นที่ 6 ต.นาข้าวเสีย อ.นาโยง ชาวบ้านได้รับความเสียหายประมาณ 50 ครัวเรือน

จ.พัทลุง ตลอดทั้งวันที่ 29 พ.ย. ได้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ โดยเวลาประมาณ 10.30 น. ที่หมู่ 3 บ้านด่านโลด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง น้ำล้นตลิ่งคลองส้านแดง น้ำได้ไหลทะลักเข้าสู่บ้านเรือนที่อยู่อาศัยสูงประมาณโดยเฉลี่ย 1 เมตร สำหรับ อ.ตะโหมด จ.พัทลุง มี 33 หมู่บ้านน้ำได้ท่วมทุกหมู่บ้านแล้ว เบื้องต้นพบว่ามีพื้นที่ประสบอุทกภัยแล้ว 8 อำเภอ 41 ตำบล 309 หมู่บ้าน 10  ชุมชน มีผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนแล้ว 19,556  คน จำนวน 8,698 ครัวเรือน ในขณะเดียวกันทางจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) จำนวน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เมืองพัทลุง อ.ควนขนุน อ.ศรีบรรพต  และ อ.ศรีนครินทร์ จำนวน 25 ตำบล 176 หมู่บ้าน 10 ชุมชน (ในเขตเทศบาลเมืองพัทลุง)

ในขณะที่น้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัด อ.กงหรา ได้ไหลทะลักลงมาในน้ำตกไพรวัลย์ น้ำตกโตนแพรทอง เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทางจังหวัดได้แจ้งให้ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยในเส้นทางน้ำจากเทือกเขาบรรทัดให้เฝ้าระวังระดับน้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.กงหรา อ.เมืองพัทลุง และ อ.ศรีนครินทร์ ฯลฯ ให้ขนของไปไว้ในที่ปลอดภัย

ส่วนสถานศึกษาในหลายพื้นที่ได้สั่งปิดโรงเรียนไปแล้วจำนวนหลายโรงเรียน

กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 9 เรื่อง ฝนตกหนักบริเวณภาคใต้ คลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทยตอนล่าง และอากาศหนาวเย็นบริเวณประเทศไทยตอนบน (มีผลกระทบจนถึงวันที่ 30 พ.ย.2567) ตอนหนึ่งระบุว่า

บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนปกคลุมถึงภาคใต้ตอนบนและทะเลจีนใต้ ประกอบกับมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังค่อนข้างแรง ในขณะที่หย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณช่องแคบมะละกาและปลายแหลมมลายู ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง บริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และสตูล ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังอันตรายจากฝนตกหนักถึงหนักมากและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่ง โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่ม รวมทั้งประชาชนในภาคใต้ฝั่งตะวันออกควรระวังอันตรายจากคลื่นที่ซัดเข้าหาฝั่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงม.152สกัดม็อบ ‘นพดล’ ชูใช้สภา ถกปม ‘MOU44’ นายกฯ วอนสนธิ

"นายกฯ อิ๊งค์" วอนอย่าก่อม็อบ หวั่นกระทบท่องเที่ยว บอก “สนธิ” ยื่นหนังสือต้องเป็นตามกระบวนการ ลั่นเกิดแผ่นดินไทยไม่มีทางเห็นประเทศไหนดีกว่า “นพดล” ชงใช้มาตรา 152

ครม.สัญจรไฟเขียว 2,700 ล้าน พัฒนาแหล่งน้ำ-ฟื้นฟูโครงการเสียหายน้ำท่วม

ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ศูนย์แม่ริม น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี