‘วันนอร์’ จัดเต็ม เปิดประชุมธ.ค. ถกร่างแก้ ‘รธน.’

“วันนอร์” ยันเปิดสมัยประชุม ธ.ค. เดินหน้าแก้ รธน. บรรจุแล้วทั้ง 17 ฉบับ ไม่ขัด กม.-คำวินิจฉัยศาล เหตุแก้รายมาตราไม่ต้องทำประชามติ “พริษฐ์” โต้นิกรทุกเม็ด แฉไทม์ไลน์ใครกันแน่ทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อืด

เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานรัฐสภา ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เมื่อเปิดสภาในเดือน ธ.ค.นี้ ก็จะพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่บรรจุไว้ทั้งหมด 14 ฉบับ และเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลเสนอมาอีก 3 ฉบับ รวมเป็น 17 ฉบับ แต่ยังไม่ได้กำหนดวันที่ชัดเจน อาจจะภายในเดือน ธ.ค.นี้

นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้มีตัวร่างแล้วประธานสั่งบรรจุอย่างเดียวก็จะสำเร็จ เพราะเกี่ยวข้องกับหลายส่วน เช่น บางส่วนเกี่ยวข้องกับการทำประชามติที่ยังไม่เรียบร้อย บางส่วนอาจเกี่ยวข้องกับการพิจารณาของทั้ง 2 สภาด้วย แต่ในส่วนของสภา ได้บรรจุทุกเรื่องในส่วนที่ไม่ขัดต่อกฎหมายของรัฐธรรมนูญหรือการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยเมื่อปี 2564  แต่ที่เสนอมาทั้งหมด 14 ฉบับ บรรจุให้หมดไม่มีฉบับใดที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการแก้ไขรายมาตรา ไม่ได้แก้ทั้งฉบับ

ส่วนการแก้ทั้งฉบับ ที่นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน  จะเป็นอย่างไรนั้น นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ของนายพริษฐ์ก็บรรจุทุกฉบับ รวมทั้งการแก้ไขมาตราสำคัญคือมาตรา 256 ด้วย โดยสมัยประชุมที่แล้วมีการเสนอแก้ไขมาตรา 256 แต่ไม่ได้รับการบรรจุ เพราะไปขัดแย้งกับการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 2564 แต่การเสนอครั้งนี้ฝ่ายประสานงานกฎหมายของสภาและตนเห็นว่าไม่ได้ไปขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญในเรื่องการแก้ไขสามารถนำมาพิจารณาได้ ถ้าผ่านก็แก้ไขได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับรัฐสภาจะพิจารณาว่าจะผ่านหรือไม่ผ่าน

เมื่อถามว่า ความหวังในการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ยังเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่  นายวันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า ฝ่ายสภาก็พยายามให้กำลังใจ เพราะอยากให้สำเร็จ เพราะเชื่อว่าประชาชนคงอยากจะเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สำเร็จ แต่ปัญหาอุปสรรคอย่างที่บอกไปแล้วคือ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของรัฐสภา และถ้าบางฉบับต้องใช้ประชามติก็ต้องทำประชามติ ยืนยันว่าทุกฉบับที่อยู่ในสภาขณะนี้เป็นการแก้ไขรายมาตรา ไม่มีฉบับใดต้องไปทำประชามติ ยกเว้นมีฉบับที่เสนอขึ้นมาใหม่แล้วต้องทำประชามติ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ขณะที่นายพริษฐ์โพสต์ข้อความผ่าน x ชี้แจงกรณีนายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ให้สัมภาษณ์ระบุว่า ต้องโทษนายพริษฐ์ ที่ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ทันปี 2570 โดยระบุว่า เพิ่งได้มีโอกาสย้อนฟังนายนิกรแบบเต็มๆ และแทบไม่เชื่อว่าในฐานะคนที่ตนเองเคารพและหารืออยู่อย่างต่อเนื่อง เลือกให้ความเห็นในลักษณะกล่าวหาด้วยข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและไม่ครบถ้วน  ซึ่งขออนุญาตชี้แจงเบื้องต้นแค่ 2 ประเด็นหลัก

นายพริษฐ์โพสต์อีกว่า ประเด็นแร กท่านบอกว่าให้โทษผมที่ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าช้า และมีแนวโน้มไม่ทันปี 2570 ต้องเริ่มต้นด้วยทบทวนความทรงจำว่าอะไรเกิดขึ้นบ้างตั้งแต่รัฐบาลที่นายนิกรทำงานให้ เข้ามารับตำแหน่งเมื่อ ส.ค.2566 โดย 3 เดือนแรก หรือช่วงเดือน ต.ค.2566-ธ.ค.2566 ใช้เวลาไปกับการตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ที่นายนิกรเป็นโฆษก แทนที่จะเดินหน้าจัดประชามติตามที่เคยประกาศไว้ 4 เดือนถัดมา หรือช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 รัฐสภามีมติให้ส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพื่อให้เกิดความชัดเจนเรื่องจำนวนประชามติ ซึ่งท้ายสุดศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัย ซึ่งนายนิกรคงลืมไปว่าข้อเสนอดังกล่าวในการส่งเรื่องให้ศาลเป็นข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย

“วันที่กระบวนการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับวินิจฉัยตอน เม.ย.2567 เสร็จสิ้น ครม.ที่คุณนิกรทำงานให้กลับยังไม่ได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติเข้ามาอยู่ดี จนทำให้ทุกพรรคต้องรอถึง มิ.ย.2567 กว่า ครม.จะเสนอร่างของตนเองเข้ามา และสภาพิจารณาทุกฉบับพร้อมกันในวาระที่ 1 ซึ่งก็ยังไม่เสร็จสิ้นกันจนถึงวันนี้ ซึ่งถ้าคุณนิกรอยากประหยัดเวลาจริง วันนั้นท่านควรช่วยให้ ครม.เสนอร่าง พ.ร.บ.ประชามติให้เร็วกว่านี้ แทนที่จะให้รอร่าง ครม.เป็นเดือนๆ”

นายพริษฐ์ยังกล่าวโต้ประเด็นที่บอกว่าสิ่งที่ตนเองพยายามทำอยู่ในการโน้มน้าวให้ทุกฝ่ายลดจำนวนประชามติเหลือ 2 ครั้ง เป็นอะไรที่เสียเวลา  ว่าขอบคุณความเป็นห่วง และทราบดีว่าความพยายามตรงนี้ไม่มีอะไรรับประกันว่าจะสำเร็จ และไม่ว่าความพยายามตรงนี้จะสำเร็จหรือไม่ ก็ไม่มีส่วนไหนที่ทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญล่าช้าไปกว่าเดิม

“สรุปสั้นๆ คือความพยายามของเรามีแต่ได้หรือเท่าทุน และแน่นอนว่าทุกท่านย่อมมีสิทธิ์ที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความพยายามของผม  แต่ผมอยากให้ข้อเสนอแนะและข้อวิจารณ์ทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง ยืนยันว่าทั้งหมดที่ทำมา เพราะต้องการให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยเกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเป้าหมายของอดีตพรรคก้าวไกล พรรคประชาชนในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้าน  แต่ยังเป็นนโยบายที่รัฐบาลได้สัญญาไว้กับรัฐสภาและประชาชน”.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชงม.152สกัดม็อบ ‘นพดล’ ชูใช้สภา ถกปม ‘MOU44’ นายกฯ วอนสนธิ

"นายกฯ อิ๊งค์" วอนอย่าก่อม็อบ หวั่นกระทบท่องเที่ยว บอก “สนธิ” ยื่นหนังสือต้องเป็นตามกระบวนการ ลั่นเกิดแผ่นดินไทยไม่มีทางเห็นประเทศไหนดีกว่า “นพดล” ชงใช้มาตรา 152

มั่นใจนํ้าท่วมใต้ไม่ซํ้ารอยเหนือ

"นายกฯ" สั่งเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคใต้ ยึดตามแผน ศปช.ส่วนหน้า ระดมกำลังเข้าช่วยเหลือเต็มที่ "อนุทิน" เกาะติดพื้นที่ให้คำมั่นไม่ทอดทิ้ง ปชช. กำชับผู้ว่าฯ

ปธ.รัฐสภา ยันเปิดสมัยประชุม ธ.ค.เดินหน้าแก้ รธน. อยากให้สำเร็จในรัฐบาลนี้

ปธ.รัฐสภา ยันเปิดสมัยประชุม ธ.ค.เดินหน้าแก้ รธน. อยากให้สำเร็จในรัฐบาลนี้ เผยบรรจุแล้วทั้ง 17 ฉบับ ไม่ขัดกม.-คำวินิจฉัยศาล เหตุแก้รายมาตรา ไม่ต้องทำประชามติ ยกเว้นเสนอใหม่