"แกนนำเพื่อไทย" ปากเริ่มสั่น แบะท่าขอพูดคุยกับ "กลุ่มสนธิ" หลังประกาศไปทำเนียบฯ 9 ธ.ค. มอง MOU 44 ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะนำไปสู่การลงถนน-ไม่เป็นเหตุที่จะปลุกม็อบได้ เพราะบริบททางการเมืองไม่เหมือนเดิม ฝ่ายค้านจับตาตั้ง JTC เชื่อเลี่ยงไม่ได้ฝ่ายการเมืองเข้าแทรกแซง “จตุพร” ชี้เปรี้ยงสุกงอมลงถนนหรือไม่อยู่ที่หลังได้เจทีซี ลั่นเป็นหน้าที่คนไทยต้องปกป้องไม่ให้เสียดินแดน ย้ำรัฐบาลปลุกเงื่อนไขการลงถนนต่อเนื่องไม่เข็ดขยาด
เมื่อวันที่ 28 พ.ย. นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตรียมเดินทางมาทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่อง MOU 44 ในวันที่ 9 ธันวาคม และประกาศพร้อมนำมวลชนลงถนนต่อต้านเรื่องนี้ว่า เป็นมุมมองของนายสนธิ แต่เห็นว่าเรื่องนี้มีวิธีอื่นที่จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่า เช่นการพูดคุยกัน เพราะในเรื่องที่จะนำมวลชนมาทำเหมือนในอดีตนั้น วันนี้บริบททางการเมืองเปลี่ยนไปในระดับหนึ่งแล้ว และเรื่องนี้เริ่มต้นจากการที่รัฐบาลทำถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง จึงอยากให้มีการแลกเปลี่ยนและพูดคุยกันจะเป็นประโยชน์มากกว่า
เมื่อถามว่า ในส่วนของรัฐบาล ใครจะเป็นคนพูดคุยกับนายสนธิได้ นายประเสริฐกล่าวว่า ยังไม่ทราบ แล้วแต่ว่าจะมีการมอบหมายใคร
ส่วนการที่นายสนธิหยิบประเด็นเรื่อง MOU 44 ขึ้นมานั้น เพราะคิดว่าจะสามารถปลุกระดมประชาชนขึ้นมาได้ นายประเสริฐให้ความเห็นว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรเสียหาย และรัฐบาลได้ชี้แจงตลอดเวลา น.ส.แพทองธาร และรัฐมนตรีหลายคนก็เคยให้ข่าวเรื่องนี้ รัฐบาลยังไม่ได้ทำอะไรที่ส่งผลกระทบ หากนำเรื่องนี้มา ยังไม่ใช่ประเด็นที่จะนำไปสู่การลงถนนหรืออะไรต่างๆ โดยแกนนำพรรคเพื่อไทยได้มีการพูดคุยและประเมินตลอดเวลา เพราะเรื่องของการเมืองต้องมีการวางยุทธศาสตร์และจับตาดูสถานการณ์ตลอด
ถามย้ำว่า มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้หรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า ถามว่าห่วงหรือไม่ ก็ไม่คิดว่าเรื่องนี้จะเป็นประเด็น แต่อย่างไรก็ตามในการปกครองความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนรัฐบาลทำอยู่แล้ว ฉะนั้นเรื่องนี้ไม่ควรเป็นเหตุที่จะปลุกม็อบได้
ต่อข้อถามที่ว่า นายสนธิห่างหายจากเวทีชุมนุมไปนาน มองว่าครั้งนี้ม็อบจะจุดติดหรือไม่ นายประเสริฐกล่าวว่า บริบททางการเมืองและความรู้สึกของประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเรื่องดังกล่าวเรามาตัดสินด้วยเหตุและด้วยผลกันดีกว่า
ทนายฯ ขวางปลุกม็อบลงถนน
ด้านนายนรินท์พงศ์ จินาภักดิ์ นายกสมาคมทนายความแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นผ่านเพจเฟซบุ๊กของสมาคมทนายความฯ ถึงเรื่อง MOU 44 ว่า บันทึกจากนายกสมาคมทนายความฯ ปัญหาใหญ่ที่สุดของประเทศในขณะนี้ คือปัญหาเกี่ยวกับบันทึกข้อตกลงระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา หรือ MOU 44 ที่หลายฝ่ายแสดงความเห็นว่าอาจนำประเทศไทยไปสู่การเสียดินแดน หรือเสียอธิปไตยทางทะเล อันจะนำไปสู่การชุมนุมเรียกร้องทางการเมืองของประชาชนกลุ่มต่างๆ นั้น เห็นว่าปัญหาดังกล่าวสามารถหาข้อยุติได้อย่างสันติด้วยวิถีทางประชาธิปไตย ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลายวิธี เช่น (1) รัฐบาลเปิดเวทีสาธารณะ (public deliberation) เพื่อเป็นเวทีพูดคุยแสดงความคิดเห็นและแสวงหาข้อยุติอย่างสันติวิธี โดยเปิดโอกาสให้ตัวแทนกลุ่มการเมืองที่เห็นต่าง ซึ่งคับข้องใจได้มีเวทีแสดงความคิดเห็นและตรวจสอบความโปร่งใสของกระบวนการ ในขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้องและมีส่วนรับผิดชอบได้ตอบคำถามอย่างครบถ้วน ผมแนะนำให้เชิญอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ลงนาม MOU ได้มาชี้แจงข้อสงสัยของกลุ่มการเมืองที่เห็นต่างด้วย
นายกสมาคมทนายความฯ เสนออีกว่า นอกจากนี้ให้ สส.ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 123 เข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการประชุมสมัยวิสามัญ จากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 เพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับ MOU 44 ต่อคณะรัฐมนตรี รวมถึงการให้ สส.ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 129 ขอให้สภาผู้แทนราษฎรแต่งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับการดำเนินการ MOU 44 โดยต้องเชิญตัวแทนฝ่ายที่เห็นต่างมาเป็นกรรมาธิการ เพื่อร่วมพิจารณาและมีความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบและโปร่งใส
“ทางออกที่เสนอข้างต้น เป็นวิธีการตามรัฐธรรมนูญในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายมีเวทีในการแสดงความคิดเห็นอันเป็นสิทธิพื้นฐานของปวงชนชาวไทย แต่สิ่งที่สำคัญคือ ทุกฝ่ายต้องยอมรับและเคารพความเห็นต่างที่ประกอบไปด้วยเหตุและผล โดยไม่ใช้อารมณ์หรือวัตถุประสงค์ทางการเมืองของตัวเองเป็นเครื่องมือ และไม่จำเป็นต้องปลุกระดมก่อม็อบลงถนนแต่อย่างใด ซึ่งประชาชนที่ติดตามการแสดงความคิดเห็นจากเวทีที่กล่าวข้างต้นจะเป็นผู้ตรวจสอบ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน แต่ในขณะที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ รัฐบาลควรต้องไม่เร่งดำเนินการใดๆ จนกว่าจะได้ข้อยุติ แต่หากจัดเวทีร่วมกันดังกล่าวแล้วยังหาข้อยุติไม่ได้ ทางออกสุดท้ายคือการถามประชาชนโดยวิธี “ประชามติ” เพราะอำนาจเป็นของประชาชน ทุกฝ่ายจึงต้องฟังเสียงของประชาชน” นายนรินท์พงศ์กล่าว
ฝ่ายค้านจับตาตั้งกรรมการ JTC
ด้านการตรวจสอบเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยคณะกรรมาธิการของสภาฯ ที่รัฐสภา นายศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยภายหลังประชุม กมธ.ว่า วันนี้ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ด้านพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสนธิสัญญาฯ กระทรวงการต่างประเทศ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กองทัพเรือ และสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม มาให้ข้อมูลล่าสุดในพื้นที่พัฒนาร่วม
นายศุภโชติเปิดเผยว่า กรมสนธิสัญญาฯ ยืนยันว่าใช้กรอบของ MOU 44 เป็นกรอบหลักในการเจรจา โดย กมธ.ได้นำคำถามจากภาคประชาสังคมมาสอบถาม ได้ข้อมูล 2 ส่วนว่า ในพื้นที่ส่วนบนต่างฝ่ายต่างอ้างสิทธิ์ทับซ้อน ก็ต้องมีการเจรจากันไป พร้อมกับแบ่งทรัพยากรธรรมชาติที่อยู่ส่วนล่าง โดยตามกรอบ MOU ต่างฝ่ายต่างรับรู้พื้นที่ของแต่ละฝ่าย และไทยค่อนข้างมั่นใจข้อมูลที่จะไปเจรจากับกัมพูชา โดยยึดหลักอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล หรืออันโคลส ส่วนเรื่องสัมปทานที่ให้สิทธิกับเอกชนไปแล้ว ก็ต้องพูดคุยกันต่อว่าจะเดินหน้าอย่างไร แต่สิ่งที่ กมธ.ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการยกเลิกสัมปทาน เพราะภาครัฐต้องจ่ายค่าชดเชยให้โดยใช้ภาษีของประชาชน
นายศุภโชติยังกล่าวถึงระยะเวลาในการนำทรัพยากรขึ้นมาใช้ประโยชน์ โดยทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติชี้แจงว่า ถ้าดูจากกรอบที่เราเคยทำกับมาเลเซีย จะต้องใช้เวลาถึง 25 ปี จึงมีคำถามว่า ทรัพยากรเหล่านี้ยังจำเป็นหรือไม่ เพราะขณะนี้เรากำลังเดินไปสู่พลังงานสะอาด จึงได้พูดคุยกันว่าถ้าจะทำให้เร็วกว่านี้ทำอย่างไรได้บ้าง
เมื่อถามว่า กมธ.เห็นด้วยกับการเดินหน้าตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC ไทย-กัมพูชาหรือไม่ นายศุภโชติกล่าวว่า แน่นอนต้องมีอยู่แล้ว เพราะเป็นเหมือนบันไดขั้นแรกที่ทำให้การเจรจาเกิดขึ้นได้ และทางเราก็อยากเห็นว่าองค์ประกอบเป็นอย่างไร โดยการเข้าไปเจรจาเรื่องใดเรื่องหนึ่งต้องมีผู้แทน ซึ่งในส่วนของไทยมีการพูดคุยกันว่าไม่ใช่แค่เรื่องเขตแดน แต่มีเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและพลังงาน ดังนั้นองค์ประกอบของ JTC จึงเป็นประเด็นสำคัญว่าประกอบด้วยใครบ้าง ที่จะต้องคุยทั้งเรื่องเขตแดน อาณาเขตประเทศ รวมทั้งทรัพยากร ซึ่งที่ผ่านมาองค์ประกอบของ JTC มีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานค่อนข้างน้อย จึงขอฝากข้อเสนอแนะว่าต้องมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเพิ่มไปด้วยพร้อมย้ำว่าคณะกรรมการ JTC จะต้องครอบคลุมโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง
“คงปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความพยายามจากฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซงในคณะกรรมการ JTC แต่อยากให้ยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และให้การทำงานในเรื่องนี้เป็นกลางจริงๆ แต่เรื่องนี้จะชัดเจนที่สุดก็ต่อเมื่อได้เห็นรายชื่อคณะกรรมการ JTC ออกมาก่อน ถ้าเทียบกับในอดีต ก็ควรจะต้องเป็นบุคคลที่ดูเรื่องเขตแดน เรื่องทรัพยากร ต้องร่วมอยู่ในโต๊ะเจรจาด้วย” รองประธาน กมธ.พลังงานฯ กล่าว
สำหรับข้อเสนอให้ยกเลิก MOU 44 นายศุภโชติกล่าวว่า ใน กมธ.พูดถึงเรื่องนี้ค่อนข้างน้อย เพราะการมี MOU 44 ถือเป็นกรอบที่ชัดในการเจรจา ส่วนจะต้องมีการปรับปรุงอะไรหรือไม่ เราต้องศึกษากันว่าบริบทนี้ผ่านมา 20 ปีแล้ว มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างเยอะ จึงเห็นว่าต้องมีการทบทวน แต่ถึงขั้นต้องยกเลิกหรือไม่ ยังไม่สามารถสรุปได้
ถามย้ำว่า ได้เห็นแผนที่แนบท้าย MOU 44 หรือไม่ นายศุภโชคกล่าวว่า กรมสนธิสัญญาฯ ได้มาชี้แจงว่าแผนที่แนบท้ายเป็นแค่การรับรู้เส้นที่ทั้งสองฝ่ายต่างอ้างอิง ซึ่งเป็นคนละเส้นกัน และไม่ได้มีบทบังคับใช้ตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม เมื่อเปิดสมัยประชุมสภา ควรนำเรื่องนี้พิจารณาในสภาอย่างเปิดเผย เพื่ออธิบายให้ประชาชนทราบว่ากำลังทำอะไรอยู่ ซึ่งอาจจะช่วยให้คำถามที่ตามมาลดน้อยลง เพราะปัญหานี้ใหญ่เกินกว่าการแก้ไขปัญหาด้วยคนเพียงไม่กี่คน
'จตุพร' ชี้รอการสุกงอมหลังได้ JTC
ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน และอดีตประธาน นปช.เสื้อแดง เฟซบุ๊กไลฟ์โดยกล่าวตอนหนึ่งถึงสถานการณ์การเมืองขณะนี้ว่า สำหรับกรณี MOU 44 การลงถนนต้องรอการสุกงอมในเรื่องนี้ โดยมีเงื่อนไขอยู่ที่รัฐบาลพรรคเพื่อไทยตั้งคณะกรรมการเจทีซี (JTC) ไปเจรจากับกัมพูชา เมื่อถึงวันนั้นจะมีเรื่องให้วิพากษ์มากมายว่าจะสุ่มเสี่ยงกับการเสียดินแดนอย่างไร ดังนั้น เรื่องนี้เริ่มเป็นเงื่อนไขลงถนน เมื่อทักษิณพูดถึงการแบ่งผลประโยชน์ 50:50 และนายกฯ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร รับลูกมาพูดส่อถึงเจตนาชัดเจนว่า เธอกับฉันตกลงกันไม่ได้ก็แบ่งผลประโยชน์กัน สิ่งนี้จึงสะท้อนถึงเจตนาความอยากได้สมบัติเสมือนเป็นทรัพย์สินส่วนตัวของตัวเอง
“รัฐบาลพยายามบิดเบือนการลงถนนในกรณี MOU 44 เพราะกลัวลงถนนกันมากแล้วทหารจะออกมายึดอำนาจ แต่ถ้าไม่ลงถนนก็เสียดินแดน ดังนั้น รัฐบาลกลัวทหารยึดอำนาจมากกว่าการกลัวเสียดินแดนเสียอีก อย่างไรก็ตาม เราอยากรู้ว่าผลประโยชน์ที่แบ่งนั้นประเทศได้อะไร ทำไมไม่ออกมาพูด และสัญญาสัมปทานกับเชฟรอนได้ประโยชน์ไปหมดจะยกเลิกอย่างไร เราจึงขอให้ตกลงปักปันเขตแดนทั้งทางบกและทะเลให้จบก่อนการเร่งรีบเจรจาแบ่งประโยชน์กัน ก็เท่านี้ รัฐบาลกลับแสดงความกล้าที่สวนสำนึกของประชาชน โดยแต่ละเรื่อง (ทั้งปักปันเขตแดนและแบ่งผลประโยชน์) ยังไม่เกิดขึ้นในขณะนี้ แต่รัฐบาลกลับแสดงความอยากจนน้ำลายไหลเปรอะข้างปากกันแล้ว แสดงว่ามีความอยากเต็มที่แล้ว
“ขณะนี้รออย่างเดียวคือการสุกงอม เมื่อรัฐบาลปฏิบัติเริ่มเจรจาเมื่อไร ย่อมเป็นเงื่อนไขถึงภาวะสถานการณ์สุกงอมต้องลงถนนกันแล้ว ซึ่งการลงถนนไม่ใช่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองใด แต่เป็นหน้าที่ของคนไทยที่เกิดในผืนแผ่นดินไทยต้องปกป้องไม่ให้เสียดินแดน จึงไม่ใช่การคลั่งชาติ” อดีตแกนนำ นปช.ระบุ
อดีตแกนนำเสื้อแดงกล่าวถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ประกาศอาจจะลงถนนครั้งสุดท้ายว่า ขณะนี้รัฐบาลเพื่อไทยได้เกิดทางการเมืองและเติบโตในอำนาจ ก็มาจากประชาชนลงถนนต่อต้านในสิ่งไม่ชอบธรรม สองมาตรฐาน แต่วันนี้กลับมาเล่นสำบัดสำนวนตอบโต้การลงถนนยังไม่มีเงื่อนไขให้ประชาชนต้องออกมา อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทุกเหตุการณ์ที่ประชาชนลงถนน เงื่อนไขสำคัญล้วนมาจากรัฐบาลเป็นผู้ปลุกและก่อขึ้น คนจึงออกมาคัดค้านเต็มถนน และแกนนำในหตุการณ์ 14 ตุลา 16 หรือ 6 ตุลา 19 หรือพฤษภา 35 และเมษา-พฤษภา 53 ซึ่งพวกมีอำนาจการเมืองขณะนี้มาจากคนลงถนนทั้งนั้น จึงควรเข้าใจและต้องไม่อธิบายด้วยการลืมกำพืดของตัวเอง
“สิ่งสำคัญที่ผ่านมา รัฐบาลได้ปลุกเงื่อนไขให้เกิดการลงถนนมาต่อเนื่อง และไม่เข็ดขยาด ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอยปลายปี 2556 ประกอบกับย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นเลขาฯ สมช. เพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง และยังมีปัจจัยแก้ รธน. 50 มาผสมอีก คนจึงออกมาถนน ซึ่งไม่ได้มาจากการเชื่อและปลุกพลังของแกนนำอย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กลุ่ม กปปส. แต่เป็นเพราะรัฐบาลสร้างเงื่อนไข หาเรื่องขึ้นมาเองประชาชนจึงคัดค้าน รัฐบาลพรรคเพื่อไทยข้ามขั้ว ตระบัดสัตย์ ถ้าเป็นคนอื่นยังไม่ให้โอกาสเลย แล้วทำไมเป็นเพื่อไทยแล้วจึงต้องได้โอกาส พูดดูดีดูหล่อกันทั้งนั้น พวกขี้ข้า ขี้ครอก อย่ามาแสดงความอวดรู้ไม่มีราคาเลย”
นายจตุพรกล่าวด้วยว่า กรณีชั้น 14 ถ้า ป.ป.ช.ไต่สวนแบบเงียบเชียบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ก็ให้ทำยาวไปกันเลย หรือประกาศยกคำร้อง ไม่มีความผิดไปเลย ส่วนการขอเวชระเบียนนั้น ไม่ได้นำประวัติผู้ป่วยมาเปิดเผยสาธารณะ แต่ต้องการตรวจสอบการรักษาของหมอ รพ.ตำรวจ ถึงที่สุดแล้วการขอเวชระเบียนไม่ได้แสวงหาความลับผู้ป่วย แต่ต้องการหาว่าหมอได้ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้า ป.ป.ช.ไม่มีน้ำยาเอาเวชระเบียน ไม่รู้จะมีองค์กรอิสระแบบนี้ไว้ทำไม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โค้งสุดท้ายสังเวย393ศพ ศปถ.จ่อถอดบทเรียนอีก
โค้งสุดท้าย 10 วันอันตราย วันที่ 9 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,322 ครั้ง
แจง4คนไทยติดขั้นตอน เย้ยรบ.-ทหารมีไว้ทำไม
กต.แจงลูกเรือประมงไทย 4 คนยังติดขั้นตอนปล่อยตัวจากเมียนมา
ขู่แก้รธน.ก่อนโดนสอยยกสภา
"เพื่อไทย" แทงกั๊กร่วมสังฆกรรมแก้ รธน.กับพรรคส้ม
เอาแน่‘กาสิโน’ขึ้นบนดิน
“ทักษิณ” สวมบทนายกฯ ตัวจริง ลุยหาเสียง อบจ.เชียงราย 3 แห่งรวด
ไม่กล้าเขี่ยพีระพันธ์ แม้วเกทับไฟฟ้าเหลือ3.70 จะทุบทุนผูกขาดทุกชนิด!
"พ่อนายกฯ" โชว์เหนือ จะทุบค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 ต่อหน่วย เ
‘อ้วน’ ยันปล่อย 4 คนไทยเร็วๆนี้
ครบรอบวันชาติเมียนมา 4 ลูกเรือประมงไทยรอเก้อ ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว แต่อภัยโทษ 151 คนไทยถูกหลอกทำงานคอลเซ็นเตอร์