ชงปปช.ฟันฮุบเขากระโดง ไล่ที่ปชช.ผุดสนามกอล์ฟ

"กมธ.ทหาร" เดินหน้าสอบค่ายทหาร สร้างผิดจุดหรือโดนเวทมนตร์ดำ ทำให้ต้องระเห็จออกจากพื้นที่เขากระโดง กลับมีสนามกอล์ฟขึ้นมาแทน “วิโรจน์” ขอภาพถ่ายทางอากาศพิสูจน์จุดสร้างเดิม "ทหาร" แจงปมค่าย มทบ.26 ทับที่ชาวบ้านอนุมัติถูกต้อง แต่รับมีคลาดเคลื่อน โบ้ยคนเซ็นเกษียณไปแล้ว ชาวบ้านโวยถูกฟ้องขับไล่เจ็บใจเอาที่ไปสร้างสนามกอล์ฟ  "สาวิทย์" บุก " ป.ป.ช." จี้ตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ-รัฐมนตรี ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ที่รัฐสภา วันที่ 28 พฤศจิกายน นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน  (ปชน.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ก่อนการประชุม กมธ. กรณีการสร้างค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก หรือ ร.23  พัน.4 โดยหลีกเลี่ยงพื้นที่เขากระโดงว่า มีประชาชนร้องเรียนว่าค่ายดังกล่าวไม่ได้สร้างในพื้นที่ที่ขออนุญาต และปรากฏว่าที่ตั้งของค่ายดังกล่าวในปัจจุบันมีสนามกอล์ฟเขากระโดงด้วย  จึงมีข้อสงสัยว่า ไม่ได้สร้างในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต แต่กลับมาสร้างในพื้นที่อีกแปลงหนึ่งที่ห่างออกมาประมาณ 2 กม. ซึ่งประเด็นสำคัญคือทำไมค่ายทหารจึงไม่ไปตั้งในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาต ซึ่งที่ได้รับอนุญาตคือ น.ส.ล.4130 ประมาณ 400 ไร่ ปรากฏว่าใน น.ส.ล.4130 มีที่อีก 1 แปลงคือ 24 ไร่เศษ ซึ่งมีการฟ้องร้องกัน โดยผู้ครอบครองพื้นที่ฟ้องร้องการรถไฟฯ แต่การรถไฟฯ ฟ้องแย้ง และสู้คดี 5 ปี จนมีคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นที่สิ้นสุดเด็ดขาดว่าที่แปลงนั้นเป็นที่การรถไฟฯ โดยปัจจุบันผู้ที่ฟ้องการรถไฟฯ ก็ชำระค่าปรับและออกจากพื้นที่นั้นแล้ว

"พื้นที่ 400 ไร่ดังกล่าวจริงๆ แล้วควรเป็นค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก แล้วทำไมจึงไม่เป็นค่ายทหาร ทำไมค่ายทหารจึงต้องหนีห่างออกมา 2 กม.เศษ จนต้องไปฟ้องขับไล่ราษฎร เมื่อปี 2524 ซึ่งประชาชนมีความรู้สึกว่าหากจะนำพื้นที่เป็นค่ายทหารก็สามารถใช้ได้ แต่กลับมีสนามกอล์ฟเขากระโดงขึ้นมา โดยสนามกอล์ฟดังกล่าวเพิ่งจะเข้าสู่ระบบทะเบียนเมื่อปี 2566 จึงถูกตั้งคำถามในเรื่องของการบริหารเงินนอกงบประมาณ"

เมื่อถามว่า สนามกอล์ฟที่เขากระโดงใครเป็นผู้บริหาร หรือเป็นของกองทัพ นายวิโรจน์กล่าวว่า  สนามกอล์ฟเป็นของมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ มทบ.26 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการและเป็นธุรกิจของกองทัพเพื่อสวัสดิการกองทัพ

เมื่อถามว่า มีการเชื่อมโยงกับคนตระกูลใหญ่ในบุรีรัมย์ที่เป็นข่าวในขณะนี้หรือไม่ นายวิโรจน์กล่าวว่า เรื่องที่มาของที่ดินก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่เรื่องนี้ไม่เชื่อมก็คงต้องเชื่อมกับคนตระกูลใหญ่  แต่เราอย่าเพิ่งไปกล่าวหาใคร เพราะการได้ที่ดินมาเมื่อ 40 ปีก่อนหน้านี้แล้ว แต่เบื้องต้นเราต้องตรวจสอบก่อนว่าค่ายทหารสร้างถูกที่หรือไม่

 “เกิดอะไรขึ้น หรือมีโหรไปดูแล้วมีเหตุการณ์อะไรหรือไม่ จึงต้องระเห็จออกมาสร้างอีกที่หนึ่ง  หรือที่ร้อนหรือไม่ วันนี้รู้กัน สุดท้ายความจริงต้องปรากฏ เวทมนตร์ คุณไสยใดๆ ที่สร้างหมอกบังตา สร้างแดนสนธยาขึ้นมา สุดท้ายแพ้แสงตะวันอยู่แล้ว ถึงแม้จะไม่สว่างวันนี้ก็สว่างวันหน้า ผมหวังว่า กมธ.ทหารจะมีความขลังที่จะคลี่คลายฝุ่นควัน แดนสนธยาในพื้นที่นี้ ถ้าสายสิญจน์ที่วันนี้เราขึงไม่พอ ก็ต้องไปสู้กันต่อไป สักวันเวทมนตร์ มนตร์ดำ คุณไสย สู้ความถูกต้องไม่ได้" นายวิโรจน์กล่าว

นายวิโรจน์กล่าวด้วยว่า ให้จับตาในกรณีนี้ว่าจะมีหน่วยงานราชการหรือรัฐวิสาหกิจ ทั้งการรถไฟฯ และกรมที่ดิน อาจจะมีพฤติกรรมและพฤติการณ์เข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ เพราะค่ายทหารต้องอยู่ที่ น.ส.ล.4130/2515  หากไปอยู่ที่อื่นถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะพื้นที่ตรงนี้มีการสงวนไว้เป็นบ่อหินใกล้รางรถไฟ แต่ค่ายดังกล่าวในปัจจุบันกลับไปสร้างในอีกที่หนึ่ง ซึ่งไม่มีบ่อหิน ดังนั้นจึงต้องขอภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหารให้ช่วยชี้บ่อหินว่า น.ส.ล.ที่ บร.3239 มีบ่อหินตรงไหน

ทั้งนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. มีการประชุม กมธ.การทหาร ที่มีนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร เป็นประธาน กรณีการตั้งค่ายทหารมณฑลทหารบกที่ 26 ทับที่ดินของประชาชนใน จ.บุรีรัมย์ โดยมีตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน ตัวแทนการรถไฟแห่งประเทศไทย จ.บุรีรัมย์ กรมที่ดิน กรมทางหลวง มณฑลทหารบกที่ 26 และกรมโยธาธิการและผังเมือง เข้าร่วมชี้แจง

ช่วงหนึ่งของการประชุม ตัวแทนของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน กล่าวว่า ที่ดินบางส่วนของสนามกอล์ฟในค่ายทหารถูกสร้างทับที่ของพวกตน แต่เมื่อสร้างสนามกอล์ฟเสร็จก็มีการฟ้องขับไล่พวกเรา และเมื่อปี 2543 กลับจ่ายค่าเวนคืนให้คนที่ถูกฟ้อง ต่อมาให้มีการออกโฉนด แต่ไม่สามารถออกได้ เนื่องจากทหารบอกว่าเป็นที่ดินของทหารไปแล้ว ซึ่งกลุ่มชาวบ้านยอมกลืนเลือด โดยเอาที่ไปเป็นค่ายทหารก็ได้ แต่ที่เจ็บใจคือกลับเอาไปทำสนามกอล์ฟ

 ขณะที่ พ.อ.ปิยะวัติ ราชวงศ์ รอง ผบช.มทบ.26 ชี้แจงว่า เรื่องนี้ต้องแบ่งเป็น 2 ประเด็น  คือที่ตั้งมณฑลทหารบกและศูนย์กีฬาของกองทัพ  ยืนยันว่าที่ตั้งของค่ายทหารได้รับมาจากการขออนุมัติ 3 ครั้ง แบ่งเป็น 3 แปลงติดกัน ซึ่งในสมัยนั้นเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ ทำให้ต้องมีการตั้งค่ายที่ จ.บุรีรัมย์ จากจังหวัดทหารบกสุรินทร์ โดยใช้เป็นหน่วยสนับสนุนชั่วคราวให้ จังหวัดทหารบกสุรินทร์

 “คนสุรินทร์มาขอใช้พื้นที่บุรีรัมย์ ทำไมรู้จุดว่าเป็นตรงไหน และขออนุมัติได้ไม่กี่วัน แสดงว่ามีการพูดคุยกันก่อนหน้านั้นแล้ว เขารู้ได้อย่างไร  แสดงว่ามีการสำรวจร่วมกันก่อนหน้านั้นแล้ว"   พ.อ.ปิยะวัติกล่าว

พ.อ.ปิยะวัติกล่าวอีกว่า พื้นที่แปลงแรกได้รับการอนุมัติถูกต้องไม่กี่วัน ถูกต้องและไม่ได้ย้ายมาจากที่ไหน ส่วนที่ดินแปลงที่ 2 มีการขอใช้พื้นที่เพิ่มไปทางด้านหลังของพื้นที่แปลงแรก ดังนั้นการอนุมัติก็ถูก กองพันเดียวกันจะอยู่คนละพื้นที่เป็นไปไม่ได้ ส่วนที่ดินแปลงที่ 3 ที่ขออนุมัติยอมรับว่าไม่สอดคล้องกับเอกสารเดิม อาจจะไม่เข้าใจลึกซึ้งว่าเส้นถูกหรือไม่อย่างไร ตนเชื่อว่าอย่างนั้น ความเป็นจริงเป็นอย่างไรตนไม่ทราบได้  เพราะคนที่อนุมัติน่าจะเกษียณไปหมดแล้ว ซึ่งต้องให้ทางผู้เกี่ยวข้องชี้แจง

พ.อ.ปิยะวัติกล่าวด้วยว่า ที่ตั้งของมณฑลทหารบกที่ 26 ที่คิดว่าถูกย้ายมา ที่ตรงนั้นปัจจุบันเป็นที่ตั้งของแขวงการทางบุรีรัมย์ ตั้งมานานแล้ว พร้อมเปรียบเทียบพร้อมภาพถ่ายทางดาวเทียมกับโฉนดพื้นที่ค่ายทหาร และระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ  พรรคสังคมประชาธิปไตยไทย นำโดยนายสาวิทย์ แก้วหวาน หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค และสมาชิกพรรค ได้ไปยื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อให้ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ กรณีไม่เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินบริเวณเขากระโดง ตามคำพิพากษาของศาล

โดยนายสาวิทย์กล่าวว่า ตามที่เกิดข้อพิพาทและการโต้แย้งสิทธิในการเข้าครอบครองที่ดินของประชาชนในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองฯ จ.บุรีรัมย์ ด้วยข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกา ที่ศาลปกครองกลาง มีคำตัดสินว่าที่ดินจำนวน 5,083 ไร่เศษ เป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งกรมที่ดินเป็นหน่วยงานของรัฐ มีหน้าที่และเป็นผู้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิในที่ดินบริเวณเขากระโดงไปก่อนหน้านี้ให้แก่ประชาชนจำนวนหนึ่ง  ซึ่งศาลก็พิพากษาว่าออกโดยไม่ชอบ และในชั้นการไต่สวน สอบสวน พยานหลักฐานทั้งเอกสาร บุคคล ล้วนถูกนำขึ้นโต้แย้งกันครบถ้วนในชั้นพิจารณาคดี จนศาลมีคำพิพากษาที่เป็นแนวทางเดียวกันทั้งหมด

"จึงเป็นประเด็นที่สังคมตั้งคำถามกันทั่วประเทศในเวลานี้ เจ้าหน้าที่รัฐได้ปฏิบัติหน้าที่โดยชอบหรือไม่ในการปกป้องประโยชน์สาธารณะ ประโยชน์ของแผ่นดิน พรรคสังคมประชาธิปไตยไทยขอให้ประธานและคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตรวจสอบการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น รัฐมนตรีที่กำกับดูแล อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนที่อธิบดีกรมที่ดินตั้งขึ้น ว่ากระทำการที่ทุจริตต่อหน้าที่หรือไม่  ปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ไม่ปกป้องผลประโยชน์ของรัฐหรือไม่ ชอบด้วยจริยธรรมในการทำหน้าที่หรือไม่" นายสาวิทย์กล่าว

ทั้งนี้ มีนายวัฒนชัย ส้มมี ผู้ช่วยเลขาธิการ ป.ป.ช. ออกมารับหนังสือ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง