50อำเภอใต้อ่วมฝนตกหนักอีก

กรมอุตุฯ ออกประกาศเตือน 8 จว.ภาคใต้ ระวังฝนตกหนักถึง 30 พ.ย. "ปภ."  รายงาน 7 จว. 50 อำเภอภาคใต้จมบาดาล ปชช.เดือดร้อน 136,219 ครัวเรือน "ปัตตานี" เขตเทศบาลเมืองน้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมบ้าน  "ยะลา" เกิดดินสไลด์ปิดเส้นทางหลายจุด  "สงขลา" สวนยางได้รับความเสียหาย "ภูมิธรรม" สั่ง ศปช.ประสานทุกหน่วยระดมกำลังพล-เครื่องจักรเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย "อนุทิน" เตรียมลงพื้นที่ใต้ 29 พ.ย.นี้ "ธนกร-ร่มธรรม" จี้รัฐบาลเร่งออกมาตรการรับมือน้ำท่วม ไม่ใช่ทำเฉพาะภาคเหนือ

เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2567 ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ออกประกาศฉบับที่ 6 เรื่อง  ฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออกและคลื่นลมแรงบริเวณอ่าวไทย ระหว่างวันที่  28-30 พ.ย.2567 ระบุว่า ช่วงวันที่ 28-29 พ.ย. มีฝนหนักหลายพื้นที่บริเวณ จ.ชุมพร และสุราษฎร์ธานี มีฝนหนักถึงหนักมากและอีกหลายพื้นที่ ตั้งแต่ จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส และวันที่ 30 พ.ย.2567 มีฝนหนักบางแห่งบริเวณ จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และ จ.นราธิวาส และบริเวณอ่าวไทย มีคลื่นลมมีกำลังแรง ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ และหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง ส่วนเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 28-30 พ.ย.2567

"ขอให้ประชาชนระวังอันตรายที่เกิดจากฝนตกหนักถึงหนักมาก ฝนที่ตกสะสม และลมกระโชกแรง ซึ่งอาจทำให้พื้นที่เสี่ยงภัยเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่มในพื้นที่ลาดเชิงเขาอย่างต่อเนื่อง" ศูนย์อุตุฯ ภาคใต้ฝั่งตะวันออกระบุ

ส่วนนายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ล่าสุด ปภ.รายงานว่ามีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 7 จังหวัด 50 อำเภอ 321 ตำบล 1,884 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 136,219 ครัวเรือน

โดย จ.สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำท่วม 2 อำเภอ ได้แก่ อ.กาญจนดิษฐ์ อ.ดอนสัก, จ.นครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วม 8 อำเภอ ได้แก่ อ.ชะอวด อ.เฉลิมพระเกียรติ อ.พระพรหม อ.เมืองฯ อ.ร่อนพิบูลย์ อ.จุฬาภรณ์ อ.ปากพนัง และ อ.พรหมคีรี,   จ.สงขลา เกิดน้ำท่วม 15 อำเภอ ได้แก่ อ.ระโนด อ.สะเดา อ.หาดใหญ่ อ.สิงหนคร อ.เทพา อ.บางกล่ำ อ.สะบ้าย้อย อ.นาทวี อ.จะนะ อ.รัตนภูมิ อ.เมืองฯ อ.นาหม่อม อ.กระแสสินธุ์ อ.ควนเนียง และ อ.คลองโข่ง, จ.ปัตตานี เกิดน้ำท่วม 6 อำเภอ ได้แก่ อ.มายอ อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.แม่ลาน อ.ไม้แก่น และ อ.โคกโพธิ์, จ.ยะลา เกิดน้ำท่วม 5 อำเภอ ได้แก่ อ.บันนังสตา อ.เมืองฯ อ.ยะหา อ.รามัน และ อ.กาบัง, จ.นราธิวาส เกิดน้ำท่วม 13 อำเภอ ได้แก่ อ.บาเจาะ อ.แว้ง อ.รือเสาะ อ.เจาะไอร้อง อ.สุคิริน อ.ยี่งอ อ.ระแงะ อ.ตากใบ อ.จะแนะ อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.สุไหงปาดี และ อ.เมืองฯ และ จ.สตูล เกิดน้ำท่วม 1 อำเภอ คือ อ.ควนโดน

"ได้กำชับ ปภ.จังหวัด ประสานจังหวัด  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังและระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง" อธิบดี ปภ.ระบุ

จ.ปัตตานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ยังคงน่าห่วง เนื่องจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องหลายวัน โดยพื้นที่ อ.ยะรัง ยังคงน่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำในแม่น้ำปัตตานีได้ล้นตลิ่ง ทำให้หลายพื้นที่มีน้ำท่วมสูง โดยเฉพาะ ม.1 ม.2 ต.เขาตูม เจ้าหน้าที่หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 22 ต้องนำกำลังพล รถบรรทุกหกล้อ เรือยาง และเครื่องยุทโธปกรณ์เข้าไปช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ภายในบ้าน ส่วนในเขตเทศบาลเมืองปัตตานี น้ำล้นตลิ่งทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนหลายจุดสูง โดยโฉพาะถนนพิพิธ ซึ่งเป็นย่านเศรษฐกิจ มีน้ำทะลักเข้าท่วมบนถนนทั้ง 2 เลน สูง 30-40 ซม. รถเล็กสัญจรเป็นไปอย่างยากลำบาก

จ.ยะลา ระดับน้ำในคลองต่างๆ ทั้งในเขตเมืองและรอบนอกเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และน้ำยังคงเป็นสีแดงขุ่นและไหลเชี่ยวอย่างแรง จนทำให้บางพื้นที่เกิดน้ำกัดเซาะตลิ่ง บางช่วงน้ำเอ่อล้นคลองท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้าน และยังทำให้เกิดดินอุ้มน้ำไม่ไหว จนสไลด์ลงมาทับเส้นทางหลายจุด โดยเฉพาะเส้นทาง 410 ยะลา-เบตง มีดินสไลด์เกือบ 10 จุด ทั้งในพื้นที่ ต.ตาเนาะแมเราะ ต.ยะรม ต.อัยเยอร์เวง และ ต.ธารน้ำทิพย์ บางช่วงก็มีต้นไม้ล้ม หักโค่นลงมาทับสายไฟ เจ้าหน้าที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอำเภอเบตง ต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจและตัดต้นไม้ที่หักมาทับสายไฟออก เพื่อไม่ให้กระแสไฟฟ้าขัดข้องจนดับชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อน เช่นเดียวกับเทศบาลนครยะลา ได้เตือนประชาชนขนของขึ้นที่สูง ระดับน้ำสายบุรีวิกฤต หลังจากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง

จ.สตูล เกิดน้ำที่ท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะอำเภอควนโดน ทั้งบ้านเรือนประชาชนและบนถนนในหมู่บ้านหลายสิบสายถูกน้ำท่วม กระทั่งทำให้การสัญจรไปมาอย่างยากลำบาก นอกจากนี้ ถนนสายในหมู่บ้านที่บ้านย่านซื่อ อ.ควนโดน น้ำในลำคลองควนโดนล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ถนนหลายสายต้องจมอยู่ใต้กระแสน้ำ

จ.สงขลา เกิดฝนตกทั้งคืนในพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา ทำให้น้ำในคลองอู่ตะเภาตอนบน หมู่ 6 ต.พังลา อ.สะเดา น้ำไหลบ่าเข้าท่วมถนนและสวนยางพารา บนถนนสายบ้านคลองแงะ-บ้านบาโรย น้ำไหลจากคลองอู่ตะเภา ตอนบนท่วมบนผิวถนนยาวกว่าหลายกิโลเมตร ทำให้รถเล็กไม่สามารถขับผ่านได้

ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า   นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) สั่งการทุกหน่วยในพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมหนักในภาคใต้อย่างใกล้ชิด และให้เร่งระดมกำลังพล เครื่องจักรเครื่องมือเข้าไปสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่

"วันนี้ (28 พ.ย.) น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์  รมช.มหาดไทย เข้าร่วมประชุมคณะทำงาน ศปช. พร้อมสั่งทุกหน่วยระดมสรรพกำลัง โดยเฉพาะเรือยนต์ เรือท้องแบน ล่าสุด กระทรวงกลาโหมเตรียมส่งเรือท้องแบนเข้าพื้นที่คืนนี้ รวม 25 ลำ ไปที่ จ.ยะลา 10 ลำ, จ.ปัตตานี 5 ลำ, จ.นราธิวาส 5 ลำ และ จ.สงขลา 5 ลำ เร่งช่วยอพยพประชาชนที่ตกค้างไปในที่ปลอดภัยและที่ศูนย์พักพิง รวมทั้ง สธ.ได้เปิดศูนย์พักพิงรวม 20 แห่ง ที่ จ.ยะลา 7 แห่ง และนราธิวาส 13 แห่ง มีผู้เข้ารับบริการ 224 ราย" น.ส.ศศิกานต์กล่าว 

พล.ต.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า รมว.กลาโหมได้สั่งการให้เหล่าทัพระดมเครื่องจักร เครื่องมือ ยุทโธปกรณ์และกำลังพลเข้าช่วยเหลือพื้นที่ที่ประสบอุทกภัย ที่ปัจจุบันมีพื้นที่ประสบภัย 7 จังหวัด ประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 136,219 ครัวเรือน

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการ รมว.มหาดไทย และโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย มอบหมายให้ น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์  รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์และให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ จ.นราธิวาส จ.ยะลา และขณะนี้ น.ส.ซาบีดาก็ยังคงอยู่เฝ้าติดตามในพื้นที่ พร้อมกำชับ ปภ.ระดมทรัพยากรทั้งเครื่องจักรสาธารณภัยและกำลังคนให้พร้อมสนับสนุนเหตุอุทกภัยภาคใต้ ล่าสุด ปภ.เขตต่างๆ ได้ทยอยแจ้งสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยพร้อมเจ้าหน้าที่เข้าไปยังพื้นที่แล้ว

"ในวันที่ 29 พ.ย. นายอนุทินพร้อมคณะผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย มีกำหนดเดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัย และให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิดด้วย" น.ส.ไตรศุลีกล่าว

ขณะที่ นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้าพรรค และ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) กล่าวว่า ขอฝาก น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และนายอนุทิน เร่งออกมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำท่วม และให้มีการวางแผน แก้ปัญหาในระยะยาว เพื่อป้องกันน้ำท่วมซ้ำซากในหลายพื้นที่ ไม่เพียงเฉพาะแค่เพียงพื้นที่ภาคเหนือ แต่ภาคใต้และทั่วประเทศหลายจังหวัดไว้ด้วย

เช่นเดียวกับ นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) แถลงว่า ตนขอประสานไปยังรัฐบาล กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งเข้าไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัย ทั้งอพยพรวมทั้งเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม ทั้งในระยะเร่งด่วน จัดชุดเคลื่อนที่เร็วอุปกรณ์เครื่องจักร ระยะกลาง ขอให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้รวบรวมความเสียหายเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และในระยะยาว ขอรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องออกแบบวางแผนแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำในภาคใต้ทั้งระบบ

พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า  ได้สั่งการให้ ภ.8 และ ภ.9 ดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัยอย่างเต็มที่ในทุกด้าน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่สภาวะปกติ  โดยให้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งออกลาดตระเวนดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ป้องกันมิจฉาชีพก่อเหตุซ้ำเติม หากพบให้ดำเนินคดีทุกราย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง