ผงะ!โอมิครอนลามทุกจังหวัด

ไทยติดเชื้อโควิดรายใหม่ 8,640 คน แต่หายป่วยมากกว่า 1 ราย เสียชีวิตยังทรงตัวที่ 13 คน ปลัด สธ.เผยหลังปีใหม่พบผู้ติดเชื้อ 87% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน แม้ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง แต่อาจทำให้ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัวเสียชีวิตได้ เตือนกลุ่ม 607 เร่งฉีดวัคซีน

เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศไทยว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 8,640 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 8,425 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 8,369 ราย, มาจากการค้นหาเชิงรุก 56 ราย, มาจากเรือนจำ 20 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 195 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 8,641 ราย อยู่ระหว่างรักษา 82,720 ราย อาการหนัก 540 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 118 ราย

เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 13 ราย เป็นชาย 10 ราย หญิง 3 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 8 ราย มีโรคเรื้อรัง 4 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,361,702 ราย มียอดหายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,256,982 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,000 ราย

ส่วนยอดผู้ได้รับวัคซีนของประเทศไทยเมื่อวันที่ 20 ม.ค. มีการฉีดวัคซีนเพิ่มเติม 523,090 โดส รวมยอดฉีดวัคซีนสะสมตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.64 ทั้งสิ้น 111,323,026 โดส ขณะที่สถานการณ์โลก มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 343,046,888 ราย เสียชีวิตสะสม 5,593,184 ราย 

สำหรับ 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดวันที่ 21 ม.ค. ได้แก่ กทม. 1,630 ราย, สมุทรปราการ 700 ราย, ชลบุรี 482 ราย, นนทบุรี 469 ราย, ภูเก็ต 377 ราย, ปทุมธานี 294 ราย, ขอนแก่น 273 ราย, นครราชสีมา 189 ราย, อุบลราชธานี 155 ราย และนครปฐม 151 ราย

ที่ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อม นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เดินทางเข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ผอ.ศบค. โดยใช้เวลาหารือประมาณ 30 นาที

ภายหลังการหารือ นพ.เกียรติภูมิเปิดเผยว่า เข้าพบนายกฯ เพื่อรายงานสถานการณ์การแพร่ระบาด ที่พบว่าในพื้นที่ กทม.มีแนวโน้มผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น และถึงจะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ แล้วก็ต้องปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขขั้นสูงสุด

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเผยว่า จากข้อมูลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่า หลังเทศกาลปีใหม่พบ 87% เป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งมักไม่แสดงอาการและอาการไม่รุนแรง แต่ยังส่งผลกระทบต่อผู้ที่มีความเปราะบางต่อการเจ็บป่วยรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัว อาจทำให้เสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ยังพบว่าผู้ที่เสียชีวิตตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่เป็นผู้สูงอายุเกิน 70 ปีถึง 159 ราย อายุ 60-69 ปี 58 ราย อายุ 50-59 ปี 33 ราย ซึ่งผู้สูงอายุมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่อายุน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการมีโรคประจำตัวร่วมด้วย

ดังนั้น กลุ่ม 607 จำเป็นต้องได้รับการป้องกันด้วยวัคซีนให้มากที่สุดทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น ถึงแม้การฉีดวัคซีนจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อ 100% แต่ช่วยป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิตได้ชัดเจน ปัจจุบันมีผู้สูงอายุที่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกไปแล้ว 76%, เข็มที่สอง 70%, เข็มที่สาม 15.4% หากนับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมกับผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง จะได้รับฉีดวัคซีนเข็มที่สามแล้ว 10%

 “ขอเชิญชวนให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เพื่อเร่งสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อจากบุตรหลานและผู้ที่มาเยี่ยม ส่วนบุตรหลานและผู้ที่เดินทางไปเยี่ยมต้องระมัดระวัง ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ ก่อนใกล้ชิดผู้สูงอายุเพื่อความปลอดภัย”

 นพ.เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า กรณี ศบค.ปรับลดเหลือกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเป็น 7 วัน และสังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน โดยตรวจ ATK 2 ครั้งนั้น แนวทางปฏิบัติสำหรับกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงคือ ให้กักตัวที่บ้าน 7 วัน โดยตรวจสอบอาการป่วยทุกวัน และตรวจ ATK ครั้งที่ 1 ช่วงวันที่ 5-6 หลังจากสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หากผลตรวจพบว่าติดเชื้อให้โทร. 1330 เพื่อลงทะเบียนเข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หากไม่ติดเชื้อ เมื่อครบกักตัว  7 วัน สามารถเดินทางนอกบ้านได้โดยให้สังเกตอาการตนเองอีก 3 วัน แต่เน้นย้ำว่าให้หลีกเลี่ยงการออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น หากจำเป็นต้องทำงานให้แยกพื้นที่กับผู้อื่น ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันตนเองสูงสุด สวมหน้ากากตลอดเวลา เลี่ยงไปสถานที่สาธารณะ และเลี่ยงใช้ขนส่งสาธารณะที่หนาแน่น โดยให้ตรวจ ATK ครั้งที่ 2 ในวันที่ 10 หลังสัมผัสผู้ติดเชื้อครั้งสุดท้าย หากไม่ติดเชื้อก็ถือว่าพ้นการกักตัว

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงความคืบหน้าการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทยว่า ขณะนี้ไม่มีจังหวัดไหนที่ไม่พบโอมิครอน​ จะเห็นว่าในกลุ่มคนทั่วไป สัดส่วนที่เจอโอมิครอน 85% เดลตา 15% แต่มีเดลตาสูงกว่าค่าเฉลี่ยในกลุ่มติดเชื้ออาการรุนแรง หรือเสียชีวิต พบเดลตาประมาณ 33% หรือ 2 เท่าของกลุ่มแรก

 “คาดว่าภายในปลายเดือนนี้สัดส่วนโอมิครอนในประเทศจะสูงเทียบเท่ากับกลุ่มที่เข้ามาจากต่างประเทศ หรือมากกว่า 97-98% และสุดท้ายเดลตาจะหายไปในที่สุด ดังนั้นเราต้องอยู่ร่วมกับโอมิครอน จึงขอเชิญชวนประชาชนเข้ารับวัคซีนเข็ม 3 ซึ่งไม่ว่าสูตรไหนก็สามารถลดการแพร่ระบาด การติดเชื้อ และยังลดอาการป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตได้ด้วย” นพ.ศุภกิจ​กล่าว

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันกระทรวงการต่างประเทศพร้อมเปิดรับลงทะเบียนผู้เดินทางเข้าประเทศแบบ Test and Go และการปรับมาตรการที่เกี่ยวข้องในการเดินทางเข้าประเทศไทย ที่จะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้

นายธานีกล่าวว่า ตามมติที่ประชุม ศบค.เมื่อวันที่ 20 มกราคม ได้มีการปรับมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศไทยที่สำคัญคือ จะเปิดการลงทะเบียน Thailand Pass เพื่อเข้าประเทศแบบ Test and Go ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 09.00 น. ตามเวลาประเทศไทย เป็นต้นไป

นายธานีกล่าวด้วยว่า การเข้าประเทศแบบ Test and Go จะเป็นมาตรการหลักในการเข้าประเทศหลังจากวันที่ 1 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ก็อาจพิจารณาปรับมาตรการให้เหลือเพียง Sandbox / AQ ตามเดิมได้

นอกจากนั้น ที่ประชุม ศบค.มีมติเปิดการลงทะเบียน Thailand Pass เพื่อเข้าพื้นที่ Sandbox เพิ่มเติมใน 2 พื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ เช่นกัน ได้แก่ 1.จ.ชลบุรี (อ.บางละมุง เมืองพัทยา ศรีราชา เกาะสีชัง สัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน และบางเสร่) และ 2.จ.ตราด (เกาะช้าง) โดยผู้เดินทางสามารถเดินทางไป-มาระหว่างพื้นที่ Sandbox เดิม (จ.ภูเก็ต กระบี่ พังงา และสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า และเกาะพะงัน) ได้ภายใน 7 วันที่พำนักใน Sandbox และต้องจองโรงแรม SHA Extra Plus หรือ AQ เป็นเวลา 7 วัน พร้อมการตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง (ในวันแรกและวันที่ 5-6) โดยสามารถย้ายโรงแรมในพื้นที่/กลุ่มจังหวัด Sandbox ได้ไม่เกิน 3 แห่ง.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง