เชียงใหม่พร้อมรับ "นายกฯ อิ๊งค์" นำประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ครั้งแรก "ภูมิธรรม" ขู่ "สนธิ" ลงถนนอย่าทำผิด กม.แล้วกัน โต้สั่งทัพเรือฝึกทหารใกล้เกาะกูด แจงฝึกตามแผนวงรอบ ขอคนในประเทศอย่ายุยงกระตุ้นความขัดแย้ง "ชูศักดิ์" ยกบทเรียนรัฐประหารฉุดรั้งประเทศเตือนสติม็อบ "สนธิ" ยันไม่ได้บอกนำม็อบลงถนน แค่ชี้สถานการณ์สุกงอมแล้ว เลื่อนวันบุกทำเนียบฯ เป็น 9 ธ.ค. ยื่นหนังสือกล่าวหากำลังขายแผ่นดินด้วย MOU 44 "พริษฐ์" คุย "ปธ.สภาฯ" ย้ำทำประชามติแก้ รธน. 2 ครั้งเพียงพอ "นิกร" หวั่นทำผิดขั้นตอน ระบุคำวินิจฉัยศาลฯ ชัดให้ทำประชามติ 3 ครั้ง
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้พบปะหารือกับคณะนักธุรกิจจากสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกา-อาเซียน (USABC) นำโดยนายโรเบิร์ต โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และนายไบรอัน แมคฟีเตอร์ส รองประธานอาวุโส และกรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาค สภาธุรกิจสหรัฐ-อาเซียน พร้อมผู้แทนบริษัทสมาชิกกว่า 40 บริษัท ครอบคลุมในธุรกิจพลังงาน สาธารณสุข เทคโนโลยีดิจิทัล การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมไปถึงที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการเงิน เข้าร่วมการหารือด้วย โดยนายกรัฐมนตรีได้สนทนากับคณะนักธุรกิจจาก USABC เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองและเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยและสหรัฐ
นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในวันที่ 28 พ.ย. นายลอเรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ มีกำหนดการเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ซึ่งนับเป็นการเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสิงคโปร์ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม 2567
ผู้สื่อข่าวรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งนายกฯ เตรียมเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เพื่อตรวจราชการและเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ในระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.2567 ว่า จังหวัดเชียงใหม่ได้มีการจัดเตรียมสถานที่รองรับการประชุม ครม.สัญจรนอกสถานที่ โดยจัดแต่งสถานที่ห้องประชุมฉากพื้นหลังที่มีความสวยงามและสื่อถึงความเป็นจังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ธีมหลักคือ “Form Flood to Flourish (ฟื้นคืนสู่ความเฟื่องฟู)” เป็นภาพของแสงสว่างจากพระอาทิตย์ยามเช้า ทะเลหมอก ณ อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์กรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ออกมาตั้งคำถามเรื่องการฝึกของกองทัพเรือใกล้เกาะกูด จ.ตราด ว่าได้รับรายงานเรื่องนี้ว่าได้มีการไปฝึกซ้อม ซึ่งความจริงแล้วเป็นการฝึกซ้อมเล็กๆ ไม่ได้เป็นการฝึกซ้อมใหญ่แต่อย่างใด และเป็นการฝึกซ้อมตามวงรอบ การที่นายสนธิออกมาพูดเกินไปว่าตนเองไปสั่งการให้ย้ายที่การฝึก
"ขอยืนยันว่าไม่มีอะไร และสามารถสอบถามผู้บัญชาการทหารเรือได้ เพราะกองทัพเรือดำเนินการไปตามกระบวนการ ซึ่งการฝึกไม่ได้เจาะจงอยู่ในเฉพาะพื้นที่ใด แต่มีการเลื่อนพื้นที่ไปทางใต้บ้าง และเป็นไปตามแผนงานประจำปีของแต่ละเหล่าทัพ การตั้งข้อสังเกตว่าผมเป็นคนสั่งการนั้น ขอถามนายสนธิว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน เพราะไม่มีการกล่าวแบบนี้ และจากการได้พบกับ ผบ.ทร. ก็ยืนยันไม่ได้พูดตามที่นายสนธิออกมากล่าวอ้าง ซึ่ง ผบ.ทร.ก็ยืนยันว่ารับผิดชอบเองได้ และไม่ต้องให้ใครมาสั่งในเรื่องแบบนี้" นายภูมิธรรมกล่าว
ถามว่า การเปลี่ยนจากการฝึกไปลาดตระเวนแท่นขุดเจาะน้ำมันอ่าวไทยแทน นายภูมิธรรมย้ำว่า กองทัพเรือได้ทำตามแผนอยู่แล้ว และเป็นไปตามวงรอบการฝึก ไม่สามารถบิดเบือนได้ ซึ่งการลาดตระเวนก็มีหลายสาเหตุ อาจจะเป็นการดูพื้นที่บ้างหรือลาดตระเวนตามชายฝั่ง และแผนที่ที่กองทัพเรือวางไว้ ดังนั้นอย่าไปพูดเรื่องนี้จนกลายเป็นประเด็นอีก เนื่องจากการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องเกาะกูดเป็นเรื่องอ่อนไหวและอาจมีผลเสียหายต่อประเทศ เหมือนการไปยุยงให้เกิดการต่อสู้กันหรือใช้ความรุนแรงต่อกัน จึงเป็นเรื่องไม่เหมาะไม่ควร ทั้งนี้ ขอให้ฟังตามข้อเท็จจริง และขออย่าใส่ใจกับข่าวลือ-ข่าวปล่อยมากนัก
ซักถึงการเปลี่ยนพื้นที่การฝึก เพื่อหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิดระหว่าง 2 ประเทศใช่หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่มีอะไรที่จะป้องกัน เพราะกองทัพเรือดำเนินการตามปกติ มีแต่ภายในประเทศเราเท่านั้นที่มากระตุ้นกันเอง
ยกบทเรียนรัฐประหารฉุด ปท.
เมื่อถามถึงกรณีนายสนธิประกาศลงถนน นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นการใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย อย่าให้ผิดกฎหมายก็แล้วกัน
นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงม็อบลงถนนว่า จากประสบการณ์ส่วนตัวเราผ่านเรื่องนี้มาช้านาน จนนำมาสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ประสบการณ์ตรงนี้คือบทเรียนสำคัญสำหรับประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาไทยหยุดอยู่กับที่และถอยหลังเพราะเรื่องการเมือง ขอพูดตรงๆ เนื่องจากการเมืองไม่มีเสถียรภาพ ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทำให้ประเทศฉุดรั้ง และเป็นเรื่องที่ทุกคนต้องพึงระลึก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดวังวนเดิมๆ ที่ทำให้ประเทศหยุดอยู่กับที่ ไปไหนไม่ได้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ เจริญก้าวหน้าไปมาก
ถามว่า เงื่อนไขในขณะนี้สามารถทำให้ม็อบจุดติดเหมือนในอดีตหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เราก็เห็นว่าไม่มีเงื่อนไขอะไร เรื่อง MOU 44 ก็ทำกันมาตั้งแต่ปี 2544 ก็ไม่ทำให้เสียดินแดน เป็นเรื่องหลักการเจรจา ถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีการเจรจาเลย ยังไม่ตั้งคณะกรรมการด้วยซ้ำ แล้วเมื่อเจรจาแล้วเสร็จก็ต้องนำเข้าเพื่อรับความเห็นชอบจากรัฐสภา
"ผมขอย้ำนะว่าเราผ่านวิกฤตเช่นนี้มาช้านานแล้ว ก็ไม่อยากให้ประเทศกลับไปสู่วังวนเดิมๆ ให้เดินหน้าไป อย่าให้ถอยหลัง" นายชูศักดิ์กล่าว
ส่วนนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคประชาชน (ปชน.) กล่าวถึงกรณีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุจะมีมวลชนจากพรรคประชาชนร่วมลงถนนกับกลุ่มนายสนธิว่า เป็นการคาดการณ์ของนายณัฐวุฒิ ซึ่งไม่แน่ใจว่าอ้างอิงจากข้อมูลอะไร แต่ในมุมของพรรค ปชน. คิดว่าเราทำหน้าที่ในฐานะแกนนำพรรคฝ่ายค้านในสภา และเราเห็นถึงบทบาทของพรรคในการตรวจสอบการทำงานรัฐบาลทุกเรื่องที่สังคมสนใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรื่องการตรวจสอบเอ็มโอยู 44 หรือเรื่องที่ดินเขากระโดง ที่มี สส.ตรวจสอบในเรื่องนี้ โดยใช้กลไกสภาเพื่อตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล
"หากประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งต้องการแสดงออกทางการเมืองผ่านการชุมนุม ผมคิดว่าต้องยึดหลักก่อนว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอยู่แล้วในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนชุมนุมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่พรรคประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่เราหวังว่าการแสดงออกทางการเมืองในการชุมนุมดังกล่าวจะไม่ไปละเมิดหลักการขั้นพื้นฐานอะไรของระบอบประชาธิปไตยเช่นกัน ดังนั้นวันนี้ชัดเจนว่าพรรค ปชน.ไม่มีความพยายามเคลื่อนไหวอะไรนอกสภา หรือในลักษณะของการชุมนุม แต่เรามีความชัดเจนว่าทำงานผ่านกลไกสภา เพื่อตรวจสอบรัฐบาล และผลักดันการเปลี่ยนแปลง" นายพริษฐ์กล่าว
ถามว่า หากนายสนธิสามารถปลุกมวลชนได้จริงๆ แนวทางการทำงานของพรรค ปชน.จะเปลี่ยนไปหรือไม่ โฆษกพรรค ปชน.กล่าวว่า เวลานี้พรรคเดินหน้าทำงานเต็มที่ในสภา แต่ถ้าประชาชนกลุ่มไหนไม่ใช่แค่นายสนธิหรือใครก็ตามต้องการจะเรียกร้องประเด็นใด ก็เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมอยู่แล้ว
ด้านนายสนธิ กล่าวตอนหนึ่งในรายการ "สนธิเล่าเรื่อง" ระบุว่า ตนไม่ได้บอกว่านำมวลชน แต่บอกสถานการณ์สุกงอมแล้ว ซึ่งคอยดูสถานการณ์ คุณภูมิธรรมพูดจาไม่อยู่กับร่องรอย พูดในทำนองตนทำความเสียหายให้บ้านเมือง อย่าทำอีกเลย นายภูมิธรรมลืมว่านี่โลกแห่งความจริง
สนธิลุยร้อง MOU ขายแผ่นดิน
"MOU 44 ที่ผมจะไปยื่นไม่ใช่ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองจะมารับแทนหรือให้คนอื่นมารับก็ก็ไม่เป็นไร แต่ต้องลงเลขรับหนังสือ คือ หนังสือกล่าวหาไม่ใช่ร้องเรียน กล่าวหาพวกคุณว่ากำลังขายชาติขายแผ่นดินด้วย MOU 2544 ถ้าไม่พอใจผมให้ฟ้องมา จากนี้ไปให้บอกคุณอุ๊งอิ๊งด้วย บอกนายคุณด้วยทักษิณ ชินวัตร เจรจากันล็อตต่อไปพวกผมเหมือนเหยี่ยวบนท้องฟ้า จะจับตาพวกคุณ จะทำอะไรที่ทำผิดปกติหรือเปล่า ถ้าผิดปกติเมื่อไหร่ นั่นคือการออกถนนของผม" นายสนธิกล่าว
นอกจากนี้ นายสนธิกล่าวว่า ขอยกเลิกกำหนดการที่จะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบฯ ในวันที่ 2 ธ.ค. เนื่องจากต้องไปขึ้นศาลตามที่มีนัดก่อนหน้า แต่จะเลื่อนไปเป็นวันจันทร์ที่ 9 ธ.ค. เวลา 10.00 น. ช่องรับเรื่องร้องทุกข์ประตู 4 ตรงข้าม ก.พ.
ที่รัฐสภา นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค ปชน. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร หารือร่วมกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา เกี่ยวกับกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
นายพริษฐ์แถลงว่า วันนี้เป็นการประชุมหารือกันระหว่างคณะกรรมาธิการฯ และประธานรัฐสภาเกี่ยวกับเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยข้อถกเถียงหลักอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกระบวนการนี้คือเรื่องจำนวนในการทำประชามติ ในส่วนของกฎหมาย หรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งกำหนดไว้ให้ต้องทำอย่างน้อย 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้งนั้น มาถึงวันนี้ความเห็นต่างในการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ก็ยังคงมีอยู่ แต่เรามีข้อมูลเพิ่มเติม 2 อย่าง ที่ได้พูดคุยกับประธานสภาฯ และทีมในวันนี้คือ 1.หากดูตามความเห็นส่วนบุคคลของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ประกอบคำวินิจฉัยที่ 4/2564 นั้น จะเห็นว่าเสียงส่วนใหญ่ของตุลาการเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจน ว่าการทำประชามติ 2 ครั้งนั้นเพียงพอแล้ว และ 2.คือข้อมูลที่มาจากการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการกับประธานศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
"เมื่อได้นำข้อมูล 2 ชุดนี้หารือกับประธานสภาฯ ได้ข้อสรุปว่า หากจะให้คณะกรรมการประสานงานมีการวินิจฉัยเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง จะต้องมีการยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีเนื้อหาเพิ่มหมวด 15/1 เกี่ยวกับการมีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่สภาอีกรอบหนึ่ง" นายพริษฐ์กล่าว
โฆษกพรรค ปชน.กล่าวว่า หลังจากนี้ตนจะไปหารือกับ สส.พรรค ปชน. เพื่อยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งจะทำให้คณะกรรมการประสานงานมีโอกาสในการวินิจฉัยอีกครั้งว่า ตกลงแล้วจำเป็นจะต้องมีการทำประชามติเพิ่มขึ้นมาเป็นครั้งที่ 3 หรือสามารถทำ 2 ครั้งเพียงพอ และเรามีความหวังว่าข้อมูลใหม่ที่ได้นำมาในวันนี้ จะเพียงพอในการทำให้คณะกรรมการประสานงานวินิจฉัยว่า 2 ครั้งเพียงพอ
ถามว่า จะทันการเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่ โฆษกพรรค ปชน.กล่าวว่า รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนว่า จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทันก่อนการเลือกตั้งครั้งถัดไป หากย้อนไปตอนที่พรรคเพื่อไทยฉีกเอ็มโอยูกับอดีตพรรคก้าวไกลแล้วมีการจัดตั้งรัฐบาล ก็ได้มีแถลงการณ์ออกมาระบุว่าต้องการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้เสร็จก่อนการเลือกตั้ง และเมื่อจัดทำเสร็จแล้วจะมีการยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชนด้วยซ้ำ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการตีความเจตนารมณ์ของแถลงการณ์นั้น หรือการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลชุดนี้ จะเห็นชัดว่าเป็นเป้าหมายที่รัฐบาลได้สัญญาไว้
ปชน.ยันประชามติ 2 ครั้งพอ
"มาถึงวันนี้ชัดเจนว่าหากรัฐบาลเดินตามแผนเดิมที่จะมีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดยไม่ริเริ่มครั้งแรก จนกว่าจะมีการแก้พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติเสร็จนั้น เป้าหมายดังกล่าวก็มีโอกาสเป็นจริงน้อยมาก จึงเห็นว่าหนทางเดียวที่จะทำให้เป้าหมายดังกล่าวเป็นจริงได้ คือการลดจำนวนการทำประชามติจาก 3 เป็น 2 ครั้ง ซึ่งความพยายามที่ผ่านมาในการเข้าพบกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องความวินิจฉัยศาล รวมถึงการหารือกับประธานสภาฯ วันนี้ให้อาจจะมีการทบทวนการตีความคำวินิจฉัย และบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ ส.ส.ร. จะต้องทำอย่างไรนั้น ก็ล้วนเป็นความพยายามของตนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการฯ เพื่อให้เรามีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ทันการเลือกตั้งครั้งถัดไป" โฆษกพรรค ปชน.กล่าว
ส่วนว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานและเสนอความเห็นต่อประธานสภาฯ ก็ได้รับข้อมูลใหม่ให้คณะกรรมการฯ นำไปทบทวน หากมีการเสนอร่างจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ พร้อมได้ส่งมอบความเห็นเพิ่มเติมที่ได้รับจากศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาฯ จึงมีดำริว่าให้คณะกรรมการฯ นำข้อมูลส่วนนี้ไปประกอบคำวินิจฉัยเดิม ส่วนจะเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่างเดิมได้หรือไม่นั้น แล้วแต่ท่านผู้เสนอ
ถามว่า ประธานสภาฯ ให้เหตุผลอะไรทำให้ความเห็นของฝ่ายกฎหมายของสภามีน้ำหนักมากกว่าความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากที่บอกว่าให้ทำประชามติ 2 ครั้ง ว่าที่ ร.ต.อาพัทธ์ระบุว่า ประธานสภาฯ เพียงมอบโจทย์ใหม่จากข้อมูลที่เปลี่ยนไปให้เป็นดุลพินิจของคณะกรรมการฯ แต่ละคน ซึ่งมีทั้งผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่นำมาพิจารณา
"ผมรับปากกับนายพริษฐ์ไปต่อหน้าประธานสภาฯ ว่าจะนำความเห็นของประธานศาลรัฐธรรมนูญมาร่วมพิจารณาด้วย และถ้ามีโอกาสจะเชิญนายพริษฐ์และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปร่วมให้ข้อมูลด้วย" เลขาธิการสภาฯ ระบุ
อย่างไรก็ตาม นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา ยืนยันว่า ในฐานะที่ตนเคยเป็นเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) และได้ร่วมจัดทำรายงานที่เสนอต่อรัฐสภา มองว่าตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ 11 มี.ค.2564 ที่ระบุให้รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยต้องให้ประชาชนประชามติก่อนว่าจะต้องการให้มีฉบับใหม่หรือไม่ และระบุว่าเมื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จต้องส่งให้ประชาชนลงประชามติอีกครั้ง ดังนั้นการทำตามคำวินิจฉัยจำเป็นต้องทำประชามติสอบถามประชาชนก่อนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นถูกกำหนดเป็นสภาพบังคับว่าต้องทำประชามติรวม 3 ครั้ง โดยไม่มีทางใดให้เลี่ยงได้ ส่วนการเข้าพบประธานรัฐสภาของกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ นั้น ไม่มีผลให้ลดจำนวนทำประชามติ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีผลผูกพันต่อรัฐสภา การไปเรียกร้องบังคับให้ประธานรัฐสภาบรรจุวาระให้ได้นั้น ประธานรัฐสภาอาจถูกร้องได้ว่ากระทำขัดหรือแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ไม่มีใครรับผิดแทนประธานรัฐสภาได้” นายนิกรกล่าว
ทั้งนี้ หากมีการบรรจุเนื้อหาและฝืนพิจารณา ขอให้คำนึงถึงเหตุการณ์ระหว่างการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2564 ที่ สว.กังวลกับการลงคะแนนเห็นชอบในวาระ 3 ด้วยเกรงว่าจะเป็นการกระทำที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ในครั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าจะมีปัญหาตั้งแต่การลงคะแนนเห็นชอบในวาระแรกชั้นรับหลักการได้ และหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 ไม่สำเร็จ ต้องกลับไปนับหนึ่งในสมัยประชุมถัดไป ทั้งที่เวลาการพิจารณาของรัฐสภาเหลือไม่มาก
“ภารกิจการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้สำเร็จ จำเป็นต้องรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อให้เกิดการประนีประนอมร่วมกัน เพราะถ้าทำขั้นตอนใดผิดพลาดล้มเหลว แทนที่จะเร็วขึ้น กลับจะกลายเป็นช้าลงไปอีกมาก เหมือนที่เป็นมาให้เห็นๆ กันจนจะไม่ทันการณ์อยู่แล้ว แม้จะมีการลดธงเป้าหมายให้เหลือเพียงแค่ให้ได้แค่ ส.ส.ร.ก็ตามที” นายนิกรกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘ราชทัณฑ์’เมิน สามารถอดข้าว ให้ประกัน‘ดาว’
“สามารถ” เครียดนอกคุกคืนแรก ประกาศอดข้าวประท้วงจนกว่าได้ประกัน
กมธ.วนในอ่าง‘เขากระโดง’ ปชน.กังขาทหารย้ายค่ายหนี
“อนุทิน” ส่ง “มท.2-อธิบดีที่ดิน” แจงปมเขากระโดง “ทรงศักดิ์”
เฮ!ลดค่าไฟ-ชงครม.แจกหมื่น
เฮ! ครม.สัญจรนัดแรก เคาะแจกเงินหมื่นเฟส 2 “พีระพันธุ์” ประกาศหั่นค่าไฟลงเหลือ 4.15 บาท เป็นของขวัญปีใหม่
ใต้ท่วมยะลาหนักสุด20ปี บี้รบ.ผวาซํ้าวิกฤตเหนือ
นายกฯ สั่งเร่งช่วยน้ำท่วมใต้ พร้อมให้กำลังใจผู้ประสบภัย
ขุนคลังขึงขังเช็ก‘โต้ง’ ส่งออกโตสุด19เดือน
“พิชัย” ยันยังไม่ได้รับชื่อตั้งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ชี้ขอพิจารณาอีกรอบ
กองทัพการันตี ไร้ปัญหารุนแรง ยังเจรจาว้าแดง
“บิ๊กอ้วน” บอกรับทราบแล้ว เหตุตึงเครียดชายแดนเมืองเหนือ