กมธ.วนในอ่าง‘เขากระโดง’ ปชน.กังขาทหารย้ายค่ายหนี

“อนุทิน” ส่ง “มท.2-​อธิบดีที่ดิน” แจงปมเขากระโดง​ “ทรงศักดิ์” ขอบคุณ กมธ.ที่ดิน​ฯ  ให้โอกาสแจงทำประชาชนกระจ่าง​ โอดสงสารชาวบ้าน​กว่า​ 900 รายได้รับผลกระทบ​ ด้าน ​“พูนศักดิ์”​ ยันพิจารณา​ยึดข้อกฎหมายไม่โยงการเมือง “กมธ.ที่ดินฯ” แถลงไม่ได้คำตอบสอบ “เขากระโดง” ขณะที่ กมธ.ทหารอ้างกองทัพสร้างค่ายทหารผิดจุดจากที่ขออนุญาต เลี่ยงพื้นที่เขากระโดงที่ครอบครองโดย “ตระกูลใหญ่บุรีรัมย์”    “วิโรจน์” เหน็บมีอิทธิพลขนาดค่ายทหารยังยอมย้ายหนี

เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี​ บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เป็นประธาน กมธ. เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประเด็นข้อพิพาทที่ดินเขากระโดง    ​ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)   กระทรวงคมนาคม กรมที่ดิน​ และกระทรวงมหาดไทย โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย มอบหมายให้นายทรงศักดิ์​ ทอง​ศรี​ รมช.​มหาดไทย,​ นายพรพจน์​ เพ็ญ​พาส​ อธิบดี​กรมที่ดิน,​ นายเอก สิทธิเวคิน รองผู้ว่าฯ รฟท.​ เข้าชี้แจง

โดยก่อนการประชุม​ นายพูนศักดิ์​ให้สัมภาษณ์ว่า​ การเชิญผู้ชี้แจงมาในวันนี้เป็นประเด็นเขากระโดง ซึ่งประชาชนให้ความสนใจ  และ กมธ.ยังมีข้อเคลือบแคลงสงสัยในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสอบสวนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน รวมถึงกระบวนการที่มาของการแต่งตั้งคณะกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งการพิจารณาของ กมธ. ถ้าเห็นว่ามีประเด็นน่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขตัวประมวลกฎหมาย ควรจะต้องเร่งดำเนินการ

นายพูนศักดิ์กล่าวต่อว่า ประเด็นสำคัญอยู่ที่ รฟท.จะต้องดำเนินการต่อ ไม่ว่าจะอุทธรณ์หรือไม่ ซึ่งมีระเบียบของการอุทธรณ์ไว้อยู่ ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จ ไม่ต้องการให้เรื่องนี้เงียบและหายไปกับสังคม ยืนยันว่าการประชุมของ กมธ. จะเห็นภาพของที่มาที่ไปของคณะกรรมการตามมาตรา 61 ถ้ากระบวนการจัดตั้งไม่ถูกต้อง จะต้องแก้ไขระเบียบใหม่ และเชื่อว่าในประเทศไทยมีปัญหาเรื่องเพิกถอนเอกสารสิทธิ การทุจริตในการเพิกถอน และการออกเอกสารสิทธิ ดังนั้นคณะกรรมาธิการชุดนี้จึงมีความสำคัญมากในการจัดการที่ดินของประเทศ และประสิทธิภาพของคณะกรรมาธิการชุดนี้ เป็นอีกประเด็นที่ต้องให้ความสนใจ

จากนั้นการประชุม กมธ.เริ่มในเวลา ​10.30  น. และหลังจากที่ประธาน กมธ.กล่าวเปิดการประชุม​แล้วเสร็จ นายทรงศักดิ์​ ทองศรี รมช.มหาดไทย กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย ตนในฐานะได้มอบหมายให้กำกับดูแลกรมที่ดิน ซึ่งเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีที่กมธ.จะประชุมวันนี้ เรื่องเขากระโดงเป็นเรื่องที่ประชาชนสนใจ และประชาชนเองจะดูข้อมูลจากสื่อเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้ความชัดเจนเท่าที่ควร  และข้อมูลในวันนี้จะเป็นประโยชน์ทำให้ กมธ.ได้มีข้อมูลในการที่จะประชุมหารือและสรุปประเด็น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและเป็นประโยชน์กับการรถไฟฯ ซึ่งบอกว่าเป็นที่ของการรถไฟฯ จะได้เกิดความชัดเจน​

 “เรื่องเขากระโดงไม่ได้กระทบกับสิทธิของคนคนเดียว​ กระทบทั้งส่วนราชการ ทั้งการรถไฟฯ  และประชาชน​ ซึ่งผมเห็นตัวเลขก็รู้สึกเห็นใจ 900 กว่ารายที่ได้ครอบครองที่ดินมาโดยชอบด้วยกฎหมายมาโดยตลอด ซึ่งหลายคนก็เข้าใจว่าเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วถึงที่สุด ที่ดินดังกล่าวเป็นของการรถไฟฯ ทั้งหมด​ แม้ให้ กมธ.เป็นสื่อกลางสะท้อนข้อเท็จจริงให้เห็นทั้ง 2 ทาง ทั้งการได้ที่ดินมาของการรถไฟฯ และประชาชนได้ครอบครองที่ดินดังกล่าวมาอย่างไร เพื่อเป็นข้อมูลให้เกิดความชัดเจน แม้ว่าคำพิพากษาถึงที่สุดก็ต้องยอมรับ แต่จะเป็นที่สุดเฉพาะคู่ความ คนอื่นที่ไม่ได้เป็นคู่ความก็ต้องมีการพิสูจน์สิทธิว่าการเพิกถอนเอกสารสิทธิ หากเพิกถอนทั้งหมด​ จะเป็นธรรมต่อประชาชนหรือไม่

ทั้งนี้ การประชุม กมธ.ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง เนื่องจากเป็นเรื่องระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ​ เพราะข้อมูลที่ได้แถลงต่อสื่อมวลชนเป็นเพียงข้อมูลผิวเผิน สามารถหาอ่านได้ตามหน้าสื่อฯ ซึ่งการที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้ารับฟัง เนื่องจากต้องการให้ทั้ง 2 หน่วยงานได้ชี้แจงข้อมูลอย่างเต็มที่

ต่อมา นายพูนศักดิ์ จันทร์จำปี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาฯ แถลงผลการประชุม กมธ. วาระพิจารณาข้อพิพาทปัญหาที่ดินเขากระโดงในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจงนานกว่า 2 ชั่วโมงว่า หน่วยงานที่ชี้แจงไม่มีความชัดเจน ดังนั้น กมธ.จึงลงความเห็นว่าต้องตรวจสอบเพิ่มเติมในหลายประเด็น เช่น กรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เนื่องจากไม่มีข้อยุติเรื่องแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของ รฟท. ที่ไม่ชัดเจนว่าครอบคลุมสนามแข่งรถหรือสนามกีฬาหรือไม่  ส่วนการดำเนินการเพิกถอนสิทธิที่ดินของกรมที่ดิน กมธ.ขอหนังสือเพิ่มเติมในการแต่งตั้งกรรมการตามประมวลกฎหมายที่ดิน ส่วนการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ 5,000 ไร่ ซึ่งพบว่ามีเอกสารสิทธิและโฉนดที่ดิน ที่ภาครัฐออกให้ และมีข้อพิพาทว่าออกโดยชอบหรือไม่ รฟท.และกรมที่ดินไม่มีความชัดเจนในการแก้ปัญหา

 “ปัญหาที่ดินเขากระโดงมีหลายประเด็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติม ซึ่ง กมธ.ได้ทำหนังสือขอเอกสารเพิ่มเติมจากหน่วยงาน โดยขอให้ส่งมาให้ กมธ.ภายใน 15 วัน จากนั้นเมื่อรับเอกสารจะประชุมเพื่อตรวจสอบรายละเอียดก่อนจะลงพื้นที่ที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์อีกครั้ง และจากนั้น กมธ.จะนัดประชุมใหญ่อีกครั้ง ช่วง ม.ค.2568 ก่อนสรุปประเด็นว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร  เบื้องต้นภาครัฐต้องมีมาตรการต้องเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ” นายพูนศักดิ์กล่าว

ขณะที่ นายเลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะเลขานุการ กมธ. กล่าวว่า การเพิกถอนสิทธิที่ดินตามผลคำพิพากษาไม่ว่าข้อเท็จจริงหรือการโต้แย้งจะเป็นอย่างไร เมื่อมีคำพิพากษาว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของ  รฟท. ต้องปฏิบัติตาม อีกทั้งกรณีเขากระโดง ไม่ใช่แนวเส้นทางรถไฟหรือสถานี แต่ รฟท.เคยใช้ประโยชน์ จึงได้กรรมสิทธิ์ เพราะเคยใช้ประโยชน์ ดังนั้นกรมที่ดินต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา แต่เหตุผลที่ไม่เพิกถอนได้เพราะไม่มีแผนที่ของ รฟท.ที่ชัดเจน

 “แม้มีการรังวัดที่ดิน แต่ไม่ปรากฏแผนที่ที่ดินที่ชัดเจน ทำให้ กมธ.ตั้งข้อสังเกตว่าต้องทำแผนที่ที่ชัดเจนเพื่อให้กรมที่ดินสามารถบังคับตามคำพิพากษาได้ และขอให้กรมที่ดินจัดส่งเอกสารแผนที่ให้ กมธ.อีกครั้ง ส่วนที่มีการทำแผนขึ้นมาเมื่อปี 2539 นั้น กรมที่ดินระบุว่าเป็นแผนที่ที่บังคับใช้ไม่ได้ เพราะทำกันภายหลังหลังจากที่มีประเด็นข้อพิพาทกับประชาชน”

นายเลาฟั้งกล่าวถึงกรณีที่กรมที่ดินชี้แจงว่าไม่สามารถเพิกถอนสิทธิได้ เพราะกระบวนการออกเอกสารสิทธิถูกต้องตามกระบวนการว่า เป็นการอธิบายตามหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน ส่วนการออกเอกสารสิทธิตามกฎหมายหรือไม่ เป็นอีกกรณีหนึ่ง ส่วนกรณีที่กรมที่ดินชี้แจงว่ากรมที่ดินไม่ใช่คู่ความในข้อพิพาท ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะกรมที่ดินเป็นหน่วยงานรัฐ มีหน้าที่บริหารและกำกับที่ดิน แม้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะระบุว่าให้มีผลผูกพันคู่กรณี แต่มีข้อยกเว้นเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน เมื่อมีคำพิพากษาที่มีผู้ที่ได้รับประโยชน์สามารถอ้างอิงกับบุคคลภายนอกได้ ดังนั้นพื้นที่กว่า 5,000 ไร่ จึงเป็นกรรมสิทธิ์ของ รฟท.ทั้งหมด

วันเดียวกันนี้ นายวิโรจน์ ​ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การทหาร สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า การประชุม กมธ.ในที่ 28 พ.ย. ได้เชิญผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯ  รฟท.), ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์, อธิบดีกรมที่ดิน และอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง  กระทรวงมหาดไทย รวมถึงผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 26 หรือค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก มาชี้แจงต่อ กมธ. เนื่องจากมีข้อสงสัย และได้รับการร้องเรียนว่า ในการอนุญาตก่อสร้างค่ายมณฑลทหารบกที่ 26 หรือ มทบ.26 นั้น อาจมีการสร้างผิดที่ จากเดิมที่กองทัพเคยขออนุญาตไว้เมื่อปี 2521 มีการขออนุญาตจากจังหวัดบุรีรัมย์ ผู้ที่ขออนุญาตคือจังหวัดทหารบกสุรินทร์ (แยกบุรีรัมย์) ที่ขอสร้างค่ายทหารในจังหวัดบุรีรัมย์ ชื่อกองพันทหารราบเบา ปรากฏว่าได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ขณะนั้นให้สร้างตามหนังสือสำคัญที่หลวง นสล.4130 และมีการก่อสร้างจนกลายเป็น ร.23 พัน.4 คือค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในปัจจุบัน

นายวิโรจน์กล่าวต่อว่า เมื่อไปดูที่ตั้งค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เมื่อเทียบกับหนังสืออนุญาตของผู้ว่าฯ จังหวัดบุรีรัมย์ ขณะนั้นมีข้อสงสัยว่าจะมีการสร้างค่ายทหารผิดที่ และที่ที่ควรจะสร้าง ปรากฏว่าเป็นที่ข้อพิพาทเขากระโดง เพราะมีบุคคลคนหนึ่งอ้างว่าซื้อที่มาจากตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง แล้วไปฟ้องร้องต่อการรถไฟฯ ปรากฏว่าการรถไฟฯ ก็ฟ้องแย้ง จนศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าที่ตรงนั้นเป็นที่รถไฟจริง  และที่ตรงนั้นควรจะเป็นที่ตั้งค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกในปัจจุบัน แต่เหตุใดทำไมค่ายสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกถึงไปอยู่อีกที่หนึ่ง ที่ห่างจากพื้นที่ที่ขออนุญาตไว้ 2 กิโลเมตร

“อยากถามว่า หมุดหมายของใบอนุญาตอยู่ตรงไหนกันแน่ ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร ข้อสงสัยว่าที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ทรงอิทธิพลขนาดว่าค่ายทหารยังยอมย้ายค่ายหนีจริงหรือไม่ ดังนั้นรายละเอียดทั้งหมดเราจะสอบกันในวันที่ 28 พ.ย.” นายวิโรจน์กล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สว.ส่งสัญญาณเบรกแก้รธน.

แก้ รธน. "เพื่อไทย" ตีกรรเชียงหนี "พรรคส้ม" ปักธงเคาะร่างแก้ รธน. 256 ไม่แตะหมวดกษัตริย์ “ชูศักดิ์” ชี้พุ่งเป้าไปที่ ส.ส.ร.เป็นหลัก