เย้ยมุกเก่าไล่รัฐบาล พท.ไม่ให้ราคาม็อบสนธิ/เร่งแก้รธน.ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น

"นายกฯ" ซักซ้อมพิธีต้อนรับนายกฯ สิงคโปร์เยือนไทย 28 พ.ย.นี้  "ครม." งดประชุมวันอังคาร เตรียมสัญจรครั้งแรกเชียงใหม่-เชียงราย 29 พ.ย. "ศปช." เล็งของบกว่า 3 พันล้าน ฟื้นฟูโครงการเสียหายจากอุทกภัย "ภูมิธรรม" เมิน "สนธิ" เตรียมบุกทำเนียบฯ 2T.8. จี้แจงเหตุไม่ยกเลิก MOU 44 บอกประเด็นเดิมๆ ไม่อยากเถียงไป-มา ยังกั๊กตั้ง คกก. JTC ชง ครม.ทัน 29 พ.ย.หรือไม่ "เต้น" เย้ยไม่มีม็อบใหญ่ แค่ก๊กอนุรักษนิยมใช้วิธีเดิม  มีส้มขวาเป็นกองเชียร์ "พท." รอสรุปสัปดาห์นี้ฟ้องกลับธีรยุทธ-นักร้อง "ชูศักดิ์" ยันไม่มีนิรโทษฯ ม.112 "อ้วน" แบะท่าแก้ รธน.ได้แค่ไหนแค่นั้น เมินถูก "ปชน." ยกโจมตีไม่ทำตามสัญญา "ไพบูลย์" หยันรัฐบาลอยู่แก้ รธน.ทันหรือ ทำนายอยู่ไม่ถึงปี

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 26  พฤศจิกายน 2567 เวลา 15.45 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  พร้อมนายปิฎก สุขสวัสดิ์ คู่สมรส ลงมาบริเวณสนามหญ้าหน้าตึกไทยคู่ฟ้า เพื่อซักซ้อมและดูสถานที่ในจุดที่จะเดินตรวจแถวกองทหารเกียรติยศในพิธีต้อนรับนายลอว์เรนซ์ หว่อง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ และภริยา เดินทางเยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล ซึ่งจะมีพิธีตรวจแถวกองทหารเกียรติยศเพื่อต้อนรับในเวลา 10.30 น. วันที่ 28 พ.ย.2567 และจะมีการหารือทวิภาคและเป็นสักขีพยานลงนามร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กับกระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐสิงคโปร์ พร้อมพาเยี่ยมชมนิทรรศการศิลปหัตถกรรรมและหัตถศิลป์ของไทย ที่โถงกลางตึกสันติไมตรี ก่อนที่เวลา 12.00 น. นายกฯ และคู่สมรสเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน

อย่างไรก็ตาม การให้การต้อนรับผู้นำต่างชาติเยือนไทยในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของ น.ส.แพทองธาร หลังเข้ารับตำแหน่งนายกฯ

ขณะที่ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  นายกรัฐมนตรีเตรียมเดินทางลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย เพื่อตรวจราชการและเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ในระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-1 ธ.ค.2567 ทำให้ต้องเลื่อนการประชุม ครม.วันนี้ (26 พ.ย.) เป็นวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.2567

นายจิรายุกล่าวว่า ในวันที่ 29 พ.ย.เวลา 10.00 น. นายกฯ เป็นประธานประชุม ครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2567 ณ หอประชุมทีปังกรรัศมีโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ จากนั้นวันที่ 30 พ.ย. นายกฯ จะเดินทางไปเยี่ยมชมศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และไปเป็นประธานพิธีเปิด “โครงการคนไทยห่างไกลโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง NCDs” รวมทั้งช่วงบ่ายจะไปติดตามปัญหายาเสพติด ส่วนวันที่ 1 ธ.ค. ที่จังหวัดเชียงราย นายกฯ จะร่วมประชุมคลังสัญจร ครั้งที่ 1/2567 เพื่อฟื้นฟูพื้นที่เศรษฐกิจ และส่งมอบมาตรการช่วยเหลือลดหย่อนด้านภาษีต่างๆ ให้ประชาชน ณ ด่านศุลกากรแม่สาย และติดตามแผนการขุดลอกแม่น้ำเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย อำเภอเมืองฯ จังหวัดเชียงราย เป็นต้น

 “การเดินทางไปตรวจราชการ รวมถึงการประชุม ครม.สัญจร ครั้งแรกของนายกฯ ครั้งนี้ มีภารกิจหลายอย่าง ทั้งติดตามปัญหาหมอกควันไฟป่าและฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ รวมถึงปัญหายาเสพติดบริเวณชายแดน พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวภายหลังสถานการณ์อุทกภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว กระตุ้นเศรษฐกิจภายในพื้นที่ให้เกิดการกระจายรายได้สู่ประชาชน” โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าว

ศปช.ขอ 3 พันล.ฟื้นฟูอุทกภัย

ด้านนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 2/2567 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยมีคณะทำงานและผู้แทนภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมประชุม

นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษก ศปช. แถลงว่า ที่ประชุมเห็นชอบในหลักการตามที่กรมชลประทานเสนอ ขออนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ บริหารจัดการน้ำ เตรียมความพร้อมโครงการ และฟื้นฟูโครงการที่ได้รับความเสียหายจากอุทกภัย จำนวน 564 รายการ วงเงิน 2,999.8009 ล้านบาท โดยที่ประชุมมอบหมายให้กรมชลประทานหารือกับสำนักงบประมาณ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับให้นำเสนอรายละเอียดแผนงาน โครงการเสนอต่อที่ประชุม ครม. ในวันที่ 29 พ.ย.นี้

ก่อนหน้าการประชุม ศปช. นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางเทคนิค หรือ JTC เพื่อจัดสรรผลประโยชน์ร่วมกันทางทะเล ระหว่างไทยและกัมพูชาว่า ส่วนตัวไม่แน่ใจจะแต่งตั้งแล้วเสร็จทันวันที่ 29 พ.ย.หรือไม่  ต้องรอดูว่ากระทรวงการต่างประเทศมีความพร้อมมากแค่ไหน ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกคณะกรรมการ โดยมีหัวใจหลักคือ ต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้และเก่งด้านกฎหมายทะเล อาจจะเป็นกรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และกรมสนธิสัญญาฯ กระทรวงการต่างประเทศ รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากต้องเป็นบุคคลที่เข้าใจเนื้อหาโดยกว้างมากที่สุด เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเราพยายามทำอย่างโปร่งใสมากที่สุด

"ผลจะเป็นอย่างไรยังไม่แน่ใจ แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลใจมากนัก เพราะก็พยายามทำให้ความไม่ชัดเจนทั้งหมด เกิดความชัดเจนที่สุด แต่อย่างไรเรื่องนี้ถูกควบคุมเป็นอย่างดี เนื่องจากมี MOU 44 ส่งผลให้การสรุปผลอะไรต่างๆ ต้องได้รับความเห็นชอบจากประชาชน และต้องเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาทั้ง 2 ฝ่าย รวมไปถึงต้องยืนตามกฎหมายทะเลระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ว่าผลสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องผ่านทั้ง 3 เงื่อนไขนี้ หากไม่ผ่านก็ไปต่อไม่ได้อยู่ดี" นายภูมิธรรมกล่าว

รองนายกฯ กล่าวว่า ส่วนตัวไม่อยากให้สัมภาษณ์ถึงกรณี MOU 44 อีกแล้ว จนกว่าจะการแต่งตั้งคณะกรรมการ JTC จะมีความคืบหน้า ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นการนำเรื่องดังกล่าวมาทะเลาะเบาะแว้งกัน และโยงประเด็นไปมา ซึ่งไม่เกิดประโยชน์

ถามว่า การตั้งคณะกรรมการจะแล้วเสร็จทันวันศุกร์ที่ 29 พ.ย.หรือไม่ นายภูมิธรรมกล่าวว่า ไม่สามารถตอบได้ แต่นายกฯ เคยพูดไว้แล้วว่าจะนำเข้าที่ประชุมโดยเร็วที่สุด ซึ่งขณะนี้เรื่องอยู่ที่กระทรวงการต่างประเทศ และกรมสนธิสัญญาฯ กำลังรวบรวมข้อมูล ส่วนตำแหน่งประธานเดิมเป็นรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง แต่ท้ายที่สุดจะเป็นใครนั้น ก็ยังไม่ทราบ

ซักว่า แม้รัฐบาลจะไม่อยากพูด แต่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตร​ พยายามนำประเด็นดังกล่าวมาปลุกระดม และจะมายื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาล ในวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค.เวลา 10.30 น. นายภูมิธรรมกล่าวว่า ก็ให้พูดไปเรื่อยๆ ไม่เป็นไรหรอก เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกไปแล้วว่าเป็นประเด็นเดิมๆ  ตราบใดที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็สามารถทำได้ แต่จะลงไปรับหนังสือด้วยตัวเองหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และยังไม่ได้รับแต่งตั้งตำแหน่งใด รวมถึงไม่ทราบประเด็นที่นายสนธิจะมายื่น เพราะไม่ได้ฟัง

'เต้น'หยัน2ธ.ค.ไม่ใช่ม็อบใหญ่

ส่วนนายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า เรื่องที่นายสนธิจะมายืนหนังสือถึงรัฐบาลขอให้ชี้แจง MOU ไทย-กัมพูชา 2544 วันที่ 2 ธ.ค.ว่า ได้รับการประสานมาเช่นนั้นว่าจะเข้ามาในวันเวลาดังกล่าว ส่วนรายละเอียดเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเอ็มโอยู 44 นายสนธิยังไม่ได้บอก แต่เท่าที่ฟังตามข่าวก็เป็นเรื่องของพื้นที่เกาะกูด ซึ่งทางรัฐบาลยินดีที่จะรับเรื่อง และพร้อมรับฟังทุกความเห็นที่นายสนธิจะมายื่น เพราะตลอดเวลาที่ตนทำหน้าที่มา 1-2 ปี ก็ไม่ได้มีการเลือกว่าจะรับเรื่องของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

"ช่วงสายของวันนี้ (26 พ.ย.) ผมจะได้รายงานนายกฯ ว่าจะมอบหมายให้ใครไปรับเรื่อง แต่หากไม่ได้มอบใครเป็นพิเศษ ก็จะเป็นหน้าที่ของตน และคิดว่าไม่เป็นปัญหาว่าใครจะออกไปรับ ส่วนจะยื่นที่ไหนนั้น ต้องดูจำนวนคนที่มายื่น ถ้าหากมาเยอะก็จะต้องเป็นที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ของรัฐบาล" นายสมคิดกล่าว

รองเลขาฯ นายกฯ กล่าวว่า การยื่นหนังสือดังกล่าวเป็นเรื่องปกติธรรมดา และรัฐบาลยินดีรับฟังทุกเหตุผล แม้ว่าที่ผ่านมาในสนธิจะต่อว่ารัฐบาล และนายภูมิธรรมว่ามีความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน ซึ่งนั่นก็ถือว่าเป็นความคิดเห็นหนึ่ง

ถามกรณีที่นายสนธิออกมาระบุจะมีการปลุกม็อบลงถนนอีกครั้ง นายสมคิดกล่าวว่า นายสนธิคงไม่ได้ขู่เพราะท่านพูดจริง แต่มองว่าเรื่องมวลชนและการลงถนนเป็นเรื่องปกติ และคิดว่าไม่ต้องเตรียมการอะไร เพราะรัฐบาลมีหน้าที่รับฟัง ฉะนั้นหากฟังกันด้วยเหตุและผล ตนเชื่อว่าจะรับฟังกันได้ เพราะมนุษย์อยู่กันด้วยเหตุด้วยผลและการพูดคุย ทั้งนี้ ตนไม่ห่วงเพราะคิดว่านายสนธิเป็นผู้ใหญ่พอ

ซักว่ากังวลหรือไม่ว่าการเคลื่อนไหวในครั้งนี้จะเสียหายเหมือนในอดีต นายสมคิดกล่าวว่า คิดว่าขณะนี้โลกและทุกอย่างเปลี่ยนแล้ว ซึ่งทุกคนก็มีเหตุผล ซึ่งคิดว่าไม่เป็นปัญหาอะไร

เช่นเดียวกับนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี และอดีตแกนนำ นปช. โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า มีคนถามว่ากำลังจะมีการชุมนุมบนท้องถนนหรือไม่ และรัฐบาลเตรียมการรับมืออย่างไร คุณสนธิ ลิ้มทองกุล กับพวก มีสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ และมีศักยภาพในการเคลื่อนไหวมวลชน แต่ผมคิดว่าการประกาศลงถนนคงไม่ใช่เร็วๆ นี้ เพราะยังไม่มีข้อบ่งชี้ว่าการชุมนุมขนาดใหญ่แบบหลายๆ ปีก่อนจะเกิดขึ้นง่ายๆ 

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า การส่งสัญญาณเคลื่อนไหวครั้งนี้ แม้จะมาจากคนกลุ่มเดิม ด้วยประเด็นและวิธีการแบบเดิม แต่บริบททางการเมืองต่างออกไป นี่คือรูปธรรมหนึ่งของการเมือง 3 ก๊กที่ผมเคยตั้งข้อสังเกตไว้ พรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านปัจจุบัน เป็นการร่วมกันด้วยกลไกอำนาจ กติกา และสถานการณ์ ไม่ใช่การหลอมรวมทางอุดมการณ์ ความสัมพันธ์ของทั้ง 3 ก๊กจึงมีทั้งส่วนที่เผชิญหน้า และประสานประโยชน์กัน ที่กำลังเคลื่อนไหวเรื่องการชุมนุมอยู่นี้คือก๊กอนุรักษนิยม (ยังไม่มีพรรคไหนเป็นตัวแทนชัดเจน) แม้พลังของก๊กนี้จะเลือกพรรคการเมืองที่กำลังร่วมรัฐบาลกับก๊กเพื่อไทย แต่ไม่ยอมรับการนำของเพื่อไทย และยังมีความรู้สึกเป็นฝ่ายตรงข้ามเหมือน 20 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันบนเวทีนอกจากวิจารณ์เพื่อไทย ยังโจมตีก๊กพรรคประชาชนด้วย เพราะไม่เอาก๊กนี้เช่นกัน

ที่ปรึกษาของนายกฯ กล่าวว่า หากมีการเคลื่อนไหวมวลชนต้านรัฐบาลเพื่อไทย อาจเป็นได้ที่จะมีกองเชียร์ก๊กพรรคประชาชนบางส่วนเข้าด้วย เพราะเคยร่วมก๊กอนุรักษนิยมมาก่อน โดยลักษณะทางมวลชน ที่ออกจากก๊กเพื่อไทยส่วนใหญ่เข้าก๊กพรรคประชาชน ส่วนจากก๊กอนุรักษนิยมจะไม่เข้าก๊กเพื่อไทย แต่ไหลเข้าก๊กพรรคประชาชนด้วย และอาจไหลกลับก๊กอนุรักษนิยมอีกได้ ถ้าสถานการณ์มาถึง

"ผมไม่คิดว่าจะมีม็อบใหญ่ ที่ควรจะเป็นคือแต่ละก๊กสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ เพราะยังมีประชาชนอีกมากที่ไม่ได้ยึดติดผูกพันกับก๊กไหน แล้ววัดกันในสนามเลือกตั้ง ผลงานจะเป็นตัวชี้ขาดชัยชนะ แต่อดคิดไม่ได้ว่าถ้าเกิดสถานการณ์ชุมนุมต้านรัฐบาลนี้ โดยคนกลุ่มเดิมวิธีการเดิมเมื่อ 20 ปีก่อน ปรากฏการณ์ทางมวลชนแต่ละก๊กจะเป็นเช่นไร" ที่ปรึกษาของนายกฯ ระบุ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊กว่า เปิดเอกสาร JC 2544 และแชร์ไปให้มากๆ  ขอขอบคุณท่านอาจารย์หม่อมหลวงวัลย์วิภา จรูญโรจน์ ที่ได้อนุญาตให้เผยแพร่เอกสารสำคัญ เป็นแถลงการณ์ร่วมระหว่างไทย-กัมพูชา ลงนามโดย ทักษิณ ชินวัตร กับฮุน เซน วันที่ 18 มิถุนายน 2544 ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า JC2544 หรือ J44 โดยเฉพาะข้อ 13 และข้อ 14 ที่ได้มีการรับรอง MOU 2544 จึงทำให้สถานภาพของ MOU 2544 กลายเป็นสนธิสัญญาที่ได้มอบอำนาจโดยรัฐบาลทั้ง 2 ประเทศ โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา และไม่ได้มีพระบรมราชโองการ

อ้วนลั่นแก้ รธน.แค่ไหนแค่นั้น

วันเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงการฟ้องกลับนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้องให้นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย หยุดการกระทำที่อาจเข้าข่ายล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า ยังไม่มีอะไรคืบหน้า เพราะการจะฟ้องอะไรต้องดูข้อเท็จจริงให้ครบถ้วน ตนก็อยากให้ทีมกฎหมายดูให้รอบคอบ และสัปดาห์นี้น่าจะจบ ส่วนข้อกล่าวหานั้น ยังไม่สามารถที่จะบอกได้ชัดเจนว่าข้อหาอะไร แต่ก็อยู่ในกลุ่มเหล่านี้

 ถามว่า จะฟ้องนายธีรยุทธคนเดียวหรือฟ้องนักร้องคนอื่นด้วย นายชูศักดิ์ กล่าวว่า กำลังดูอยู่ เมื่อถามว่าพรรค พท.เป็นสาธารณะ การที่จะไปฟ้องกลับนักร้อง เกรงจะถูกมองไม่ดีหรือไม่ และจะวางมาตรฐานการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้มากน้อยแค่ไหนในฐานะพรรคการเมือง นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในทางหลักสากล โดยเฉพาะความเห็นส่วนตัวการที่จะไปกล่าวหาอะไร ถ้าเป็นเรื่องของการติชมเพื่อความเป็นธรรม หรือให้ความเห็นเพื่อความเป็นธรรมของสังคม อย่างนี้เรารับกันได้ ไม่มีปัญหาอะไร

 “ถ้าเป็นในลักษณะของการใส่ร้ายโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง บิดเบือนข้อกฎหมาย หรือไปกล่าวหาว่ามีการทุจริต ทั้งที่เขาไม่ได้ทำ หรือไม่ได้มีหลักฐานอะไร กรณีนี้ก็เช่นเดียวกัน มากล่าวหาว่าล้มล้างการปกครอง ซึ่งถ้าดูจริงๆ ข้อกล่าวหานี้แรงมาก เท่ากับกบฏ เมื่อมันแรงเช่นนี้โดยที่การกระทำของเราไม่ใช่ แต่คุณกลับไปปรับแต่งข้อเท็จจริง บิดเบือนว่ามันใช่ อย่างนี้ผมว่ามันควรต้องดำเนินการ” นายชูศักดิ์กล่าว

 เมื่อถามถึงความคืบหน้าเรื่องร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายชูศักดิ์กล่าวว่า กำลังทำ ซึ่งน่าจะเข้าประกบร่างที่มีอยู่ในวันที่ 12 ธ.ค. เมื่อถามย้ำว่าไม่มีเรื่องมาตรา 112 ใช่หรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า ก็ประมาณนั้น

ส่วนนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีนายชูศักดิ์เปรยการแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ทั้งฉบับหากเสร็จไม่ทันอาจจะขอแค่ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ก็พอ ฉะนั้นจะต้องทำความเข้าใจประชาชนอย่างไรว่าคงต้องรอแต่ละสภาโหวตยืนยันว่าการแก้ไขกฎหมายประชามติ ซึ่งตนไม่ทราบว่าผลจะออกมาเช่นไร หากต้องพัก 180 วันก็จะไม่สอดคล้องกับการแก้ไข รธน. แต่แนวโน้มน่าจะปล่อยไว้ 180 วัน เพื่อรอให้สภายืนยันตามร่างเดิมที่ให้ใช้มติเสียงข้างมาก ฉะนั้นทุกอย่างขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ชัดเจน เพราะเราพยายามเร่งทุกอย่างให้เป็นไปตามกระบวนการ ทั้งนี้ ความจริงตามแผนไม่ควรมีเรื่อง 180 วัน แต่เมื่อเกิดความจริงขึ้นมาแล้ว ด้วยความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับกระบวนการซึ่งก็เป็นปัญหาที่ต้องคิด ฉะนั้นทำได้แค่ไหนก็จะทำสุดความสามารถและขอดูแต่ละขั้นตอนก่อน

ถามว่า กังวลหรือไม่ที่พักประชาชนจะนำมาเป็นประเด็นโจมตี เนื่องจากพรรคเพื่อไทยไม่สามารถแก้ รธน.ทั้งฉบับตามที่หาเสียง นายภูมิธรรมกล่าว อุทานว่า “โธ่” ก่อนกล่าวว่า สนใจประชาชน สนใจเรื่องบ้านเมืองหน่อย หากจะโจมตีทุกประเด็นบ้านเมืองคงเดินไปไม่ได้ และตนมองว่าไม่เป็นไรเพราะเขาแสดงความเห็นได้เพราะเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งเหมือนเสียงบ่นไม่ว่ากันและมีสิทธิที่จะเสนอ

ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน เลขาธิการพรรค พปชร. กล่าวกรณีนายชูศักดิ์ระบุร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติจะตีความเป็นกฎหมายการเงิน ทำให้การพักกฎหมายลดจาก 180 วัน เหลือเพียง 10 วันว่า เรื่องนี้ควรเคารพข้อบังคับของสภาผู้แทนราษฎร เพราะประธานสภาฯ เคยวินิจฉัยแล้วว่าเป็นร่าง พ.ร.บ. ไม่ใช่กฎหมายการเงิน  การจะใช้ที่ประชุมประธานกรรมาธิการเพื่อตีความนั้น ส่วนตัวมองว่าเป็นกระบวนการที่ยิ่งแก้ยิ่งวุ่น เหมือนลิงพันแหเข้าไปใหญ่ เป็นปัญหาที่ไม่จบ เมื่อประธานสภาฯ ชี้แล้วควรจะจบ

ถามถึงกรณีนายภูมิธรรมระบุรัฐบาลนี้อาจจะทำได้เพียงแค่ตั้ง ส.ส.ร.นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า ก็สุดแล้วแต่ พร้อมย้อนถามกลับว่า "จะทันเหรอ แต่ส่วนตัวคิดว่าไม่ทัน ผมเชื่อเหล่านักวิเคราะห์การเมืองว่ารัฐบาลจะอยู่ไม่ถึง 1 ปี จึงไม่ทราบว่าจะแก้อะไรได้บ้าง”

ถามย้ำว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทันรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ นายไพบูลย์ กล่าวว่า ทำรัฐธรรมนูญอะไร ถ้าทั้งฉบับไม่มีทางทันอยู่แล้ว ส่วนการแก้รายมาตราก็ทำได้ทันที แต่ขออย่าไปยุ่งเกี่ยวกับมาตรฐานจริยธรรม หรือแก้เพื่อประโยชน์ส่วนตน ไม่อย่างนั้นจะเป็นปัญหาถูกฟ้องร้องวุ่นวาย จึงขอเตือนไว้ว่าอย่าแก้ปัญหาให้ยุ่งกว่าเก่า.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง