“ชูศักดิ์” ลั่นเพื่อไทยเอาแน่ ค้าความปิดปากเอาคืน “ธีรยุทธ” แต่ไม่รู้เมื่อไหร่ ยอมรับการแปลงร่างกฎหมายประชามติเป็น กม.การเงินเลยเวลามาได้ ยังฝันตั้ง ส.ส.ร.ในรัฐบาลนี้ “พริษฐ์” ชง “วันนอร์” ผ่าทางตัน ดัน กม.แก้รัฐธรรมนูญรายมาตราขึ้นเสียบ หลังถูกดองเค็มไม่ได้รับบรรจุในวาระ
เมื่อวันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2567 นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมฟ้องกลับนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความที่ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรค พท. มีการกระทำเข้าข่ายล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขว่า คณะทำงานกำลังดำเนินการอยู่ เข้าใจว่าน่าจะใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งตนต้องดูร่างคำฟ้องก่อนเพื่อความรอบคอบ ส่วนจะเสร็จเมื่อใดนั้นไม่สามารถตอบได้
เมื่อถามต่อว่า หากต่อไปบุคคลใดต้องการฟ้องรัฐบาล จะมีกฎเกณฑ์เพื่อไม่ให้ถูกฟ้องกลับหรือไม่ นายชูศักดิ์กล่าวว่า เท่าที่ดูเหมือนไปสรุปเอาเองว่าเขาผิดอย่างนั้นอย่างนี้ โดยขาดพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ชัดเจน และมีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ หากไปสรุปเองเหมาว่าผิด การกล่าวหาแบบนี้ในทางกฎหมายนั้นไม่ถูก
นายชูศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีนายนิกร จำนง เลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ร่วมกันเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยืนยันว่าการแปลงร่างกฎหมายประชามติเป็นกฎหมายการเงินไม่สามารถทำได้เพราะเลยระยะเวลามาแล้ว ว่าอ่านรัฐธรรมนูญหลายมาตราก็ยอมรับว่าขั้นตอนนี้เลยมาแล้วจริงๆ แต่ที่ยกประเด็นขึ้นมา หมายความว่าเมื่อมีปัญหา กมธ.ร่วมเห็นไม่ตรงกัน ถือเป็นอุปสรรคของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่แล้วเสร็จ จึงคิดว่าทางออกควรเป็นอย่างไร ซึ่งการตีความว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ถือเป็นทางเลือกหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ได้ฟันธง จึงได้บอกว่าต้องหารือกับประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) และ กมธ.ว่าจะมีทางออกได้หรือไม่ และไม่ได้ฟันธงว่าเป็นไปตามนั้น ซึ่งหากไปไม่ได้ก็ไม่เป็นไร
“สิ่งที่นายนิกรพูดมาผมก็ไม่ได้เถียงอะไร แต่ปัญหาข้อกฎหมายต้องหารือกันว่ามีทางออกอะไรหรือไม่” นายชูศักดิ์ระบุ
เมื่อถามว่า จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเสร็จทันรัฐบาลนี้หรือไม่ นายชูศักดิ์ย้ำว่า ถ้าทำประชามติ 3 ครั้งก็ไม่ทัน แต่ถึงอย่างไรก็จะดันเต็มที่ให้เกิดสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) อย่างน้อยก่อนหมดวาระรัฐบาลชุดนี้ก็จะได้มี ส.ส.ร. ส่วนการเลือกตั้งก็ใช้กติการัฐธรรมนูญฉบับเก่าไปก่อน
ถามต่อว่า หากแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ทันจะแก้ไขเพียงรายมาตราในประเด็นสำคัญหรือไม่ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ถ้าเราเดินไปในแนวทางที่จะมี ส.ส.ร.เพื่อมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คิดว่าประเด็นรายมาตราคงไม่มี เพราะเราจะมอบหมายให้ ส.ส.ร.ยกร่างแล้ว ซึ่งถือเป็นตัวแทนประชาชน หากไปทำรายมาตราอีกก็จะดูไม่สมเหตุสมผล เว้นแต่กรณีจำเป็นจริงๆ แต่เมื่อดูสถานการณ์ตอนนี้แล้วก็ไม่มีอะไรที่คอขาดบาดตาย
ด้านนายนิกรย้ำว่า ร่างกฎหมายประชามติไม่เป็นกฎหมายการเงิน เพราะการสงสัยว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทั้ง 4 ฉบับที่เสนอเข้ามาตรวจสอบดูแล้ว ประธานสภาก็ลงนามชี้ไปแล้วว่าไม่เป็นกฎหมายการเงิน และขั้นตอนตรงนั้นมันเลยมาแล้ว และในระหว่างเราพิจารณาอาจมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง จากไม่เป็น พ.ร.บ.การเงิน ก็กลายเป็น พ.ร.บ.การเงินขึ้นมา ก่อนโหวตวาระ 3 มีข้อสงสัยก็สามารถทำได้อีกครั้งหนึ่ง แต่สภาโหวตวาระ 3 ไปแล้วซึ่งไม่มีข้อสงสัย จึงถือว่าเลยจุดนั้นมาแล้ว และเป็นร่างกฎหมายที่พิจารณาเห็นชอบกันหมดแล้ว โดยไม่มีใครชี้ว่าเป็น พ.ร.บ.การเงิน
“จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็น พ.ร.บ.การเงิน และตอนที่เราทำกฎหมายนี้ก็รู้อยู่แล้วว่ามันต้องใช้เงิน 3 พันกว่าล้านบาท แล้วมาแก้ว่าจะเอาสัดส่วนเกณฑ์ออกเสียงประชามติ 2 ชั้นหรือ 1 ชั้นเท่านั้นเอง และถ้าเป็น พ.ร.บ.การเงินก็เป็นตั้งแต่ปี 2564 แล้ว ไม่ใช่มาเป็นตอนนี้ เพราะเราแก้เพียงบางมาตรา” นายนิกรกล่าว
นายนิกรกล่าวอีกว่า ตอนที่เสนอไปวุฒิสภา ประธานสภาก็ยืนยันไปยังประธานวุฒิสภาว่าไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน ซึ่งประธานวุฒิสภาก็นำเข้าพิจารณาในชั้นนั้น อาจจะมีข้อสงสัยได้ แต่ก็ไม่มีข้อสงสัยเพราะไม่ใช่ พ.ร.บ.การเงิน เมื่อถึงตอนนี้ถือว่าเลยเวลาข้อสงสัยมาแล้ว ถ้าเราไปเชิญประธาน กมธ.ทุกคณะมาร่วมกันพิจารณา แล้วใช้เสียงข้างมากอาจผิดรัฐธรรมนูญได้ เพราะไม่ได้เป็น พ.ร.บ.การเงิน และเลยเวลาที่ทักท้วงไปถือว่าสายไปแล้ว
“อยากให้ พ.ร.บ.ประชามติออกมาเร็ว จริงๆ แล้วไม่อยากให้ชะลอแม้แต่วันเดียว ถ้าเป็นแบบนี้ให้ไปตามเส้นทางดีกว่า เพราะถ้าสุ่มเสี่ยงต่อการผิดกฎหมาย แม้ไม่ชอบ ก็ต้องยอมรับสภาพ” นายนิกรระบุ
นายนิกรยังกล่าวถึงไทม์ไลน์การทำประชามติว่า เชื่อว่าการทำประชามติครั้งแรกอย่างไรก็ผ่าน เพราะใช้รูปแบบอย่างง่ายของ สส. ก็จะไปลงประชามติปลายปี 2568 หรือต้นปี 2569 แต่น่าจะเป็นต้นปี 2569 มากกว่า ไม่มีทางหลีกเลี่ยง เพราะเมื่อพักร่างไว้ 180 วัน บวกกับทำประชามติอีก 3 เดือน รวมเป็น 9 เดือน ฉะนั้นรวมช่วงรอยต่อและการเสนอทูลเกล้าฯ ถวายก็ใช้เวลาพอสมควร ก็เชื่อว่าใช้เวลา 1 ปีพอดี
ขณะที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประชามติว่า ยังไม่ได้หารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นว่าเป็นกฎหมายการเงินหรือไม่ เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมค่อยพูด เพราะในงวดหน้าพรรคต้องเป็นเจ้าภาพดินเนอร์พรรคร่วมรัฐบาล
ส่วนนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า ในวันที่ 27 พ.ย. กมธ.การพัฒนาการเมืองฯ จะเข้าพบกับนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาเพื่อหารือเกี่ยวกับการตัดสินใจของประธานรัฐสภา เรื่องการบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เพิ่มหมวดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี ส.ส.ร.ที่พรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลในอดีตได้ยื่นร่างแก้ไขเมื่อต้นปี 2567 ซึ่งขณะนั้นประธานรัฐสภาตัดสินใจไม่บรรจุเข้าสู่วาระ เพราะตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 ว่าต้องทำประชามติก่อน ขณะที่ตนเองและพรรค พท.มองว่าสามารถบรรจุร่างแก้ไขได้โดยไม่ต้องทำประชามติก่อน อีกทั้งในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญย่อหน้าสุดท้ายไม่ได้ระบุถึงจำนวนประชามติ
นายพริษฐ์กล่าวต่อว่า ในการหารือกับประธานรัฐสภา จะนำประเด็นและรายละเอียดที่ได้หารือกับนายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาเข้าพูดคุยด้วย ซึ่งหวังว่าประธานรัฐสภาจะทบทวนการตัดสินใจ และเดินหน้ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชนได้ ในช่วงเปิดสมัยประชุมสภาเดือน ธ.ค.นี้
“หากประธานรัฐสภาทบทวนและบรรจุเรื่องเข้าสู่วาระพิจารณา ตามไทม์ไลน์แล้วสามารถเดินหน้าได้ในเดือน ธ.ค.นี้ เบื้องต้นในการพิจารณาของรัฐสภาในการแก้ไขมาตรา 256 กำหนดให้มี ส.ส.ร. อาจใช้เวลา 3-6 เดือน เมื่อทำเสร็จแล้วจะเข้าสู่กระบวนการทำประชามติรอบแรก และหากประชามติผ่านจะเข้าสู่กระบวนการมี ส.ส.ร.เพื่อทำรัฐธรรมนูญที่อาจใช้เวลา 6-12 เดือน ดังนั้นตามกลไกทำประชามติ 2 ครั้ง มีโอกาสได้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้ก่อนการเลือกตั้งปี 2570” นายพริษฐ์กล่าว
เมื่อถามว่า ในไทม์ไลน์แก้ไขรัฐธรรมนูญกังวลต่อเสียงสนับสนุนของ สว.หรือไม่ นายพริษฐ์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้เสียง สว. 1 ใน 3 หรือ 67 เสียง ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมายอมรับว่ายุค สว. 250 คนนั้นเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ยุคนี้มีการวิเคราะห์จุดยืนของ สว.ผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ซึ่งเมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่กระบวนการของรัฐสภา เชื่อว่าจะเป็นประเด็นที่แสดงให้เห็นว่า สว.มีจุดยืนอย่างไร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไฟเขียวไร่ละ1พัน10ไร่ ตรึงค่าไฟฟ้าราคาน้ำมัน
ชาวนาเฮ! นบข.ไฟเขียวช่วยไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ จ่อชงเข้า ครม.สัญจรเชียงใหม่ 29 พ.ย.นี้
อวยทักษิณชนะนายกอบจ.
"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา
กรมที่ดินท้ารฟท.พิสูจน์เขากระโดง
กรมที่ดินยืนยัน ไม่เพิกถอนโฉนดเขากระโดง ยึดตาม กก.สอบสวน มาตรา 61
ตร.เชียงรายรวบ‘สามารถ’ ‘เมีย-ลูก’หมอบุญนอนคุก
"ผบ.ตร." นั่งไม่ติดตั้ง "พล.ต.อ.ธนา" คุมสอบสวนคดี "หมอบุญ"
ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง
"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน.
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์