ม็อบเสื้อเหลืองคืนชีพ ‘สนธิ’นัดบุกทำเนียบฯ2ธค. ‘อ้วน’หวั่นซํ้ารอยปิดเมือง

"ภูมิธรรม" ไม่กังวล "สนธิ" ปลุกม็อบลงถนน เป็นสิทธิตาม รธน. แต่ย้อนให้นึกถึงความเสียหายต่อประเทศชาติช่วงปิดเมือง 10 ปีที่ผ่านมา โอดรุนแรงเหลือเกิน "อนุทิน" แนะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ยันพรรคร่วมยังอยู่กันดี ด้าน "สนธิ" นัดบุกทำเนียบฯ ยื่นหนังสือถึงนายกฯ 2 ธ.ค.นี้ จี้ชี้แจงเหตุไม่ยกเลิก MOU 44 กังขาไม่พูดถึงพระบรมราชโองการ ร.9 พูดแต่เรื่องแบ่งปันผลประโยชน์ 50:50 หวั่นเสียอธิปไตย "สนธิญา" ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินส่งศาล รธน.-ศาลปกครองถอน MOU 44 ชี้ขัด รธน.ต้องยุติเจรจาไม่รับเส้นแดงแบ่งเกาะกูด

ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผู้ก่อตั้งและเจ้าของหนังสือพิมพ์ในเครือผู้จัดการ ประกาศจะนำมวลชนลงถนนอีกครั้งเพื่อคัดค้านเอ็มโอยู 44 ว่า ไม่เป็นไรเพราะนายสนธิสามารถใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญได้ แต่อย่างไรก็ตามขอให้คำนึงถึงสิ่งที่เคยทำให้ประเทศชาติเสียหายมาถึงปัจจุบัน อย่าให้เป็นอย่างนั้น ขอให้ดูที่เหตุและผล และรัฐบาลพร้อมถูกตรวจสอบอยู่แล้ว เราก็ทำงานตามหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่ หากมีอะไรจริงๆ ตามกระบวนการมีขั้นตอนอยู่แล้ว ดังนั้นให้กระบวนการตัดสินใจเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด ถ้ารัฐบาลผิดพลาดสามารถใช้กระบวนการยุติธรรมมาดำเนินการได้

"ยํ้าว่าขอให้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เพราะวันนี้ประชาชนเดือดร้อนค่อนข้างมาก การปิดเมืองหรือการชุมนุมเหมือนในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ใครถูกหรือผิดยังไม่ต้องพูดถึงก็ได้ แต่ผลเสียหายกับประเทศชาติมันรุนแรงเหลือเกิน อยากให้คำนึงถึงตรงนี้ไว้มากๆ"

เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยทำความเข้าใจกันได้หรือไม่เพื่อไม่ให้เกิดการลงถนน นายภูมิธรรมกล่าวว่า เป็นสิทธิ์ของเขา รัฐบาลก็ทำตามหน้าที่ เขาก็ใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนก็รู้เองว่าชีวิตกำลังเป็นอย่างไร และคิดว่าประชาชนอยากพึ่งการแก้ปัญหามากกว่าการขับเคลื่อนทางการเมือง

"ไม่กังวลหรอกเพราะรัฐบาลนี้ตั้งใจทำสิ่งที่ดี และคิดว่าผลงานรัฐบาลจะเป็นตัวกำหนด" นายภูมิธรรมกล่าว

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย ทุกอย่างอยู่ภายใต้กฎหมายก็ทำไป เราจะเห็นเหมือนกันหมดไม่ได้ ต้องมีความเห็นต่าง ต้องได้สิทธิ์ คนที่วิพากษ์วิจารณ์ก็มีสิทธิ์ถูกต้อง เราต้องใจกว้างพอที่จะปรับปรุงแก้ไขในการกระทำหรือแนวคิด เพื่อให้บ้านเมืองเดินต่อไปได้ด้วยดี

ส่วนกรณีที่นายสนธิพูดว่า เป็นการสู้กันระหว่างพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทย ในการหยิบยกคดีเขากระโดงกับที่ดินอัลไพน์ นายอนุทินกล่าวว่า ผิดตั้งแต่คำว่าสู้กันแล้ว ตอนนี้ยังทำงานในคณะรัฐบาลด้วยความสามัคคีและความร่วมมือ ตนได้รับข้อสั่งการจากนายกรัฐมนตรีตลอดเวลา และรัฐมนตรีพรรคร่วมทุกพรรคก็ให้ความร่วมมือทุกเรื่อง ไม่มีเรื่องสู้กัน

'สนธิ' นัดบุกทำเนียบฯ 2 ธ.ค.

ด้านนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ กล่าวในรายการสนธิเล่าเรื่องทางยูทูบ Sondhitalk ว่า ในวันจันทร์ที่ 2 ธ.ค. 2567 เวลา 10.30 น. ตนและนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต จะไปยื่นหนังสือถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้นายกฯ ชี้แจงกรณีเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา 2544 ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ทางทะเล 12 ไมล์ทะเลโดยรอบเกาะกูด จ.ตราด หลังจากที่นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม อ้างว่าเกาะกูดยังเป็นของไทย และเอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา ปี 2544 ไม่สามารถยกเลิกได้           

"การที่นายภูมิธรรมพูด แสดงว่าไม่เข้าใจว่าเอ็มโอยูเป็นข้อตกลงเบื้องต้น ไม่ใช่สนธิสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น เป็นสิทธิของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่หากไม่พอใจข้อตกลงก็สามารถถอนตัวได้ ถ้าหากรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยมั่นใจในข้อมูล  ก็อยากจะเสนอให้นายภูมิธรรมมาออกรายการโทรทัศน์สาธารณะ ซึ่งฝั่งผมจะอธิบายและคัดค้านด้วยหลักฐานและข้อเท็จจริง นอกจากนี้ ขอถามว่าการที่ผู้บัญชาการทหารเรือสั่งทหารเรือหยุดลาดตระเวนโดยรอบเกาะกูด เป็นคำสั่งของนายภูมิธรรมหรือไม่ ถ้าสั่งจริงก็เหมือนกับจะยกพื้นที่ให้กับกัมพูชาใช่หรือไม่"

นายสนธิกล่าวว่า สำหรับที่มาที่ไปของเอ็มโอยู 2544 คนที่ลงนามเป็นคนแรกคือ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.การต่างประเทศในขณะนั้น โดยมีนายทักษิณ ชินวัตร นายกฯ ในขณะนั้นเป็นผู้รับรอง เคยมีความพยายามยกเลิกในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ไม่ทันนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา กระทั่งสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการนำเรื่องเอ็มโอยู 2544 ขึ้นมาพิจารณาอีกครั้ง โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหมในขณะนั้น การที่ยอมรับเอ็มโอยู 2544 เท่ากับเป็นการยอมรับที่กัมพูชาลากเส้นทางทะเลรุกล้ำเขตแดนฝั่งไทย ทั้งที่สมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีพระบรมราชโองการและหลักฐานชัดเจนว่า ถ้าจะมีการเจรจาให้ยึดกฎหมายทะเลสากลเป็นหลัก แต่ไม่มีใครพูดถึง

 “เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องของการสูญเสียอธิปไตยไป เราสูญเสียเขาพระวิหารให้เขมรแล้ว ยุคนั้นเขมรไปฟ้องศาลโลก เราเตือนรัฐบาลนายอภิสิทธิ์แล้วว่าอย่าไป เพราะเราไม่ยอมรับศาลโลก แต่รัฐบาลอภิสิทธิ์แสดงว่ายอมรับความเป็นสากล ผลปรากฏว่าเราแพ้ วันนี้เราใช้กฎหมายทะเลสากล เขมรก็ไม่ยอมรับตรงนี้ แต่กลับกันสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์กลับยอมรับศาลโลกได้ มันเป็นความขัดแย้งที่เลวร้ายมาก คนคนหนึ่งจะตัดสินใจคนละแบบได้อย่างไร ถ้าเราจะเจรจากับเขมรด้วยหลักการเอ็มโอยู 2544 เราจะสูญเสียอธิปไตยอย่างแน่นอน ประชาชนรับได้หรือไม่ที่นายทักษิณพูดว่า ช่างมันเถอะ แบ่งผลประโยชน์กัน 50-50 คุณทักษิณพูดแต่เรื่องผลประโยชน์ แต่ไม่พูดเรื่องอธิปไตยของชาติ" นายสนธิกล่าว

นายสนธิกล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ, นายภูมิธรรม รวมทั้งนายกฯ แพทองธาร ไม่พูดถึงพระบรมราชโองการของรัชกาลที่ 9 ซึ่งประกาศออกมาในปี 2516 ว่ามีหลักการแบบนี้ แต่ไม่มีใครกล้าพูด เพราะพระบรมราชโองการเมื่อประกาศออกมาแล้ว ถือว่าเป็นคำสั่งของจอมทัพ ของประมุขประเทศ คนอื่นจะไปทำเป็นอย่างอื่นย่อมทำไม่ได้อยู่แล้ว เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว เป็นเรื่องใหญ่

ชงศาลยกเลิก MOU 44

ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสนธิญา สวัสดี เดินทางมายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการฯ ขอให้มีความเห็นไปยังรัฐบาลให้ยุติการเจรจาและข้อตกลงตาม MOU 44 และส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง เพื่อขอให้วินิจฉัยยกเลิก MOU 44 โดยนายสนธิญากล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 44 ในทันที จริงๆ ประเทศไทยมีสนธิสัญญาระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศส 1907 กำหนดให้เกาะกูดเป็นแผ่นดินของสยาม และเรามีอนุสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยเขตแดนในทะเล ซึ่งประเทศกัมพูชาไม่ได้อยู่เป็นสมาชิกเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลนั้น จึงเกิดคำถามว่าวันนี้เราตกลงกับใครอยู่ ซึ่งการไปเซ็น MOU หรืออะไรก็ตามระหว่างประเทศที่ถือเป็นสัญญาฉบับหนึ่ง ต้องไปดูรัฐธรรมนูญ 2544 มาตรา 1 เขียนไว้ชัดเจนว่า ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกไม่ได้ มาตรา 6 บัญญัติว่าการที่กฎ กฎหมาย หรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ จะบังคับใช้มิได้ แต่รัฐบาลทักษิณในขณะนั้นก็ได้ดำเนินการไปแล้วโดยไม่รู้ว่าใช้กฎหมายอะไร 

"เมื่อมาถึงรัฐบาลนี้จะตั้งคณะกรรมการเพื่อที่จะเจรจากับกัมพูชาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งก็อาจจะจริงว่าไม่เกี่ยวกับเกาะกูด แต่มีคำถามว่า ได้มีการยกเลิกเส้นแดงที่กัมพูชามีการขีดคร่อมเกาะกูดแล้วหรือยัง หากยังไม่ยกเลิกก็จะถือว่ายังมีปัญหาเส้นแดงที่ขีดทับเกาะกูดอยู่ ซึ่งรัฐธรรมนูญ 60 มาตรา 1 ก็บัญญัติเหมือนรัฐธรรมนูญ 2544 ที่ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกไม่ได้"

นายสนธิญากล่าวต่อว่า ถามกลับไปที่รัฐบาลแพทองธารว่ากรณีจะเจรจากับกัมพูชา คุณใช้กฎหมายอะไร รัฐธรรมนูญมี 2 มาตราที่อ้างพระราชอำนาจ ในการที่จะให้บุคคลไปเซ็นเกี่ยวกับอาณาเขตของแผ่นดิน รัฐบาลได้ดูครบถ้วนแล้วหรือยังในการทำแบบนี้ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยจึงได้มายื่นเรื่องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้พิจารณาส่งศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นการใช้กฎหมายขัดต่อรัฐธรรมนูญ และไม่เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ รวมทั้งให้ส่งศาลปกครองในกรณีที่หน่วยงานของรัฐไปทำบันทึกข้อตกลงที่มีการแบ่งแยกเกาะกูด ซึ่งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 1 และมาตรา 5 กับมาตรา 1 และมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2544 แต่หากครบกำหนดเวลาแล้วผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ดำเนินการ ตนก็จะยื่นคำร้องตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครอง

 “กระบวนการนี้ทั้งรัฐบาลของนายทักษิณ และรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ไม่ได้ปฏิบัติเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ปฏิบัติไปตาม MOU ที่ได้มีบันทึกการตกลงกันระหว่างกรุงสยามกับฝรั่งเศส ชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของประเทศไทย และไม่ได้เป็นไปตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยแผ่นดินหรืออาณาเขตทางทะเล ดังนั้นมี 3 สัญญาทั้งภายในของเราเองและระดับสากล แต่รัฐบาลนี้ยังไม่ได้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดเลย กลับจะเจรจาอย่างเดียวเลยทั้งที่กระทำผิดรัฐธรรมนูญอยู่ ขณะนี้ทำกันเป็นขบวนการไปแล้ว เพราะทางกัมพูชามีประชาชนจัดชุมนุมประท้วงร้องให้รัฐบาลฟ้องศาลโลก กรณีที่เขาลากเส้นแดงในแผนที่ ว่าทำไมประเทศไทยจึงไม่ขอยกเลิกเขาไปตั้งแต่ปี 44 สมัยนายกฯ ทักษิณจนมาถึงนายกฯ แพทองธาร ไม่ต้องเจรจาอะไรทั้งสิ้นแล้ว ตอนนี้ต้องยกเลิกทันที ยืนยันว่าเราไม่ยอมรับเส้นสีแดงเพราะมันแบ่งครึ่งเกาะกูด ไม่อย่างนั้นเราจะเสียดินแดนเหมือนเขาพระวิหาร” นายสนธิญากล่าว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อวยทักษิณชนะนายกอบจ.

"ภูมิธรรม" โว พท.ชนะนายก อบจ.อุดรฯ เป็นเรื่องธรรมดา เหตุ ปชช.ยังรัก “ทักษิณ” ชอบผลงานที่ทำมา